26 พ.ย. เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

• นักภาษาศาสตร์สามารถถอดรหัสอักษรภาพอียิปต์โบราณได้อย่างไร?

เดือนกรกฎาคม 1799 ระหว่างการรณรงค์สงครามในอียิปต์ของนโปเลียน โบนาปาร์ต กองทหารฝรั่งเศสได้ค้นพบจารึกโรเซตต้า (Rosetta Stone) ที่นำไปสู่การถอดความหมายของตัวอักษรภาพอียิปต์โบราณหรือตัวอักษรเฮียโรกลิฟิก (Hieroglyphics) ที่เคยเป็นปริศนาของผู้ที่ศึกษาอียิปต์โบราณมาช้านาน
จารึกโรเซตต้าถูกสร้างขึ้นเมื่อ 196 ปีก่อนคริสตกาล โดยกล่าวถึงพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 (Ptolemy V)
ราชวงศ์ปโตเลมีของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 ปกครองอียิปต์ตั้งแต่ 323 จนถึง 30 ปีก่อนคริสตกาล โดยเป็นราชวงศ์เชื้อสายกรีก-มาชิโดเนีย ที่ก่อตั้งโดยฟาโรห์ปโตเลมีที่ 1 (Ptolemy I) อดีตขุนศึกของอเล็กซานเดอร์มหาราช
สำหรับตัวอักษรที่อยู่บนจารึกโรเซตต้า ประกอบด้วยตัวอักษรสามแบบ แบบแรกคือตัวอักษรเฮียโรกลิฟิก ที่ถือเป็นตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์และนักบวชอียิปต์โบราณ ตัวอักษรแบบที่สองคือตัวอักษรเดโมติก (Demotic) ที่ใช้งานโดยชาวอียิปต์ทั่วไป (ระหว่างศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาลจนถึงศตวรรษที่ 5) และตัวอักษรแบบที่สามก็คือตัวอักษรกรีกโบราณ
ในตอนที่ค้นพบจารึก ตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกและเดโมติกยังไม่สามารถถอดความหมายได้ ยกเว้นตัวอักษรกรีกโบราณที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ดังนั้นนักภาษาศาสตร์ในยุคนั้นจึงคิดว่า พวกเขาจะสามารถแปลตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกและเดโมติกบนจารึกได้ไม่ยาก โดยเทียบเคียงกับตัวอักษรกรีกโบราณ
แต่ความเป็นจริง แม้ว่าจะมีการคัดลอกสำเนาตัวอักษรบนจารึกโรเซตต้าเพื่อให้ผู้ทรงความรู้ถอดความหมาย แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าสองทศวรรษกว่าที่จะมีคนถอดความหมายได้สำเร็จ
จารึกโรเซตต้าประกอบด้วยตัวอักษรสามแบบคือ อักษรภาพอียิปต์ อักษรเดโมติก และอักษรกรีกโบราณ
โดยมีผู้ทรงความรู้สองคน ที่มีส่วนอย่างมากต่อการถอดความหมายตัวอักษรเฮียโรกลิฟิก คนแรกเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญภาษาชาวอังกฤษ โทมัส ยัง (Thomas Young 1773-1829) ส่วนอีกคนเป็นนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ฌอง ฟรองซัวส์ แซมโปลิยง (Jean-Francois Champollion 1790-1832)
เริ่มต้นที่ยัง ระหว่างที่เขาศึกษาจารึกโรเซตต้า เขาก็สังเกตว่า ตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกบางจุดบนจารึกจะอยู่ภายในวงรีที่เรียกว่า คาร์ทูช (Cartouche) และเมื่อเทียบเคียงตำแหน่งของตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกที่อยู่ในคาร์ทูชกับตำแหน่งที่เป็นตัวอักษรกรีกโบราณ ก็พบว่ามันคือคำว่า ‘ปโตเลมี’ (Ptolemy) ที่เป็นพระนามของฟาโรห์
1
ดังนั้นยังจึงสัณนิษฐานว่า อักษรเฮียโรกลิฟิกที่อยู่ในคาร์ทูช น่าจะอ่านออกเสียงว่าปโตเลมีเหมือนกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้พระนามของฟาโรห์อยู่ภายในวงรีคาร์ทูช ก็เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการปกป้ององค์ฟาโรห์จากภัยอันตราย
ตัวอย่างคาร์ทูชที่เป็นพระนามของฟาโรห์ปโตเลมี และพระนางคลีโอพัตรา
ส่วนทางด้านของแซมโปลิยง ด้วยความที่เขามีความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรที่เรียกว่า คอปติก (Coptic) ซึ่งเป็นภาษาอียิปต์โบราณที่เขียนด้วยตัวอักษรกรีก รวมกับเรื่องคาร์ทูชที่ยังเสนอ นำไปสู่การที่แซมโปลิยงถอดความหมายของตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกได้ทั้งหมดในปี 1824 และทำให้เขาถูกยกย่องเป็นบิดาแห่งวิชาอียิปต์วิทยา (Father of Egyptology)
ปัจจุบันจารึกโรเซตต้าถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ มาตั้งแต่ปี 1802 โดยทางการของอียิปต์ก็ได้มีความพยายาม ที่จะขอให้บริติชมิวเซียมส่งมอบจารึกคืนให้กับอียิปต์
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe
อ้างอิง
• Live Science. How do we decipher Egyptian hieroglyphics and other ancient languages?. https://www.livescience.com/how-decipher-ancient-languages.html
• Smithsonian Magazine. Two Hundred Years Ago, the Rosetta Stone Unlocked the Secrets of Ancient Egypt. https://www.smithsonianmag.com/history/rosetta-stone-hieroglyphs-champollion-decipherment-egypt-180980834/
#HistofunDeluxe
โฆษณา