7 ชั่วโมงที่แล้ว • ธุรกิจ

“ลัคกี้ สุกี้” คู่ท้าชิงสุกี้ตี๋น้อย ปีที่แล้ว มีรายได้ 400 ล้าน

ถ้าพูดถึงร้านสุกี้บุฟเฟต์ ปิดดึก ราคาหัวละ 219 บาท
แน่นอนว่ามีหลายตัวเลือก ทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่
แต่มีร้านหนึ่งที่น่าสนใจ ชื่อว่า “ลัคกี้ สุกี้”
โดยในปีที่ผ่านมา ลัคกี้ สุกี้ ทำเงินได้ถึง 400 ล้านบาท
จากจำนวนสาขาทั้งหมดเพียง 6 สาขา
เรื่องราวของ ลัคกี้ สุกี้ เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ ลัคกี้ สุกี้ (Lucky Suki) คือในปี 2564 เกิดจากกลุ่มเพื่อนคือ คุณรสรินทร์ ติยะวราพรรณ, คุณวิรัตน์ โรจยารุณ, คุณรุ่งทิวา วิพัฒนานันทกุล และคุณอิทธิพล ติยะวราพรรณ
ที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัท มิราเคิล แพลนเนท จำกัด ขึ้นมา
ทั้ง 4 คน ไม่เคยทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อนเลย แต่ชื่นชอบการทานสุกี้ และเห็นโอกาสในธุรกิจร้านสุกี้บุฟเฟต์ราคาย่อมเยา
เลยใช้เวลาพัฒนาสูตรและร้านสุกี้บุฟเฟต์ขึ้นมา โดยตั้งชื่อว่า “ลัคกี้ สุกี้” มาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อลูกค้าทานอาหารแล้วได้รับประสบการณ์ที่ดี ก็เหมือนกับได้รับความโชคดีกลับบ้านไปด้วย
และในเดือนมกราคม ปี 2565 ร้านลัคกี้ สุกี้ สาขาแรก ก็ได้เปิดอย่างเป็นทางการที่ People Park คอมมิวนิตีมอลล์ย่านอ่อนนุช
โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10:30 น. จนถึงเวลา 02.00 น. เพราะต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่สะดวกทานบุฟเฟต์ตอนกลางวัน รวมถึงกลุ่มคนที่เลิกงานดึก
ราคาบุฟเฟต์อยู่ที่ราคาหัวละ 219 บาท
สามารถทานได้ในเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที
ซึ่งถ้ารวมราคาเครื่องดื่มรีฟิล คนละ 39 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% แล้ว ราคาสุทธิจะอยู่ที่ 276 บาท
หรือก็เท่ากับ ราคาบุฟเฟต์ของร้าน สุกี้ตี๋น้อย เลยนั่นเอง
โดยผู้บริหารของลัคกี้ สุกี้ มองว่า ธุรกิจร้านสุกี้บุฟเฟต์ ถ้าไม่ทำแบบพรีเมียมก็ควรทำแบบแมสไปเลย
เลยเลือกตั้งราคาแมส ที่หัวละ 219 บาท เพราะมองว่าเป็นราคาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
หลังจาก ลัคกี้ สุกี้ สาขาแรก เปิดให้บริการ ก็ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากลูกค้า จนมีการบอกต่อ
จากนั้นก็มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้บริหารของ ลัคกี้ สุกี้ ตั้งใจที่จะขยายสาขาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมคุณภาพ
การขยายสาขาของร้านลัคกี้ สุกี้ ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2565 ทั้งหมด 2 สาขา
ปี 2566 ทั้งหมด 6 สาขา
ปี 2567 ทั้งหมด 15 สาขา
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567)
1
และในปี 2567 ทางลัคกี้ สุกี้ ก็ได้เปิดร้านอาหารใหม่เพิ่ม ก็คือร้าน ลัคกี้ บาร์บีคิว (Lucky BBQ)
ซึ่งเป็นร้านบุฟเฟต์ปิ้งย่างยากินิกุ ราคาหัวละ 299 บาท
โดยถ้ารวมเครื่องดื่มรีฟิล และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว ราคาสุทธิจะอยู่ที่ 362 บาท
โดยตอนนี้ มีร้านลัคกี้ บาร์บีคิว แล้วทั้งหมด 4 สาขา
ทำให้ตอนนี้บริษัทมีร้านอาหารในเครือรวมทั้งหมด 19 สาขา
แล้วอะไรที่ทำให้ร้านลัคกี้ สุกี้ เติบโตและขยายสาขามาได้เรื่อย ๆ ทั้งที่มีร้านคู่แข่งอยู่เต็มไปหมด ?
หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ การเลือกทำเลที่เหมาะสม
สังเกตว่าทั้งร้านลัคกี้ สุกี้ และลัคกี้ บาร์บีคิว จะอยู่ในคอมมิวนิตีมอลล์หรือห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน ที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
2
และยังสามารถเดินทางมาทานได้สะดวก เพราะมีพื้นที่จอดรถที่สามารถรองรับการให้บริการสำหรับลูกค้าจำนวนมากได้
อีกเรื่องก็คือ การสร้างความประทับใจเกินความคาดหวังให้กับลูกค้า
หนึ่งในหัวใจสำคัญของร้านลัคกี้ สุกี้ ก็คือ น้ำจิ้มสุกี้ สูตรเฉพาะที่กลุ่มผู้ก่อตั้งช่วยกันคิดขึ้นมาทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรกวางตุ้ง, สูตรไหหลำ และน้ำจิ้มซีฟูด
แล้วยังมีเมนูให้เลือกมากกว่า 40 เมนู รวมถึงของทอด เครื่องดื่มสมูทที และติ่มซำ
อย่างน้ำซุปก็จะมีน้ำซุปใหม่ ๆ มาให้ลองทุก 3 เดือน เช่น ซุปก๋วยเตี๋ยวเรือ ซุปต้มยำน้ำข้น
รวมถึงการสั่งออร์เดอร์อาหารผ่าน QR Code และการเสิร์ฟผ่านหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า
เมื่อลูกค้าได้รับประสบการณ์ดี ๆ กลับไป แต่จ่ายเงินในราคาสบายกระเป๋า ก็เหมือนได้รับความโชคดี ตามชื่อ ลัคกี้ สุกี้ ซึ่งก็นำไปสู่การบอกต่อแบบปากต่อปากของลูกค้าอีกที
และนี่คือรายได้ของบริษัท มิราเคิล แพลนเนท จำกัด ที่ดำเนินกิจการร้านอาหาร ลัคกี้ สุกี้
ปี 2565 รายได้ 79.7 ล้านบาท กำไร 2.7 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 409.2 ล้านบาท กำไร 46.3 ล้านบาท
โดยในปี 2566 ร้านลัคกี้ สุกี้ มีทั้งหมด 6 สาขา
ก็เท่ากับว่า ผลประกอบการเฉลี่ยต่อสาขาอยู่ที่
- รายได้เฉลี่ยต่อสาขา อยู่ที่ 68.2 ล้านบาทต่อปี
- กำไรเฉลี่ยต่อสาขา อยู่ที่ 7.7 ล้านบาทต่อปี
โดยถ้าลองเปรียบเทียบกับสุกี้ตี๋น้อย
ในปี 2566 ที่ตอนนั้นมี 55 สาขา
1
- รายได้เฉลี่ยต่อสาขา อยู่ที่ 95.7 ล้านบาทต่อปี
- กำไรเฉลี่ยต่อสาขา อยู่ที่ 16.5 ล้านบาทต่อปี
จะเห็นว่า แม้รายได้เฉลี่ยต่อสาขาของ ลัคกี้ สุกี้ ยังน้อยกว่า สุกี้ตี๋น้อย แต่ก็ถือว่าทำได้ดีในฐานะร้านน้องใหม่อายุไม่ถึง 3 ปี
ส่วนเรื่องความสามารถในการทำกำไรของ ลัคกี้ สุกี้ ที่ยังไม่สูงเท่าของ สุกี้ตี๋น้อย
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ สุกี้ตี๋น้อย มีสาขาเยอะกว่า ทำให้เกิดความได้เปรียบเรื่อง Economies of Scale มากกว่านั่นเอง
แต่ก็น่าคิดว่า ถ้าลัคกี้ สุกี้ ยังมีผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าไปเรื่อย ๆ
ซึ่งถ้าเราลองนำ รายได้เฉลี่ยต่อสาขา มาประมาณการรายได้ของบริษัท มิราเคิล แพลนเนท จำกัด ในปี 2567 ที่มีทั้งร้านลัคกี้ สุกี้ 15 สาขา และลัคกี้ บาร์บีคิว 4 สาขา
ก็เป็นไปได้ว่า ลัคกี้ สุกี้ อาจจะขึ้นเป็นร้านสุกี้ 1,000 ล้านบาท เจ้าใหม่ของประเทศไทย..
โฆษณา