25 พ.ย. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

SCB EIC ประเมิน Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2568 กดดันการค้า การผลิต และการลงทุน

เศรษฐกิจโลกจะเริ่มเผชิญความท้าทายจากผลของนโยบาย Trump 2.0 ในปีหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงอยู่ที่ 2.7% ตามที่ประเมินไว้เดิม โดยจะเติบโตชะลอลงแบบ Soft landing ในช่วงที่เหลือของปี แต่เครื่องชี้เร็วเริ่มสะท้อนความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นมากหลัง Trump ชนะการเลือกตั้ง
1
SCB EIC ประเมินว่า Trump จะมีอำนาจฝ่ายบริหารที่คล่องตัวขึ้น เนื่องจาก Republican sweep ทั้งสภาบนและล่าง ท่ามกลางระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลงมาก อย่างไรก็ดี การกลับมาครั้งนี้ Trump จะต้องเผชิญบริบทโลกที่มีสภาพเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศท้าทายขึ้นกว่าสมัยแรก เช่น เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงกว่า รวมถึงเกิดสงครามยูเครนและอิสราเอล
ซึ่งอาจกระทบประสิทธิผลการดำเนินนโยบายชุดใหม่ของสหรัฐฯ ได้
SCB EIC จึงประเมินว่า Trump จะดำเนินนโยบายชุดใหม่อย่างมีกลยุทธ์ โดยเร่งดำเนินนโยบายในประเทศตามที่หาเสียงไว้ แต่อาจไม่ได้ทำนโยบายกีดกันการค้าแบบสุดโต่ง
SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวต่ำลงเหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) จากผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 เป็นหลัก โดยมองสมมติฐานนโยบาย Trump 2.0 ในกรณีฐานไว้ดังนี้ คือ 1) สหรัฐฯ จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ย 20pp (percentage points) และสินค้าประเทศอื่นเฉลี่ย 10pp ขณะที่ประเทศอื่นจะตอบโต้สหรัฐฯ กลับในอัตราภาษีเท่ากัน
ด้านยุโรปกับจีนจะขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเฉลี่ย 10pp ทั้งนี้การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศและประเภทสินค้า 2) สหรัฐฯ จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่านการต่ออายุ Tax Cut and Job Act อีก 10 ปี (ถึงปี 2577) 3) สหรัฐฯ จะออกนโยบายควบคุมผู้อพยพ ซึ่งจะทำให้ยุโรปหันมาใช้นโยบายนี้ด้วย 4) ชุดนโยบายสำคัญ Trump 2.0 จะเริ่มกระทบเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ถึงระยะปานกลาง 5) ประเทศต่าง ๆ จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Trump 2.0
SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้หลังตัวเลขไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่นโยบาย Trump 2.0 จะกดดันการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็น 2.7% (เดิม 2.5%) จากผลมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งจากอานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซียและอินเดีย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จึงมีโอกาสสูงกว่า 36 ล้านคนที่เคยประเมินไว้
อย่างไรก็ดี SCB EIC ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2568 ลดลงเหลือ 2.4% (เดิม 2.6%) จากผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งแนวนโยบายจะเร่งให้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และทำให้เกิดการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบผ่านการค้า การผลิต และการลงทุนเป็นหลัก โดยนโยบายกีดกันการค้าของ Trump 2.0 จะทำให้ไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจีนและขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็น Unfair trade กับสหรัฐฯ เพราะไทยมีแนวโน้มเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้นต่อเนื่อง และอาจเข้าข่ายเกณฑ์ด้านอื่นอีกด้วย สำหรับการลงทุนภาคเอกชนไทยในระยะข้างหน้าจะมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของ Trump 2.0 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนชะลอแผนการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของนโยบาย Trump ที่อาจขยายนโยบายกีดกันการค้าไปกลุ่มประเทศอื่น ๆ ด้วย และอัตราภาษีนำเข้าที่จะเก็บเพิ่มยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยจะมีนโยบายการคลังที่คาดว่าจะทยอยออกมากระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยบรรเทาผลกระทบจาก Trump 2.0 ได้บางส่วนในปีหน้า
SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบ ธ.ค. นี้ ตามการสื่อสารของ กนง. ที่เน้นรักษา Policy space เพื่อบริหารความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% อีกครั้งในการประชุมรอบเดือน ก.พ. 2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมและสินเชื่อยังคงชะลอตัวและเริ่มสร้างความกังวลมากขึ้น
รวมทั้งเศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้นจากนโยบาย Trump 2.0 ขณะที่ภาวะการเงินโลกในปีหน้าจะผ่อนคลายลงจากปีนี้ได้บ้าง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
1
เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเร็วจากดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยอาจอ่อนค่าไปอยู่ที่ราว 34.80-35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังตลาดประเมินว่า Trump จะขึ้นภาษีนำเข้า และประเทศอื่น ๆ อาจตอบโต้กลับ ซึ่งจะทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีกราว 3-4% และกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อ
สำหรับปี 2568 เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นจากภาวะ Risk-on ที่จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าตลาดเอเชียและไทย รวมถึงทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยมองกรอบเงินบาทอยู่ที่ราว 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2568
อ่านต่อบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่...
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
โฆษณา