25 พ.ย. เวลา 15:13 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] Cherry - BOWKYLION

-เชอร์รี่เป็นผลไม้ที่ผมไม่ได้ชอบกินมากนัก ถึงขั้นไม่ใส่ใจถึงความหมายของสำนวน cherry on top และ cherry picking เลยด้วยซ้ำ เมื่อได้ฟัง BOWKYLION ได้อธิบายเกี่ยวกับคอนเซ็ปท์อัลบั้มนี้ว่า ทำไมต้องเป็นเชอร์รี่ ? ผมอดปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า ขนมเค้กหรือไอศกรีมจะกลายเป็นขนมที่ plain แสนธรรมดาทันทีเมื่อขาด “เชอร์รี่” โปะอยู่บนขนมจานโปรดของคุณ นั่นก็ทำให้ผมรู้สึกว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ใกล้ตัวเสียจนอยู่บนปลายจมูกเราโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
-ในที่สุด ศิลปินสาวแถวหน้าก็ได้เดินทางสู่อัลบั้มที่ 2 ในรอบ 4 ปีที่ก้าวเข้าสู่บทพิสูจน์แห่งการทำลายอาถรรพ์อัลบั้มชุดที่ 2 ด้วยแนวทางที่ค่อนข้างท้าทายจากเดบิวต์อัลบั้มแรก Lionheart ที่เปรียบเหมือนคอลเลคชั่นชุดเพลงตั้งแต่สมัยที่ยังเข้าค่าย What The Duck ใหม่ๆ อาทิเช่น #แขนซ้าย #คนไข้ จนถึง breakout single อย่าง #ลงใจ #คิดถึงแต่ และ #คงคา
-นอกจากนี้ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงพลังศักยภาพที่ไม่ได้มีวนเวียนแค่ซิงเกิ้ลฮิตที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งเพลงเปิดและปิดอัลบั้มอย่าง #เจ้าป่า และ #ทิวาสวัสดิ์ ทำหน้าที่การสลักด้วยลายเซ็นต์ของความเป็น “ตัวแม่” โดยสมบูรณ์ การชูคาแรคเตอร์และสไตล์การแต่งตัวที่ตอกย้ำความเป็น one of a kind นานๆครั้งจะเจอศิลปินลักษณะนี้ในวงการเพลงไทย และที่สำคัญเธอยังมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำด้วยตัวเองแทบจะร้อยเปอร์เซนต์
-เกริ่นมาพอสมควรแล้ว ได้เวลามาแกะกล่องผลไม้สีแดงนี้ดีกว่า แน่นอนว่าทั้งชื่ออัลบั้มและคอนเซ็ปท์ค่อนข้างใกล้ตัว ตัวศิลปินเองก็เคลมความเป็นมินิมอลที่มากกว่าอัลบั้มก่อน แต่นั่นก็ไม่ใช่เสียทีเดียวในแง่ของคอนเทนท์เพลงที่ยังคงลงใจหนักๆเคล้าความเศร้าระทมเช่นเคย นั่นก็ทำให้ “เชอร์รี่” ที่เราได้ทานต่อไปนี้ดูท่าจะไม่ได้ให้รสหวานอมเปรี้ยวแอบเฟียสมากขนาดนั้น
-ไตเติ้ลแทร็คเปิดตัว Cherry เป็นความเซอร์ไพร์สแรกที่ทุกคนได้สัมผัสอย่างพ้องต้องกันด้วยเพลงภาษาอังกฤษเพลงแรกในชีวิตที่โบกี้ทรงเน้นย้ำตอนที่ได้อธิบายเพลงนี้ไว้ว่า เธอไม่มีความต้องการเปิดประตูโกอินเตอร์มากขนาดนั้น แค่อยากลองทำในสิ่งที่ยังไม่เคยได้ทำก็เท่านั้น ซึ่งเดี๋ยวเราจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆที่เธออยากลองในเพลงต่อๆไปแน่นอน
สำหรับ Title Track ที่อุดมไปด้วยภาษาอังกฤษเพลงแรกและเพลงเดียว ถ้าว่ากันตามตรง ฝรั่งฟังก็คงเป็นงงไก่ตาแตก อายยยไม่เข้าจายยย ทำมายมิสโบกี้ต้องใช้คำว่า I’m so cherry. แต่สำหรับคนไทยอย่างเราเป็นอันเข้าใจได้ดีเลยครับว่า นี่คือเพลงที่เธอจงใจแก้เคล็ด เปลี่ยนคำเพื่อลดทอนความวิตกกังวลจากคำว่า Worry มาเป็น Cherry ให้ดูน่ารักน่าเอ็นดูขึ้นมาหน่อย
-เพลงที่โคตรหลอกดาวด้วยท่วงทำนองสุดๆเลยก็คงหนีไม่พ้น ศุกร์เศร้าอาทิตย์ (sadturday) แค่เห็นชื่อเพลงเป็นอันต้องคลิกไปกับความเข้าใจพลิกแพลงคำให้ดูตลกร้ายในทีได้ ท่วงทำนองก็มาในจังหวะ Bossa แต่คอนเทนท์เพลงช่างย้อนแย้งสวนทางการผ่อนคลายที่ดันติดอยู่กับความเศร้าของการวนใน toxic relationship แทบจะทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดสุดสัปดาห์
-มีแค่สองเพลงเท่านั้นในอัลบั้มนี้ที่ให้รส comedy มากที่สุดคงหนีไม่พ้น #เลี้ยงไข้ และ #เจ้านายคะ อันเป็นสองซิงเกิ้ลที่ลดทอนความตึงทาง emotional มากกว่าเพลงอื่นๆ #เลี้ยงไข้ ที่โบกี้ได้ระบุไว้ว่า มีความเบียวแบบการ์ตูนบ้องแบ๊ว ได้เพื่อนสนิทร่วมวงการอย่าง The TOYS มาร่วมสวมบทบาทเป็นคุณหมอที่ให้คำปรึกษาและรู้ดีว่า คนป่วยสาวผู้นี้ไม่ได้มีไข้ แค่ไม่มีใครต่างหาก
-ส่วน #เจ้านายคะ ไม่คิดว่าจะถูกตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ล เนื่องด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้เล่าเรื่องความรักแบบซิงเกิ้ลเพลงฮิตอื่นๆ อย่างไรก็ดี ต่อให้โบกี้จะไม่ได้ผ่านชีวิตออฟฟิศเลยก็ตาม เธอก็กล้าทำคอนเทนท์เพลงที่ว่าด้วย “ชีวิตการทำงาน” มาเป็นเพื่อนช่วยบ่นให้เหล่า first jobber และเหล่า Gen Y ที่ต้องเกาะขาเก้าอี้แน่นๆก็เพราะเรื่องเงินมันจำเป็น ถึงแม้จะแลกด้วยสุขภาพและการไม่ได้มีเวลาส่วนตัวก็ตาม แต่ไม่มีทางหนีพ้น deadline ที่ชี้ชะตาขาดอย่างเท่าเทียมทุกอาชีพ
#สมเพช (sympathy) เพลงสั้นเพลงแรกในอัลบั้มนี้ที่มีเชื้อตั้งต้นมาจากคอมเมนต์จาก haters ทั้งหลายที่ดันเป็นโอกาสในการเอามาตอกกลับในรูปแบบกึ่งคอมเมนต์กึ่งกลอนสั้นๆ แสบสันต์ด้วยประโยคยิ้มแห้ง “อกแตกตายหรือยังที่เห็นฉันมีความสุขจนล้นออกปาก”
จบจากความ “สมเพช” ต่อด้วย #เวทนา สโลแจมเอื้อนเอ่ยสไตล์โบกี้ไลอ้อนที่ยังคงเชือดเฉือน ชัดเจนในความรู้สึก ถ้าไม่รักก็ต้องปล่อย ไม่ต้องถนอมน้ำใจอีกต่อไป ถึงแม้เพลงนี้จะยังไม่ถูกตัดเป็นซิงเกิ้ล แต่ถ้าหากใครไฝ่หาความชัดถ้อยชัดคำและแร็ปแบบพอประมาณที่คล้อยตามบีท ไม่อยากให้พลาดเพลงนี้
-มาถึงเพลงที่เป็นทั้ง focus track และ centerpiece ของอัลบั้มนี้โดยแท้จริงอย่าง #วิงวอน (ex-change) โบกี้ได้เคลมว่า เป็นเพลงที่ใช้เวลาแต่งนานที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้เป็นการผ่านเวลาที่ตกผลึกบทเรียนออกมาได้อย่างคมคาย
นี่คือ first impression ที่ทำให้ผมพยักหน้าและแพ้ทางบัลลาดป็อปเวย์นี้มากๆ รู้เลยว่าลำดับความมาอย่างดี เข้าใจในแก่นความรักที่ดีย่อมไม่จำเป็นต้องร้องขอให้เปลี่ยนอะไร เพลงนี้อาจจะทำให้คนที่คบกับแฟนเก่ามานานหลายปีอาจมีน้ำตาไหลได้ แต่ลึกๆสุดท้ายแล้วอาจจะเข้าใจความรักได้แหล่มชัดพอสมควร ท่อนฮุกเจ็บปวดแบบงดงามแล้ว ท่อน bridge ก็มีจุดไคล์แม็กซ์ส่งต่อกราฟอารมณ์อาลัยอาวรณ์ให้แกรนด์ขึ้นไปอีก
#น้อยแต่น้อย (Less is Less) เป็นความตรงไปตรงมาที่สมกับนักร้องสาวท่านนี้จริงๆ นี่คือเพลงตัดเบรคที่ชะล้างความรู้สึกอาลัยอาวรณ์จากเพลงที่แล้ว สู่โหมด acapella เงียบๆที่มีแค่เสียงร้องที่วนเวียนอยู่ในหัวก็เท่านั้น ประหนึ่งลึกๆแล้วก็ยังไม่หมดหวังในเรื่องความรักเสียทีเดียว แต่ก็มาแค่นิดเดียวตายังไม่กระพริบเลยด้วยซ้ำ
-แว๊บมาที่เพลง #ส่วนต่าง (do it without me) เป็นเพลงที่ตอนปล่อยออกมาแรกๆแอบรู้สึกเฉยๆ แต่พอมาอยู่ในอัลบั้มนี้กลับชอบมากกว่าเดิม ทำหน้าที่เหมือนภาคต่อ #วิงวอน เลยฮะ เป็น goodbye note ที่ตัวเองก็ยังคงเฝ้ามองดูคนเก่าอยู่แต่ไกลๆ กลับกลายเป็นว่าชีวิตของคนเก่ายังคงปกติสุขดี โดยที่ไม่จำเป็นอยู่ด้วยกันแล้ว เป็น minimal ballad ที่โดดเด่นด้วยการซ้อนทับของเลเยอร์คอรัสในท่อนฮุก
โบกี้เคยเล่าให้ฟังใน listening party ว่า ตั้งใจซ้อนทับเลเยอร์คอรัสเสียงสูงคลอเสียงต่ำเพื่อให้คนที่ร้องคีย์สูงไม่ถึงสามารถร้องตามได้ ใครฟังแล้วจับทางออกก็ตามนั้น
-มาถึงเพลงที่เป็น goodbye note จริงๆอย่าง #ยิ้มลา (jasmine) เป็นเพลงที่โบกี้ไม่ได้แต่งเกี่ยวกับคนรักเก่า แต่แต่งเพื่อรำลึกให้กับคุณยายที่เสียชีวิตไป โดยมีที่มาในตอนที่โบกี้เริ่มเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว แล้วพาคุณยายไปเที่ยวตามที่ต่างๆ พอถึงตอนถ่ายรูปเดี่ยว โบกี้มักจะบอกให้คุณยายยิ้มตอนถ่ายรูปด้วย
ซึ่งเพลงนี้เองเคยถูกเล่นแบบพรีเมียร์มาแล้วในคอนเสิร์ตใหญ่ LANTA เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นการคอมพลีทถึงความฝันของคุณยายที่อยากดูโบกี้เล่นคอนเสิร์ตใหญ่ซักครั้ง ถึงแม้คุณยายจะอยู่ไม่ถึงคอนใหญ่ก็ตาม อย่างน้อยก็ส่งสาสน์ถึงคนบนฟ้าให้ได้รับรู้ถึงความสำเร็จของหลานสาว ตอนผมดูเอ็มวีที่เป็น animation น้องหมากับคุณยาย ผมแอบเสียน้ำตาขั้นต้นแล้ว พอรู้ถึงที่มาก็คิดถึงคุณพ่อคุณแม่และญาติผู้สูงอายุอยู่เหมือนกัน
-ปิดท้ายด้วยความเซอร์ไพร์สอีกหนึ่งกรุบ #เชื่อแล้ว (merry me) นอกจากชื่อเพลงจะชวนให้เราคล้อยตามแล้ว นั่นก็ทำให้เราเข้าใจแล้วเช่นกันว่า ทำไมอัลบั้มนี้ถูกปล่อยออกมาในช่วงปลายปี ใช่แล้วครับ นี่คือเพลงตีมคริสต์มาสที่ชวนเหงา แต่ก็อบอุ่นใจอยู่หน่อยๆในแง่ของเห็นแสงแห่งความหวังรำไรให้ได้เจอใครซักคนที่มาใส่หมวกคริสต์มาสด้วยกันก็เป็นได้ แรงบันดาลใจหลักของเพลงนี้มาจากเพลงการ์ตูนดิสนี่ย์ที่โบกี้ชื่นชอบนั่นเอง
-ผมเองก็ต้องขอหยิบชื่อเพลงสุดท้ายมาบรรยายความรู้สึกที่ว่า “เชื่อแล้ว” กับพลังแห่งความหมกมุ่นที่โบกี้มีเสมอมาอันเป็นเชื้อเพลิงให้ได้ปั้นอัลบั้มอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ง่ายเลยกับการที่ผูกขาดการทำอัลบั้มนี้ด้วยตัวเองเกือบ 100% พึ่งแค่น้องมือกลองและมือคีย์บอร์ดร่วมวงมาช่วยเสริมในบางเพลงเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นการรักษาลายเซ็นต์ของตัวเธอได้อย่างแหล่มชัดเสมอมา ความติดหูที่ยังคงอยู่ไม่จางก็นับว่าเก่งเหมือนเดิม และยังนำเสนอเวย์ใหม่หลากหลายทางเลือกโดยที่ไม่โดนสปอยล์ด้วยซิงเกิ้ลเยอะจำนวนเสียก่อน
-เพราะในอัลบั้มนี้ไม่มีซิงเกิ้ลฮิต #วาดไว้ (เจ้าของวลี “พี่กะเทย”) #บานปลาย #รู้กันแค่นี้ นี่ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีมากๆในการไม่เอาซิงเกิ้ลเหล่านี้มายัดลงใน gap ให้ล้นจนเกินไป นั่นเป็นสิ่งที่นักฟังเพลงเป็นอัลบั้มอย่างผมชอบ เป็นอะไรที่น่าค้นหาและรู้สึกท้าทายที่จะเจอเพลงหน้า B เกือบเกินครึ่ง ผมติดตามฟังผลงานศิลปินไทยเยอะพอสมควร รู้เลยว่า เริ่มวัฏจักรอัลบั้มแรกก็ต้องรวบรวมซิงเกิ้ลกันก่อน ก่อร่างสร้างฐานแฟนเพลงเสียก่อน
-เมื่อมั่นใจปุ๊บ อัลบั้มสองก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยซิงเกิ้ลทีละเยอะเพื่อรวบรวมเป็นอัลบั้มแล้ว ปล่อย 4-5 ซิงเกิ้ลก็พอ อีกครึ่งไปค้นหาด้วยหูคุณเอง อัลบั้ม Cherry ไม่รู้ว่าใครรู้สึกเหมือนผมมั้ยว่า เราผ่านอัลบั้มนี้ได้อย่างไวมาก ต่อให้บางเพลงที่ช้าๆอย่าง Sadturday, เวทนา ผมรู้สึกผ่านความเศร้าระทมเหล่านั้นได้ไวเหลือเกิน ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะครับ แต่เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการซึมซับเพลงไทยอยู่เหมือนกัน ไม่น่าเชื่อว่า ภายใต้ความมินิมอลเหล่านั้นจะนำพาซึ่งระเบิดความเศร้าในระดับอนุภาคที่ใหญ่พอสมควร
Give 7/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา