Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 พ.ย. เวลา 07:53 • กีฬา
ญี่ปุ่นอยากได้แชมป์โลก จุดเริ่มต้นคือสร้างบอลเด็ก ตั้งแต่ U-8
วันที่ 1 มกราคม 2005 สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ประกาศ "ปฏิญญาแห่ง JFA" โดยระบุเป้าหมายในอนาคตเอาไว้ว่า
ภายในปี 2022 - ทีมชาติชุดใหญ่ ต้องมีอันดับฟีฟ่าเวิลด์แรงกิ้ง อยู่ในท็อป 10 ให้ได้
ภายในปี 2030 - ทีมชาติชุดใหญ่ จะต้องเข้ารอบรองชนะเลิศ ในฟุตบอลโลกให้ได้
ภายในปี 2050 - ทีมชาติชุดใหญ่ จะต้องคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้
ในวันที่ญี่ปุ่นประกาศ พวกเขายังไม่ใช่ทีมอันดับ 1 ของเอเชียเลยด้วยซ้ำ เพราะเพิ่งเคยไปเล่นฟุตบอลโลกแค่ 2 สมัย (ตัวเองเป็นเจ้าภาพ 1 สมัย)
เอาเป็นว่า ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ ออกมาพูด แสดงความอหังการแบบนี้ ผู้คนอาจจะหัวเราะกันไปแล้ว
แต่เมื่อคนพูดเป็นญี่ปุ่น ประเทศที่พูดจริงทำจริง ความรู้สึกจึงเป็นอีกเรื่อง ทุกคนรู้สึกสนใจว่า พวกเขาจะทำได้อย่างไร จะคว้าแชมป์โลกเนี่ยนะ เป็นไปได้จริงหรือ?
ความน่าสนใจคือ ญี่ปุ่นไม่ได้พูดอย่างเลื่อนลอย แต่พวกเขามี "โร้ดแม็ป" หรือแผนการโดยละเอียด ว่าทำอย่างไร จึงจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้
ในโร้ดแม็ปบอกว่า วิธีการที่ทีมชาติชุดใหญ่จะแข็งแกร่งระดับโลกได้นั้น ต้องมี 3 ส่วนประกอบกัน
1) ทีมชาติชุดใหญ่ สำคัญที่สุดเสมอ ดังนั้นต้องยึดหลักการชื่อ Players First (ผู้เล่นมาก่อน) ตัวอย่างเช่น ถ้าหากนักเตะเล่นอยู่ในเจลีก แล้วมีทีมจากยุโรปมาขอซื้อตัว แม้จะขอซื้อในราคาที่ไม่แพง ก็ให้สโมสรพิจารณาปล่อยตัวโดยทันที เพื่อให้นักเตะได้ก้าวไปสู่ฟุตบอลระดับโลกโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็จะมีผลดีต่อทีมชาติชุดใหญ่ ในเวลาต่อมา
2) พัฒนาโค้ชฟุตบอล ให้มีไลเซนส์มากที่สุด ถ้าหากมีปริมาณโค้ชน้อยเกินไป แล้วใครจะสอนวิธีการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้องให้เยาวชน
3) ให้ความสำคัญกับฟุตบอลเด็ก โดยหลักการของ JFA เชื่อว่า 'ทีมชาติไม่มีวันแข็งแกร่ง ถ้าไม่มีฟุตบอลรากหญ้าที่แข็งแกร่งด้วย'
สำหรับในข้อ 3 นั้น เมื่อพูดถึงฟุตบอลเยาวชน ช่วงอายุที่ญี่ปุ่น จะเริ่มให้ความสำคัญคือระดับ u-8 เป็นต้นไป
สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ทำแฮนด์บุ๊คหรือคู่มือ ในการสอนเยาวชนเอาไว้โดยเฉพาะ โดยในคู่มือ เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า "เป้าหมายคว้าแชมป์โลกปี 2050 เป็นเรื่องยากมาก แต่เราสามารถไปถึงได้ ถ้าเราพัฒนาเยาวชนได้ถูกต้อง เด็กๆ ในวันนี้ จะเติบโตไปเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่ง และหน้าที่ของผู้ใหญ่คือ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เยาวชนของเรา ฝันได้ไกล และฝันได้ใหญ่ ในกีฬาฟุตบอล"
"สำหรับฟุตบอล u-8 เป็นช่วงที่สำคัญ เพราะเด็กๆ จะมีร่างกายที่เติบโตขึ้น และเริ่มเข้าใจหลักพื้นฐาน เช่น การทุ่ม การวิ่ง การกระโดด และการยิงประตู นี่เป็นวัยที่เรียกว่า Pre-Golden ที่จะเริ่มเข้าสู่การพัฒนาการอย่างเต็มตัว"
"แต่เด็กๆ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก เราไม่สามารถฝึกสอน หรือ ใช้วิธีการเดียวกับผู้ใหญ่ได้ การฝึกซ้อมบางอย่าง มันไม่เหมาะกับเด็กๆ เลย เพราะมันจะทำให้พวกเขาไม่สนุก พอไม่สนุก ก็จะหมดความสนใจในฟุตบอลอย่างรวดเร็ว"
"เป้าหมายหลักของผู้เล่นเยาวชนวันนี้ คือทำให้เขารู้สึกสนุกที่สุด และเข้าใจความตื่นเต้นของฟุตบอล อย่าโยนเอาวิธีคิดแบบผู้ใหญ่ ไปให้เด็ก อย่าต่อว่าด้วยถ้อยทำที่รุนแรงกับเด็กวัยนี้ สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเขาเล่นผิดพลาด คือทำให้เด็กคิดให้ได้ว่า 'งั้นครั้งต่อไป ฉันจะทำมันให้ดีกว่านี้' "
ในคู่มือ ไม่ได้มีแค่แนะนำโค้ชว่าต้องปฏิบัติอย่างไรกับเด็ก แต่มีคำแนะนำถึงพ่อแม่อย่างละเอียดเลยด้วยว่า ควรคุยกับลูกด้วยท่าทีแบบไหน ตัวอย่างเช่น
"สำหรับเด็กวัย u-8 ถ้าคุณเป็นผู้ปกครอง จงอย่าโอ๋ลูกจนเกินไป อย่าทำให้ลูกทุกอย่าง ต้องหัดให้เขาช่วยตัวเอง และตอบคำถามเองได้ เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องตัดสินใจตลอดเวลา ผู้เล่นแต่ละคนต้องคิด แล้วแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ดังนั้นผู้ปกครองต้องกระตุ้นให้ลูกคิดเองอยู่เสมอ"
2
"ตัวอย่างเช่น ถ้า ลูกชายคุณถามขึ้นมาว่า 'แม่ รองเท้าล่ะ?' คุณไม่ควรตอบว่า "รองเท้าหรอลูก แม่ทำความสะอาดมันเรียบร้อยแล้วนะ เอาเศษดินออกหมดแล้ว แม่ใส่รองเท้าไว้ให้ในกระเป๋าแล้ว รับรองได้เลยว่าลูกไม่ลืมแน่' ถ้าคุณทำให้ทุกอย่างแบบนี้ เด็กๆ จะไม่เรียนรู้ที่จะคิดเองเลย"
"ถ้าสมมติเขาถามว่า 'แม่ รองเท้าล่ะ?' คุณถามกลับไปก่อนว่า 'เกิดอะไรขึ้นกับรองเท้าหรอ?' เขาอาจจะตอบกลับมาว่า 'รองเท้าสำหรับแข่งฟุตบอลไง ผมมีแข่งวันนี้' คุณตอบกลับไปว่า 'หรอ ลูกมีแข่งวันนี้หรอ' ทีนี้ ถ้าเขาโมโหกลับมา คุณก็สวนไปได้เลยว่า 'ถ้าลูกมีแข่งฟุตบอล ลูกก็ต้องใส่ใจดูแลรองเท้าของตัวเองสิ ต้องรู้จักมีความรับผิดชอบในสิ่งของที่ตัวเองมีนะ' "
"คือคำพูดแบบนี้ แวบแรก อาจจะดูหมางเมิน และไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าคุณทำไปเรื่อยๆ อย่างอดทน ลูกของคุณก็จะเข้าใจมากขึ้น ว่าควรทำอะไร และจะรู้จักคิดด้วยตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม"
สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ลงลึกถึงขนาดนี้ เพราะพวกเขามองว่า การพัฒนาเยาวชน โดยเฉพาะ u-8 ที่เป็นจุดเริ่มต้น คือสิ่งสำคัญมาก ทั้งโค้ช ทั้งครอบครัว ต้องช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แค่สร้างนักฟุตบอลที่ดี แต่จะสร้างคนที่ดีในสังคมขึ้นมาอีกหนึ่งคนด้วย
ดังนั้นถ้าเราถามว่า ทำไมวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ถึงแข็งแกร่งนัก คำอธิบายที่ตรงที่สุด คือพวกเขาวางแผนล่วงหน้า ตั้งแต่ปี 2005 และทำออกมาได้จริง
ญี่ปุ่นส่งออกนักเตะให้ทีมยุโรปอย่างต่อเนื่อง เป็นประเทศในเอเชีย ที่มีผู้เล่นค้าแข้งในยุโรปมากที่สุด
ญี่ปุ่นมีโค้ชที่มีไลเซนส์ ตั้งแต่ระดับล่างสุด จนถึงสูงสุด มากที่สุดในเอเชีย รวมแล้ว 90,000 คน
ขณะที่ เรื่องของเยาวชน เขาก็ผลักดันอย่างเต็มที่จริงๆ ทะนุถนอมเด็กเป็นอย่างดี เพราะเด็กในวันนี้ คืออนาคตของชาติ
ในปี 2005 ที่มีการประกาศปฏิญญา JFA ณ เวลานั้น คาโอรุ มิโตมะ เล่นฟุตบอลอยู่ในระดับ u-8 และพอผ่านกระบวนการพัฒนาเยาวชน ตามโร้ดแม็ปที่สมาคมวางไว้ ในวันนี้ ญี่ปุ่นก็ได้ผู้เล่นระดับมิโตมะ มาอยู่ทีมชาติชุดใหญ่ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด
และด้วยการพัฒนาเยาวชนซ้ำแล้วซ้ำอีก ญี่ปุ่นก็ผลิตดาวรุ่งมากขึ้นเรื่อยๆ คนแล้วคนเล่า ซึ่งบางที เป้าหมายคว้าแชมป์โลก ในปี 2050 ใครจะรู้ ว่าพวกเขาอาจจะไปถึงได้ในสักวัน
2 บันทึก
19
8
2
19
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย