Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ
•
ติดตาม
26 พ.ย. 2024 เวลา 07:49 • หนังสือ
ผู้ ใ ห ญ่ ลี กั บ น า ง ม า
นิยายโรแมนติกเบาสมองเล่าเรื่องราวของชีวิตชาวนาที่เป็นปัญญาขน และต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาไทย
นวนิยายเรื่องหนึ่งที่สะท้อนสภาพสังคมชนบทของไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรมได้อย่างสร้างสรรค์และมีสาระร่วมสมัย แม้ผู้เขียนจะแต่งไว้นานเกือบหกสิบปีแล้วก็ตามคือเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ของ กาญจนา นาคนันทน์ (นามปากกาของนงไฉน ปริญญาธวัช) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) ปีพ.ศ.๒๕๕๕
.
เรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" นั้นผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากเพลงลูกทุ่งชื่อ 'ผู้ใหญ่ลี' ที่ขับร้องโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ซึ่งเป็นเพลงยอดนิยมที่ดังไปทั่วเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ นิยายไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเพลงเนื่องจากเรื่องราวเกิดขึ้นที่ทุ่งรังสิต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ขณะที่ในเพลง 'ผู้ใหญ่ลี' นั้นเรื่องเกิดขึ้นในภาคอีสาน
.
"ขณะที่เพลงผู้ใหญ่ลีฮิตนั้น ชาวกรุงทั้งที่มีวิทยุและไม่มี จะต้องได้ฟังเพลงนี้แหวกอากาศมาวันหนึ่งๆ ไม่รู้กี่ครั้ง ดิฉันได้ฟังครั้งใดก็นึกถึงผู้ใหญ่ลีและชาวอีสานด้วยความเอ็นดูทุกครั้งไป จึงมาคิดว่าปั้นผู้ใหญ่ลีขึ้นมาใหม่สักคนเถอะ อย่าให้ใครเยาะเย้ยได้เลย ซึ่งมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ให้เขาได้รับการศึกษาอย่างดี... (น. ๖)
.
ในเรื่อง "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ผู้ใหญ่ลีมีชื่อจริงว่า "ลีนวัตร" เป็นชาวนาและผู้ใหญ่บ้านที่ยังหนุ่ม เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมุ่งมั่นจะช่วยพัฒนาชีวิตชาวนาชาวไร่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนนางมานั้นชื่อเต็มว่า “มาลินี” หรือที่เพื่อนๆ เรียกเธอว่า "แม่มา"
.
ครั้นเพลงผู้ใหญ่ลีฮิต เธอจึงถูกเพื่อนล้อเลียนว่าเป็น "นางมา" ของผู้ใหญ่ลี และเธอก็มีอารมณ์ขันพอที่จะรับคำล้อเลียนนี้ด้วย มาลินีใช้ชีวิตอยู่คนเดียวอาศัยอยู่ในหอพักที่กรุงเทพฯ รับจ้างเดินแบบหารายได้พิเศษบ้าง และไม่เคยคิดจะไปจากที่นี่ แต่เธออยากมีบ้านของตัวเอง
.
ตั้งแต่เล็กมาลินีไม่สนิทกับคุณยาย(คุณนายวัน) เลย แม่เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อสาวๆ คุณยายเคยอยู่ในรั้วในวังและแต่งงานกับคุณตา แต่คุณตาเป็นคนเจ้าชู้ คุณยายจึงพาคุณแม่ออกมาอยู่แถวรังสิตและได้สามีใหม่เป็นชาวบ้านธรรมดา แต่เป็นคนดีและซื่อสัตย์ คุณแม่ของมาลินีไม่ชอบชีวิตท้องนา และมักกลับไปอยู่กับคุณตาที่กรุงเทพฯ เสมอจนแต่งงานกับคุณพ่อของเธอ นานๆ ทีคุณแม่จะพาเธอไปเยี่ยมคุณยายสักครั้ง มาลินีจึงเหินห่างกับคุณยายและไม่คุ้นเคยกับชีวิตชาวนา
.
วันหนึ่งมาลินีได้รับจดหมายจากคุณยายให้ไปรับมรดกเป็นบ้านและที่นาหลายร้อยไร่แถวคลอง ๑๑ ย่านรังสิต แต่เมื่อเธอไปถึงบ้่านคุณยายกลับพบว่าคุณยายเสียไปแล้วสองสัปดาห์ โดย “ผู้ใหญ่ลี” เป็นผู้ดูแลงานศพทั้งหมด มาลินีไม่พอใจที่ผู้ใหญ่ลีแจ้งเธอให้รู้เรื่องการตายของยายอย่างล่าช้าทำให้เธอไม่ได้ไปร่วมงานสวดศพคุณยาย
.
เรื่องราวความผิดพลาดในการสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่ลีและนางมาตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเหตุทำให้เกิดเรื่องเข้าใจผิดอย่างขำขันและทำให้มาลินีมีอคติต่อผู้ใหญ่ลีไปต่างๆ นานา โดยที่เธอก็ไม่เคยได้เจอตัวจริงผู้ใหญ่ลี เมื่อเจอผู้ใหญ่ลีกำลังซ่อมรถแทร็คเตอร์ เธอก็เข้าใจผิดว่าเขาคือนายเหว่า เขาจึงขอให้เจ้าปื้ด ลูกชายวัยเก้าขวบ ช่วยปกปิดความจริงต่อไปว่า
.....
"เออ ปื้ด พอปื้ดกลับไปบ้านนั้นอย่าพูดถึงพ่อเลยได้ไหม ไม่ต้องถามคุณคนนั้นว่าพ่อมาทำไม ธุระอะไร"
"ทำไมล่ะครับ"
"พ่อไม่อยากให้คุณผู้หญิงคนนั้นรู้ว่าพ่อคือใคร เมื่อเช้านี้เขาคงนึกว่าพ่อเป็นนายเหว่า ก็อยากปล่อยให้เขาเข้าใจอย่านั้นต่อไป"
"เรอะครับ มิน่าล่ะ!" ปื้ดเอาฝ่ามือทั้งสองตบหน้าขา
"อะไรลูก"
"คุณผู้หญิงคนนั้นซีฮะ ชมนายเหว่าใหญ่"
"ชมว่ายังไง"
" ชมว่าหลอมาก ที่แท้พ่อนี่เอง โอ้ย! ปื้ดดีใจจริง" (น.๘๓)
.
มาลินีสงสัยด้วยว่าผู้ใหญ่ลีคงหวังในที่ดินของยายอย่างแน่นอน เพราะคุณยายบอกในจดหมายว่าถ้าเธอไม่คิดจะทำนาต่อก็ห้ามให้ปล่อยใครเช่าที่ดินทั้งหมดนี้ทำนา และก็ให้ขายที่นาแก่ผู้ใหญ่ลี แต่เพียงผู้เดียว มาลินี รู้ตัวดีว่าไม่สามารถทำนาได้ เพราะเธอไม่เคยอยู่บ้านนอกไม่เคยทำนาเลย และที่สำคัญเธอยังรักอาชีพเดินแบบของเธอ จึงเคืองผู้ใหญ่ลีอย่างมาก
.
ก่อนมาบ้านคุณยายที่คลอง ๑๑ มาลินีเพิ่งทะเลาะกับประดิษฐ์ แฟนเก่าจอมเจ้าชู้ เมื่อไปอยู่ที่รังสิตเธอคิดว่าจะอยู่ไม่นาน แต่แล้วเธอกลับค่อยๆ ชอบชีวิตชาวนาชาวไร่ แม้จะทำอะไรไม่เป็นเลยแต่ก็ไม่รู้สึกเหงาเพราะมีแม่ปุย มารดาของผู้ใหญ่ลี และเจ้าปื้ด มาอยู่เป็นเพื่อน การได้สัมผัสชีวิตชนบท ความมีน้ำใจและ
ความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือต่าง ๆ จากครอบครัวและคนงานของผู้ใหญ่ลี ชีวิตประจำวันในท้องนาและการเตรียมงานเผาคุณยายทำให้มาลินีได้เจอผู้ใหญ่ลีในที่สุด มาลินีจึงคลายความทุกข์จากเรื่องแฟนเก่า...
.
ผู้ใหญ่ลีรักและนับถือคุณนายวัน คุณยายของมาลินีอย่างมาก เมื่อเขายังเด็กพ่อและแม่จะไม่ให้เขาเรียนต่อ เพราะเกรงว่าเมื่อเรียนสูงๆ แล้วจะทิ้งท้องนาไปเอาดีทางราชการ เพราะพ่อมีลูกชายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำนาอยู่คนเดียว เกรงว่าไร่นาที่อุตส่าห์ซื้อไว้จะไม่มีใครช่วยงานต่อ เขาสัญญากับพ่อว่าจะไม่ทิ้งท้องนา จึงได้เรียนจนจบมัธยมปีที่ ๖ คุณนายวันก็ยังสนับสนุนให้เขาไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพราะเขาเป็นเด็กที่เรียนดี คุณนายวันคอยช่วยเหลือค่าเสื้อผ้าและหนังสือ และจ้างเขาทำงานที่บ้านให้มีรายได้...
.
ลีนวัตรจึงได้เรียนต่อจนสำเร็จปริญญาเกษตรศาสตรบัณฑิต และเป็นที่รักของชาวบ้านและได้รับความไว้วางใจเลือกเขาเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อจากพ่อของเขาคือผู้ใหญลอในวัยเพียง ๒๕ ปี ผู้ใหญ่ลีจึงคอยดูแลเอาใจใส่ช่วยงานคุณนายวันผู้มีพระคุณกับเขาทุกอย่างจนท่านเสียชีวิต
.
แม้จะโกรธผู้ใหญ่ลีที่ปล่อยให้เธอเข้าใจผิดว่าเขาคือนายเหว่า คนงานในบ้าน จนเป็นที่ขบขันและดูเปิ่น ๆ ในสายตาคนอื่นหลายเรื่อง แต่ความจริงใจที่เธอได้รับและความเป็นตัวของตัวเองเมื่อได้รู้จักผู้ใหญ่ลี ทำให้ทั้งผู้ใหญ่ลีและมาลินีเริ่มมีความรู้สึกประทับใจต่อกันมากขึ้น
.
"ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" เป็นเรื่องที่จำลองภาพชีวิตชนบทได้อย่างมีชีวิตชีวาและสาระร่วมสมัยที่ล้ำยุคในสังคมไทยเมื่อเกือบหกสิบปีก่อน ชีวิตชาวนายังมีสถานภาพไม่ดีขึ้นจากอดีต เช่นที่ผู้เขียนถ่ายทอดความคิดของผู้ใหญ่ลีให้ผู้อ่านรับรู้ว่า ชีวิตชาวนาเหน็ดเหนื่อยมาแต่ไหนแต่ไร ออกไปทุ่งนาตั้งแต่ท้องฟ้าเพิ่งจะสาง กว่าจะกลับบ้านก็ตะวันลับฟ้า
.
"...จะทำอย่างไรชีวิตชาวนาถิ่นนี้ถึงจะดีขึ้นกว่าเดิม ... เขาไม่เคยฝันหวานถึงขนาดให้ชาวนาไทยขับคาดิแลคเข้ามาจอดในบ้่านอย่างชาวนาต่างประเทศที่เคยเห็นในภาพยนตร์... เขาเพียงปรารถนาให้พี่น้องชาวนาของเขาได้มีที่นาของตนเองพอสมควร ได้รับการศึกษาและเอาใจใส่ในด้านสาธารณูปโภค เพื่อยกมาตรฐานการครองชีพให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ (น.๔๕๑)
.
นอกจากคุณค่าด้านภาษาแล้ว เรื่อง"ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ยังสะท้อนภาพทุ่งรังสิตในอดีตได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเปลี่ยแปลงไปมาก มีทั้งหมู่บ้านจัดสรร มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และคนอาศัยจำนวนมาก ฯลฯ เรื่องนี้จึงเป็นนิยายที่สะท้อนสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์
.
เราได้เห็นภาพชีวิตที่สมจริงของชาวนา เช่นเมื่อผู้เขียนเปรียบความร่ำรวยของคุณนายวันว่ามีโรงเก็บควายใหญ่โตขนาดเทียบเท่าสถานีรถไฟหัวลำโพง และภาพเตรียมการปลูกข้าวเมื่อใกล้ถึงฤดูฝน ผู้ใหญ่ลีเป็นคนเดียวในคลอง ๑๑ ที่มีรถแทร็คเตอร์ก็ไปช่วยไถนาในที่นาของมาลินี เมื่อเสร็จแล้วก็ไปรับจ้างไถนาในที่นาถัดไป
.
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสอดแทรกเรื่องการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ วัฒนธรรมอาหารในชุมชน งานบวช งานเผา และงานแต่งงานฯลฯ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจากคลองต่างๆ สิ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์น่าติดตามเสมอคือ อารมณ์ขันของตัวละครต่างๆ และมุมมองความคิดต่อสังคมผ่านบทสนทนาทำให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลินตลอดเรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมาจะลงเอยกันอย่างไรจึงน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ
.
หนังสือเรื่อง"ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตรีสาร ช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๐๙ และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ นิยายเรื่องนี้มีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔- ปี ๒๕๕๒ กาญจนา นาคนันทน์ เสียชีวิตในวัย ๙๓ ปี ท่านยังมีผลงานเขียนเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น ธรณีหนี้นี้ใครครอง ผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง ฯลฯ
=======
เครดิตภาพปกจาก Internet
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #กาญจนานาคนันทน์ #ผู้ใหญ่ลีกับนางมา #นวนิยาย #ชาวนา #เกษตรกรรม #การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง #รังสิตคลองสิบเอ็ด
หนังสือ
ครอบครัว
สังคมไทย
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย