Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ทำงานวิจัยเรื่องง่าย Researching Reseacher
•
ติดตาม
23 พ.ย. 2024 เวลา 08:39 • การศึกษา
การวิจัยคืออะไร ?
เมื่อพูดถึง “การวิจัย” หรือ “Research” หลายคนน่าจะนึกภาพไปถึงการที่ต้องอยู่ให้ห้องทดลอง มีคนที่ใส่เสื้อกาวน์สีขาวอยู่เต็มห้อง เล่นกับเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ดูล้ำสมัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การวิจัย” มีความหมายที่กว้างมากกว่านั้นเป็นอย่างมาก และเพื่อให้เราเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น ผมจะขอกล่าวถึงการให้ความหมายของ “การวิจัย” ตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ก่อน เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจได้ตรงกัน
ดิกชันนารี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge Dictionary) ได้ให้ความหมายว่า การศึกษารายละเอียดของหัวข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อที่จะค้นพบข้อมูลใหม่ หรือเข้าถึงความเข้าใจใหม่
มหาวิทยาลัย เวสเทิร์น ซิดนีย์ (Western Sydney University) ได้ให้ความหมายว่า การวิจัยหมายถึงการสร้างความรู้ใหม่ และ / หรือ การใช้ความรู้ที่มีอยู่ในรูปแบบใหม่และสร้างสรรค์เพื่อสร้างแนวคิด วิธีการ และความเข้าใจใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงการสังเคราะห์และการวิเคราะห์งานวิจัยก่อนหน้านี้จนถึงขอบเขตที่นำไปสู่ผลลัพธ์ใหม่และสร้างสรรค์
ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้บรรยายไว้เมื่อปี 2538 ว่า
“วิจัย” มีความหมายเดียวกับ “ปัญญา” เป็นลักษณะหนึ่งของการใช้ปัญญา พร้อมทั้งทำให้เกิดปัญญาหรือทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้นด้วย ตามรูปศัพท์แล้ว “วิจัย” แปลว่า “เฟ้น” คือ การค้นหา สืบค้น ตรวจสอบ พิสูจน์
ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
กล่าวคือ การวิจัย จึงหมายถึงการใช้ปัญญาในการค้นหา สืบค้น ตรวจสอบ พิสูจน์ ให้ได้มาซึ่งความรู้อันจะเป็นการพัฒนาต่อยอดปัญญายิ่งขึ้นไป
อาจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อธิบายไว้ว่า การวิจัยคือส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าให้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ซึ่งสิ่งที่ยังไม่รู้นั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ “ความรู้นั้นมีอยู่แล้วจากการค้นพบของผู้อื่น เพียงแต่เราไม่เคยได้รับรู้” และ “ความรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบ”
จากข้อความข้างต้นทำให้เราสามารถสรุปความหมายของ “การวิจัย” ได้คือ การศึกษารายละเอียดของหัวข้อ ด้วย การค้นหา สืบค้น ตรวจสอบ พิสูจน์ ให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ การใช้ความรู้ที่มีอยู่ในรูปแบบใหม่ ความเข้าใจใหม่ หรือผลลัพธ์ใหม่
โดยคำว่าใหม่นี้ไม่ได้หมายความถึงจะต้องเป็นสิ่งใหม่ในโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดมาก่อน แต่หมายถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่รู้สำหรับตัวของผู้ที่ทำการวิจัย หรืออาจรวมไปถึงสิ่งที่ไม่รู้ของผู้อื่นในสังคมด้วยเช่นกัน
จากความหมายนี้ “การวิจัย” จึงมีความหมายที่กว้างมาก ไม่จำกัดแต่เพียงว่าจะต้องเป็นการทดลองที่เกิดขึ้นในห้องทดลองเท่านั้น แต่ในชีวิตประจำวันก็สามารถเกิดขึ้นได้
เช่นตัวอย่าง การที่เราเกิดความสงสัยในเรื่องการทำผัดกะเพราแล้วเราเริ่มศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ต เพื่อค้นหาว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ขั้นตอนการทำเป็นอย่างไร จนได้รับซึ่งคำตอบและสามารถที่จะลงมือทำผัดกะเพราด้วยต้นเองได้
จากตัวอย่างข้างต้นสามารถระบุได้ดังนี้
1.
การทำผัดกะเพรา คือ หัวข้อการวิจัย
2.
สงสัยในการทำผัดกะเพรา คือ วัตถุประสงค์
3.
วัตถุดิบอะไร ขั้นตอนการทำเป็นอย่างไร คือ คำถามการวิจัย
4.
การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ต คือ วิธีการการวิจัย
5.
สามารถลงมือทำผัดกะเพราด้วยตนเองได้ คือ ผลลัพธ์การวิจัย
และนี่ก็คือการวิจัยเช่นกัน และมักจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเป็นปกติอยู่แล้ว จากตัวอย่างถ้าเกิดการลองผิดลองถูกทำผัดกะเพราไปตามความรู้ที่ได้มา จนกระทั่งเชี่ยวชาญและทำผัดกะเพราได้อร่อยถูกปาก นั่นก็นับเป็นการวิจัยเช่นกัน โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ การใช้ความรู้ที่มีอยู่ในรูปแบบใหม่ หรือคือผัดกะเพราะที่อร่อยถูกปากเรานั่นเอง
ดังนั้นแล้ว สำหรับผู้ที่เป็นนักวิจัยมือใหม่อยากที่จะหัดทำวิจัย หรือกำลังศึกษาถึงกระบวนการวิธีการในการทำวิจัย ผมแนะนำว่าไม่ต้องคิดให้มันยิ่งใหญ่หรือแปลกตามากมาย ทำจากสิ่งง่ายๆ ที่เรามีในชีวิตประจำวัน เริ่มจากจุดนั้น แล้วจึงค่อยพัฒนาต่อยอดให้มีความซับซ้อน ลุ่มลึก มากยิ่งขึ้นดังตัวอย่างของการทำผัดกะเพรา
สุดท้าย เมื่อเราเข้าใจถึงการวิจัยแล้วและต้องการที่จะทำการวิจัยในระดับสากล มักจะมีข้อกำหนดที่สำคัญหนึ่งข้อเพิ่มเข้าไปคือ “ความรู้ที่เราค้นพบนั้นจะต้องไม่เคยมีผู้ใดค้นพบมาก่อน” เพิ่มเติมเข้าไป
งานวิจัย
ความรู้รอบตัว
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย