Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TRUST NEWS
•
ติดตาม
26 พ.ย. เวลา 00:14 • ธุรกิจ
การเติบโตที่เป็นจริงได้ หลักคิดสู่ความสำเร็จ XIAOMI
“มีเพียงการเติบโตที่อิงอยู่กับหลักของโลกแห่งความเป็นจริง สมเหตุสมผล และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเท่านั้น ที่จะทำให้เรามีความมั่นใจ กล้าหาญ และมุ่งมั่นเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายไม่รู้จักจบสิ้น
และมีเพียง การเติบโตที่อิงอยู่กับหลักของโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะทำให้เราเต็มไปด้วยหัวใจ มีแสงสว่างด้วยดวงตา และเต็มไปด้วยความแข็งแกร่งได้ตลอดเวลา
ชีวิตคือการวิ่งมาราธอน ฉะนั้นความสำเร็จหรือล้มเหลวของแต่ละช่วงชีวิตนั้นจึงไม่สำคัญมากนัก เพราะคุณจะพบกับคำตอบของปัญหาที่ยากลำบาก ในแต่ละช่วงของการเติบโต”
“เหลยจวิน” (Lei Jun) : ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และ ซีอีโอ เสี่ยวหมี่ (Xiaomi)
ใช่แล้ว! .... นั่นคือวรรคทองอันน่าสนใจของ “ผู้ชายคนเดียว” กับที่เพิ่งสร้างความมุ่งมั่นอันน่าตกตะลึงจากยอดขายผลิตภัณฑ์น้องใหม่ของบริษัท ที่ว่า…
“จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ เราใช้เวลาเพียง 230 วัน สำหรับการขายรถยนต์ไฟฟ้าของเสี่ยวหมี่ ผ่านทะลุ 100,000 คัน!”
“เหลยจวิน” ใช้วิธีการอย่างไรในการผลักดันให้ “แบรนด์เสี่ยวหมี่” กลายเป็น 1 ใน 500 บริษัทระดับโลกที่อายุน้อยที่สุด ภายในระยะเวลาเพียง 9 ปี! (ปี2010 -2019) ด้วยยอดขายต่อปีมากกว่า 200,000 ล้านหยวน (954,462ล้านบาท) และมีส่วนแบ่งการตลาดใน 90 ประเทศทั่วโลก
วันนี้ “คุณและเรา” ลองไปสำรวจแนวคิดและกลยุทธ์ที่นำพา ชายวัย 54 ปี อดีตโปรแกรมเมอร์ผู้ผ่านความยากลำบากชนิดล้มลุกคลุกคลาน จนกระทั่ง “ประสบความสำเร็จได้อย่างน่าทึ่งผู้นี้ด้วยกัน” นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป…
Passion :
แรงผลักสำคัญ ที่ทำให้ “เหลยจวิน” อยากเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่เรียนชั้นปี 1 คณะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (Wuhan University) คือ หนังสือที่มีชื่อว่า “The Fire of Silicon Valley”
ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงความสำเร็จของเหล่าบิลเลียนแนร์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “สตีฟ จ๊อบส์” มนุษย์มหัศจรรย์ผู้สร้าง iPhone และผู้ก่อตั้ง Apple โดยหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ “เหลยจวิน” ได้บอกเล่าเอาไว้ว่า….
“ผมมีความรู้สึกเหมือนมีไฟลุกโชนอยู่ในหัวใจ และมันได้ทำให้ผมตั้งปณิธานเอาไว้เลยว่า ผมจะต้องก่อตั้งบริษัทระดับโลกแบบเดียวกับ สตีฟ จ๊อบส์ ที่สามารถสร้างสรรค์อันผลงานยิ่งใหญ่ออกมา จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้จงได้!
เรียนอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ :
ลำพังเพียงความฝัน ความทะเยอทะยาน และแรงปราถนา ย่อมไม่สามารถนำพาให้ตัวเองประสบความสำเร็จได้แน่นอน ฉะนั้น ก้าวแรกที่จะนำไปสู่การสร้างบริษัทระดับโลกของ “เหลยจวิน” จึงมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับ “การเรียนหนังสือ” เป็นลำดับแรก
แล้วเรียนแบบไหน? จึงจะประสบความสำเร็จในแบบฉบับของผู้ก่อตั้งเสี่ยวหมี่น่ะหรือ?
“เรา” ไปฟัง “คำตอบ” ของเรื่องนี้ เมื่อครั้งที่เขาได้กล่าวสุนทรพจน์พิเศษกับเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยอู่ฮั่นรุ่นน้อง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2023 กันดีกว่า…
1. เลือกหลักสูตร :
จะเรียนให้จบเร็วที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกหลักสูตร และคำตอบที่จะค้นพบได้ง่ายที่สุดของคำถามนี้ก็คือ การออกไปเคาะประตูถามบรรดารุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้ช่วยถ่ายทอดเคล็บลับที่ว่า...
วิชาไหนยากหรือง่าย วิชาไหนควรเรียนก่อนหรือหลัง รวมไปจนกระทั่งเคล็ดลับ... เวลาที่เรียนกับอาจารย์คนนั้นคนนี้ ควรมีวิธีการในการเรียนอย่างไร?
ซึ่งวิธีการนี้ไม่เพียงแต่จะได้ “เคล็บลับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย” แต่เจ้าตัวยังได้มรดกตกทอดเป็นหนังสือ บันทึกท่องจำ และอุปกรณ์การเรียนจากบรรดารุ่นพี่มาเสียด้วย! ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับจากเรื่องนี้ ได้สอนให้เขารู้ว่า…
“เมื่อคุณประสบปัญหา ต้องหาคนที่เข้าใจและสอบถามเขาให้เร็วที่สุด หลายต่อหลายคนมักคิดว่าตัวเองสามารถคิดและแก้ไขปัญหาที่ตัวเองเผชิญได้ด้วยตัวเองเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม คนอื่นอาจเคยพบเจอ และสามารถแก้ไขมันมาแล้ว และอาจจะถึงขั้นมีคำตอบมาตรฐานสำหรับเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น คุณก็เพียงแค่ต้องหาคนที่จะถามปัญหาเหล่านั้นให้เจอ”
2. จำไว้ เวลาการเรียนรู้แค่ในห้องเรียนนั้นไม่เพียงพอ :
ในเมื่อมีแรงผลักที่จะมุ่งหน้าไปสู่การก่อตั้งบริษัทระดับโลกแบบเดียวกับ สตีฟ จ๊อบส์ แต่การเรียนคณะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นในยุคนั้น มีเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับฝึกการเขียนโปรแกรมไม่มากนัก จนเป็นผลให้นักศึกษามีเวลาสำหรับการฝึกฝนอย่างจำกัด
“เหลยจวิน” จึงใช้วิธีพยายามไปเข้าคิวใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในทุกๆวัน เพื่อหวังว่าอาจจะมีสักวันที่เพื่อนขาดเรียน จะได้เข้าไปใช้บริการแทน รวมถึงในกรณีที่เพื่อนติดขัดเรื่องการใช้งาน เขาจะเข้าไปทำทีให้คำแนะนำ จนทำให้มีโอกาส (แม้เพียงเล็กน้อย) ในการได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไปในตัว
ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้สามารถใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ก่อตั้งเสี่ยวหมี่ ยังใช้วิธีคัดลอกคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ลงบนกระดาษ แล้วนำไปติดไว้บนโต๊ะเรียนเพื่อฝึกฝนการใช้งานให้คล่องแคล่วในทุกๆวันอีกด้วย!
และเมื่อทักษะการเขียนโปรแกรมเริ่มก้าวหน้าและได้รับการยอมรับจากเพื่อนและอาจารย์มากขึ้นเรื่อยๆ “เหลยจวิน” จึงใช้โอกาสในช่วงปิดเทอมไปช่วยงานรุ่นพี่ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และทำงานในบริษัทชั้นนำด้านไอที
ซึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องที่ใช้ในมหาวิทยาลัย โดยไม่ขอรับเงิน เพราะสิ่งที่เขาต้องการ คือ “การได้ฝึกฝนการเขียนโปรแกรมและการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เชี่ยวชาญมากขึ้น” จนกระทั้งกลายเป็นนักศึกษาที่เขียนโปรแกรมได้เก่งที่สุดในรุ่น
และการทำเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ทักษะความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้น แต่มันยังเป็นช่องทางให้ “ผู้ก่อตั้งเสี่ยวหมี่” ได้ลิ้มรสชาติการเริ่มต้นทำธุรกิจ ด้วยวัยเพียง 19 ปี และในฐานะนักศึกษาชั้นปี 2! เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจร่วมกันเขียนซอฟต์แวร์เข้ารหัส (Encryption Software) ที่มีชื่อว่า BITLOK ออกวางจำหน่าย โดย “เหลยจวิน” บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในครั้งนั้นเอาไว้ว่า…
“ตอนนั้น เราตัดสินใจเขียนซอฟต์แวร์เข้ารหัส ออกวางจำหน่ายเพราะในยุค 90 มันถือเป็นซอฟต์แวร์ที่มีความยากทางเทคนิค จึงทำให้มีคู่แข่งไม่มากนัก
เราสองคนทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ 15 วันติดต่อกัน เพื่อให้ทันกำหนดส่งมอบ ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่ง่วงก็อาศัยนอนบนโซฟา แต่ไม่ว่าจะนอนดึกแค่ไหนก็ต้องตื่นให้ตรงเวลา เพราะต้องเปิดทำการในเวลา 09.00 น. ในทุกๆวัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับพวกเราได้”
และการทำงานหนักเช่นนี้เอง ก็ทำให้ “ผู้ก่อตั้งเสี่ยวหมี่” ได้รับเงินก้อนโตแรกในชีวิต เพราะ BITLOK ซึ่งมีราคาถึง 2,000 หยวน (9,561บาท) กลายเป็นสินค้าขายดี และมีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถขายได้ยาวนานถึง 6-7 ปี!
ความล้มเหลวครั้งแรก :
เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง “เหลยจวิน” ได้ถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เปิดบริษัท ซึ่งมีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 4 คนภายใต้ข้อตกลงถือหุ้นคนละ 25%
อย่างไรก็ดี บริษัทที่เต็มไปด้วยคนหนุ่มไฟแรง พร้อมทำงานหนัก และอัดแน่นไปด้วยไอเดียต่างๆมากมาย ก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ เมื่อแต่ละคนไม่สามารถผสานไอเดียเหล่านั้นให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน จนทำให้เกิดความขัดแย้งและโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนอยู่บ่อยครั้ง
และแม้ว่าพวกเขาจะพยายามผลัดเปลี่ยนกัน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า เพื่อชี้ขาดขั้นสุดท้ายสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ หลายแต่หลายครั้ง แต่ที่สุดแล้ว “ความขัดแย้ง” ก็นำพาบริษัทเดินทางไปถึงจุดจบจนได้
และประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้ “เหลยจวิน” ได้เรียนรู้ว่า นอกจากทักษะด้านคอมพิวเตอร์แล้ว สิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นคือ “ทักษะพื้นฐานในการทำธุรกิจ”
ด้วยเหตุนี้ในทุกๆครั้งๆ ที่มี Startup หน้าใหม่ มาติดต่อเพื่อทำธุรกิจ “คำถามแรก” จากปากของ “เหลยจวิน” ที่มีต่อบรรดาเด็กหนุ่มเหล่านั้น คือ…
“ว้าว พวกคุณเป็นกรรมการบริษัทและถือหุ้นเท่ากันใช่ไหม? แล้วแบบนี้ใครจะเป็นคนรับผิดชอบและตัดสินใจกันล่ะ?”
อ่านกันมาถึงบรรทัดนี้ เอ๊ะ! น่าจะยาวเกินไปสักหน่อย จนอาจทำให้สายตาท่านผู้อ่านเหนื่อยล้าแล้วสินะ.....
“OUTFIELD MAN” ต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง และขอความกรุณาทุกท่านได้โปรดติดตาม เรื่องราวของผู้ก่อตั้งเสี่ยวหมี่ ใน PART 2 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเช่นว่า...
“เราควรผลักดัน Xiaomi เป็นสู่ความเป็นแบรนด์ High-end หรือไม่?” และ
“สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะตัดสินว่าธุรกิจหนึ่งจะสามารถพิชิตคู่แข่งได้หรือไม่ ไม่ใช่ผลตอบแทนจากความบากบั่น แต่เกิดจากการกระทำที่สอดคล้องกับสถานการณ์”
#เหลยจวิน #LeiJun #เสี่ยวหมี่ #Xiaomi #จีน #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews #OUTFIELDMAN
3 บันทึก
7
1
4
3
7
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย