Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted reader
•
ติดตาม
26 พ.ย. 2024 เวลา 13:41 • หนังสือ
❄️“หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ : สวนญี่ปุ่น”🌙
💮ดำดิ่งไปกับสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่นผ่านมุมมองการสร้างสวน
🪨 物の哀れ (mono no aware) : แปลความได้ว่า ‘สุนทรียภาพแห่งความเศร้าของสรรพสิ่ง’ ตระหนักรู้ถึงความไม่แน่นอนของธรรมชาติ และชีวิตก็ดำรงอยู่บนความไม่แน่นอนนั่นเอง เมื่อชีวิตโอบคลุมด้วยความไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก ก็รู้สึก “เศร้าอยู่ลึกๆ” หวั่นไหวไปกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและบริบทรอบกาย สังเกต ใส่ใจกับสิ่งต่างๆรอบตัว วัฒนธรรมญี่ปุ่นมักตระหนักถึงความรู้สึกของสรรพสิ่ง กระทั่งก้อนหิน ต้นไม้ ถ้วยชาม ก็ถูกพิจารณาว่ามีชีวิตและความรู้สึก
...
‘โมะโนะ โนะ อะวะเระ’ สัมพันธ์กับความงามแบบ ‘มุโจ’
🪨 無常 (Mujō) : อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ ทุกสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่ดำรงอยู่อย่างชัดเจน เฉกเช่นหยดน้ำค้างที่เกาะบนใบไม้ในสวน แสงแดดที่ลอดหน้าต่างมากระทบผนัง สภาวะอันกำลังแปรเปลี่ยนมากกว่าหยุดนิ่ง วัตถุหรือรูปทรงย่อมเสื่อมสลายอย่างแน่นอนตามกาลเวลา
“การที่เรายอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความงดงามขึ้นภายในจิตใจ” ดั่งน้ำค้างระเหย ไม่คงรูป ไม่ยั่งยืน ไม่จีรัง เกิดขึ้นและตั้งอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขและความทุกข์ก็เช่นกัน วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีมุมมองต่อสิ่งเหล่านี้ผูกโยงกับความงดงาม การมองเห็นความงามจากความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง “ช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่ง” คือเหตุปัจจัยสำคัญของความงดงามแบบมุโจ
‘มุโจ’ สัมพันธ์กับความงามแบบ ‘วะบิ สะบิ’ ที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยชนชั้นต่ำสุดของสังคม นั่นคือพ่อค้า มีลักษณะต่อต้านสังคมชั้นสูงและการจัดลำดับชนชั้น
🪨 間 (ma) : “มะ” หมายความว่า “พื้นที่” อักษรคันจิเกิดจากการผสมตัวอักษรหว่าง ‘門 : ประตู’ กับ “日 : ดวงอาทิตย์’ นัยความหมายก็คือ “แสงแดดที่ส่องลอดผ่านประตู” แฝงเร้นความรู้สึกว่า “พื้นที่จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในเวลา” เสมือนการได้หยิบใช้จินตนาการของตนเองเพื่อเติมเต็มความงามนั้นย่อมเหนือกว่าความเป็นจริง ความรู้สึกอันสื่อสารผ่านความเงียบสงบนั้นคือองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะญี่ปุ่น เป็นสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น
🪨 一期一会 (ichigo ichi-e) : ‘อิจิโกะ อิจิเอะ’ หรือ “หนึ่งช่วงเวลา หนึ่งการประสบ” เป็นความรู้สึกที่สัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา ณ ขณะหนึ่ง การก่อเกิดประสบการณ์ของมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพียงครั้งเดียว โดยมีแนวคิดว่า “ทุกเหตุการณ์จะไม่สามารถเกิดสภาวะที่เหมือนกันทุกประการเช่นนั้นอีกแล้ว” สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะปัจจุบันบนพื้นที่หนึ่งจึงสำคัญที่สุด ควรรับรู้และปฏิบัติให้ดีที่สุด เนื่องจากมันจะไม่มีวันหวนผ่านกลับมาอีกแล้ว
‘ความทรงจำ’ คือความสามารถในการเชื่อมต่อบางสิ่งที่เราพบเจอก่อนหน้า กับสิ่งที่พบเจอในปัจจุบัน เพื่อคาดหมายสิ่งที่อาจพบเจอในอนาคต “ความทรงจำคือการอยู่กับตัวเองมากขึ้น” เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่ และตัวตนของเราเอง
🪨 寂 (jaku) : ‘จะคุ’ (หลักสี่ประการของปรัชญาเซน) ในรากศัพท์ภาษาญี่ปุ่นนั้น “ความสงบเงียบและความเหงา” ใช้อักษรคันจิตัวเดียวกัน ความรู้สึกทั้งสองนี้เป็นความงามรูปแบบหนึ่ง เหตุเพราะความขาดแคลนหรือความเหงามักทำให้เรารู้สึกและเข้าถึงตัวตนภายในได้ดีที่สุด “เมื่อเหงา จึงสงบ” ตัวตนแยกขาดจากสภาวะการยึดมั่นถือมั่น
🪨 余白 (yohaku) : ในทางศิลปะ ‘โยะฮะคุ’ คือความพยายามแสวงหาสุนทรียภาพจาก “พื้นที่ว่าง” มากกว่าตัวรูปทรง ปล่อยให้ผู้ชมเติมเต็มความหมายด้วยตนเอง การสื่อสารทุกประเภทในสังคมญี่ปุ่นมักเปิดพื้นที่ว่างเอาไว้เพื่อการตีความ
แนวคิดที่ว่า “ความว่างเปล่าบนกระดาษ เป็นพื้นที่ที่วาดได้ยากที่สุด” ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีน ภาพเขียนหมึกดำ 5 น้ำหนักสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ปี ค.ศ.1127–1279) ภาพวาดทิวทัศน์ซึ่งสร้างความลึกของพื้นที่ด้วยวิธีการลวงตาจากความเข้ม-จางของน้ำหมึกสีดำ (suiboku-ga) เมื่อพื้นที่ว่างถูกขับเน้น ดังนั้นรูปทรงจึงถูกลดทอนความสำคัญลงไปจนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “พื้นที่ว่างก็คือความว่างในปรัชญาเซน”
การปล่อยให้พื้นที่ว่างได้ทำงานในจิตรกรรมจึงเป็นแก่นสาระสำคัญ พื้นที่ว่างย่อมตอบสนองต่อจินตนาการของผู้ชม โอบรับการตีความทุกประเภทเฉกเช่นเดียวกับจิตที่ว่างนั่นเอง ปล่อยให้ความหมายของภาพสื่อสารจากพื้นที่ว่างมากกว่ารูปทรง พื้นที่ว่างนั้นจึงจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภาพวาดจะสมบูรณ์เมื่อผู้ชมเพ่งพินิจไปยังพื้นที่ว่างบนภาพ จากนั้นปล่อยให้จินตนาการทำหน้าที่เติมเต็มความหมายอันแตกต่างกันออกไปของแต่ละบุคคล มุ่งเน้นสร้างความหมายด้วยวิธีการปล่อยพื้นที่ว่างจำนวนมาก แสดงออกถึงอุดมคติของเซนได้เป็นอย่างดี
🪨 見立て (mitate) : ‘มิตะเตะ’ คือกระบวนการนำวัตถุสิ่งของกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง การใช้สิ่งของที่ถูกทิ้งร้างหรือสิ่งของที่แต่เดิมไม่ได้มีหน้าที่ใช้สอยเช่นนั้นมาก่อน เสมือนการ “ค้นพบความหมายใหม่ของวัตถุสิ่งของ” การค้นพบความหมายใหม่จากสิ่งที่คุ้นเคย สิ่งไร้ค่า สืบเนื่องจากการต่อต้านสุนทรียภาพแบบหรูหราฟุ่มเฟือยนั่นเอง เช่น ถ้วยชามแตกบิ่น ก้อนหินที่ถูกทิ้งขว้างริมทาง
กระบวนการเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลโดยตรงทางทัศนียภาพ แต่ก่อให้เกิดผลทางการสร้างความหมายใหม่มากกว่า ตัวอย่างในเชิงศิลปะ เช่น 水琴窟 (suiginkutsu) ‘สุยคินคุทสึ’ อ่างหินสำหรับล้างมือที่มักตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารสำหรับชุมนุมชาหรือภายในสวนแบบญี่ปุ่น ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดย ‘Kobori Enshū (โคะโบะริ เอ็นชู)’ นักออกแบบสวนญี่ปุ่นซึ่งตั้งใจให้ผลงานชิ้นนี้เกิดสัมผัสอื่นๆนอกเหนือจากสายตาเพียงอย่างเดียว (เสียง)
🪨 松風 (matsu-kaze) เรื่องราวของ ‘เสียง’ ในสวนญี่ปุ่น ‘Teiji Itō (เทะอิจิ อิโต)’ นักวิชาการสวน เคยกล่าวไว้ว่า “เสียงนกและแมลงที่เปล่งดังขึ้นเป็นครั้งคราวในสวน ยิ่งขับเน้นให้เห็นว่าสวนนี้เงียบสงัดนัก” เช่นดนตรีตะวันออก ‘ความเงียบ’ เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งถูกจัดวางไว้ตั้งแต่แรก เสียงเป็นตัวกระตุ้นให้ความเงียบสื่อความรู้สึกออกมา
“ความเงียบอย่างถึงที่สุดในสวน กลับสร้างขึ้นด้วยเสียง” เสียงและความเงียบนี้กระตุ้นจินตนาการ ให้สัมผัสเชิงเวลา ขับเน้นว่าความเงียบคือหัวใจของพื้นที่แสนสงบ พื้นที่ถูกผลักขยายขอบเขตออกไปจนไม่มีที่สิ้นสุด
🗻ณ สวนญี่ปุ่น กลางฤดูหนาว : หิมะโปรยแผ่วเบา เกาะบนก้อนหิน มอสส์ ต้นไม้ ชานระเบียงอาคาร ในวันที่สวนเงียบสงัด คือสุนทรียภาพอันเกิดจากความเงียบและเปลี่ยวเหงายากที่จะลืมเลือน
❄️หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ : สวนญี่ปุ่น
...
ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
สำนักพิมพ์: สารคดีภาพ, 2557
...
ขอให้มีความสุขกับการอ่าน ในทุกๆวันนะครับ 🙂
...
หากใครสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ 'เซน' หรือบริบทแวดล้อมซึ่งเขียนโดย อ.ชัยยศ เช่นเดียวกัน ก็ขอแนะนำ 'เมฆาวารี' ครับ งดงามมากๆ
ญี่ปุ่น
ปรัชญา
หนังสือ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย