26 พ.ย. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

อธิบายเรื่อง 5ส เครื่องมือชื่อเชย ๆ แต่คือแก่นที่ดี ใช้จัดการธุรกิจได้จริง

5ส คงเป็นชื่อเครื่องมือที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ
- สะสาง (Seiri)
- สะดวก (Seiton)
- สะอาด (Seisou)
- สุขลักษณะ (Seiketsu)
- สร้างนิสัย (Shitsuke)
รู้ไหมว่า ? นอกจาก 5ส จะเป็นสิ่งที่เราเคยเรียนมา
ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือง่าย ๆ ที่สามารถนำไปใช้จัดการธุรกิจ สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจากธุรกิจของเรามีคุณภาพ ก่อนจะส่งมอบไปถึงมือลูกค้า
แล้วเครื่องมือ 5ส สามารถนำไปใช้จัดการธุรกิจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ นำไปปรับใช้ได้ ผ่านเคส ร้านอาหาร โรงงาน และออฟฟิศ
เรามาดูดีเทลกันไปทีละ ส
1. สะสาง (Seiri)
คือ ให้แยกของที่จำเป็นต้องใช้ ออกจากของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก่อน
สำหรับการทำธุรกิจก็คือ ให้คัดเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ ในพื้นที่การทำงานนั้น อย่างเช่น
ธุรกิจร้านอาหาร
- พื้นที่ส่วนครัว ควรจะมีเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับทำครัวเท่านั้น
อย่างเช่น กระทะ หม้อ ภาชนะทำครัว และอุปกรณ์การทำครัวต่าง ๆ
- พื้นที่ด้านหน้าร้านอาหาร หรือพื้นที่บริการลูกค้า ควรมีเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับพื้นที่บริการลูกค้า
อย่างเช่น ช้อน ส้อม จาน ถ้วย แก้วน้ำ ผ้ากันเปื้อน หรือกระดาษทิชชู ที่วางอยู่บนโต๊ะของลูกค้า
ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม
หน้าไลน์ผลิต ก็ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น
- หน้าไลน์ประกอบสินค้า ก็ต้องมีเฉพาะชิ้นส่วน อุปกรณ์ และเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้สำหรับประกอบสินค้าเท่านั้น
- สำหรับห้องวิจัยและทดสอบสินค้า ก็ต้องมีเฉพาะอุปกรณ์ และสารเคมีที่เกี่ยวข้องในการทำแล็บเท่านั้น
หรือในสำนักงาน
- ก็ให้คัดเอกสาร ที่หมดอายุหรือไม่ใช้แล้วไปทำลายทิ้ง เหลือไว้แค่เอกสารที่ยังใช้งานอยู่
 
2. สะดวก (Seiton)
คือ การจัดวางข้าวของเครื่องใช้ให้สะดวกสบาย ต่อการหยิบไปใช้ทำงาน หรือผลิตสินค้า อย่างเช่น
ธุรกิจร้านอาหาร
- ในพื้นที่ส่วนครัว ควรวางเครื่องครัว
เช่น กระทะ เขียง และมีด ไว้ในตำแหน่งที่ใช้งานบ่อย ๆ ใกล้มือพ่อครัว
หรือควรใช้ถาดแบบแยกสี สำหรับแบ่งวัตถุดิบ
เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ หรือเครื่องปรุง ควรแบ่งให้เป็นหมวดหมู่ เช่น สีดำ ใช้สำหรับเนื้อวัว, สีแดง ใช้สำหรับเนื้อหมู, หรือ สีขาว ใช้สำหรับเนื้อไก่
- พื้นที่บริการลูกค้า ควรวางช้อน ส้อม และแก้วน้ำ ในตำแหน่งที่พนักงานเสิร์ฟหยิบใช้ง่ายที่สุด
- ถ้าเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์บริการตัวเอง
ก็ควรติดป้ายกำกับ เพื่อบอกว่าตู้เนื้อสัตว์ จุดเติมผัก หรือจุดบริการเครื่องดื่มอยู่ตรงไหน เพื่อให้ลูกค้าได้สะดวกต่อการไปหยิบ
ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม
- หน้าไลน์ผลิต ให้ใช้ถาดหรือช่องจัดเก็บแยกชิ้นส่วนของวัตถุดิบที่จะนำไปผลิต
เช่น ถ้าจะประกอบเคสคอมพิวเตอร์ ก็ต้องแยกตัวเคส สกรู หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกจากกันให้ชัดเจน
- ติดป้ายบอกตำแหน่งของเครื่องมือ เช่น ถุงมือ หรือ ไขควง
- จัดการคลังสินค้า โดยวางสินค้าตามหมวดหมู่ และวางตามความถี่ในการหยิบไปใช้งาน
เช่น สินค้าที่ขายดี ควรอยู่ในจุดที่เข้าถึงง่ายและเคลื่อนย้ายสะดวก
หรือในสำนักงาน
- จัดระเบียบโต๊ะทำงาน โดยแยกอุปกรณ์สำนักงาน
เช่น ปากกา กรรไกร หรือกระดาษโน้ต ให้เป็นสัดส่วน
- ใช้กล่องหรือแฟ้มเก็บเอกสารที่แบ่งตามหมวดหมู่ เช่น เอกสารทางการเงิน เอกสารลูกค้า
3. สะอาด (Seiso)
คำว่าสะอาด ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้พื้นที่ และอุปกรณ์ต่าง ๆ สะอาดเพียงอย่างเดียว
แต่ยังเป็นการทำให้ พื้นที่ และอุปกรณ์ในการทำงาน อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือผลิตสินค้า อย่างเช่น
ธุรกิจร้านอาหาร
- ทำความสะอาดพื้นที่ครัว และอุปกรณ์ทุกครั้ง หลังจากปิดร้านอาหาร
และทำให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันที ในวันถัดไป
- หมั่นเช็กสต๊อกวัตถุดิบ อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าวัตถุดิบนั้นหมดอายุไหม ?
หรือวัตถุดิบนั้นมีไม่เพียงพอหรือเปล่า ? จะต้องสั่งซื้อมาเพิ่มหรือไม่ ?
ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม
- หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ
และเช็กอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ หรือพร้อมผลิตสินค้าตลอดเวลา
หรือในสำนักงาน
- หมั่นทำให้โต๊ะทำงาน พื้น และอุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ สะอาดอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้ดูน่าทำงานอยู่ตลอดเวลา
4. สุขลักษณะ (Seiketsu)
คือ การสร้างมาตรฐาน เพื่อให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามหลัก 3ส
นั่นคือ สะสาง, สะดวก และสะอาด อย่างเช่น
ธุรกิจร้านอาหาร
- ต้องมี Work Instruction หรือคู่มือแสดงวิธีการจัดเก็บ วิธีการเช็กสต๊อกวัตถุดิบ
หรือวิธีการทำความสะอาดพื้นที่ครัว หรือพื้นที่เสิร์ฟโดยเฉพาะ
- ควรมีเช็กลิสต์ ไว้ตรวจสอบอุปกรณ์ หรือสถานที่ทำงาน
ทั้งก่อนเปิดร้านและหลังจากปิดร้านเสร็จแล้ว ว่าเก็บเรียบร้อยดีหรือไม่
โดยเราทำเช็กลิสต์ เพื่อให้แน่ใจว่า
อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และวัตถุดิบทุกอย่าง ถูกจัดวางอย่างเหมาะสม พร้อมใช้งาน
และพร้อมเปิดร้านอาหารในวันถัดไป
ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม
- ควรกำหนดรอบการตรวจสอบ และบำรุงรักษาเครื่องจักรอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ผลิตสินค้าได้มาตรฐานสม่ำเสมอ ไม่หลุด QC
- ออกแบบ Work Instruction สำหรับการจัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ ให้เป็นระเบียบ
หรือในสำนักงาน
- สร้างกฎระเบียบ ในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในสำนักงาน
เช่น กฎการเบิกจ่ายของใช้ ระเบียบการยืม-คืนอุปกรณ์
หรือกฎเกี่ยวกับความสะอาด หรือการเก็บของให้เป็นระเบียบภายในโต๊ะทำงาน และพื้นที่สำนักงาน
จะเห็นได้ว่า Work Instruction หรือระเบียบในการปฏิบัติงานเหล่านี้
เจ้าของธุรกิจควรออกแบบมา เพื่อสนับสนุนให้พนักงานปฏิบัติตาม 3ส นั่นเอง
5. สร้างนิสัย (Shitsuke)
คือส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติตามหลัก 4ส นั่นก็คือ สะสาง สะดวก สะอาด
และสุขลักษณะอยู่เป็นประจำ จนเกิดเป็นนิสัย
เพื่อทำให้พนักงาน สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ แถมยังสร้าง Productivity ให้กับธุรกิจ อย่างเช่น
ธุรกิจร้านอาหาร
- อบรมพนักงานเกี่ยวกับการทำความสะอาด ถูกสุขอนามัย จัดของให้เป็นระเบียบ ทำให้ร้านอาหารน่านั่งรับประทาน จนกลายเป็นนิสัย
ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม
- สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อให้พนักงาน ร่วมกันปฏิบัติตามหลัก 5ส จนเกิดเป็นนิสัย
หรือในสำนักงาน
- จัดกิจกรรม ให้พนักงานช่วยกันทำความสะอาดออฟฟิศ จัดข้าวของให้เป็นระเบียบทุกสัปดาห์
ทั้งหมดนี้ ก็คือสรุปเรื่อง 5ส พร้อมกับตัวอย่างการนำไปปรับใช้กับธุรกิจของเรา
สรุปใหม่อีกที ว่า 5ส ก็เป็นเครื่องมือเชย ๆ แต่ทรงพลังอย่างมาก
เพราะสามารถนำมาใช้ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน
ช่วยส่งเสริมให้สินค้ามีคุณภาพ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับธุรกิจ
ด้วยหลัก 5 ข้อง่าย ๆ นั่นก็คือ
1. สะสาง คือ แยกของใช้ที่ไม่จำเป็น ออกมาจากของใช้ที่จำเป็น
2. สะดวก คือ จัดข้าวของเครื่องใช้ให้ใช้ได้สะดวก รวดเร็วต่อการนำไปใช้
3. สะอาด คือ ทำให้สถานที่ทำงานสะอาด และทำให้อุปกรณ์หรือเครื่องมือพร้อมใช้อยู่ตลอดเวลา
4. สุขลักษณะ คือ การนำ 3ส ดังกล่าว ไปทำเป็นมาตรฐาน ที่พนักงานควรปฏิบัติตาม
5. สร้างนิสัย คือ การทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จนกลายเป็นนิสัย
และสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กรนั่นเอง..
1
โฆษณา