27 พ.ย. เวลา 14:33 • ข่าว

ไข้หูดับไทยพุ่ง ปี 67 ป่วยนับร้อย ตายนับสิบ

เนื่องจากวัฒนธรรมการกินของดิบอยู่คู่กับคนไทยมานาน ไม่ว่าจะเป็นลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ แหนมหมูดิบ ดังนั้นเชื้อโรคอันเกิดจากของดิบ ก็จะยังตามติดคนไทยต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นพยาธิใบไม้ตับ และเชื้อโรคอื่นๆอีกมากมายที่อาจทำให้เจ็บป่วยเล็กน้อย
ทำให้พิการรุนแรง หรืออาจพรากชีวิตเราไปได้เลย
หนึ่งในเชื้อที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือ "เชื้อไข้หูดับ"หรือเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ และทำให้เสียชีวิตได้
โดยล่าสุด นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 กล่าวถึงโรคไข้หูดับว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 21 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยโรค ไข้หูดับจำนวน 180 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
1) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 108 ราย เสียชีวิต 7 ราย 2) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 37 ราย เสียชีวิต 6 ราย 3) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 21 ราย เสียชีวิต 2 ราย 4) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 14 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย ยังขอให้คนไทยป้องกันตัวเองจากไข้หูดับ โดยปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้
1.รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น ผ่านความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาที
2. อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
2
3. ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
2
4. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
5. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบูทยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง
3
6. หากมีอาการป่วย สงสัยโรคไข้หูดับโดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้
โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
Streptococcus suis
Streptococcus suis หรือไข้หูดับ เมื่อรับเข้าร่างกายแล้วจะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณไม่กี่ชั่วโมงถึง 3 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณ อาการโดยทั่วไปคือ ไข้ปวดศีรษะ คอแข็ง อาเจียน กลัวแสง สับสน ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ผู้ป่วยบางรายมีอาการเวียนศีรษะ ข้ออักเสบเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ (cellulitis) ในรายที่มีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตับไต เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ลูกตาอักเสบ มีผื่นจํ้าเลือดทั่วตัวและช็อก ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
1
อ้างอิง
โฆษณา