6 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ

สามบีบ สามคลาย ทางรอดของไทยในยุคสงครามการค้า - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

สงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 จะไม่เหมือนรอบแรก เพราะรอบใหม่นี้ไทยกำลังจะถูก “สามบีบ” พร้อมกัน
บีบแรก คือ ตลาดสหรัฐฯ ที่จะปิดตัวลง เพราะทรัมป์ประกาศตอนหาเสียงว่าเขาไม่เพียงจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน แต่จะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าทั่วโลก (โดยเฉพาะประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วย) เพราะเป้าหมายของสหรัฐฯ คือต้องการบีบให้โรงงานย้ายกลับมาผลิตที่สหรัฐฯ ไม่ใช้ย้ายจากจีนไปเวียดนาม เม็กซิโก หรือไทย
2
บีบสอง คือ ตลาดจีนเองก็จะยากขึ้นกว่าเดิม สินค้าจีนไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็ต้องเน้นขายตลาดภายในประเทศ สินค้าเราจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีนคงไม่ง่าย แถมเศรษฐกิจจีนเองก็จะได้รับผลกระทบ ทำให้กำลังซื้อลดลง นักท่องเที่ยวมาไทยลดลง แม้สีจิ้นผิงคงจะออกมาประกาศว่าตลาดจีนเปิดและจีนจะเป็นผู้นำโลกาภิวัตน์ แต่การบุกตลาดจีนก็คงไม่ง่ายเหมือนยุคที่จีนรุ่งเรือง
บีบสาม คือ ตลาดที่เหลือทั่วโลก ก้อนโลกาภิวัตน์หรือก้อนการค้าโลกที่เหลืออยู่ก็จะเล็กลง เมื่อตลาดอันดับ 1 อย่างสหรัฐฯ และตลาดอันดับ 2 อย่างจีนปิดตัวลงกว่าแต่ก่อน ขณะเดียวกันสินค้าจีนไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็จะบุกแย่งส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเองก็จะเจอพิษสงครามการค้า เพราะทรัมป์บอกจะขึ้นกำแพงภาษีกับทุกคน เศรษฐกิจโลก ไล่ตั้งแต่ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ล้วนจะอ่อนแรงกันหมด ไม่มีใครไม่เจ็บ
1
สงครามการค้ารอบนี้จึงไม่เหมือนรอบก่อน เพราะรอบก่อนไทยได้ประโยชน์จาก “ส้มหล่น” คือเราส่งสินค้าไปสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน ทำให้เราส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น และโรงงานจีนย้ายมาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ทำให้เราได้ประโยชน์ชัดเจนในสงครามการค้ารอบที่แล้ว เพียงแต่เราน้อยใจว่าส้มไปหล่นที่เวียดนามมากกว่าไทยเท่านั้นเอง
แต่รอบนี้ เราจะส่งไปสหรัฐฯ ยากขึ้น ส่วนการย้ายฐานการผลิตมาไทยก็จะลดลง แต่ก็จะยังมีบ้าง แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างจากเดิม รอบที่แล้วโรงงานจีนย้ายมาไทยเพื่อผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ แต่รอบนี้จะย้ายมาไทยเพราะกำไรในจีนหดหายและต้องการขยายและเปิดตลาดใหม่เพื่อรักษาตัวเลขการเติบโตและกำไรของบริษัท เขาจะย้ายมาไทยเพื่อขายตลาดไทย ซึ่งก็จะยิ่งกดดันผู้ประกอบการไทยเพิ่มอีก
1
ทางออกก็ต้องพยายามคลายทั้งสามบีบ บีบแรกคือ ตลาดสหรัฐฯ เราต้องเข้าใจแนวทางการเจรจาของทรัมป์ ซึ่งต้องเอาผลประโยชน์แลกกับผลประโยชน์ ทรัมป์ไม่สนใจว่าใครจะเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค แต่เขาสนใจว่าสหรัฐฯ ต้องได้ประโยชน์ทางการค้าการลงทุน หากไทยมีแผนที่บริษัทใหญ่ของไทยสนใจไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐ Swing States ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็จะช่วยเป็นแต้มต่อรองในการเจรจาขอให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายการขึ้นกำแพงภาษีกับเรา
คลายบีบที่สองคือตลาดจีน ตอนนี้มีข้อกังวลว่าสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาในตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทย แต่คำถามคือสินค้าไทยบุกตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนได้มากน้อยเพียงใด เราควรมากางดูอุปสรรคกันเป็นข้อๆ และก็ต้องเปิดการเจรจากับฝั่งจีนให้การค้าทั้งสองฝ่ายเกิดความเท่าเทียม ด้วยจุดหมายเพื่อให้ความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับจีนด้วยที่จะหลีกเลี่ยงกระแสการต่อต้านหรือกีดกันสินค้าจีนในไทย ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยกระแสกีดกันทางการค้ามากอยู่แล้วต่อสินค้าจีน
6
แต่ที่สำคัญที่สุดจะเป็นการคลายบีบที่สาม คือ ไทยต้อนเน้นเป็นวาระแห่งชาติที่จะบุกตลาดคู่ค้าใหม่ๆ ในกลุ่ม Middle Power Countries ไม่ว่าจะเป็นตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ฯลฯ ข้อนี้สำคัญต่อการกระจายความเสี่ยง เพราะในยุคผันผวนแบบนี้เราต้องไม่ใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียวหรือสองใบ ไม่ว่าจะตะกร้าสหรัฐฯ หรือจีน แต่จะต้องกระจายพอร์ตเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ อย่างจริงจังและทำเชิงรุก
นอกจากนั้น ตลาดภายในประเทศไทยเองก็จะทวีความสำคัญมากขึ้น ในอดีตเราเน้นการส่งออกและขายนักท่องเที่ยว แต่ในยุคการค้าโลกปิดเช่นนี้ เราต้องวางแนวนโยบายที่จะฟื้นพลังลมปราณภายใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเรื่องหนี้ครัวเรือนเพื่อฟื้นพลังการบริโภค การยกระดับผลิตภาพและรายได้แรงงานภายในประเทศ เป็นต้น
ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า สหรัฐฯ กำลังทุบจีน เราต้องรีบทิ้งจีนไปพึ่งสหรัฐฯ เพราะตลาดสหรัฐฯ เองก็จะปิดมากขึ้น ขณะเดียวกันผมก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าสหรัฐฯ กำลังทุบจีนและทั่วโลก เราจึงควรยิ่งต้องไปพึ่งจีน เพราะตลาดจีนตอนนี้ก็ดูไม่ง่ายเหมือนกัน แน่นอนว่าทั้งสองตลาดเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญและเราทิ้งไม่ได้ แต่เราจำเป็นต้องกระจายพอร์ตไปตลาดอื่นๆ มากขึ้น
1
ดังนั้น จุดเน้นที่ถูกต้องจึงเป็นนโยบายเชิงรุกในการเปิดตลาดคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Middle Power Countries ที่เริ่มมีกำลังซื้อและเรายังรุกและรู้จักตลาดเหล่านี้ไม่มากพอในอดีต
1
ข้อสำคัญคือ เศรษฐกิจ “ส้มหล่น” แบบในอดีต จะไม่มีอีกต่อไป เราเคยได้ประโยชน์จากการลงทุนของญี่ปุ่นในยุคที่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับญี่ปุ่น ได้ประโยชน์จากการรวยขึ้นของจีน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยมหาศาล ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าของทรัมป์รอบแรกที่เราส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้นและเราเห็นการย้ายฐานการผลิตเข้าไทย
แต่มารอบนี้ ประโยชน์เหล่านี้จะลดลงไปมาก สิ่งสำคัญตอนนี้คือเศรษฐกิจไทยที่ต้องอึดและต้องแข็งแกร่งจากภายใน การทำงานเชิงรุกบุกตลาดใหม่ๆ และการฟื้นพลังการบริโภคภายในจึงจะสำคัญขึ้นและจะรอช้าไม่ได้
โฆษณา