9 ชั่วโมงที่แล้ว • ความคิดเห็น

บทเรียนโสเครตีสกับเป้าหมายในปีใหม่ - ตัวอย่างจากผู้เขียน

ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วที่กล่าวถึงการตั้งเป้าหมายปีใหม่โดยอ้างอิงวิธีของโสเครตีสมาเป็น Framework ประกอบการพิจารณา
ในบทความนี้จะยกตัวอย่างของผู้เขียนเอง
ผู้เขียนตั้งเป้าหมายว่า “ปีหน้าฉันจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น” (เริ่มจากเป้าหมายหยาบๆ ก่อน)
1. เราทำไปทำไม
ต้องการเพิ่มความรู้ในเรื่องที่สนใจ รวมถึงเพื่อฝึกฝนให้ตัวเองสามารถสื่อสารด้วยคำพูดและการเขียนได้ดีมากขึ้น
2. เราไปได้ความคิดนี้มาจากไหน
ผู้เขียนเองสมัยเด็กๆ เคยมีหนังสือเป็นเพื่อน แต่พอโตขึ้นแล้วก็ห่างหายไป จากนั้นมีคนแนะนำว่าถ้าอ่านแล้วเขียนออกมาจะช่วยเรียบเรียงความคิดได้ดีขึ้น ทำให้สื่อสารได้ดีขึ้น ผู้เขียนเลยมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะกลับมาอ่านอีกครั้ง
3. เรารู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกไปกับขั้นตอนในการลงมือทำหรือไม่
ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เจอหนังสือเล่มใหม่ๆ ในเรื่องที่สนใจ ปัญหาไม่ใช่ความสนุกจากการอ่าน แต่คือการที่ต้องลดเวลากิจกรรมอื่นเพื่อให้มีเวลาอ่านที่แน่นอน (ก็เลยกลายเป็นกองดองตามนั้น)
4. มีวิธีอื่นที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่ แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับวิธีนั้น
สมัยนี้มีพอดแคสต์ที่จะเพิ่มความรู้ในเรื่องที่สนใจ และนำไปศึกษาเรื่องการสื่อสารได้ เพียงแต่ผู้เขียนเองก็ยังรู้สึกดีกว่าที่มีหนังสืออยู่ในมือ และมีสมาธิมากกว่าด้วย
5. ทำแล้วชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร และถ้าไม่ได้ทำ จะเกิดอะไรขึ้น จะเสียใจในภายหลังหรือไม่
พอผู้เขียนมองดูกองดองของตนเองที่งอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็รู้สึกแปลกๆ และอดคิดกับตัวเองไมได้ว่า “เราน่าจะเริ่มตั้งนานแล้ว”
คราวนี้จะลองอีกตัวอย่างหนึ่ง
ผู้เขียนเคยตั้งใจว่า “ปีหน้าฉันจะตื่นนอนตอนตี 4 ทุกวัน” (ตอนนั้นไม่ได้มีการคิดอะไรแบบนี้)
1. เราทำไปทำไม
ตื่นตั้งแต่เช้าตรู่เพราะจะได้มีเวลาทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น (ทำอะไรบ้างล่ะ ไม่รู้)
2. เราไปได้ความคิดนี้มาจากไหน
เคยอ่านและเคยฟังมาว่าพวกผู้บริหารดังๆ กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตื่นนอนตอนตี 4 กันทั้งนั้น
3. เรารู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกไปกับขั้นตอนในการลงมือทำหรือไม่
ไม่ล่ะ เมื่อมาคิดว่าต้องนอนตอนกี่โมง แล้วจินตนาการต่อว่าทั้งวันจะรู้สึกยังไงก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว
4. มีวิธีอื่นที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่ แล้วรู้สึกอย่างไรกับวิธีนั้น
ถ้าวัตถุประสงค์จริงๆ คือต้องการมีเวลาทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นแล้วล่ะก็ ลองมาจัดเวลาตอนเย็นหรือก่อนนอนแทนได้มั้ย
5. ทำแล้วชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร และถ้าไม่ได้ทำ จะเกิดอะไรขึ้น จะเสียใจในภายหลังหรือไม่
ก็คงจะไม่ค่อยเท่าไร ถึงแม้จะฟังดูดีแต่ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อะไรเป็นพิเศษ นอกเสียจากว่าในอนาคตผู้เขียนอยู่ในจุดที่มีสิ่งที่จะต้องทำจริงๆ และต้องทำในเวลานี้เท่านั้น ก็คงจะเป็นเป้าหมายที่ดี
คุณผู้อ่านลองนำ Framework นี้ไปใช้กับเป้าหมายต่างๆ แล้วได้ผลอย่างไรก็มาแชร์กันได้นะครับ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการหาสิ่งที่เรา “อิน” ที่จะทำจริงๆ ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ
ที่จริงแล้วบทความนี้กับบทความที่แล้วเอามารวมกันได้ เพียงแต่คิดว่ามันอาจจะยาวไป เลยอยากถามคุณผู้อ่านนิดนึงว่าเป็นบทความสั้นๆ หรือยาวสักหน่อยจะดีกว่ากัน?
ธนิท กิตติจารุรักษ์
23 พฤศจิกายน 2567
โฆษณา