27 พ.ย. เวลา 05:33 • ธุรกิจ

มัดรวม 100 เรื่อง ที่คนทำคอนเทนต์ และครีเอเตอร์ต้องรู้ถึงปี 2025 จากงาน iCreator Conference 2024

1. การจะหาตัวตนให้เจอ ไม่ใช่นั่งเฉย ๆ แล้วเจอ แต่ควรเรียนรู้ในแบบที่ไม่ทำร้ายสังคม เป็นตัวตนของเรา เริ่มค่อย ๆ ทำคอนเทนต์ได้เลย แล้วปรับแก้ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ทำวันแรก เดือนแรกอาจจะยังไม่เจอ แต่ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอคุณจะพบตัวตนในแบบที่เป็นคุณได้แน่นอน
2. วงการ Creator จะถูกผลักดันได้ ต้องเกิดจาก Brand Agency, Platform และ Audience
3. มีคนไทยทำคอนเทนต์ออนไลน์อย่างน้อย 1 คอนเทนต์ 9 ล้านคน และมีคนที่ทำเป็นอาชีพทั้งครีเอเตอร์และแบรนด์ มีมากกว่า 2 ล้านคน ถือว่าเยอะมาก ๆ แทบจะทุกอุตสาหกรรมแทบจะผลักดันมาเป็นครีเอเตอร์กันมากขึ้น
4. ปี 2024 ความนิยมของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเปลี่ยนไป จากข้อมูลของ Hootsuite โดยปีนี้ TiKTok ได้แซง YouTube เป็นที่เรียบร้อย ซึ่ง TikTok มีผู้ใช้งานมากถึง 44.3 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 4 ล้านคน)
5. Global Creator Earning ปีที่แล้วเติบโตถึง 23 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้เติบโต 25 ล้านล้านบาท ซึ่งโตมากถึง 28%
6. ปีนี้มีแฟนอีเวนต์มีมากกว่า 100 รายการ แต่ก่อนครีเอเตอร์ต้องการรายได้จากแบรนด์ แต่ทุกวันนี้ครีเอเตอร์ไม่ต้องรอแบรนด์แล้ว แต่เขาสามารถสร้าง Community ได้เองแล้ว ซึ่งตัวเลขแฟนอีเวนต์ที่มากขึ้นคือเครื่องพิสูจน์ เช่น ปรากฏการณ์ Faratalk ที่บัตรขายหมดเร็วอย่างมาก ยิ่งกว่าในหลาย ๆ คอนเสิร์ตซะอีก
7. Top 6 ของครีเอเตอร์ในประเทศไทย ในปัจจุบัน มีหมวดอะไรบ้าง ?
อันดับ 1 : Life Style
อันดับ 2 : Beauty and Fashion
อันดับ 3 : Travel
อันดับ 4 : Entertainment
อันดับ 5 : Gaming
อันดับ 6 : Food Drink and Cafe
โดยทั้ง 6 อันดับนี้กินสัดส่วนครีเอเตอร์ไปมากถึง 62%
8. Creator ที่อยู่บน YouTube แล้วมาแรงคือ Food, Sport, Real Estate, Life Style, Variety, Automotive, Technology, VTuber
9. Creator ที่อยู่บน Facebook แล้วมาแรงคือ News & Reporter, Family Elder, Film & Movie, Cooking, Social Issue, Finance & Business, Art & Literature
10. Creator ที่อยู่บน Instagram แล้วมาแรงคือ Beauty & Fashion, Real Estate, Photographer, Fitness & Wellness
11. Creator ที่อยู่บน TikTok แล้วมาแรงคือ News & Reporter, Shopping Promotion, Pets, Life Style, Entertainment, Technology
1
12. Top Rising Creator 2024 ในประเทศไทยที่มาแรงคือ 4 หมวดนี้ Finance, Parenting (ซึ่ง 2 หมวดแรกนี้ Top Engagement), Automotive และ Health & Fitness
13. AI จะ Recommendations Video จากแพลตฟอร์มของ Meta เกิดจาก 3 ปัจจัยนี้
- Fresh Content คอนเทนต์ที่สดใหม่ สร้างสรรค์ จะถูก AI Recommendation ได้มากขึ้น
- Variety of Content ที่นำเสนอรูปแบบแปลกใหม่ จะถูก AI Recommendation ได้มากขึ้น
- Quality Content อะไรที่เป็น Original Content AI จะช่วย Recommendation ได้มากขึ้น
14. คำพูดเหล่านี้ นับเป็นการละเมิด ซึ่งแคปชันล่อลวงเชิงนี้ ในแพลตฟอร์มของ Meta ไม่ชอบ! เลิกทำ! เช่น ชอบกดไลก์ ใช่กดแชร์, พิมพ์…เพื่อให้คำขอของคุณเป็นจริง, แชร์โพสนี้ให้เพื่อนของคุณ, แท็กเพื่อของคุณใต้โพสต์นี้ เป็นต้น
15. คำพูดเหล่านี้ในการขายสินค้า เป็นเรื่องที่คนมักเข้าใจผิด ในการใช้แพลตฟอร์มของ Meta เป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มไม่แนะนำให้ทำแบบนี้! เช่น Vาย, อสังxา, # อย่าปิดกั้นการมองเห็น, # เปิดการมองเห็น เป็นต้น สิ่งสำคัญคือควรไปอ่านนโยบายการค้าขายสินค้าใน Business Help Centre
16. Meta AI Translated จะสามารถช่วยครีเอเตอร์ขยายฐานได้กว้างขึ้น เพียงแค่ถ่าย Video แล้วนำไปเข้าระบบเพื่อให้ AI Translated สามารถแปลภาษาได้อัตโนมัติ ซึ่งถ้าเกิดสิ่งนี้เข้ามาในเมืองไทยเมื่อไหร่ จะสร้างความสนุก และขยายฐานให้คนไทยได้ไกลมากขึ้น
17. คุณเติร์ด เทพลีลา พูดไว้ถึงมุมของการทำงานกับลูกค้าแล้วสำเร็จ ทั้งในมุมลูกค้าแฮปปี้ และคนดูรัก แก่นของมันคือ ‘ความเป็นตัวเองในแบบที่ตัวเองมั่นใจสำคัญมาก’ การทำงานกับลูกค้าเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญก็จริง แต่อย่าทิ้งตัวตนของเราจน Hardsell จนเกินไป คนดูยุคนี้ติดตามเราจาก Identity สำคัญมาก ๆ
18. เวลาแบรนด์จะเลือกครีเอเตอร์สักคน มักมีเกณฑ์อะไรบ้าง ตัวอย่างแบรนด์ศุภาลัยเอง ก็มีทั้งเลือกคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในสาย และนอกสาย โดยเฉพาะครีเอเตอร์นอกสายมากขึ้น คือกลุ่มคนที่ไม่ใช่แค่รีวิวบ้าน แต่เน้นการสื่อสารแบบ Real มากขึ้น สิ่งสำคัญของครีเอเตอร์คือ เราต้องเป็นนักสื่อสารที่ดี ถ่ายทอดออกมาได้ และมีความเป็นตัวตนของตัวเองสูง จึงเป็นเหตุผลที่แบรนด์เลือกคุณ
19. คุณเหว่ง คุณเติร์ด จากเทพลีลา แนะนำถึงการทำงานกับลูกค้า คีย์สำคัญคือ
- การเซ็ตวัตถุประสงค์กับลูกค้าสำคัญมาก ต้องคุยให้เคลียแต่แรก
- อย่าทิ้งตัวตนของเรา ลูกค้าเลือกเราเพราะเขาซื้อ Identity ที่เราไม่เหมือนใคร
- ความซื่อสัตย์ ความจริง สำคัญมาก ๆ อย่ารีวิว หรือเครมแล้วไม่จริง การจะอยู่ในระยะยาวเราต้องกล้าคุยกับลูกค้า ว่าขอบเขตเราทำได้แค่ไหน เพื่อพรีเซนต์ความจริงออกไปให้กับคนดูเสมอ
- ของใหม่มาเร็วซะเหลือเกิน เราต้องปรับตัวให้ทันแพลตฟอร์มด้วย อย่างเช่นวันนี้เรามี Affiliate Program การปักตะกร้าต่าง ๆ เราต้องเรียนรู้ ปรับตัวอยู่เสมอ
20. เมื่อในวันที่ภาพคุณชัดเจน มี Identity ที่ชัดมากพอ เวลาลูกค้าเข้ามา จะเข้ามาในแบบที่เป็นเรา แต่ถ้าในวันที่คุณเป็นมือใหม่ คุณต้องค่อย ๆ เรียนรู้ เราอาจจะเจอแบรนด์หรือลูกค้าที่เยอะหน่อย แต่นั่นคือบทเรียน ค่อย ๆ เรียนรู้ และห้ามสูญเสียความเป็นตัวตนโดยเด็ดขาด! นี่คือสิ่งที่เทพลีลายึดมั่นมาโดยตลอด
21. ปัจจุบันการผลิตคอนเทนต์มันง่ายขึ้น แต่ความยากของมันคือยิ่งเราทำง่าย ‘คู่แข่งเยอะขึ้น’ ถ้าคุณอยากจะลองเริ่ม ก็เริ่มจากคลิปสั้น Short Form ก่อน ต้องกล้าที่จะก้าวขามาก่อน ส่วนใหญ่คนมักจะคิดเยอะแล้วไม่ได้ทำ อันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่เอา ยิ่งง่ายก็ยิ่งแก้ไขได้เร็ว วันนี้คุณต้องเริ่มได้เลย
22. Creators ยุคนี้จะเป็น THE ICONIC ได้ ควรคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ (ข้อมูลจากคุณเอ็ม - ขจร)
- Identity การสร้างตัวตน จะมีความสำคัญมากขึ้น คนดูจะติดตามคุณเพราะอะไรต้องตอบให้ได้
- Community เราอาศัยการทำคอนเทนต์อย่าวเดียวไม่พอ เราต้องมีคอมมูนิตี้
- LongStanding การยืนระยะ เรื่องของการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอสำคัญ หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ได้ไปลง Netflix มาก่อน คือ 8 Minute History On Stage จากเฮียวิทย์ ซึ่งเป็นครีเอเตอร์คนแรกของไทยที่ได้ไปลงใน Netflix
23. ในมุมของแบรนด์ทำงานกับครีเอเตอร์ยุคนี้ จำนวน Follower ไม่เยอะ ไม่สำคัญเท่า การสื่อสารที่ดีพอ บางคน Follower เยอะ ๆ แต่ได้แค่การรับรู้ แต่ยุคนี้คนที่ Follower อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่เขาสามารถสื่อสารได้ตรงใจในกลุ่มของเขา แบรนด์ก็จะเลือกคนกลุ่มนี้ มากกว่าครีเอเตอร์ที่สื่อสารไม่ชัด ตัวตนไม่เคลียร์
24. สมัยก่อน รายการตอบคำถาม Shell Quiz รายการตอบปัญหาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมโชว์ฮิตสุดในยุคและออกอากาศนานที่สุดในประเทศไทย ตั้งแต่ 2508 รวมถึงรายการ I.Q. 180 ตำนานรายการคณิตคิดไวเวอร์ เป็นอีกหนึ่งรายการยอดฮิตในอดีต ถือเป็นคอนเทนต์ของในสังคมยุคนั้น
25. สมัยก่อนการวัดคุณภาพ การจะมีสปอนเซอร์เข้าของคอนเทนต์ ถูกวัดจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Rating’ ถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินเดียว ว่าสิ่งนี้มีความนิยมหรือเปล่า รายการดีให้ตายถ้าไม่มีเรตติ้งก็จบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการ การวัดผลในยุคสมัยก่อน
26. แต่เดิมโลกโทรทัศน์คือ (Centralized) เน้นหว่าน เน้น Mass Marketing แต่ในยุคนี้เน้นทำคอนเทนต์เฉพาะ (Decentralized) คุณสนใจอะไร ก็ทำเรื่องนั้นได้ทันที กลายเป็น Niche Marketing จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มากมาย สามารถสร้าง Creativity ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในยุคนี้ซึ่งเรียกว่า Fragmented Marketing
27. เฮียวิทย์เอง ก็เริ่มต้นจากการไม่เชื่อว่าคนจะสนใจคอนเทนต์ประวัติศาสตร์ มันไม่มีใครดูหลอก! แต่นั่นคือการตั้งสมการให้กับตัวเองว่าไม่มีคนดู สุดท้ายเมื่อได้เริ่มทำจริง ๆ กลับมีคนดู คลิปอิสราเอล - ปาเลสไตน์ ขัดแย้งอะไร มีคนดูไปกว่า 2 ล้านวิว หรือประวัติสามก๊กที่มีคนดูจากเฮียวิทย์อีกหลายล้านวิว นั่นหมายความว่าการทำรายการเนิร์ด ๆ ในยุคนี้จุดพลิกผันคือ “ทุกคนในโลกอยากรู้สิ่งใกล้ตัวมากขึ้น อยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่เขาไม่รู้”
28. เหตุผลที่ ง.งู มาก่อน ฉ.ฉิ่ง คือ ก่อนคนเราจะฉลาด มันต้องโง่มาก่อน! คนทุกคนไม่ได้รู้ทุกอย่าง คอนเทนต์สายเนิร์สจึงเกิดขึ้นมาเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่คนไม่รู้ แล้วนำมาเสนอผ่านโลกออนไลน์
29. ในยุคก่อนคนที่ทำคอนเทนต์ในทีวี เวลาพูดผิด! คุณเละแน่นอน คุณจะโดนส่งจดหมาย หรือโทรศัพท์มาที่กอง บก. แต่ในปัจจุบันไม่เหมือนกัน คนเป็นครีเอเตอร์ไม่ได้ถูกที่สุดเสมอไป เพราะคนเสพคอนเทนต์เผลอ ๆ ฉลาดกว่าเราสิบเท่า กุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ครีเอเตอร์สำเร็จได้ คือ ‘Comment’ ต้องไม่กลัวการถูกด่า เพราะถ้าสิ่งที่เขาด่ามันจริง เราต้องยอมรับ เพื่อนำไปปรับปรุงทันที แต่ถ้าอันไหนเราไม่ผิด อย่าเก็บมาใส่ใจ ยุคนี้เราอยู่ในระนาบเดียวกัน เราคือ Community ร่วมกัน ทุกคนเสมอภาคทางความรู้เหมือนกัน
30. การปฏิสัมพันธ์กับคนดู มีข้อดีอย่างไร หนึ่งในตัวอย่างจากเฮียวิทย์ ได้รับคอมเมนต์จากคนดูว่าอยากฟังมาก คือ “ประวัติศาสตร์ลาว” คนที่เป็นผู้ชมใน สปป. ลาว หรือคนไทยก็ดี อยากฟังประวัติศาสตร์เรื่องนี้จริง ๆ ซึ่งเกิดจากการร่วมกันสร้างในกลุ่มคนดู และครีเอเตอร์อย่างแท้จริง
31. ทุกครั้งที่เฮียวิทย์ทำคอนเทนต์ ต้องถามเสมอว่า “เราจะดึงความสนใจคนดูได้อย่างไร” ตัวอย่างสงครามเวียดนาม แม้ชื่อรายการจะเป็น 8 minute history เฮียได้ฉีกกฎทำยาวกว่า 8 นาที แต่สุดท้ายมันกลับสำเร็จ คนดูชอบฟัง เพราะคอนเทนต์มันตอบโจทย์เขาจริง ๆ เราต้องเข้าไปนั่งในความสนใจของคนดูให้ได้
32. 9arm เวลาทำคอนเทนต์ จะมีอยู่ 3 เกณฑ์ในการเลือกหัวข้อ คือ คุณอินไหม ถ้าอินก็จะถ่ายทอดออกไปได้, ทำไมต้องเป็นเรา ถ้าเราจะพูดคอนเทนต์นี้ ทำไมคนต้องฟังเรา ไปพูดเหมือนคนอื่น ไม่ไ่ด้เติมอะไรเข้าไป แล้วเราจะทำทำไม? ถ้ามีอะไรจะเติมถึงจะหยิบขึ้นมาทำ, มีเรื่องอะไรน่าสนใจที่คนอยากให้เล่าให้ฟัง
33. Creativity ของเราอยู่ที่ไหน ในยุคนี้วัดจาก “คนดูอยากดูอะไร อยากรู้อะไร” ความคิดสร้างสรรค์ ต้องนำไปสู่การสรรค์สร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนดู ไม่ใช่ตอบโจทย์ตัวเอง
34. วิธีการวางสคริปต์แบบนายอาร์ม คือ เราเลือก Topic ก่อน พอได้หัวข้อ ก็เอามาเนื้อหาทั้งมากางก่อนว่าจะมีประเด็นอะไรที่เล่าได้บ้าง (Discover) หลังจากนั้นมาดูว่า “เรื่องไหนเหมาะจะเล่า” สำหรับช่องของเรา และหาคำถามที่คนสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้
35. เทคนิคการ ‘สร้างเรื่อง’ สไตล์นายอาร์ม
- หาประเด็นที่เป็นแก่นของเรื่องให้เจอ
- หาอินไซต์ว่าคนทั่วไปจะสนใจ สงสัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
- รวบรวมสตอรี่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เข้ามาร้อยเรียง และค่อยดึงเข้าคอนเทนต์หลัก
36. แนวทางการสร้างคอมมูนิตี้ที่สบายใจแบบนายอาร์ม
1. ใครมีคำถามอะไร ก็จะเข้าไปตอบ สมาชิกก็มาช่วยกันตอบก็มีในกรณีที่นายอาร์มอาจจะไม่ได้ว่างมาตอบ
2. อยู่แบบเพื่อนกัน เดินหน้าไปด้วยกัน
37. คำแนะนำของการสร้างคอมมูนิตี้คือต้อง Give & Take ในฐานะครีเอเตอร์เราไม่ได้อยู่เหนือใคร เจอปัญหาเหมือนกัน คุยกัน ถามตอบกันเสมอ แล้วพอเป็นบรรยากาศแบบนี้เลยทำให้ครีเอเตอร์กับแฟนคลับสนิทกันมาก
38. “อย่าพยายามเป็นคนที่เราไม่ได้เป็น” และ “ต้องสม่ำเสมอ” เพื่อให้การเป็นครีเอเตอร์ของเรายืนระยะได้นาน และทำให้ตัวเองสามารถเติบโตต่อไปได้
39. เล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่ายแบบนายอาร์ม คือ ‘ความอิน’ นายอาร์มเชื่อว่าความอินมันส่งต่อกันได้ พอเราสามารถถ่ายทอดความตื่นเต้นของเนื้อหานั้นได้ คนก็พร้อมจะฟังเสมอ และพยายามพูดให้ง่ายที่สุด เหมือนเราอธิบายคน จะทำให้เขาตื่นเต้นได้อย่างไร เหมือนเขียนบทหนัง
40. สถิติข้อมูลจาก Meta โดย 60% ของคนใช้ FB และ IG รับชม Video มากที่สุด รวมไปถึงมีคนใช้งาน IG ด้วย Reels มากถึง 50%
41. New era of fandom ทุกวันนี้คนดู Video อาจจะไม่ได้แค่อยากดู แต่ทุกคนอยากเข้ามาเพื่อเป็น fandom นี่คือการเปลี่ยนแปลงจากคำว่า fan club ในอดีต ตัวอย่างเช่น คนเข้ามาดู Rockstar จาก Lisa เขาอาจจะสนใจโปรดักชัน หรือสนใจในตัวศิลปิน อยากอินกับความเป็น fandom กลุ่มคนที่รักศิลปิน
1
42. 98% ของคนดู ดูทั้งแบบ Short-form และ Long-form Video ในกรณีที่อยาก connect กับคนดูไว ๆ เน้นไปที่วิดีโอสั้น หรือการที่อยากอยู่กับคนดูยาว ๆ ให้ข้อมูลดี ๆ แน่น ๆ ก็จะเป็นวิดีโอยาว
43. Watchtime growth ของ YouTube ในปัจจุบัน
- รีแอคชัน มากถึง 40%
- วิเคราะห์ มากถึง 80%
- VLOG มากถึง 40%
44. 73% คอนเทนต์ที่เรียกว่า Good Content เกิดจากครีเอเตอร์ที่มีตัวตน ติดตามความเป็นครีเอเตอร์คนนั้น จะทำให้คุณมีกลุ่มแฟนคลับ เป็นกระบอกเสียง เป็นกำลังใจให้อย่างดี ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนคอนเทนต์ไปเป็นอะไร เขาจะรักคุณในแบบที่เป็นคุณ
45. Community Building block จากทาง YouTube มีอยู่ 3 เรื่อง
1. Share Your Story เล่าเรื่องที่เป็นตัวเองต่าง ๆ นา ๆ เสมือนการเปิดประตูให้คนดูเข้ามารู้จักเรา
2. Create Connection การ Engage กับคนดูสำคัญมาก ทำให้คนดูมีตัวตน ได้คุยกับเรา การอ่านคอมเมนต์เป็นหนึ่งในการคอนเนคที่ง่ายที่สุด เป็นการสร้าง Connection ระหว่างคนดูและครีเอเตอร์
3. Take The Lead การเป็นผู้นำจะช่วยการกำหนดโทน การสร้างด้วยมือของเรา ในหลาย ๆ ช่องจะมีการ Pin Comment ให้ทุกคนมาคอมเมนต์ร่วมพูดคุยกัน เป็นหนึ่งในตัวอย่างเพื่อเริ่มสร้าง Community
46. 87% ของผู้คนที่ได้ดูผ่าน YouTube บอกว่า เขากล้าทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เช่น เขากล้าออกไปเที่ยวคนเดียวบนโลกกว้าง เป็นแรงบันดาลใจที่คนดูรับรู้ เข้าถึงได้ เป็นต้น
47. YouTube Shopping และ Affiliate เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ได้ เป็นหนึ่งในการสร้างรายได้เสริม รวมถึงการ Tag Video ที่เกี่ยวข้องในการทำ Shopping ได้ เสมือนการแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับคนดู
48. ในปัจจุบันเราต้องรู้ให้ได้ว่า “ยอดวิวที่เกิดขึ้น” คนดูสนใจอะไรในเนื้อหา นี่คือ ‘Secret Sauce’ ในการทำคอนเทนต์ยุคนี้ เช่น ยอดวิวปกติเราอาจจะ 1 ล้านวิว แต่วันนี้มีคอนเทนต์กระโดดไป 8 ล้านวิว เราต้องตอบให้ได้ว่ามันเกิดจากอะไร เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับกลุ่มแฟนคลับของเรา อย่าประมาทเรื่อง Data หลังบ้าน เข้าไปวิเคราะห์ให้บ่อย Action ให้เกิดขึ้น พัฒนาคอนเทนต์อยู่เสมอ
49. YouTube ไม่ได้สร้างเพียงแค่ยอดวิวอย่างเดียว แต่ความสำคัญที่ YouTube อยากมอบให้ครีเอเตอร์ คือ Community ที่มากกว่ายอด Subscribe
50. สิ่งที่ศิลปินควรทำกับการทำ Art Toy คือการสร้างสตอรี่ให้กับคาแรคเตอร์ตัวนั้น ให้มีเรื่องราว เป็นเพื่อนของคนที่สะสม เหมือนสร้างจักรวาลให้กับตัวละคร
51. คุณบาส Go Went Go เวลาทำคอนเทนต์ คุณบาสจะมอง 2 เรื่องหลัก ๆ
1. Content is king การเลือกคอนเทนต์
2. How to present content วิธีการนำเสนอให้น่าสนใจและแตกต่าง
52. คอนเทนต์แบ่งเป็นสองอย่าง คือคอนเทนต์ที่ยังไม่มีใครพูดถึงมาก่อนเลย (Fresh Content) กับคอนเทนต์ที่มีคนพูดมาแล้วแต่ถูกนำมาเสนอในรูปแบบใหม่ (Rewrite Content) เช่น ไปเที่ยวโตเกียวแบบไม่มีแพลน สร้างความต่างที่แบบปกติจะต้องมีแผน แต่คราวนี้ไม่มี
53. 4 อย่างในการคิดคอนเทนต์ ในการนำเสนอเนื้อหาของช่อง Go Went Go
1. Main Idea (one place, many perspective)
2. VLOG (Real + Audience participation)
3. Storytelling (Historical but fun)
4. Visual (Photography + Videography)
54. การหา Main Idea ของช่อง Go Went Go คือ one place, many perspective สถานที่เดิม แต่สามารถถ่ายทอดได้หลายมุมมอง อย่างเช่นช่อง Go Went Go ไปถ่ายที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย คลิปหนึ่งเลือกเล่าในมุม Street Food อีกคลิปเล่าเรื่องสถานที่เฮี้ยน…แค่สถานที่เดียวก็สามารถแตกเรื่องเล่าออกมาได้มากมาย อยู่ที่การคิด การหามุมมองใหม่ ๆ ในการนำเสนอเรื่องราวของเรา
55. VLOG คืออีกหนึ่งเทคนิคของช่อง Go Went Go คือไปถ่ายแบบเรียล ๆ เห็นสถานที่สด ๆ พร้อมกับคนดู จะไม่มีการไปดูสถานที่ก่อนถ่ายทำ ข้อดีคือทำให้คนรู้สึกว่าเขาได้เดินทางไปกับเราด้วย
56. Storytelling สไตล์ Go Went Go จะนำประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงในเนื้อหาด้วย โดยจะเลือกเอาประวัติศาสตร์ไปจับกับสถานที่ที่ไปเพื่อให้คนดูอินมากขึ้น สนุกมากขึ้นกับการเดินทาง และมีการใช้ Visual ทั้งภาพวิดีโอ และภาพนิ่ง รวมถึง Motion Graphic ในการนำเสนอเพื่อให้คอนเทนต์มีสีสัน และน่าดู
57. อุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญ ภาพสวยก็เหมือนปกที่ดึงดูดให้คนสนใจ และบางครั้งมันเป็น Moment ที่เกิดขึ้นแป็บเดียว ดังนั้นการมีอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับครีเอเตอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ
58. คอนเทนต์ที่ได้ยอดสูง ๆ ลองสังเกตดูว่า มันมี 2 รูปแบบนี้ คือ ‘คอนเทนต์ดราม่ามาก ๆ’ และ ‘คอนเทนต์ตลก’
59. คุณภูเขา Poocao Channel แนะนำคนที่มาเป็น Content Creator ต้องยืดหยุ่น อัปเดตเรื่องใหม่ ๆ เสมอ และในทุกวันนี้การเป็นตัวเองอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่การทำความเข้าใจกิมมิคของแต่ละแพลตฟอร์มก็สำคัญ หาสไตล์ตัวเองเจอแล้ว ต่อไปศึกษาแพลตฟอร์มให้ดี ว่าแต่ละแพลตฟอร์มโดดเด่น มีกิมมิคอะไรแมทกับเรา
60. คุณนัท สะบัดแปรง แนะนำถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ถึงแพลตฟอร์ม YouTube แม้ว่าวันนี้คลิปสั้นจะมาแรง แต่เสน่ห์ของ YouTube ยังไงก็ยังเป็น Video ยาว ๆ ซึ่งคุณนัทเคยทำมากถึง 2 ชม. ก็ยังมีคนขอเพิ่มอีกนิด นั่นหมายถึงกลุ่มแฟนคลับเราสนใจ อยากดูต่อ
61. คุณนัท สะบัดแปรง แนะนำน้อง ๆ และคนที่อยากมาเป็น Content Creator ควรเตรียมใจไว้ เพราะแน่นอนมันจะดึงชีวิตส่วนตัวของเราแน่ ๆ การถ่ายคลิปลงแพลตฟอร์มแต่ละที่ ต้องแตกต่างกัน อย่าถ่ายคลิปเดียวลงแค่ช่องเดียว ยิ่งมือใหม่ควรเริ่มจากแพลตฟอร์มเดียวก่อนจะดีกว่า
62. ถ้าคนที่ใช่ ทำอะไรก็ถูก คอนเทนต์ก็เช่นกัน การทำคอนเทนต์ ควรแทนตัวเองเป็นคนดู เพื่อตอบให้ได้ว่า ‘คนดูอยากดูอะไร’ ไม่ใช่คิดจากสิ่งที่เราอยากทำเพียงอย่างเดียว
1
63. คนที่จะยืนระยะได้นาน ไม่ใช่คนที่คิดคอนเทนต์เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับสภาพจิตใจไม่ให้ดาวได้มากที่สุด การดูแล Mental health สำคัญมาก คุณนัท สะบัดแปรง ได้แนะนำว่าเรามักจะถูกจับผิดอยู่เสมอ ใครจะคิดอะไรก็ช่างแม่งได้นะ เพราะสุดท้ายจะไม่มีใครรักเราตลอดไป แต่เราไม่ควรหยุดพัฒนาตัวเอง ถ้าวันนี้ยังไม่ดีพอ นอยได้ แต่ต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
64. คุณภูเขา Poocao Channel แนะนำในมุมของการรับผิดชอบคนดู เราต้องคิดไว้เสมอว่า เมื่อวันหนึ่งเราต้องสื่อสารผ่านกล้องออกไป ต้องคิดให้มากขึ้น มากกว่าการคุยหลังกล้องกับเพื่อน ความรับผิดชอบต่อคนดูได้ดีที่สุด คือการไม่กระทำในสิ่งที่คุณเองก็ไม่ชอบ เช่น การบูลี่, ข้อมูลที่ผิด หรือคำพูดที่ส่อถึงการเหยียด เป็นต้น
65. จงจำไว้ว่า ทุกคำพูดที่ปล่อยออกไปแล้ว ไม่อาจย้อนกลับมาได้! การรับผิดชอบจากคำพูดของตัวเองที่ออกไป สิ่งนี้สำคัญมาก
66. สังคมยุคนี้คน Sensitive มากขึ้น ดังนั้นก่อนจะปล่อยคลิปอะไรออกไป เช็กอย่างน้อย ๆ 3 รอบ และถ้าให้ดีควรเอาไปให้คนที่ไม่ชอบเรา ไปรีเช็กอีกสักรอบก็ได้ เพราะคนที่ไม่ใช่ Target เรา เราจะได้ Feedback ที่น่าสนใจเช่นกัน
67. จุดเริ่มต้นของน้องกล้วย กรุงศรี มาจากการรีแบรนด์กรุงศรี ที่มีการสำรวจพบว่าแบรนด์ห่างไกลกับผู้บริโภคพอสมควร และคนต้องการความง่าย บวกกับช่วงนั้นต้องสื่อสารเรื่องการใช้ QR Promptpay จึงสร้างมาสคอตขึ้นมาช่วยสื่อสารเป็นน้องกล้วยกรุงศรี เพราะคนไทยก็มักจะพูดติดปากว่า “เรื่องกล้วย ๆ” และกล้วยก็มีสีเหลืองอยู่แล้วด้วยนั่นเอง
68. การทำคอนเทนต์ของน้องปาป้า-ทูทู่ (PLA.PLA TOO.TOO) เริ่มต้นจากการเปิดเพจ สร้างสตอรี่ให้คนเห็นว่าน้องได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เหมือนน้องมีชีวิตอยู่จริง ๆ โดยเริ่มต้นตั้งเป้าจากคนในจังหวัดก่อน จากนั้นก็ต่อยอดมาเป็น PLAPLA PLEARN PLEARN ได้พูดคุยกับคนมากขึ้น มี Connection มากขึ้น ก็เลยมีการพัฒนาจากคาแรคเตอร์ สู่มาสคอตที่ทำให้ภาพชัดขึ้น
69. เทคนิคการทำให้มาสคอตเป็นที่จดจำได้ สไตล์น้องกล้วย กรุงศรี คือ “Warm + Friendly” บวกเข้ากับคาแรคเตอร์ที่แปลกตากับความเป็นธนาคาร คือความดีด ที่เป็น Surprise Moment ให้กับผู้บริโภค สร้างการจดจำได้เรื่อย ๆ และเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะสมกับการนำเสนอไปยัง Target Group
70. Key Success ของน้องกล้วย กรุงศรี คือความแตกต่าง, ความเกี่ยวข้องใกล้ตัวกับคน มาช่วยฮีลใจคนได้ และอีกเรื่อง Brand Message ถ้ามาสคอตไม่สามารถเล่าเรื่องของแบรนด์ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าประสบความสำเร็จ
71. สำหรับนักออกแบบที่อยากจะทำมาสคอต ต้องดูก่อนว่าเอาใช้ทำอะไร สื่อสารอะไร ถ้าสร้างแล้วแค่เอาไปโพสต์โซเชียลเฉย ๆ อาจดูไม่คุ้มค่า เราต้องสร้าง Goal และ Story ให้กับมาสคอตตัวนั้นด้วย
72. ในมุมของแบรนด์ การจะสร้างมาสคอต ต้องคิดก่อนว่าจะเอามาสคอตมาสื่อสารอะไรของแบรนด์ และ Personality ของมาสคอตนั้นเข้ากับแบรนนด์ได้ไหม สร้างสตอรี่ต่อได้ไหม เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็คงมาเป็นกระแสแค่พัก ๆ แล้วก็คงหายไป
73. เวลาทำคอนเทนต์ขายของ ควรคำนึงด้วยว่า “คำพูดที่เราพูด มันน่าซื้อตามไหม” เวลาแบรนด์เขาส่งสินค้ามา ครีเอเตอร์หลาย ๆ คนก็มักจะพูดคล้าย ๆ กัน ซึ่งนี่คือกับดักที่ไม่ควรทำ หาให้เจอในการสร้างความแตกต่างของคอนเทนต์ขาย ถ้าเราพูดแล้วน่าซื้อจริง ๆ พูดแล้วจริงใจ ไม่ได้อวยจนเกินความจริง คนดูจะรู้สึก และรับรู้ได้ เมื่อคนดูแฮปปี้ ลูกค้าก็จะแฮปปี้เช่นกัน
74. งานทุกงานทำให้เต็มที่ แล้วเกินกว่าในบรีฟสักนิดนึง การทำเกินแล้วดี ลูกค้าจะนึกถึงเราเสมอ เพราะเราไ่ม่ได้ทำตามสั่ง แต่เราทำเต็มที่และทำเกินเพื่อลูกค้า และเพื่อคนดูของเรา
75. น้าเน็กมีความเชื่อมาก ๆ กับสิ่งที่เรียกว่า Community ถ้าวันนี้คุณกลับบ้าน แล้วไม่ได้รู้จักใครใหม่เลย 5 คนขึ้นไป แสดงว่าคุณล้มเหลว เพราะ Community คือการได้รู้จักกลุ่มคนใหม่ ๆ ได้รู้จักคนที่มีความชื่นชอบเดียวกัน
76. เรามักจะทำอะไรกับสังคม โดยที่เรามักจะเฝ้ามองตั้งคำถามจากสังคมก่อนเสมอ เช่น ถ้าเราจะทำคลิปวิดีโอ เราจะมีวิธีอย่างไรให้ต่างกว่าคนอื่น น้าเน็กเล่าให้ฟังว่ามันไม่จำเป็นเลย เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาให้แตกต่างโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อเรามีของที่ดีมาก ๆ อย่างตัวตนอยู่แล้ว เราแทบไม่ต้องไปเปรียบเทียบใครเลย จงจำไว้ว่า กลับมามองไส้ในตัวเองโดยไม่ต้องสนว่าจะซ้ำใคร! และควรเป็นตัวของตัวเองเข้าไว้ ทำในสิ่งที่เราเชื่อ โดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
77. 3 ข้อที่น้าเน็กยึดมั่นเสมอคือ อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก, ทำในสิ่งที่ถนัด และหาเลี้ยงชีพได้ มันคือการวางเป้าหมายระยะสั้น และในระยะยาวได้ ในวันนี้ใครที่ยังหาตัวตนไม่เจอ ไม่ต้องรีบ! น้าเน็กทำเยอะมาก ทำมันมากพอจนค้นพบตัวเอง เราไม่มีวันรู้เลยว่าจุดเปลี่ยนแปลงตัวเองจะเกิดขึ้นวันไหน แต่ในวันที่เราทำมันมากพอ เก็บเกี่ยวมันไปเรื่อย ๆ และลดความกังวลลง สักวันเราจะเจอ 3 ข้อนี้
78. ความสำเร็จที่หาเหตุผลไม่ได้ มันแค่ฟลุ๊คเท่านั้น และความล้มเหลวที่หาเหตุผลไม่ได้ คือคุณซวย! อยากให้ครีเอเตอร์ทุกคนค้นหา หาคำตอบในงานไม่ว่าจะใช้ Data หรือการอ่าน Feedback จาก Comment ต่าง ๆ ควรหาให้เจอให้ได้ อย่าแจ้งเกิดจากความฟลุ๊ค แล้วสักวันก็รอวันดับ
79. น้าเน็กบอกว่า ผมไม่ได้ดีใจกับความสำเร็จ และผมไม่ได้ฟูมฟายกับความล้มเหลว บางครั้งชีวิตของเราการยังตื่นแล้วมีสุขภาพแข็งแรง เดินได้ มันก็สุดแล้วจริง ๆ มันไม่มีอะไรสุขมาก และทุกข์มาก น้าเน็กบอกไว้ปิดท้ายว่า ชีวิตไม่ได้เท่ากับความสุข ซึ่งความสุขชีวิตจริง ๆ มันมีถึง 15-20% เพราะคนเรามักสะสมความผิดหวังในโลกทุนนิยม คุณอย่าเอาความสุขนำ เลิกคาดหวัง! แต่จงสนุกกับชีวิต ทำทุกวันนี้ให้ดีกว่าเดิมสักนิดนึงก็ได้ นี่คือการรับมือกับความล้มเหลวได้ดีที่สุด
80. VTuber มาจาก Virtual Youtuber ไม่ใช่ AI เป็นครีเอเตอร์แขนงหนึ่ง มีการใช้รูปวาดแทนการเปิดใบหน้าจริง ๆ ที่สามารถแต่งเติมจินตนาการ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ได้อยู่แค่ในแพลตฟอร์ม Youtube อย่างเดียว แต่กระจายไปตามแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย
81. การจะเป็น VTuber แม้จะมีการวางคาแรคเตอร์ วางสตอรี่ต่าง ๆ ให้กับตัวคาแรคเตอร์นั้น ๆ แต่ท้ายที่สุดก็ควรมีความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ยืนระยะ และทำสิ่งนั้นได้นาน ๆ
82. ในวงการครีเอเตอร์ สิ่งสำคัญคือการหาจุดตรงกลางระหว่าง Creative และ Business ในการจะสร้างรายได้ โดยธุรกิจจะหมายถึงรายรับ, ต้นทุนทางตรง, ต้นทุนคงที่, ค่าใช้จ่ายในการทำงาน, ภาษี เป็นต้น
83. 5 ช่องทางหลักในการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์
1. Platform Monetization รายได้ที่แพลตฟอร์มเป็นคนจ่ายให้เรา ที่โดดเด่นสุดตอนนี้คือ Youtube
2. Branded Content
3. Fan Funding
4. Merchandising &Own brand
5. Affiliate & Live Commerce
84. ครีเอเตอร์ที่จะหารายได้จาก Platform Monetization ต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้ต้องรู้ 3 เรื่อง ได้แก่
1. เข้าใจอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็ต่างกัน
2. เข้าใจ Business Condition ของแพลตฟอร์ม (อะไรทำแล้วแพลตฟอร์มไม่จ่ายเงิน)
3. มี Identity ที่น่าสนใจ แตกต่าง
85. โดยส่วนใหญ่แบรนด์ใช้อินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภทแตกต่างกัน และคาดหวังผลลัพธ์ที่ต่างกัน ยิ่งมากยิ่งกว้างใช้เพื่อ Awareness แต่ถ้าเป็นกลุ่มเล็ก แคบจะใช้เพื่อ Conversion
86. การคิดเงินกับแบรนด์ ครีเอเตอร์ต้องดูก่อนว่ามี Follower เท่าไหร่ นอกจากนั้นคือต้องดู Engagement Rate (Average Engagement หาร Followers) ซึ่งผลลัพธ์ประมาณ 3%-5% เป็น Average Engagement Rate ที่แบรนด์รู้สึกโอเค
87. การทำ Affiliate สำหรับครีเอเตอร์ จะทำให้สำเร็จได้ มี 3 Key Factor คือ
- ไม่หมิ่นเงินเล็ก
- ป้ายยาเก่ง
- ชอบผสมผสานระหว่างครีเอทีฟกับธุรกิจ (วัดผลที่ยอดขาย)
88. Followers / Subscribers เท่านี้ ควรคิดเงินเท่าไหร่? (เป็นแค่การประมาณกว้าง ๆ)
- 1,000-10,000 Followers = 1,000-5,000 บาท
- 10,000-100,000 Followers = 5,000-30,000 บาท
- 100,000-500,000 Followers = 7,000-150,000 บาท
- 500,000-1,000,000 Followers = 50,000-300,000 บาท
- มากกว่า 1,000,000 Followers = 80,000-600,000 บาท
89. ถ้าเราอยากขยายธุรกิจในแบบที่เราเป็นครีเอเตอร์ ลองสร้างทีมและขยายคนให้มากขึ้น เพื่อให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้ และอยู่ในวงการต่อได้นาน ๆ
90. คนทำสื่อยุคนี้ต้องมีทักษะที่หลากหลาย ยิ่งมีความรู้รอบตัวมากจะยิ่งได้เปรียบ โดยคีย์สำคัญคือ ทักษะการจับประเด็น เขียนได้ และต้องเป็นนักเล่าเรื่องได้ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ได้ รวมไปถึงทักษะการตั้งคำถามโดยปราศจากอคติ
91. ‘ความใกล้ชิด’ ทำให้ผู้ชมและสื่อใกล้ชิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สื่อในยุคปัจจุบันมีความกันเองมากขึ้น แต่ในความถูกต้อง ชัดเจน ยังคงเดิม รวมไปถึงยุคนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ ผันตัวเองมารายงานข่าวเองได้ด้วยซ้ำ
92. ตัวเลขยังคงมีผล เพราะมันมีความเป็นรูปธรรมจับต้องได้ หากเรายังต้องพึ่งพาลูกค้า พึ่งพาคนดู เราหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ไม่ได้ ดังนั้นการรับฟัง Feedback แบบส่งต่อกันไปมาสำคัญมาก เพื่อเรียนรู้ในการสร้างความแตกต่าง และหาสิ่งที่ใช่ที่ตอบโจทย์คนดูของเรา
93. Engagement นับเป็นดาบสองคม มันแทงใจคนทำงานมาก ๆ แต่กลับกันเราไม่ควรเอาคุณค่าของเราไปวัดกับตัวเลขเหล่านี้มาก แม้ตัวเลขจะสำคัญก็จริง เราไม่มีวันรู้เลยว่าอัลกอริทึมแต่ละวันคิดอะไรอยู่ วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไป ในวันที่มันยอดไม่ดี กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ และหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ดีขึ้นในทุกวัน
94. AI มาเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว เราจะต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร สำนักข่าวแต่ละที่ก็จะใช้ AI แตกต่างกัน รวมถึงครีเอเตอร์ก็เช่นกัน ทุกคนไม่ได้ใช้ AI เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องหยิบ AI มาใช้ให้เหมาะสมในแบบของตัวเอง
95. ผู้คนอยากมีชื่อเสียง อยากเป็นที่โด่งดัง อยากเป็นที่รู้จัก เพื่ออยากได้เงินไปหล่อเลี้ยงตัวเอง ซึ่งมันไม่ผิด! แต่จะมีสักกี่คนที่ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ถ้าเรามีชื่อเสียง เราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีไหม เราจะบริหารชื่อเสียงได้ไหม เพราะคนที่ไม่ดัง ไม่มีวันคิดคำถามแบบนี้แน่นอน เพราะส่วนใหญ่ต้องมีก่อน ถึงจะเริ่มคิด น้าเน็กฝากทุกคนให้คิดข้ามช๊อตในวันที่เราดังสุด ๆ เพื่อฝึกบริหาร คิดให้เยอะ เพราะเมื่อวันนึงคุณไปถึงภาพนั้นจะย้อนกลับมา เพราะคุณได้ฝึกคิดไว้แล้ว!
96. ปัจจุบันมีครีเอเตอร์หน้าใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 25-30% ต่อปี และการมาถึงของ AI ก็ทำให้กำแพงภาษาอาจจะไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นการที่ครีเอเตอร์จะอยู่ให้ได้ต้องหา ‘คุณค่า’ ของตัวเองให้เจอ
97. สิ่งที่คุณรวิศ ตกผลึกในฐานะครีเอเตอร์ คือ
- Circle of control บางสิ่งเราก็ควบคุมไม่ได้ เช่น อัลกอริทึม
- Be comfort with discomfort ก้าวข้ามตัวเอง และฝึกอยู่ในสภาวะไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
- เราล้มเหลวบ้างก็ได้ “This too shall pass เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”
- ระวังเรื่อง sensitive
98. ตอนเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง ให้คิดว่า “เขาไม่ได้เก่งกว่าเราเท่าไหร่” เพราะถ้าคุณรุ้สึกว่าคนเก่งไปหมด คุณจะไม่กล้าทำอะไรเลย ในขณะเดียวกันเมื่อคุณประสบความสำเร็จแล้ว ให้ท่องไว้เสมอว่า “เราไม่ได้เก่งกว่าเขาเท่าไหร่”
99. 3 Mindset ก้าวข้ามการหมดไฟแบบคุณรวิศ
1. No zero day จะไม่ปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลยในงานที่ทำ แม้จะทำเพียง 0.1%
2. พักให้เป็น วางใจให้คนอื่น “ทำแทน” ถ้าเราเก็บทุกเม็ด เราจะไม่มีเวลาทำอะไรเลย
3. จัดการกับ “ความคาดหวัง” สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามแผนเสมอไป ความคาดหวังที่ลดได้ง่ายสุดคือความคาดหวังกับคนอื่น
100. เรามักวาดภาพความสำเร็จจากนิยามของคนอื่น อยากให้ลองนิยามความสำเร็จของตัวเองในแบบที่ตัวเองอยากจะเป็น “อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ”
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ, ชญานิศ จำปีรัตน์
โฆษณา