5 ชั่วโมงที่แล้ว • การเมือง

กลยุทธ์สุดล้ำลึกยุให้เขาตีกัน

ในอนาคตอันใกล้เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของ “รัสเซีย” และ “อิหร่าน” จะแตกต่างออกไปอย่างแน่นอน มาเรีย สเนโกวายา และจอห์น อัลเทอร์แมน จากศูนย์การศึกษากลยุทธ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งอเมริกา (CSIS) ได้เขียนบทความที่แสดงถึงความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ของสองประเทศเผยแพร่ไว้บน Foreign Affairs เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2024
เหตุผลเกิดจากอะไร? ปรากฏว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2024 ที่ผ่านมา รัสเซียพยายามเป็นฝ่ายช่วย “โดนัลด์ ทรัมป์” แต่ในขณะเดียวกันมีการกล่าวหาว่าอิหร่านก็วางแผนที่จะลอบสังหารเขา ผู้เขียนบทความต้นเรื่องกล่าว
“สหรัฐและพันธมิตรควรใช้ประโยชน์จากความแตกต่างเชิงความคิดเหล่านี้เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างมอสโกและเตหะราน” ผู้เชี่ยวชาญของ CSIS ให้คำแนะนำ เป็นการวิเคราะห์ที่ล้ำลึกบนข้อมูลที่ยังไม่มีมูลชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ายังไม่มีการยืนยันเรื่อง “การแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งสหรัฐที่ผ่านมา” หรือเจตนาที่จะ “ลอบสังหารทรัมป์ของอิหร่าน” แม้แต่ในสหรัฐเอง (เหมือนเป็นทฤษฎีที่ใช้เล่นงานโจมตีฝ่ายตรงข้ามในช่วงเลือกตั้งมากกว่า)
นอกจากแนวคิดที่จะให้มอสโกและเตหะรานขัดแย้งกันเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อประธานาธิบดีสหรัฐที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว (ทรัมป์) ผู้เชี่ยวชาญของ CSIS ยังแนะนำให้ “หาทางทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขัดแย้งกันเองด้วยการสนับสนุนเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานคือการที่จะให้ลดราคาน้ำมัน” แนวคิดนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่ชาญฉลาดเลยทีเดียว
1
“รัฐบาลของไบเดนให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของตลาดพลังงานมากกว่าการเข้มงวดด้านนโยบายกับอิหร่านและรัสเซีย แต่ในโลกที่ยังมีกำลังการผลิตน้ำมันสำรองจำนวนมากในปัจจุบัน สหรัฐสามารถยอมทนต่อการลดรายได้จากการขายเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนได้อย่างรุนแรง” ผู้เขียนต้นเรื่องทั้งสองมั่นใจแนวทางนี้ สิ่งที่เหลืออยู่คือการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมบริษัทน้ำมันของสหรัฐว่าการขายน้ำมันถูกลงจะดีกว่าสำหรับพวกเขา
ภาพถ่ายเมื่อปี 2017 ตอนทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกและเดินทางมาเยือนซาอุดิอาระเบียและได้เข้าพิธีต้อนรับถือดาบ เครดิตภาพ: Mandel Ngan/AFP
ผู้เชี่ยวชาญของ CSIS ยังแนะนำให้เปิดเผยเอกสารจัดเก็บหรือถึงขนาดให้ทำเหมือนกับข้อมูลรั่วไหลออกมาเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียและอิสราเอลแก่อิหร่าน” และพยายามโน้มน้าวเตหะรานว่ามอสโกไม่สนับสนุนพวกเขาด้วยความจริงใจ แต่สนับสนุนซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากกว่า
แน่นอนว่ากลยุทธ์ที่เรียกว่า Divide and Conquer (การแบ่งส่วนย่อยแล้วคอยแก้แต่ละส่วนแล้วรวมผลลัพธ์ที่แก้ได้แต่ละส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งมันจะง่ายกว่าแก้ก้อนใหญ่อันเดียวเลย) ไม่สามารถมองข้ามไปได้ เนื่องจากจักรวรรดินิยมของยุโรปสมัยก่อนเติบโตมาจากกลยุทธ์นี้ (ทำให้เขาแตกคอแยกเป็นดินแดนอิสระแล้วเข้ามาตียึด) อย่างไรก็ตามในกรณีนี้เชื่อว่าทั้งรัสเซียและอิหร่านคงไม่หลงกลง่ายๆ คงเป็นแนวคิดที่นักวิเคราะห์อเมริกันนำเสนอเพื่อหวังผลอยากแสดงความคิดเห็น
บทความอ้างอิงตามลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
27th Nov 2024
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Maxim Shemetov, Pool Photo via AP>
โฆษณา