เมื่อวาน เวลา 03:07 • การเมือง

ข่าวการลอบสังหาร โดนัล ทรัมป์ กับทำให้คะเเนนนิยมสูงขึ้น

หลังข่าวความพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ กระจายออกไป สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ สังคมอเมริกันยังแตกแยกสุดขั้ว (polarized) เหมือนเดิม คือขั้วเอารีพับลิกันและชอบอนุรักษ์นิยมกับขั้วเดโมแครตที่ชอบเสรีนิยม
เราจะเห็นพวกที่เข้ามากดหัวเราะข่าวทรัมป์โดนยิงมีจำนวนเป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง กับคอมเมนต์ไม่น้อยที่สะใจประมาณว่า "เสียดายที่ยิงไม่แม่น" หรือ "ไม่เคยคิดเลยว่าปืนจะมีประโยชน์ก็วันนี้" ความเห็นพวกนี้คือพวกที่ไม่เอารีพับลิกันและเกลียดทรัมป์
ความเห็นพวกนี้มีไม่น้อยเลย และเห็นได้แม้แต่สำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือและผู้อ่านควรจะมีวิจารณญาณก่อนจะเมนต์อะไรออกไป นั่นหมายความว่าสังคมอเมริกันแตกแยกเป็นขั้วๆ แบบประสานไม่ได้แล้ว
และนั่นหมายความว่า พวกที่สนับสนุนทรัมป์ก็จะยิ่งชัดเจนในท่าทียิ่งขึ้น ส่วนพวกที่ไม่ชอบทรัมป์ก็ยังไม่ชอบเหมือนเดิมและยังสมน้ำหน้าด้วย ดังนั้น เหตุการณ์นี้จะไม่เปลี่ยนผลคะแนนเสียงของกลุ่มที่มีธงในใจอยู่แล้ว
โปรดทราบว่า ก่อนที่จะมีเหตุลอบสังหารทรัมป์แค่ 2 วัน คะแนนของทรัมป์ก็นำ โจ ไบเดน อยู่พอสมควรแล้วที่ 44% ต่อ 40% จากการสำรวจของ Pew Research Center แต่มาร์จินนี้ยังไม่มากนัก และมีโอกาสพลิกได้ทุกเมื่อ
และยังมีพวกที่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเลือกคนใดคนหนึ่ง เหตุการณ์ลอบสังหารนี้จะมีผลต่อพวกเขาอย่างมาก เพราะทรัมป์อาจจะได้คะแนนสงสารเพิ่มขึ้นมา เรื่องนี้มีผลไม่น้อย เมื่อดูผลโพลของ Pew Research Center พบว่าในเดือนกรกฎาคม 53% เห็นว่าควรจะเปลี่ยนตัวทั้งทรัมป์และไบเดน หรือพูดง่ายๆ คือไม่เอาทั้งสองคน อัตรานี้เพิ่มขึ้นจาก 49% เมื่อเดือนเมษายน
แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าคนลงมือ (ณ ขณะนี้) มีเจตนาอะไรและนิยมการเมืองแบบไหน แต่ย่อมจะมีคนฟันธงไปแล้วว่า "ต้องเป็นพวกเกลียดทรัมป์แน่ๆ" การสงสัยแบบนี้จะส่งผลให้ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร เกิดความลังเลที่จะเลือกฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์
และยังมีผลทางจิตวิทยาเฉพาะหน้าก็คือ เมื่อทรัมป์ถูกยิง แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องมีแถลงการณ์แสดงความเห็นใจ (ไบเดน ก็ทำแบบนั้น และผู้สมัครบางคนชมเชยทรัมป์ด้วยซ้ำ) และมีคนดังบางคนใช้โอกาสนี้ออกมาสนับสนุนทรัมป์ (เช่น อีลอน มัสก์) ท่าทีแบบนี้จะทำให้คนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร อาจเริ่มรู้สึกว่า "ทรัมป์โดดเด่นกว่า"
ช็อกโลก! ลอบสังหาร ‘ทรัมป์’ กลางเวทีหาเสียงเพนซิลเวเนีย
เกิดเหตุช็อกโลกเมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และผู้สมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ถูกลอบสังหารกลางเวทีหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น
ภาพจากวิดีโอแสดงให้เห็นว่าทรัมป์กำลังปราศรัยอยู่บนเวทีหาเสียง ก่อนจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จากนั้นทรัมป์ได้ยกมือขึ้นจับใบหน้าของเขา ก่อนจะทรุดตัวลงไปที่พื้น ฝูงชนกรีดร้องดังขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพุ่งเข้ามายังตัวทรัมป์ทันที เสียงปืนยังดังขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งเงียบลง
มือปืนซึ่งเป็นชายที่ทำการโจมตีทรัมป์ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขายิงเสียชีวิตแล้ว
สรุปการวิเคราะห์ก็คือ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คะแนนนิยมของทรัมป์จะปรับขึ้นมา และน่าจะมีความเสถียรมากขึ้น หมายความว่าคนที่ลังเลที่จะเลือกเขาก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นย้อนแย้งที่ทรัมป์จะต้องเผชิญ นั่นคือ นโยบายควบคุมอาวุธปืน
การลอบสังหารด้วยอาวุธครั้งนี้จะทำให้สังคมอเมริกันพูดถึงการควบคุมปืนกันมากขึ้น เรื่องนี้จะมีผลดีต่อฝ่ายเดโมแครตที่ต้องการให้ควบคุมอาวุธปืนที่ปัจจุบันสามารถซื้อหากันมาครอบครองโดยเสรี จนกระทั่งเกิดเหตุกราดยิงบ่อยครั้ง
ส่วนพวกรีพับลิกันจะตกที่นั่งลำบาก เพราะเป็นพวกที่สนับสนุนปืนเสรีมาแต่ไหนแต่ไร และได้รับการสนับสนุนจากสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association หรือ NRA) ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการครอบครองปืนเสรี และมีอิทธิพลสูงทางการเมือง
ทรัมป์เคยให้คำมั่นกับ NRA ว่าหากเขาได้รับเลือก เขาจะยกเลิกข้อจำกัดเรื่องปืนที่รัฐบาลไบเดนกำหนดไว้
เรื่องนี้จึงต้องวัดใจทรัมป์ว่าจะเขาจะเปลี่ยนใจหรือไม่หลังเฉียดตายในครั้งนี้
 
แต่เนื่องจากเขาแค่เฉียดตาย และเขาคงคิดว่าคะแนนนิยมของเขากำลังนำ และฝ่ายที่ต่อต้านอาวุธปืนคงไม่เปลี่ยนใจมาเลือกอยู่แล้วต่อให้เขาเปลี่ยนท่าที (เพราะสังคมอเมริกันแตกหักอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น) ดังนั้น ทรัมป์จะยังคงสนับสนุนปืนต่อไป
นักวิเคราะห์การเมืองบางคนอาจจะเห็นต่าง โดยบอกว่าเรื่องนี้อาจทำให้รีพับลิกันอาจเปลี่ยนท่าทีเรื่องอาวุธปืน แต่การเปลี่ยนท่าทีกระทันหันแบบนี้ จะส่งผลต่อคะแนนนิยมในหมู่คนรักปืนได้ แม้ว่าเขาจะเลือกทรัมป์เพราะทนไม่ไหวกับไบเดน แต่อาจจะลงโทษด้วยไม่เลือกสมาชิกรีพับลิกันไปช่วยทรัมป์ในสภาคองเกรส
การลงโทษอีกอีกแบบคือ หากทรัมป์กลับท่าทีไปต้านปืน คะแนนของคนรักปืนจะเทไปที่ตัวเลือกที่สาม คือ โรเบิร์ท เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ (Robert F. Kennedy Jr.) ซึ่งลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค และตอนนี้มีคะแนนนิยม 15% ซึ่งไม่น้อยเลย ที่ผ่านมา โรเบิร์ท เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ไม่แสดงท่าทีเรื่องปืนชัดเจน แต่ก็เคยบอกว่า “ผมจะไม่แย่งปืนของใครไป” ซึ่งน่าจะหมายความว่าจะไม่กีดกันการถือปืน ดังนั้น หากทรัมป์เกิดกลัวปืนขึ้นมา พวกรักปืนก็จะลงโทษด้วยการเทคะแนนไปที่มือที่สามได้
เพราะคนรักปืนไม่ใช่แค่คนรักปืน แต่หมายถึงพวกอนุรักษ์นิยมทั้งหมด เพราะสำหรับอเมริกันอนุรักษ์นิยม สิทธิการถือปืน คือสิทธิ์ในการป้องกันตัวเอง อันป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อันล่วงละเมิดไม่ได้
ทรัมป์และรีพับลิกันไม่กล้าเปลี่ยนท่าทีแน่นอน ต่อให้ทรัมป์ถูกยิงอาการสาหัสว่านี้ก็จะไม่ทำ
แต่มีกรณีตัวอย่างประธานาธิบดีรีพับลิกันที่ถูกยิงจนสาหัสมาก่อน คือ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งถูกมือปืนจ่อยิงเมื่อปี 1981
เรแกน เป็นผู้นำรีพับลิกกันไม่กี่คนที่ต้องการให้ควบคุมปืน ไม่เพราะเข้าถูกยิงมาก่อนเท่านั้น แต่เพราะเขามีท่าทีแบบนี้มาตั้งแต่เป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงทศวรรษที่ 60 และยิ่งเขาถูกลอบสังหารด้วยปืนในทศวรรษที่ 80 ท่าทีของเขายิ่งชัดเจน
เขาจึงเป็นผู้นำประเทศที่สนับสนุนสิทธิตามรัฐธรรมแบบที่พวกนิยมปืนอ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ควบคุมปืน ในแง่หนึ่งก็นับว่ามีความสมดุลดีในแง่โนบายและการปฏิบัติ
แต่ในยุคนี้ การเมืองอเมริกันไม่สามารถมีความสมดุลได้ ทุกอย่างต้องสุดขั้วเท่านั้น ถ้าจะเอาปืนแล้วเปลี่ยนใจจะมาแสดงท่าทีอยากจะไม่เอาปืนไม่ได้เด็ดขาด สังคมที่ polarized (แตกแยกจนไม่ประนีประนอม) ไม่อนุญาตให้นักการเมืองทำตัวแบบนี้
ดังนั้น ทรัมป์จะไม่เปลี่ยนท่าทีเรื่องนโยบายปืน และอาจจะไม่เปลี่ยนอะไรเลย หากผลโพลครั้งต่อไปบอกว่าคะแนนนิยมเขาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
#ประธานาธิบดี #อเมริกา #โดนัลทรัมป์ #ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา #โจไปเดน #ลอบสังหาร #กิจกรรมการจัดกิจกรรม
เรียบเรียงโดย อาจารย์ต้นสัก สนิทนาม
โฆษณา