27 พ.ย. 2024 เวลา 01:31 • ท่องเที่ยว

พระธาตุศรีเมืองปง โลหะปราสาท วัดอัญญาวาส .. เชียงใหม่

ศรัทธา .. ความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งๆหนึ่งขึ้นอยู่กับความศรัทธา
เมื่อเรามีความศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง .. ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นแค่ก้อนหิน ก้อนหินนั้นก็จะกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่ถ้าเราไม่ศรัทธา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นพระธาตุมาจากไหนก็ตาม สิ่งนั้นจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์เลย
ความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดขึ้นได้... ก็ต่อเมื่อเราศรัทธาในสิ่งนั้น
วัดอรัญญวาส หรือ วัดบ้านปง ที่ตั้งอยู่ในบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
.. “ปง” นั้น หมายถึง ที่ริมฝั่งน้ำหรือที่ลุ่มน้ำขัง ซึ่งบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นแอ่ง หรือปลัก บริเวณรอบริมน้ำ ทำให้มีเกลือแร่ที่สัตว์ต่างๆ มาหากินนั่นเอง
... ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใด แต่วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระครูบาจินนา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2386 .. ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในแง่ของประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองการปกครองของอาณาจักรล้านนา
ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานประกอบด้วยพระอุโบสถสถาปัตกรรมล้านนา
ด้านหน้าของพระอุโบสถและวิหารน้อย มีประติมากรรมรูปพญานาค อันเป็นคติคามเชื่อของผู้คนท้องถิ่น และในอีกหลายภูมิภาคของไทย
ภายในพระอุโบสถ มีงานจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีคุณค่าอย่างมาก ในวิหารของวัดบ้านปง .. นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของชุมชน บอกได้ถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
เรายืนอยู่บนลานวัด มองขึ้นไปยังยอดเขา .. เห็นเจดีย์สีขาวดูโดดเด่น ซึ่งว่ากันว่า เป็นเจดีย์ปราสาท นาม "พระธาตุศรีเมืองปง" ที่มีความงดงามสุดตระการตา อันเป็นไฮไลท์ของวัดนี้
เราใช้บริการของรถสองแถวแดงเพื่อขึ้นไปชมปราสาทเจดีย์ แทนการไต่บันไดกว่า 900 ขั้น .. ทางขึ้นในปัจจุบันเป็นถนนคอนกรีตสภาพดี แต่มีความคดโค้งพอสมควร ด้วยเป็นทางเลียบภูเขา
.. รถจะมาส่งเราที่ยอดเขา ลานด้านหลังของเจดีย์ปราสาท การเยี่ยมชมควรจะเดินอ้อมไปด้านหน้าเจดีย์ปราสาท ซึ่งเจดีย์จะหันหน้าเข้าสู่หุบเขาแห่งเมืองปง
“พระธาตุศรีเมืองปง” โลหะปราสาททิพยวิมานคำ แห่งเมืองล้านนา .. ตั้งอยู่บนยอดเขาหลังวัดวัดอรัญญวาส นับว่าเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 4 ของโลก และแห่งที่ 2 ของไทย (หลังแรกอยู่ที่ วัดราชนัดดา กทม.)
ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีการสร้างโลหะปราสาทมาแล้ว .. หลังแรกก็คือปราสาทของนางวิสาขา บุตรีของธนัญชัย เศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย โดยได้สร้างโลหะปราสาทที่มีชื่อว่า “มิคารมาตุปราสาท” เพื่อถวายเป็นที่อยู่ให้แก่พระสงฆ์ มีลักษณะเป็นปราสาท 2 ชั้น มี 1,000 ห้อง ปัจจุบันโลหะปราสาทหลังนี้หักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว
ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ ประเทศลังกา ทรงสร้างเมื่อประมาณปี 382 โลหะปราสาทหลังนี้มี 9 ชั้น 1,000 ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง สร้างให้พระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยเช่นกัน ภายหลังโลหะปราสาทนี้ได้ถูกไฟไหม้และถูกทำลาย จนตอนนี้เหลือเพียงซากปราสาท แต่ก็ยังเห็นความยิ่งใหญ่ของเสาหินถึงประมาณ 1,600 ต้นด้วยกัน
โลหะปราสาท สภาพที่ดี ยังสามารถใช้งานได้ในปัจจุบัน .. จึงยังคงมีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น และโลหะปราสาทหลังล่าสุด ก็คือ “พระธาตุศรีเมืองปง” โลหะปราสาททิพยวิมานคำ แห่งเมืองล้านนา
ว่ากันว่า .. บนยอดเขาแห่งนี้ เดิมมีพระเจดีย์โบราณตั้งอยู่บนยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 486 เมตร ไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัดว่าเจดีย์เดิมนั้นสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง และเมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี พระเจดีย์ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนคงสภาพเพียงยอดเขาที่มีอิฐมอญทับถมกันเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “ป๊อกดินกี่” หรือเนินอิฐ
.. จากคำบอกเล่าสืบกันมาและการพบเห็นของพระสงฆ์ที่อยู่ที่นี่ ได้เล่าถึงปรากฏการณ์ที่มีแสงสว่างลอยพุ่งมาจากทิศต่างๆ แล้วมารวมตัวกันตรงบริเวณกองอิฐ ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ตรงกลาง แล้วกลุ่มแสงสว่างก็ลอยตัวสูงขึ้นและต่ำลง จนเกิดความสว่างไสวไปทั่ว สามารถมองเห็นต้นไม้ทุกกิ่งก้านสาขาจากระยะไกล .. ผู้คนที่มีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ต่างรู้ด้วยสัญญาและเข้าใจตรงกันว่า เป็นปรากฏการณ์ “พระธาตุเสด็จ”
ต่อมา พระมหาดวงจันทร์ จนฺทโชโต ท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้น มีโครงการที่จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในบริเวณวัด โดยมีพ่อครูประสิทธิ์ อินเสาร์ คหบดีผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปวารณาที่จะเป็นประธานในการก่อสร้าง
.. โดยแรกเริ่มเดิมทีได้วางแผนผังจะขุดหลุมสร้างพระเจดีย์ตรงบริเวณทิศเหนือของพระอุโบสถ แต่ด้วยความบังเอิญ ที่จากคำพูดของสามเณรตัวน้อย (ปัจจุบันคือท่านพระครูอาชวปรีชา เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) ที่จู่ๆก็พูดทีเล่นทีจริงกับเจ้าอาวาสองค์ก่อนว่า “ตุ๊ปี้ครับถ้าเฮาแป๋งพระธาตุบนดอยป๊อกดินกี่ได้ท่าจะดีแต้”
คำพูดดังกล่าว ทำให้พระอาจารย์ถึงกับชะงักครุ่นคิดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กล่าวออกมาว่า “ก็อยากจะสร้างเหมือนกั๋น ศรัทธาเปิ้นเล่าสืบต่อกันมาว่า จั้งมีพระธาตุออกในวันเดือนเป็ง” .. นี่จึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้บนยอดเขา ณ บริเวณที่มีก้อนอิฐมอญทับถมกันเป็นจำนวนมาก
.. การสร้างเจดีย์องค์ใหม่เพื่อครอบองค์เดิมไว้ เพื่อเป็นการรักษาและบูรณะโบราณสถานไว้ให้คงอยู่คู่กับชุมชน อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 .. โดยเลือกสร้างในลักษณะของโลหะปราสาทที่เราจะพาไปเดินชมกันค่ะ
“พระเจดีย์ โลหะปราสาท” เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดีย เรียกมาแต่ครั้งสมัยพุทธกาล หมายถึง คฤหาสน์ที่มียอดเป็นโลหะ สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีหลายชั้นและใช้ประโยชน์เป็นส่วนสังฆวาส
“พระธาตุศรีเมืองปง” .. ตั้งอยู่ในตำแหน่งของภูมิทัศน์อันโดดเด่นของบ้านปง ท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงามของขุนเขา เราสามารถมองเห็นพระธาตุเจดีย์ได้จากระยะไกลๆ
หากเดินขึ้นมาทางบันได .. เมื่อใกล้ถึงตัวปราสาทจะมีประติมากรรมรูปพญานาคในลักษณะเลื้อยจากด้านล่างขึ้นมาสู่ด้านบน อันเป็นคติล้านนา
.. และเมื่อเราอยู่ในช่วงกลางๆของบันไดนาค แหงนหน้าขึ้นมาจะพบกับ ปราสาทเจดีย์ที่โดดเด่น ตั้งตระหง่าน งดงามอลังการมาก ปรากฏในสายตา
.. เหมือนชะลอทิพย์วิมานของเหล่าเทพให้มาประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้
เจดีย์ปราสาทสีขาวรูปทรงปราสาทศิลปะล้านนาประยุกต์ ตัดกับสีทองของยอดปราสาทที่หล่อด้วยโลหะทั้งหมดแล้วลงรักปิดทองแท้ 120 ยอด เมื่อมีแสงส้ม ชมพูเรื่อๆของอาทิตย์อัสดงฉายลงมาทาบทา
.. สวยงามในสายตา เกินกว่าจะบรรยายออกมาให้จินตนาการได้ตรงตามภาพที่เห็น
พระพุทธรูปปางห้ามญาติที่ตั้งอยู่บนลาน ปลายสุดของบันไดนาคนั้น พุทธลักษณะงดงาม ปิดทองเหลืองอร่าม .. หันหน้าออกสู่หุบเขาเบื้องหน้า
บริเวณโดยรอบปราสาท สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองปงที่งดงาม .. ภาพทิวทัศน์ของขุนเขาและผืนป่าที่โอบกอดพื้นที่เมืองเอาไว้ในออมแขน
วิวสวยงามมากขึ้นในยามเย็นที่แสงพระอาทิตย์ยามอัสดง ส่งลำแสงสีแดง ส้มเหลืองมาโอบไล้ยอดเขาและท้องฟ้ากว้างไกลให้เจิดจ้า ออกมาเป็นภาพประทับใจ
งานปูนปั้นและประดับแต่งตามแนวคติล้านนาประยุกต์ .. เสริมให้ทัศนียภาพโดยรอบงดงาม ดูขลัง และเปี่ยมพลังสำหรับผู้พบเห็นที่ได้มายืน ณ จุดนี้
จากการสังเกต .. ผู้เขียนเข้าใจว่า การก่อนสร้าง เจดีย์ปราสาทแห่งนี้ใช้เทคนิคการออกแบบจากวิศวกรผู้มีความรอบรู้และชำนาญในงานพุทธศิลปกรรม ซึ่งได้นำเอาเจดีย์และวิหาร มาประยุกต์ใช้งานร่วมกันได้อย่างลงตัว
.. ชั้นล่างมีลักษณะเป็นห้องโถงโล่ง มีพื้นที่ให้ผู้เลื่อมใส ศรัทธา มารวมกันเพื่อปฏิบัติธรรมและศาสนกิจได้กว่า 300 คน
.. ด้านบนมีลักษณะเป็นเจดีย์ แปลนฐานปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีลานประทักษิณโดยรอบ หลังคาปราสาทมุงด้วยแผ่นโลหะปิดทอง ลดหลั่นกัน 3 ชั้น
.. ชั้นที่ 3 เป็นยอดปราสาทที่หุ้มด้วยทองคำสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า .. แต่ละชั้นจะมีซุ้มจรนำ 4 ด้านที่กรุด้วยโลหะดุนลวดลายปิดทองเรียงรายลดย่อเป็นช่อชั้นจากฐานขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุด
เราชื่นชอบประติมากรรมปูนปั้นต่างๆที่ประดับตกแต่งอยู่รอบๆฐานปราสาท .. ความงดงามนั้นบ่งบอกถึงความรอบรู้ ความชำนาญในเชิงช่างชั้นครู
.. แต่จากการเดินทางมาแล้วมากมาย ทำให้สังเกตเห็นว่า จะมีหลายส่วนที่คล้ายกับสิ่งที่เห็นในหลายๆวัดสวยในพื้นที่ต่างๆของไทย
.. อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า แนวความคิดของมนุษยชาติที่มีต่อการสร้างสถาปัตยกรรมในศาสนสถานที่ตนนับถือนั้น ช่างมักมีปรัชญาอย่างเดียวกัน ลักษณะของสถาปัตยกรรมย่อมมีความคล้ายคลึง และมีความสำคัญเท่าเทียมกันด้วย
เราเดินขึ้นบันไดจากลานประทักษิณ แล้วหันหลังมาเก็บภาพงดงาม ยามพระอาทิตย์ใกล้จะหลีกทางให้จันทราออกมาเจิดจ้าแทนที่ .. ภาพสวยมากค่ะ
เจดีย์ปราสาทแห่งนี้ มี “ประติมากรรมนกหัสดีย์ลิงค์” ทำด้วยโลหะแววาวสวยงาม ประดับตกแต่งตรงปลายสุดของบันไดก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ภายในของพระเจดีย์
.. ผู้เขียนไม่รู้เรื่องคติความเชื่อที่นำรูปนี้มาใช้ประดับที่เจดีย์ เคยรู้เพียงว่า ในคติความเชื่อของล้านนาและอีสาน “ประติมากรรมนกหัสดีย์ลิงค์” จะใช้ในงานฌาปนกิจศพพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้น
ภายในเจดีย์ปราสาท มีเจดีย์สีทองอร่ามอยู่ด้านใน .. ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ในอิริยาบทต่างๆ
ความใหญ่โตอลังการ และเวลา 18 ปีแห่งการบูรณะ จนเสร็จเกือบสมบูรณ์ในวันนี้ .. สื่อถึงความศรัทธาที่สูงส่งของท่านเจ้าอาวาส โยมอุปถัมภ์ และญาติโยมจากที่ต่างๆ ที่ได้ร่วมแรงกาย ร่วมใจ บริจาคทรัพย์มากมายในการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ได้แบบนี้ เหมือนเนรมิต
.. ทำให้ผู้ศรัทธา และคนแรมทางอย่างเรา ได้อิ่มบุญ อิ่มใจ พร้อมได้ชมทิวทัศน์ที่งดงามตระการตา .. เป็นวันเวลาที่รื่นรมย์ที่สุดวันหนึ่งในเชียงใหม่
ขอมงคลทั้งหลายบังเกิดแด่ทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะคะ
ที่อยู่ : วัดอรัญญวาส ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
โฆษณา