27 พ.ย. 2024 เวลา 05:01 • ความคิดเห็น

อยากให้ Perfectionist ได้อ่านบทความนี้

ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้คุยกับคนที่บอกว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ (perfectionist) ไม่น้อยกว่า 3 คน
5
เวลาผมสัมภาษณ์งาน พอผมถามผู้สมัครว่ามีจุดอ่อนอะไรบ้าง หนึ่งในคำตอบที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือการบอกว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์เช่นกัน
51
คำนี้เป็นคำตำหนิตัวเองที่เป็นการชมตัวเองไปในตัว คือรู้นะว่าเป็นปัญหา แต่ก็มีความภูมิใจอยู่เหมือนกันว่าเราเป็นคนที่ทำเต็มที่กับทุกอย่าง
42
วันนี้ก็เลยอยากจะพาผู้อ่านทำความรู้จักกับเพอร์เฟกชั่นนิสต์มากขึ้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มาจากหนังสือ The Perfection Trap: The Science of Why We Never Feel Enough ของ Thomas Curran ครับ
3
เรามักจะคิดว่าเพอร์เฟกชั่นนิสต์เป็นคนที่คาดหวังกับตัวเองสูงเท่านั้น แต่ผู้เขียนบอกว่าความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์นั้นมี 3 มิติด้วยกัน
1. คาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ หรือ SOP: Self-Oriented Perfectionism
2. รู้สึกว่าคนรอบข้างคาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ หรือ SPP: Socially-Prescribed Perfectionism
3. คาดหวังให้คนอื่นสมบูรณ์แบบ หรือ OOP: Other-Oriented Perfectionism
ที่เราคุ้นเคยก็คือมิติแรก - SOP คือคาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ ซึ่งขับเคลื่อนมาจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองยังดีไม่พอ/ยังเก่งไม่พอ/ยังมีไม่พอ (I'm not enough.) ก็เลยต้องพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีไม่มีที่ติ เพื่อกลบความรู้สึกขาดแคลนนี้
1
ส่วนมิติที่สอง - SPP คือความรู้สึกว่าถูกคาดหวังจากคนรอบตัวให้เราสมบูรณ์แบบ อันนี้จะเกิดกับคนฝั่งเอเชียมากกว่าชาวตะวันตก เพราะคนเอเชียมีความเป็น collectivist สูง คืออยู่กันเป็นหมู่คณะ พ่อแม่มักจะมีความหวังที่สูงลิ่วให้กับลูก ซึ่งลูกก็มักจะแบกความคาดหวังนั้นไว้ตั้งแต่ตอนเรียนจนกระทั่งถึงวัยทำงาน
1
มิติที่สามคือคาดหวังให้คนอื่นสมบูรณ์แบบ หรือ OOP ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ สตีฟ จ็อบส์ ที่คาดหวังสูงกับทุกคนรอบตัวและไม่เคยประนีประนอมกับความไม่สมบูรณ์แบบ
2
Thomas Curran ผู้เขียนหนังสือบอกว่าความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ไม่ใช่ขาวหรือดำ แต่เป็น spectrum ที่มีดีกรีความเข้มข้นได้หลายเฉด คนหนึ่งคนสามารถมีความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ได้ทั้งสามมิติ มากน้อยแตกต่างกันไป
1
ถ้าใครอยากรู้ว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์แนวไหน (หรืออยากรู้ว่าคนข้างๆ เป็นแนวไหน) ก็ลองทำแบบทดสอบนี้ โดยให้ 5 คะแนนสำหรับข้อที่เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และให้ 1 คะแนนถ้าเราไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
Self-Oriented Perfectionism
______ เราพยายามที่จะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ
______ เราตั้งมาตรฐานให้กับตนเองไว้สูงมาก
______ หากเราทำผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่อง เราจะตำหนิตัวเองอย่างหนัก
______ เราต้องสมบูรณ์แบบในสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา
______ หากไม่สามารถทำอะไรออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราจะรู้สึกผิดและอับอาย
Socially-Prescribed Perfectionism
______ หากเราทำพลาด ก็มีคนพร้อมที่จะวิจารณ์เรา
______ คนอื่นนั้นดูสมบูรณ์แบบ และพวกเขาจะตัดสินเราหากเราไม่สมบูรณ์แบบ
______ คนใกล้ชิดของเราจะรับไม่ได้หากเราไม่สมบูรณ์แบบ
______ ผู้คนมักจะโกรธหากเราไม่ทำอะไรอย่างสมบูรณ์แบบ
______ ทุกคนคาดหวังให้เราสมบูรณ์แบบ
1
Other-Oriented Perfectionism
______ เป็นเรื่องยากที่จะอดทนกับการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานของคนรอบข้าง
______ หากผู้คนไม่พยายามอย่างเต็มที่ เราจะบอกให้พวกเขารู้
______ ทุกคนควรเป็นเลิศในสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขา
______ เมื่อคนใกล้ชิดทำพลาดหรือบกพร่อง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตือนพวกเขา
______ เราไม่ชอบการอยู่ล้อมรอบด้วยคนที่มาตรฐานต่ำ
เอาคะแนนของแต่ละหมวดมารวมกัน หมวดไหนคะแนนเยอะก็จะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์แบบไหน
-----
1
แล้วข้อเสียของการเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์คืออะไร?
แม้บางคนจะรู้สึกภูมิใจลึกๆ กับการเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าไหร่
เพราะคนที่เป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์จะมีความสุขได้ยากกว่าคนทั่วไป
3
เวลาที่ทำงานสำคัญสำเร็จเรียบร้อยไปได้ด้วยดี เพอร์เฟกชั่นนิสต์ไม่ได้รู้สึกภูมิใจหรือชื่นชมตัวเอง
2
สิ่งที่เพอร์เฟกชั่นนิสต์รู้สึกมากกว่าคือ "ความโล่งใจ" ว่าจบงานนี้ไปได้อีกงาน และไม่มีใครมาว่าอะไรเราได้
11
แต่ความโล่งใจก็จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะเพอร์เฟกชั่นนิสต์ก็จะกังวลกับงานชิ้นต่อไป หรือไม่ก็ตั้งเป้าหมายใหม่ด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่งกว่าเดิม แล้วทำทุกอย่างเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น เมื่อทำสำเร็จก็คาดหวังให้ตัวเองทำได้ดีกว่านี้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งถึงจุดนึงที่ไม่สามารถทำได้ตามที่ตัวเองคาดหวัง (หรือคิดว่าคนอื่นคาดหวัง) อีกต่อไป
4
คนที่เป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์จึงมีโอกาส burnout สูงกว่าคนธรรมดามาก
4
แต่เพอร์เฟกชั่นนิสต์บางคนก็อาจทักท้วงว่า แม้ต้องแลกด้วยการ burnout และการไม่มีความสุข แต่อย่างน้อย performance ก็น่าจะดีกว่าคนทั่วไปไม่ใช่เหรอ เราเห็นคนอย่างสตีฟ จ็อบส์ นักเขียน bestseller หรือนักกีฬาระดับโลกหลายคนก็มีความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์กันทั้งนั้น
แต่ Thomas Curran ผู้เขียนบอกว่า จากงานวิจัยและการเก็บตัวอย่างมากกว่า 40,000 คน เขาพบว่าความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์นั้นไม่มีความสัมพันธ์ (correlation) กับ performance หรือผลงาน!
3
Curran ให้เหตุผลไว้น่าสนใจมาก
อย่างแรก ที่เราเห็นว่าคนเด่นคนดังนั้นเขาเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ เราต้องระวังด้วยว่าเรากำลังมี survivorship bias
3
Survivorship bias คือเรามักจะตัดสินจากคนที่ "เหลือรอด"
คนอย่างสตีฟ จ็อบส์นั้นประสบความสำเร็จ และเมื่อจ็อบส์นั้นเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ เราก็เลยคิดว่าความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์นั้นทำให้จ็อบส์สำเร็จ
1
แต่แท้จริงแล้วยังมีเพอร์เฟกชั่นนิสต์อีกตั้งมากมายที่ไม่ได้เดินทางไปถึงจุดสูงสุดในวิชาชีพ แต่เราไม่เคยเห็นหรือได้ยินได้ฟังคนเหล่านั้น
2
แถมความสำเร็จนั้นก็เกิดจากหลายปัจจัยมาก ทั้งเรื่องการศึกษา ฐานะทางบ้าน ประเทศที่เกิด โชค จังหวะเวลา เราไม่สามารถให้เครดิตกับความสำเร็จของจ็อบส์ได้เพียงเพราะว่าเขาเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์
-----
อีกจุดอ่อนสำคัญของเพอร์เฟกชั่นนิสต์ คือแรงขับเคลื่อนของเพอร์เฟกชั่นนิสต์นั้นไม่ใช่การได้มาซึ่งความสำเร็จหรือบรรลุความเป็นเลิศ
1
แรงขับเคลื่อนที่แท้จริงของเพอร์เฟกชั่นนิสต์คือความกลัวที่จะล้มเหลว
7
ทำยังไงก็ได้ที่จะไม่เฟล เพราะถ้าเราเฟล ความรู้สึกที่ว่าเราดีไม่พอจะผุดขึ้นมาทันที
7
ซึ่งเวลาที่เพอร์เฟกชั่นนิสต์เจองานที่ถนัด พวกเขาก็จะสร้างงานออกมาได้ดีเพราะเป็นคนขยันอยู่แล้ว
3
แต่พอเจองานที่ยากมากๆ งานที่เคยฝากรอยแผลเอาไว้ และเพอร์เฟกชั่นนิสต์รู้สึกได้ว่าอาจจะยากเกินไปและมีสิทธิ์ที่จะไม่ออกมาอย่างที่หวัง เพอร์เฟกชั่นนิสต์มีแนวโน้มที่จะ "หนี" ด้วยการไม่ยอมทำสิ่งนั้น หรือผัดผ่อนการตัดสินใจออกไปเรื่อยๆ
7
และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเพอร์เฟกชั่นนิสต์จึงไม่ได้มี performance ในการทำงานดีกว่าคนทั่วไป เพราะข้อดีจากความขยันขั้นสุดนั้นถูกหักล้างด้วยข้อเสียของการไม่กล้าทำอะไรเสี่ยงๆ และการเบิร์นเอาท์ก่อนวัยอันควร
3
ส่วน Other-oriented perfectionist หรือคนที่คาดหวังให้คนอื่นสมบูรณ์แบบนั้น มักจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์หรือการการทำงานกับคนอื่น เพราะช่างตัดสินและช่างวิจารณ์จนทำให้เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมห้องเข็ดขยาด
-----
เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์แล้ว และอยากหายจากอาการนี้ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง?
Curran แนะนำเอาไว้หลายอย่าง แต่ผมขอยกมาซัก 3 ข้อแล้วกันนะครับ
1
ข้อแรก ให้เข้าใจก่อนว่าความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ไม่ใช่ความผิดของเรา
จากงานวิจัย ความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์เกิดจากยีนส์ประมาณ 30%-40% คือมันติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เราเลือกไม่ได้
4
แถมระบอบทุนนิยมก็คอยบอกเราตลอดเวลาว่า เรายังดีไม่พอ เรายังมีไม่พอ เราสามารถไปได้ไกลกว่านี้อีกถ้าเราซื้อผลิตภัณฑ์ตัวนี้หรือเข้าคอร์สตัวนั้น การเปลี่ยนประชาชนให้เป็นผู้บริโภคคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะถ้าเกิดว่าทุกคนรู้สึกว่าดีพอแล้ว มีพอแล้ว ไม่ต้องซื้อของเพิ่มอีกแล้ว เศรษฐกิจก็จะติดขัดและอาจเข้าสู่ recession ก็เป็นได้
1
การมาถึงของโซเชียลมีเดียก็มีผลเป็นอย่างมาก เพราะมันคอยเตือนเราตลอดเวลาว่ามีคนที่สวยกว่าเรา เก่งกว่าเรา ชีวิตดีกว่าเรา ดังนั้นความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นจึงเกิดขึ้นมากกว่ายุคก่อน
2
ดังนั้น ให้รู้ว่าความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ของเรานั้นคือผลผลิตจากยีนส์บวกกับผลผลิตจากยุคสมัย เราจะได้โทษตัวเองน้อยลง
ข้อสอง ให้หัดมีเมตตากับตนเอง หรือ self-compassion
7
อย่าโบยตีตัวเองมากเกินไปถ้าเราทำพลาด ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอับอายแต่มันคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ - Failure is not humiliating. It's humanising.
3
ไม่มีใครในโลกนี้ที่เพอร์เฟ็กต์ เพราะกล่าวโดยแท้จริงแล้ว ความไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์
1
ข้อสาม ให้เดินเข้าหาสิ่งที่กลัว
2
เพราะที่ผ่านมาเราวิ่งหนีความล้มเหลวมาโดยตลอด อะไรที่ทำท่าว่าจะไม่ไหวเราก็เลยไม่กล้าลอง แต่จากนี้ไปให้เราลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำดู ซึ่งแน่นอนว่ามันจะไม่ได้ออกมาได้ดีอย่างที่เราหวัง แต่เราก็จะได้พบว่ามันก็ไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดเช่นกัน
2
เมื่อเราผูกมิตรกับความไม่สมบูรณ์แบบบ่อยๆ ความเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ของเราก็น่าจะบรรเทาลงเช่นกัน
1
ใครสนใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น ลองไปหาฟัง Thomas Curran ตามพ็อดแคสต์ต่างๆ ได้นะครับ เขาเองก็เป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ขั้นสุดเหมือนกัน เคยเก็บความเครียดความกดดันเอาไว้มากมายจนสุดท้ายเป็น panick attack ดังนั้นข้อเขียนและข้อความของเขาจะเข้าใจเหล่าเพอร์เฟกชั่นนิสต์เป็นอย่างดี
3
ขอเอาใจช่วยให้เพอร์เฟกชั่นนิสต์ทุกท่านได้พบสันติในใจครับ
โฆษณา