24 พ.ย. 2024 เวลา 16:06 • การศึกษา

!รีวิวละเอียด จบในโพสต์เดียว! การสอบโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 17

  • นปร.คืออะไร?
ย่อมาจากโครงการพัฒนาบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (Public Service Agent for Change Development Program : PSAC) คือ โครงการที่สรรหา และคัดเลือก บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและมีสมรรถนะสูง เพื่อเข้ารับราชการ *โดยไม่ต้องมีผลการสอบภาคก.*
  • รายละเอียดการสอบ และ การเตรียมตัว
การสอบจะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ใช้เวลาทั้งหมด 4 วันดังต่อไปนี้ครับ
สอบขั้นตอนที่ 1 : ความรู้พื้นฐานทั่วไป สอบในวันเสาร์ ไปสอบกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ โดยจะแบ่งออกเป็นช่วงเช้า และ ช่วงบ่าย
สอบช่วงเช้าจะเป็นทดสอบภาษาอังกฤษครับ ซึ่งก็คือข้อสอบ CU-TEP เลย จะมีทั้งหมด 3 พาร์ทคือ ฟัง อ่าน และเขียน คะแนนเต็มทั้งหมด 120 คะแนน ข้อสอบส่วนนี้แนะนำให้ไปหาซื้อหนังสือแบบฝึกหัดมาฝึกทำครับ หาซื้อไม่ยาก แบบไฟล์ PDF มีขายออนไลน์ครับ (แต่ถ้าใครมีคะแนนภาษาอังกฤษที่ถึงเกณฑ์ตามที่ประกาศรับสมัครกำหนดไว้และยังไม่หมดอายุ จะไม่ต้องเข้าสอบส่วนนี้ครับ)
สอบช่วงบ่าย จะเป็นการทดทอบความรู้ความสามารถทั่วไป ประกอบไปด้วย ภาษาไทย การคิดคำนวณ อนุกรม อ่านจับใจความ อ่านบทความสั้นยาว แบบทดสอบ IQ เช่น การดูรูป 3มิติ ลูกเต๋า ซึ่งข้อสอบในส่วนนี้มีความคล้ายกับการสอบภาคก. คนที่เตรียมตัวสอบภาคก. อยู่แล้วคิดว่าจะไม่มีปัญหาในส่วนนี้ครับ (แต่ส่วนตัวผมคิดว่าง่ายกว่าภาคก.นิดหน่อย) มีทดสอบรูปแบบการเขียนจดหมายหรือหนังสือเวียนของราชการ (จากที่คุยมา มีน้อยคนที่จะทำส่วนนี้ได้ 55555)
สอบขั้นตอนที่ 2 : ทดสอบข้อเขียน สอบในวันถัดมาจากวันแรกครับ สอบกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนเดิม ตึกเดิมเลยครับ และแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่ายเหมือนเดิม (ขอบอกเลยว่าเหนื่อยมากจริง ๆ สอบติด ๆ กัน 2 วัน)
สอบช่วงเช้าเป็นการสอบข้อเขียนครับ ให้กระดาษเปล่ามา 5 หน้า มีหัวข้อประเด็นให้เลือก โดยจะเกี่ยวกับนโยบายในด้านต่าง ๆ เช่น ประเด็นเชิงเศรษฐกิจ ประเด็นเชิงการคมนาคมขนส่ง ประเด็นในเชิงสุขภาพ โดยให้เขียนในเชิงนำเสนอนโยบาย โดยเชื่อมโยงกับสาขาที่เราจบมาครับ ซึ่งผมจบสายกฎหมายมา ผมเลือกหัวข้อเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับรถเมล์ของไทย โดยอ้างอิงกับทฤษฎีทางกฎหมายคือการจัดทำบริการสาธารณะ แนะนำว่าให้เขียนให้เต็ม 5 หน้า ให้ครบทุกบรรทัดเลยครับ หากอยากได้คะแนนดีในส่วนนี้คิดว่าต้องอ่านข่าวเยอะ ๆ
สอบช่วงบ่ายเป็นแบบทดสอบเกี่ยวกับสภาวะจิตใจและอารมณ์ เป็นพาร์ทการสอบที่ชิวมากที่สุดแล้วครับ เพราะจะถามเกี่ยวกับตัวเราเอง ว่าเรามีนิสัย มีความคิด มีจิตใจอย่างไรบ้าง ก็แนะนำให้ตอบไปตามความเป็นจริงได้เลยครับ
เริ่มเข้าห้องสอบตอน 8.30 มีพักเที่ยง กลับมาสอบใหม่ตอน 13.00 ถ้าทำข้อสอบเสร็จแล้วออกจากห้องก่อนไม่ได้ครับ จะต้องรอจนหมดตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็จะประกาศผลการสมัครครับ ยอมรับว่าตอนแรกไม่คิดว่าจะผ่าน เพราะเตรียมตัวไปน้อย แต่พอประกาศผลออกมาว่าผ่านก็ดีใจมากเลยครับ จากคนสมัครทั้งหมด 300 กว่าคน ผ่านเข้าสู่การทดสอบรอบที่ 3 จำนวน 82 คนครับ
สอบขั้นตอนที่ 3.1 : การประเมิน ความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรมและเชาน์อารมณ์ ด้วยวิธีการ Assessment Center เดินทางไปสอบกันที่โรงพยาบาลจุฬาฯครับ โดยจะสอบสัมภาษณ์กับจิตแพทย์ของจุฬาฯ ลักษณะการสอบจะคล้ายกับที่เรียกว่า Lab กริ๊ง คือ จะมีห้องทดสอบ 4 ห้อง แต่ละห้องจะมีจิตแพทย์อยู่ 2 คน และกระดาษคำถาม 1 คำถาม ให้เวลาห้องละประมาณ 12 นาที ซึ่งเป็นคำถามในเชิงจิตวิทยาทั้งหมด เช่น ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอย่างไร วัดความคิด ทัศนคติ และการรับมือกับสถานการณ์ครับ
สอบขั้นตอนนี้ไม่รู้เลยว่าจะแนะนำอะไร แต่อยากให้ตั้งสติก่อนตอบคำถามให้ดี อ่านคำถามให้ละเอียด ไม่ต้องรีบอ่าน ตอบคำถามให้ครบประเด็น บางห้องจิตแพทย์อาจจะถามคำถามเพื่อกดดันเรา ให้เราตั้งสติ และตอบด้วยความใจเย็นครับ และในรอบนี้จากผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 82 คน ถูกคัดออก 15 คนเหลือผ่านเข้ารอบ 67 คนครับ
สอบขั้นตอนที่ 3.2 : การประเมิน ความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรมและเชาน์อารมณ์ ด้วยวิธีการสอบสัมภาษณ์ เป็นการสอบรอบสุดท้าย เดินทางไปสอบที่สำนักงานก.พ.ร. ที่ถนนพิษณุโลก ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ไปถึงแล้วต้องเข้าไปนั่งรอในห้องประชุม รอเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ จะมีผู้ใหญ่จากหน่วยงานต่าง ๆ หลายสิบท่านนั่งรอเราอยู่ในห้องสัมภาษณ์ จะมีคำถามทั่วไปเกี่ยวกับตัวเอง คำถามเกี่ยวกับนโยบาย คำถามว่าทำไมเราถึงเหมาะสมที่ก.พ.ร.จะต้องรับเราเข้าโครงการนี้ คำถามภาษาอังกฤษ และคำถามเกี่ยวกับสภาพจิตใจ
รอบนี้จะค่อนข้างกดดัน เพราะมีผู้ใหญ่นั่งล้อมเราและถามคำถามเยอะแยะมากมาย บางคำถามจะเป็นในเชิงกดดันเพื่อดูว่าเราจะสามารถรับมือกับแรงกดดันอย่างไร การสอบรอบนี้จะขอแนะนำคล้ายกับรอบก่อนหน้าคือ ให้ใจเย็น มีสติ ค่อย ๆ ตอบคำถาม ซึ่งในรอบสุดท้ายนี้จากคนเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 67 คน คัดออกไป 35 คนเหลือ 32 คนสุดท้ายที่เข้าร่วมโครงการนปร. รุ่นที่ 17 ครับ (ซึ่งตกใจมาก เพราะรอบสุดท้ายคัดคนออกไปครึ่งนึง เยอะมาก ๆ ครับ ไม่คิดว่าสอบสัมภาษณ์รอบสุดท้ายจะคัดออกไปเยอะขนาดนี้)
หลังจากนั้นรอผลประมาณ 2 สัปดาห์ก็ประกาศผลสอบครับ นัดวันเข้าไปรายงานตัว และนัดวันเริ่มปฏิบัติราชการ โดยจะต้องอยู่ในโครงการนี้ 22 เดือน สังกัดก.พ.ร. พอครบระยะเวลาแล้วจึงจะไปอยู่ในหน่วยงานที่เหมาะสมกับเราต่อไปครับ
โฆษณา