25 พ.ย. เวลา 16:25 • ข่าว

พื้นฐานพันธุศาสตร์เบื้องหลังความแบ๊ว "น้องเอวา"

กลายเป็นดาวโซเชียลดวงใหม่เป็นที่เรียบร้อยสำหรับน้องเสื้อโคร่งสีทอง "เอวา" แห่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ภายใต้ความแบ๊วและน่ารัก ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ในช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ บอกได้เลยว่าเชียงใหม่เตรียมตัวแตกอีกครั้งเหมือนสมัยช่วงช่วง หลินหุ่ย มาไทยแน่นอน
แต่หากใครสังเกตให้ดีๆ จะพบได้ว่า ภายใต้ความน่ารักของน้อง มันมีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ และความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่น่าอัศจรรย์ เบื้องหลังแววตาอันกลมโตคู่นั้น
1
เสือโคร่งสีทองเป็นเสื้อโคร่งที่กลายพันธุ์มาจากเสือโคร่งสายพันธุ์ดังเดิมกับเสื้อโคร่งขาว โดยมีผิวสีขาวและขนสีน้ำตาล ทำให้ดูมีสีเหมือนสีทอง เป็นลักษณะที่พบได้ยากมากๆในเสือโคร่งตามธรรมชาติ โดยประมาณได้ว่าทั่วโลกมีเพียง 50-100 ตัวเท่านั้น
สาเหตุของลักษณะและจำนวนที่น้อยนิดของมันมาจากเหตุผลด้าน "พันธุศาสตร์" ของเสือโคร่งสีทอง โดยเกิดจากการกลายพันธุ์ในยีนที่เรียกว่า ‘ยีนอะกูติ’ (Agouti genes) ซึ่งทำให้การผลิตเม็ดสีเหลืองอมแดงของเสือเจือจางลงในระหว่างการเจริญเติบโตของขน และนั่นทำให้เสือสีขาวตอนแรกเริ่มที่แทบจะมองไม่เห็นลายทางของมัน
ยีนอะกูติทำปฏิกิริยากับเซลล์เม็ดเลือดสีเพื่อสร้างสีจากสีเหลืองเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลเป็นสีดำ ปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดแถบสีอ่อนและสีเข้มที่แตกต่างกันในขนของสัตว์
ราบินดรา ชาร์มา (Rabindra Sharma) เจ้าหน้าที่วิจัยของคาซิรังกา อินเดีย
ปัญหาคือยีนเหล่านี้เป็นยีนด้อย หากใครที่ได้เรียนพันธุศาสตร์มาจะเข้าใจได้ถึงปัญหาเหล่านี้ทันที ยีนด้อยหมายความว่า ยีนเหล่านี้จะแสดงออกมาเป็นลักษณะภายนอก(ในที่นี้คือสีขนผิดปกติ)ได้ก็ต่อเมื่อพวกมันมาจับคู่กันเองเท่านั้น
หากใครพอจะตั้งใจเรียนพันธุศาสตร์มัธยมปลาย(มากกว่าผม ผมไม่ตั้งใจเรียน) ก็จะพออ๋อแล้วว่า หลักการเช่นนี้คล้ายกับการทดลองผสมพันธุ์ต้นถั่วของเกเกอร์ เมนเดล
ถึงแม้ในปัจจุบันหลักการของเมนเดลจะมีผู้ออกมาคัดค้านแล้วว่าไม่ได้ครอบคลุมหลักการทางพันธุศาสตร์ทั้งหมด แต่ในกรณีนี้ก็พอทำให้เราเทียบเคียงได้
ยีน A (เอใหญ่) คือขนสีน้ำตาลปกติของสี ขณะที่ a (เอเล็ก) เป็นขนสีขาวของเสือ โดย A ถือเป็นยีนเด่นซึ่งมักจะเขียนด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่และทำงาน ‘เหนือ’ กว่ายีนด้อย a ที่เขียนด้วยอักษรตัวเล็ก ซึ่งหมายความว่าเมื่อทั้งสองมาจับคู่กันเพื่อทำให้เกิดการแสดงออกของยีน (ยีนมักจะทำงานร่วมเป็นคู่หรือมากกว่านั้น) ก็จะได้ผลดังนี้ AA = ขนสีปกติของเสือ, Aa = ขนสีปกติเช่นเดิม แต่ aa = สีขนผิดปกติ โดยการที่ aa จะมารวมได้นั้นมีโอกาสค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องการพ่อและแม่ที่มี a เหมือนกันทั้งคู่
ดังนั้นหากพ่อเป็น Aa และแม่เป็น Aa จึงจะมีโอกาสเกิดลูกที่เป็น aa ได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด gene pool ที่มียีนส์ด้อยหรือ aa มากที่สุดคือการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน หรือ In Breeding นั่นเอง
1
ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา การผสมในสายเลือดเดียวกันทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่นสุนัขและแมวหลายสายพันธุ์ ที่ถูกผสมในสายเลือดเดียวกันให้ออกมามีลักษณะที่ขายได้ เช่น ตัวเล็ก ขาสั้น แต่ก็ทำให้สัตว์เหล่านี้ร่างกายอ่อนแอ และอายุไม่ยืน รวมทั้งในระยะยาวยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากความหลากหลายของยีนส์ลดลง
ในทางกลับกัน ปัญหาการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันตามธรรมชาติของเสื้อชีตาร์และเสือดาวในแอฟริกา ก็ส่งผลให้เสือทั้งสองชนิดในแอฟริกามีร่างกายที่อ่อนแอและลดจำนวนลงจากโรคระบาดและการเจ็บป่วย นักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจึงทำการนำเสือชนิดเดียวกันจากต่างพื้นที่ไปใส่ไว้ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายเลือด ทำให้เพิ่มความหลากหลายของยีนส์และอัตราการมีชีวิตรอดของเสือดังกล่าว
1
ภาพเสือโคร่งสีทองอาจดูสวยงามและน่ารัก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราตระหนักได้ว่าความหายากเหล่านี้มีคุณค่าและควรได้รับการปกป้องแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงตัวเสือแต่รวมถึงสภาพแวดล้อมทั้งหมดที่พวกเขาอาศัยอยู่
อ้างอิง
1
โฆษณา