Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
B
Benjamin Jaris
•
ติดตาม
2 ชั่วโมงที่แล้ว • ท่องเที่ยว
พระบรมบรรพตและพระสมุทรเจดีย์ สองเจดีย์ ต้นกำเนิดงานวัดใหญ่
ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีงานวัดใหญ่ 2 งานที่ผู้คนต่างอยากลองไปสัมผัสบรรยากาศสักครั้งในชีวิต ได้แก่ งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน และงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมบรรพต หรือ “งานภูเขาทอง” ตั้งแต่วันที่ 8 - 17 พฤศจิกายน ซึ่งทั้งพระสมุทรเจดีย์และพระบรมบรรพต ต่างเป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนอยากไปสักการะบูชา ซึ่งมีความเหมือนและแตกต่างกันดังนี้
จุดเริ่มต้น
พระสมุทรเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีดำริให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระเจดีย์ประจำเมืองสมุทรปราการ
จิตรกรรมการสร้างพระสมุทรเจดีย์ ในศาลาทรงยุโรป พระสมุทรเจดีย์ ถ่ายเมื่อปี 2013
พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง สร้างในขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นปูชนียสถานชานพระนครคล้ายกับวัดภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นสถานที่เล่นเพลงเรือสักวาในช่วงหน้าน้ำ
ป้อมมหากาฬ และพระบรมบรรพต ถ่ายเมื่อปี 2016
สถาปัตยกรรมแรกสร้าง
โครงการพระสมุทรเจดีย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจบแค่การวางรากฐานและพระราชทานนามพระเจดีย์เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสานงานต่อจากพระราชบิดาด้วยการสร้างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สูง 13 วา 3 ศอก (ประมาณ 27.5 เมตร) โดยมีเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กอง แล้วเสร็จพร้อมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในปี ค.ศ.1828
โครงสร้างเดิมของพระสมุทรเจดีย์ จาก หอชมเมืองสมุทรปราการ ถ่ายเมื่อปี 2022
พระบรมบรรพตในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระปรางค์ขนาดย่อมุมไม้สิบสองฐานกว้าง 50 วา โดยให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในปี ค.ศ.1850 แต่การสร้างพระปรางค์สำเร็จแค่ชั้นฐานก็ทรุดเสียก่อน จึงหยุดการก่อสร้างเสียก่อน
ฐานพระบรมบรรพตที่ยังไม่สมบูรณ์ ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน ปี ค.ศ.1865
ปรับเปลี่ยนเป็นปัจจุบันโดยรัชกาลที่ 4
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองสมุทรปราการและนมัสการพระสมุทรเจดีย์ ทรงปรารภว่าพระสมุทรเจดีย์องค์เดิมเล็กไป ต้องการสร้างให้สูงขึ้นเพื่อให้เป็นจุดสังเกตสำหรับนักเดินเรือต่างชาติและเป็นเกียรติยศแห่งแผ่นดิน จึงโปรดเกล้าฯให้ช่างถอดแบบจากเจดีย์ทรงระฆังที่อยุธยา แล้วสร้างเจดีย์ครอบทับองค์เดิม ในปี ค.ศ.1860 กลายเป็นพระเจดีย์ความสูง 19 วา 2 ศอก (39.75 เมตร) พร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐาน ณ เจดีย์แห่งนี้
การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จาก จิตรกรรมในศาลาทรงยุโรป ถ่ายเมื่อปี 2013
ในช่วงเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีดำริรื้อฟื้นการสร้างบรมบรรพตเสียใหม่ ให้มีความสูง 59.75 เมตร โดยให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) เป็นนายช่างซ่อมแปลงฐานพระปรางค์ สร้างทางลาดเวียน ก่อพระเจดีย์ไว้ด้านบน วางศิลาฤกษ์พร้อมพระราชทานนามในปี ค.ศ.1865
สร้างแล้วเสร็จพร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระบรมมหาราชวังประดิษฐานในสถูปจำลองพระบรมบรรพตในปี ค.ศ.1878 และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากประเทศอินเดียไว้ด้านบนพระบรมบรรพตในปี ค.ศ.1899 แต่เดิมนั้น พระบรมบรรพตเป็นเจดีย์สีขาว ต่อมาได้มีการนำโมเสกสีทองจากประเทศอิตาลีมาประดับพระเจดีย์ในปี ค.ศ.1963 และบูรณะครั้งล่าสุดในปี ค.ศ.2024
พระบรมบรรพตประดับโมเสกสีทอง ถ่ายเมื่อปี 2017
แห่ผ้าแดงและงานวัด
สองสิ่งที่พระสมุทรเจดีย์และพระบรมบรรพตมีเหมือนกันและยังคงสืบทอดจนถึงปัจจุบัน คือ พิธีแห่ผ้าแดงห่มรอบองค์พระเจดีย์ ถึงแม้จะมีที่มาเหมือนกัน แต่ต้นกำเนิดนั้นแตกต่างกัน
งานพิธีห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์ เริ่มในวันแรม 5 ค่ำเดือน 11 โดยอัญเชิญจากศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการมาแห่รอบองค์พระสมุทรเจดีย์ และให้สมาชิกตระกูลรุ่งแจ้งเป็นผู้ห่มพระเจดีย์จนเสร็จสมบูรณ์ส่วนผ้าห่มพระเจดีย์ในปีที่ผ่านมาจะนำไปตัดแบ่งเป็นขนาด 2*2 นิ้ว ให้กับผู้ร่วมงานได้นำเคารพบูชา
ผ้าแดงที่นำมาห่มพระสมุทรเจดีย์ ภาพจาก ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ
จากนั้นเริ่มงานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสมุทรปราการ ที่ครอบคลุม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งอ.พระสมุทรเจดีย์ และ อ.เมืองสมุทรปราการ เป็นเวลา 12 วัน 12 คืน โดยฝั่งอ.พระสมุทรเจดีย์ปิดการจราจรบริเวณทางเข้าองค์พระ ส่วนอ.เมืองนั้นปิดการจราจรตั้งแต่ศาลากลาง ศาลหลักเมือง ไปจนถึงตลาดปากน้ำ สามารถเดินทางข้ามไปมาโดยท่าเรือหน้าศาลากลางและท่าเรือวิบูลย์ศรีไปจนถึงพระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์ระหว่างการจัดงาน
ประเพณีห่มผ้าแดงพระบรมบรรพต จัดในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 มีต้นกำเนิดเกิดขึ้นในสมัยพระบาทจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดียมาประดิษฐาน พระองค์ได้พระราชทานผ้าสีแดงเพื่อห่มบูชา จากนั้นประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเขียนชื่อนามสกุลลงบนผ้าแดงเพื่อความเป็นสิริมงคล และแห่แหนขึ้นห่มรอบองค์พระเจดีย์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้เวลางานนมัสการองค์พระบรมบรรพตแล้ว
โดยพื้นที่จัดงานอยู่โดยรอบองค์พระบรมบรรพต พระอุโบสถ พระวิหาร ลานโพธิ์ลังกา ไม่มีการปิดถนน แต่การจราจรนั้นติดขัดตั้งแต่ถนนบริพัตร ถนนจักรพรรดิพงษ์ ไปจนถึงถนนดำรงรักษ์และถนนหลานหลวง มีร้านค้าต่างๆมากมายให้เลือกซื้อเลือกชมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ส่วนการจราจรมีให้เลือกใช้หลากหลายตั้งแต่รถเมล์ เรือด่วนคลองแสนแสบ และรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้
ที่มา
-
https://phrasamutjedee.go.th/public/list/data/index/menu/1142
-
https://samutprakan.prd.go.th/th/content/category/detail/id/413/iid/11966
-
https://archaeology.sac.or.th/archaeology/45
-
https://www.samutprakan.go.th/กิจกรรมผู้บริหาร/จังหวัดสมุทรปราการ-ประ-11/
-
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2590498774324983&id=1108887155819493&set=a.1113454018696140
-
https://www.facebook.com/Phukhaothong344/posts/โมเสกทอง-ที่ระลึกโครงการบูรณะองค์พระเจดีย์พระบรมบรรพต-ภูเขาทอง-พศ-๒๕๖๗______โมเส/122135285732177641/
-
https://www.dailynews.co.th/news/4042633/
-
https://www.thaipbs.or.th/news/content/346013
กรุงเทพมหานคร
วัด
สมุทรปราการ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย