24 พ.ย. 2024 เวลา 08:27 • สุขภาพ
Fukuoka City Museum

วิกฤตวัยกลางคน

หลังจบงานวิ่ง Fukuoka Marathon ปีนี้ พวกเราไปนั่งคุยกันในสวนที่จุด Finish ตามสไตล์ของพวกเรา 'เล่าหลังสวน'
2
มีหลายเรื่องที่คุยกัน แต่มีเรื่องหนึ่งที่อยากนำมาบันทึกที่นี่ด้วยเพื่อเกิดประโยชน์กับผู้อ่านคือเรื่อง วิกฤตวัยกลางคน ที่เราประสบด้วยตัวเองและสังเกตจากคนรอบข้าง
เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า ตอนอายุประมาณ 40 ต้นๆ มีความรู้สึกว่าอายุเยอะแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่มีต้นทุนชีวิตพอที่ ‘น่าจะ’ ประสบความสำเร็จได้แล้ว ซึ่งในวัยนี้ถ้าเป็นพนักงานประจำบางคน จะได้เป็นผู้บริหารระดับกลางถึงสูง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน บางคนเป็นเพียงพนักงานธรรมดาหรือแค่ระดับหัวหน้างาน
เขาเล่าต่อว่า ในตอนแรกไม่ได้รู้สึกว่าผิดปกติอะไร ก็แค่ความรูัสึกทั่วไป แต่พอเวลาผ่านไป ความรู้สึกกดดันค่อยๆ สะสมขึ้น คิดไปเองว่ามีความคาดหวังของคนรอบข้างและจากตัวเองว่า “ทำไมเรายังอยู่ที่เดิม ทั้งที่เพื่อนบางคนก้าวหน้าไปไกลแล้ว” คำถามนี้วนเวียนอยู่ในใจ รู้สึกไม่พอใจกับชีวิตตัวเอง มีความเครียด หงุดหงิดง่าย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
อีกคนเล่าว่า วิกฤตวัยกลางคนมันคงไม่ได้เกี่ยวกับความสำเร็จในสายอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่มันยังโยงไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ทำงาน สุขภาพ และความฝันที่เราอาจละทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว “เรามัวแต่ทำงานจนลืมดูแลครอบครัวหรือสุขภาพตัวเองไปหรือเปล่า”
และพวกเรามีความเห็นเรื่องนี้เหมือนกันว่า ความรู้สึกแบบนี้ในวัยกลางคน อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เราก็สามารถจัดการมันได้ คือการกลับมาทบทวนตัวเองว่าเราต้องการอะไรในชีวิต การไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไข ข้อจำกัด และต้นทุนชีวิตที่ต่างกัน ปรับเปลี่ยนความคิดโดยไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไป และยอมรับว่าไม่มีสูตรสำเร็จของชีวิต ทุกคนมีเส้นทางและจังหวะของตัวเอง และที่สำคัญคือการดูแลสุขภาพใจและกาย เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
วิกฤตวัยกลางคนอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ
1
พวกเราเก็บข้าวของเพื่อเตรียมเดินไปขึ้นรถไฟฟ้ากลับโรงแรม เพื่อนคนหนึ่งพูดปิดท้าย "จงใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร เพราะชีวิตของเรานั้นมีคุณค่าในแบบของเราเอง" คำพูดนี้ทำให้พวกเรารู้สึกมีพลัง และเป็นบทสรุปที่สวยงามสำหรับการ 'เล่าหลังสวน' หลังงานวิ่งที่ฟุกูโอกะปีนี้
1
โฆษณา