Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
23 พ.ย. เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
เรื่องเงินอย่ารอโลกเปลี่ยน แต่ต้องเริ่มที่ตัวเรา
บทเรียนการเงินจากโครงการช่วยเหลือเด็กขาดสารอาหารในเวียดนาม
🇻🇳 ในปี 1990 เจอร์รี สเตอร์นิน (Jerry Sternin) เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือเด็กท่ีตกทุกข์ได้ยากชื่อ ‘Save the Children’ ได้รับการร้องขอจากรัฐบาลเวียดนามให้ไปตั้งสำนักงานที่นั้นเพื่อต่อสู้กับโรคขาดสารอาหาร
🌟 เพียงแต่ว่าตอนที่มาถึงเขาไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีสักเท่าไหร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่เห็นด้วยกับการมาเยือนของเขาสักเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นเขามีเวลาเพียงแค่ 6 เดือนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
เงินสนับสนุนก็น้อยมาก ทีมงานเรียกว่าแค่หยิบมือเดียว
เขาพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคขาดสารอาหารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างที่เราทราบว่าโรคขาดสารอาหารมีสาเหตุมาจากปัญหาอย่างระบบสุขาภิบาลย่ำแย่ ความยากจนของประชาชนส่วนใหญ่ และการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด อีกทั้งประชาชนในชนบทก็มักจะขาดความรู้ทางโภชนาการ
⚠️ สเตอร์นินเรียกการวิเคราะห์หาสาเหตุแบบนี้ว่า "ข้อเท็จจริงที่ไร้ประโยชน์" (“T.B.U.” – “True But Useless.”) โดยให้เหตุผลว่า "เด็กหลายล้านคนรอจนกว่าปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการแก้ไขไม่ไหวหรอกครับ" ถ้าต้องแก้ปัญหาความยากจนการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด และวางระบบสุขาภิบาลใหม่เสียก่อนถึงจะแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารได้ละก็ เขาคงไม่มีทางทำสำเร็จแน่ เขามีเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้นแถมยังแทบไม่ได้รับเงินสนับสนุนเลย
แล้วจะทำยังไงดี?
💡 แทนที่จะใช้วิธีทั่วไปสเตอร์นินได้ใช้แนวทางที่เขาเรียกว่า "positive deviance" หรือ "ความเบี่ยงเบนเชิงบวก" เขาเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ และพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งก็คือกลุ่มแม่ๆ ในหมู่บ้านนั่นแหละครับ เขาถามพวกคุณแม่ทั้งหลายว่ามีครอบครัวที่ยากจนมากๆ แต่มีลูกที่ตัวโตและแข็งแรงกว่าเด็กทั่วไปรึเปล่า? ทั้งที่มีทรัพยากรเท่าๆ กับครอบครัวอื่น
คำตอบคือ "มี"
สเตอร์นินและชาวบ้านจึงเริ่มค้นหาว่าแม่ของเด็กที่แข็งแรงที่สุดทำอะไรที่แตกต่างไปจากครอบครัวอื่นๆ
ในเมื่อเขาทราบดีว่าไม่สามารถแก้ที่ "ต้นตอของปัญหา" (ระบบสุขาภิบาล ความยากจน ฯลฯ) ซึ่งแสนจะยากเย็นแสนเข็ญได้ แต่ถ้ามีเด็กจำนวนหยิบมือเดียวมีสุขภาพแข็งแรงถึงแม้สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย แล้วทำไมเด็กทุกคนถึงจะเป็นแบบนั้นบ้างไม่ได้ล่ะ
สิ่งที่สเตอร์นินพยายามทำคือการตอบคำถามว่าทำอย่างไรให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง (ดูตัวอย่างจากเด็กที่แข็งแรงจากครอบครัวอื่นที่มีทรัพยากรไม่ต่างกัน) เพราะการถามว่า ‘จะทำยังไงให้เด็กๆ สุขภาพแข็งแรงขึ้น?” นั้นกว้างเกินไปและมีคำตอบมากมาย
🎯 สิ่งที่แม่ๆ ในหมู่บ้านชนบทเหล่านั้นต้องการทิศทาง ไม่ใช่แรงจูงใจเพราะถึงอย่างไรพวกเธอก็มีแรงจูงใจที่อยากจะให้ลูก ๆ มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นอยู่แล้ว แต่คำถามคือจะทำอย่างไรต่างหาก
✨ พวกเขาพบว่าแม่ของเด็กที่แข็งแรงที่สุดทำสิ่งที่แตกต่างจริงๆ
- หนึ่ง พวกเขาให้อาหารลูกในปริมาณที่น้อยลงแต่บ่อยครั้งขึ้นในแต่ละวัน เนื่องจากกระเพาะของเด็กที่ขาดสารอาหารไม่สามารถย่อยอาหารครั้งละมากๆ ได้ 🕒
- สอง พวกเขาเก็บกุ้งฝอย ปูจากนาข้าวและผักใบเขียวจากมันเทศที่ปลูกในสวนมาใส่ในน้ำแกงหรือข้าวประจำวัน พวกเขาทำเช่นนี้แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ซึ่งถูกมองว่าเป็น "อาหารชนชั้นต่ำ" สิ่งที่เติมเข้าไปกลายเป็นโปรตีนและวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต 🦐 🦀 🌿
- สาม เวลาตักอาหารให้ลูก พวกเขาจะตักจากก้นหม้อ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะได้กินกุ้งและผักที่ตกตะกอนระหว่างการทำอาหาร และบางครั้งก็ป้อนข้าวให้ลูกด้วย (ถ้าตักเองบางทีก็กินไม่เยอะ) หรือถ้าเด็กไม่สบายก็ยังให้กินข้าวอยู่ ซึ่งขัดกับบรรทัดฐานของหมู่บ้านที่เคยเป็นมา 🥄
⭐ สเตอร์นินเรียกกลยุทธ์นี้ว่าการหา "bright spots" หรือ “ดาวเด่น” - ข้อยกเว้นที่สังเกตได้และเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนบ้านว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าปกติ ทั้งที่มีทรัพยากรแบบเดียวกับคนอื่นๆ
🎓 แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น “ความรู้ไม่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม" เขาบอก
“พวกเราล้วนเคยเจอจิตแพทย์ที่มีอาการทางจิตแพทย์ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน และเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการสมรสที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้ว" เขารู้ดีว่าการให้ความรู้เรื่องโภชนาการจะไม่ทำให้พฤติกรรมของบรรดาคุณแม่เปลี่ยนไป แต่ต้องให้พวกเธอลงมือทำ
🔄 สเตอร์นินจัดตั้งโครงการรณรงค์ขึ้นในหมู่บ้าน โดยแบ่งคุณแม่ที่มีลูก ๆ ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารจำนวน 50 คนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน แต่ละกลุ่มต้องมารวมตัวกันที่กระท่อมหลังหนึ่งทุกวัน และนำกุ้ง ปู และใบมันเทศติดมือมาด้วยเพื่อหุงหาอาหาร พวกเธอจะล้างมือด้วยสบู่และช่วยกันทำอาหาร สเตอร์นินบอกว่าบรรดาคุณแม่ "เปลี่ยนมุมมอง ด้วยการลงมือปฏิบัติ"
🌱 ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเธอและมีต้นตอมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน หน้าที่ของสเตอร์นินมีเพียงทำให้บรรดาคุณแม่ตระหนักว่าพวกเธอสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเอาชนะโรคขาดสารอาหารได้
ในเวลาไม่ถึงเดือน เขาและบรรดาแม่ๆ ได้ค้นพบวิธีปฏิบัติในท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ สมจริง และยั่งยืน เขาช่วยให้แม่ๆ ในหมู่บ้านอื่นๆ ได้ศึกษา “ดาวเด่น” ในท้องถิ่นของตนและทำตามพฤติกรรมเหล่านั้น กุญแจสำคัญของความสำเร็จในกระบวนการนี้คือการตระหนักว่าทางออกที่ยั่งยืนมีอยู่แล้วและสามารถหาได้ในท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นเอง (เพราะถ้าคนนอกมาบอกวิธีแก้ไขปัญหา คนในท้องถิ่นอาจจะคัดค้านได้ เพราะมันมาจากความคิดของคนอื่น)
📈 สเตอร์นินช่วยให้แม่ๆ ที่เป็น “ดาวเด่น” ในหมู่บ้านต่างๆ กระจายออกไปฝึกสอนคนอื่นๆ ในวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับชุมชนของพวกเขา เมื่อครบหกเดือน 65% ของเด็กๆ ในหมู่บ้านที่สเตอร์นินทำงานด้วยมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น
🏆 สุดท้ายโครงการนี้มีประชาชนชาวเวียดนามเข้าร่วมทั้งหมด 2.2 ล้านคนจากหมู่บ้าน 265 แห่ง นี่คือเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างแท้จริง
[💵 #ถอดบทเรียนมาใช้กับเรื่องการเงิน]
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องการเงิน?
ปัญหาหนึ่งของเรื่องการเงินส่วนบุคคลคือไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าต้องทำอะไร (จ่ายให้น้อยกว่าที่หามาได้ อย่าเป็นหนี้ถ้าไม่จำเป็น อย่าค้างจ่ายบัตรเครดิต เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ซื้อประกันสุขภาพ/ประกันชีวิตตามความเหมาะสม ลงทุนกระจายความเสี่ยง พัฒนาความสามารถในการหาเงิน ฯลฯ) สิ่งเหล่านี้เรารู้อยู่แล้ว
💡 เรื่องเงินก็เหมือนการออกกำลังกาย ไม่มีใครไม่รู้ครับว่าการออกกำลังเป็นเรื่องดี ปัญหาคือมันทำได้ยาก หรือเปลี่ยนแปลงนิสัยของตัวเองที่เป็นอยู่ยากนั่นเอง ไม่ใช่ไม่อยากเปลี่ยน
แล้วต้องทำยังไงละ?
ในหนังสือ ‘Switch’ (ชื่อไทย : กดปุ่มเปลี่ยนแปลง) บอกว่า 3 ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงคือ
1. กำหนดทิศทางให้ชัดเจน
2. จูงใจ สร้างอารมณ์ร่วม
3. ปรับเปลี่ยนเส้นทาง หาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเรื่องของสเตอร์นินกับโครงการต่อสู้กับโรคขาดสารอาหารในเวียดนาม จากตอนเริ่มแรกที่เขาพยายามหาข้อมูลว่าทำไมเด็กถึงขาดสารอาหารแล้วได้ "ข้อเท็จจริงที่ไร้ประโยชน์" มา (ความยากจน ขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด ฯลฯ) มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพราะทิศทางมันไม่ชัดเจนว่าจะต้องทำยังไง
🎯 เหมือนกันกับเรื่องการเงินของเรา โลกสมัยนี้เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ จูงใจให้เราใช้เงินที่หามาอย่างยากลำบาก การเป็นหนี้แค่กดเปิดมือถือขึ้นมาก็มีข้อเสนอเต็มไปหมดแล้ว หากเราแค่พูดว่า “อยากมีวินัยการเงินที่ดีขึ้น” แล้วหวังว่าโลกจะเปลี่ยน โอกาสเข้ามาหา เงินเดือนมากขึ้น ถูกหวย รอให้สถานการณ์เศรษฐกิจมันจะดีขึ้นเอง หรืออะไรก็ตาม มันไม่มีประโยชน์
🌟 โลกก็ให้มันเป็นไปตามนั้น เราทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองได้
ตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน เช่น ‘เก็บเงินให้ได้ 1 แสนบาทภายในปีนี้’ หรือ ‘จ่ายหนี้บัตรเครดิตให้หมดภายใน 6 เดือน’ แล้วลองใช้กลยุทธ์ ‘ดาวเด่น’ เหมือนอย่างที่สเตอร์นินทำก็ได้ หาคนที่ประสบความสำเร็จโดยมีทรัพยากรคล้ายกับเรา ใช้แนวคิดและวิธีของเขาเป็นแนวทางการปฏิบัติว่าต้องไปทางไหน
(สามารถดูช่องของ aomMONEY บน YouTube ก็ได้ครับมีตัวอย่างด้านการเงินดีๆ เยอะเลย)
ทำแผนให้ชัดเจน เดือนนี้จะทำอะไรบ้าง ทำงบบัญชีรายรับรายจ่าย วางแผนการใช้เงิน จัดสรรให้เป็นระบบระเบียบ รู้ว่าเงินเข้าออกตรงไหนบ้าง เป็นเจ้านายของเงินทุกบาท อันไหนไม่รู้ก็หาความรู้เพิ่ม เดี๋ยวนี้มีข้อมูลเยอะมากๆ
พยายามกระตุ้นแรงจูงใจของเรา มองปลายทางเอาไว้ว่าเมื่อถึงแล้วเราจะมีความสุขขนาดไหน ระหว่างทางก็คอยตบบ่าให้กำลังใจตัวเองไปด้วย
และที่สำคัญครับคือส่วนสุดท้าย ‘สภาพแวดล้อม’
อย่างที่สเตอร์นินบอก “ความรู้ไม่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม"
สเตอร์นินจัดโครงการให้แม่ๆ มาเจอกัน มาให้กำลังใจเกื้อหนุนกัน ทำให้พวกเธอตระหนักว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีต้นตอมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน พวกเธอสามารถเปลี่ยนแปลงและเอาชนะปัญหาตรงนี้ได้
เช่นกันกับเรื่องการเงิน ‘ความรู้ไม่ได้ทำให้เรามีวินัยทางการเงิน’ แต่อยากเปลี่ยนต้องลงมือทำ ลองหากลุ่มออนไลน์ที่ให้ความรู้และพูดคุยเรื่องการเงินคอยช่วยเหลือแนะนำกัน ถ้ามีเพื่อนก็อาจจะคอยสนับสนุนมอบความรู้ให้กัน มีแฟนก็ชวนแฟนตั้งเป้าหมายการเงินด้วยกัน อะไรแบบนี้จะช่วยได้เยอะมาก
💪 อีกอย่างของเรื่องสภาพแวดล้อมคือถ้าเราตกเป็นเหยื่อและทาสการตลาดได้ง่าย (เรารู้ตัวกันดีอยู่แล้ว) ใช้เทคนิครอ 72 ชั่วโมงก่อนกดซื้อของ หรือแบ่งงบไว้ซื้อของแต่ละเดือนเลย หรือถ้าเสพติดหนักๆ การงดไปเดือนห้างหรือลบแอปชอปปิงทิ้งก็ช่วยได้ครับ อย่าไปหวังว่าจิตใจเราจะเข้มแข็งพอเมื่อเจอโปรโมชันล่อตาล่อใจ เพราะบ่อยครั้งที่เราจะพ่ายแพ้
🔥โลกเต็มไปด้วย “ข้อเท็จจริงที่ไร้ประโยชน์" อยากสร้างนิสัยการเงินที่ดี เริ่มเปลี่ยนแปลงได้ที่ตัวเราเอง
#TLDR: ประเด็นสำคัญของบทความ
- 💡 การเปลี่ยนแปลงที่ดีไม่จำเป็นต้องรอให้สภาพแวดล้อมภายนอกเปลี่ยน แต่สามารถเริ่มได้จากการค้นหาและเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
- 🔑 3 ปัจจัยสู่การเปลี่ยนแปลง:
1.ตั้งเป้าหมายชัดเจน เฉพาะเจาะจง
2.สร้างแรงจูงใจและอารมณ์ร่วม
3.จัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อความสำเร็จ
- ⚡ ข้อคิดสำคัญ: "ความรู้อย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม" ต้องลงมือทำและมีระบบสนับสนุนที่ดี
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง : หนังสือ ‘Switch’
https://narrative.com.sg/news/jerry-sternin/
#การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการเงิน #หนังสือ #Switch #การเปลี่ยนแปลง
1 บันทึก
5
3
1
5
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย