Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนไว้ให้เธอ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 พ.ย. เวลา 04:08 • ความคิดเห็น
เริ่มคู่คี่ สิบปีไม่เหมือนกัน
พี่เล้ง ศิริวัฒน์ แห่ง MFEC นักธุรกิจมากประสบการณ์มักจะมี leng theory ที่ชวนคิดและคมคายเสมอเพราะเรื่องราวเหล่านั้นจะถูกกลั่นกรองจากข้อมูลของคนนับพันนับหมื่นคนที่ผ่านตาผ่านหูพี่เล้งจากธุรกิจหลากหลายที่พี่เล้งทำงานร่วมกับคนหมู่มาก บวกกับที่พี่เล้งเป็นนักคิด เป็นนักปราชญ์ทางธุรกิจ ข้อสังเกตของพี่เล้งจึงน่ารับฟังและน่าคิดตามทุกครั้ง
ใน clubhouse เมื่อสามปีก่อน พี่เล้งถามแบบชวนคิดกับน้องคนหนึ่งที่มาร่วมสนทนาว่า คุณคิดว่าน้องจบใหม่ที่เริ่มต้นเท่าๆ กัน ได้เกรดเท่ากัน จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เข้าทำงานบริษัทใหญ่ที่มีงานลักษณะคล้ายๆ กัน พอสิบปีผ่านไปแล้ว ทั้งสองคนจะมีความก้าวหน้าเท่ากันหรือไม่
1
จากประสบการณ์ของทุกคนที่สนทนากันก็ตอบกันได้ไม่ยากว่า…ไม่
พี่เล้งเลยถามต่อว่า แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้สองคนมีความก้าวหน้าไม่เท่ากันบ้าง
เรื่องดวง เรื่องจังหวะอะไรก็คงมีส่วนตามสมควร แต่จากประสบการณ์พี่เล้งนั้น ความต่างระหว่างคนสองคนที่มีพื้นฐาน มีความรู้ความสามารถใกล้เคียงกันเมื่อสิบปีผ่านไปนั้นอยู่ที่คณะบุคคลที่รายรอบคนคนนั้นเป็นสำคัญ ถ้าน้องจบใหม่ได้เข้าไปอยู่ในที่ที่มีบุคคลแวดล้อมที่ใจกว้าง คอยสนับสนุน คอยสอนงานและปรารถนาดีต่อน้องแล้ว โอกาสที่จะมีความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันจะมีสูง
ผมเองเห็นด้วยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้ผม ผู้ซึ่งเป็นเด็กที่หัวปานกลางและไม่ได้มีเส้นสายอะไรเลยนั้นก้าวหน้าในหน้าที่การงานในจังหวะต้นๆ ของชีวิตอย่างก้าวกระโดดได้ก็เพราะพี่ๆ หัวหน้างานที่สอนงานอย่างไม่กั๊ก ให้โอกาสลองผิดลองพลาดแล้วเรียนรู้โดยมีพี่ๆเป็นโค้ชให้
ในตอนนั้นผมก็มีเพื่อนร่วมงานในรุ่นเดียวกันที่เก่งและนิสัยดีกันหลายคน ทำให้เราทำงานกันเป็นทีม เรียนรู้กันเป็นทีม มีอะไรก็คอยช่วยเหลือกัน พอในช่วงที่ต้องทำงานการตลาด ผมก็มีเพื่อนๆพี่ๆนักข่าวที่เอ็นดูรักใคร่ชอบพอกันช่วยเขียนช่วยเชียร์จนมีตัวตน พอเป็นหัวหน้าคน ก็ได้ลูกน้องที่ทั้งดีและเก่ง มีความสามารถที่มาเกื้อหนุนผม
เป็นหมู่กัลยาณมิตรที่พาผมมาจนวันนี้….
แต่หัวใจของบทความนี้น่าจะอยู่ที่ว่า ถ้าเราเชื่อในสมมติฐานของ leng theory ข้อนี้แล้ว เราควรจะทำตัวอย่างไรในฐานะน้องใหม่ในบริษัทที่จะแวดล้อมกัลยาณมิตรที่ดีที่คอยช่วยเหลือเราได้บ้าง เราจะดึงดูดคนใจดีหรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ใจกว้างได้อย่างไร
ผมลองนึกถึงน้องบางคนที่ทำงานที่มีลักษณะที่น่าสอนงาน น่าช่วยเหลือ น่าให้โอกาสว่าน้องเหล่านั้นมีคาแรกเตอร์อะไรบ้างจึงดูน่าสนับสนุน น่าชวนเข้าทีมบ้าง
กรณีนี้ผมคิดในมุมหัวหน้า แต่ถ้าจะให้ดี คนๆหนึ่งที่จะไปไกลได้นั้น คนรอบข้างจะไม่ได้มีแค่หัวหน้าที่คอยสนับสนุน แต่ถ้ามี mentor ที่คอยสอน คอยให้คำปรึกษา มีเพื่อนร่วมงานที่รักใคร่และทำงานเป็นทีม และมีลูกน้องที่พร้อมถวายชีวิตให้
สี่กัลยาณมิตร หัวหน้า mentor เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง จึงเป็นสี่เสาหลักที่ทำให้คนคนหนึ่งเติบโตก้าวหน้ากว่าอีกคนหนึ่ง
มีเสาหลักหนึ่งก็ไปไกลอยู่แล้ว แต่ถ้ามีสี่เสาหลักเกื้อหนุนก็ยิ่งจะมีโอกาสไปไกลกว่าคนอื่นมาก และเราเองควรจะทำตัวนิสัยดีแบบไหน เพราะในแต่ละเสาหลัก คำว่านิสัยดีก็จะแตกต่างกันไปอีกด้วย
ข้อแรกที่ตรงกับที่พี่เล้งตอบคำถามใน clubhouse ว่าคุณสมบัติของพนักงานที่ดีนั้นคือต้องเป็นคนใจกว้าง คนที่ใจกว้าง ไม่คิดเล็กคิดน้อย คิดถึงส่วนรวมเป็นหลักนั้น เป็นพลังบวกให้กับทีมเป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม การมีคนใจแคบ คิดเล็กคิดน้อย เห็นแก่ตัวนั้นเป็นพิษต่อทีมมากๆ พี่เล้งบอกว่าจากประสบการณ์ของพี่เล้ง เราควรต้องสนับสนุนคนใจกว้างให้เป็นหัวหน้างานเยอะๆด้วย เพราะเป็นหัวใจที่ทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้า หัวหน้างานที่ใจแคบมีแต่จะพาให้ทีมพัง เพื่อนร่วมงานจะชอบคนแบบนี้
ข้อสองที่ผมคิดในมุมผมก็คือ การที่มีนิสัยทำงานสำเร็จไม่ใช่ทำเสร็จ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปหลายครั้งว่า น้องที่บอกครั้งเดียวรู้เรื่อง คิดเผื่อ คิดไกลกว่า job description ของตัวเอง ไม่ยอมทำงานแค่เสร็จ ถ้าติดอะไรก็จะรีบมาบอก ไม่ยอมให้งานไม่สำเร็จต่อให้งานของตัวเองเสร็จก็ตาม น้องที่เข้าใจเรื่องนี้จะเป็นน้องที่พี่ๆ รัก และจะเรียกใช้ ยิ่งอยากจะส่งเสริมเพราะทำให้พี่ๆ ทำงานสบายขึ้นมากถ้าน้องๆเหล่านี้เติบใหญ่ขึ้นมา หัวหน้าจะชอบคนแบบนี้
ข้อที่สาม คือความมีนิสัยที่ดี คนนิสัยดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น เป็นห่วงเป็นใยเพื่อนร่วมงาน ใส่ใจเรื่องส่วนตัวของคนรอบข้าง เห็นอกเห็นใจคนตัวเล็กในบริษัทนั้น เป็นคนที่จะมีคนพูดถึงในทางที่ดี เอาเข้าจริงๆแล้ว เวลาเลือกคนทำงานเข้าทีมโดยเฉพาะน้องใหม่ นิสัยดีในหลายๆครั้งจะชนะความเก่งเอาด้วย เพราะชีวิตของคนทำงานที่ใช้เวลาอยู่ที่บริษัทนานๆแล้วเลือกน้องที่นิสัยดีแล้วฝึกความเก่งเอานั้นง่ายกว่าเอาคนดูเก่งแต่ต้องมาปวดหัวกับการดัดนิสัยมาก ใครช่วยก็รู้สึกขอบคุณ พูดถึงคนที่ช่วยในทางที่ดี ยกย่องคนอื่นอยู่เสมอ
1
ข้อนี้จะทำให้ชื่อเสียงเราไปถึงคนอื่นๆ ในบริษัท ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานด้วยซ้ำและรวมถึง mentor ที่สอนงานเราด้วย
ข้อที่สี่ ก็คือลักษณะของคนที่ไม่เกี่ยงงาน หรือพวกที่ยกมือเร็วกว่าคนอื่นเวลามีงานอะไรที่ไม่ชัดเจน งานที่ยากไม่ค่อยมีใครอยากทำ หรืองานที่ต้องเหนื่อยกว่างานปกติ เรื่องนี้คุณตันแห่งอิชิตันเคยเล่าว่า เพราะความที่คุณตันการศึกษาน้อย เป็นจับกังโรงงานมาก่อน
1
การที่คุณตันได้รับโอกาส ได้ความเอ็นดูจากหัวหน้างานนั้นเกิดจากที่คุณตัน “ยกมือแหลก” มีงานอะไรที่คนอื่นไม่อยากทำเพราะต้องมาทำวันหยุด ต้องยกของหนัก คุณตันจะรีบยกมือก่อนใครเสมอ ถึงขนาดมีงานที่ต้องขี่มอเตอร์ไซด์ คุณตันขี่ไม่เป็นยังยกไว้ก่อนแล้วไปหัดขี่มอเตอร์ไซด์จนได้แผลเป็นมาจนทุกวันนี้
ข้อที่ห้า การที่เราดูแลและปรารถนาดีกับลูกน้องอย่างจริงใจ อยากให้เขาเจริญก้าวหน้า เก่งขึ้น มีความรู้สึกเป็นโค้ช มีความไว้วางใจให้ ยุติธรรม และเป็นห่วงเป็นใยส่วนตัว ลูกน้องจะรู้สึกได้ และจะนำมาซึ่งพลังแฝงที่ลูกน้องมีให้ เป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้งานดี มีทีมที่แข็งแกร่งทำงานยากๆ ได้สำเร็จอีกด้วย
ความก้าวหน้าในชีวิตอาจจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง บางอย่างก็ได้มาเพราะโชค แต่กัลยาณมิตร คนรอบข้างที่ดีนั้น ผมไม่คิดว่าจะได้มาเพราะโชคได้ง่ายๆ แต่จำเป็นต้อง earn ต้องพยายามถึงจะได้มา สำหรับน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานจึงน่าจะหมั่นตรวจสอบนิสัยที่เรามี ลักษณะที่เราเป็น ว่าเรามีคุณสมบัติพอที่จะดึงดูดคนดีๆ เก่งๆมาช่วยส่งเสริมเราได้หรือไม่ ถ้าขาดตกบกพร่องอะไรก็น่าจะลองฝึกลองเสริมกันดู
เพราะถ้าเชื่อ leng theory ว่าเรื่องนี้เป็นหัวใจของความต่างในอาชีพการงานในสิบปีแรกแล้วนั้น ความก้าวหน้าของสิบปีแรกจะแทบกำหนดอนาคตอาชีพการงานของเราทั้งชีวิตเลยทีเดียว และไม่มีโอกาสครั้งที่สองกันได้ง่ายๆอีก
Leng theory ทฤษฏีนี้จึงอยากจะฝากน้องๆ ไว้คิดพินิจพิจารณากันดูนะครับ..
1 บันทึก
16
4
1
16
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย