Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไฉไลเป็นบ้า
•
ติดตาม
27 พ.ย. เวลา 16:32 • ประวัติศาสตร์
ย้อนปฐมเหตุแห่ง "ราชกิจจานุเบกษา" ถึงปัจจุบันที่หายไป?
ราชกิจจานุเบกษา” มีรากคำศัพท์ (ราช+กิจจ) จากภาษาบาลี สมาสกับรูปคำสันสกฤต (อนุ+เปรกษา) โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้บัญญัติขึ้น พระราชทานคำแปลว่า “ที่เพ่งดูราชกิจ”
ราชกิจจานุเบกษาในความเข้าใจของใครหลายคนคือช่องทางเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลผ่านทางออนไลน์ โดยเฉพาะในการประกาศใช้กฎหมายของไทย ที่กฎหมายทั้งหมดต้องลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้
กล่าวคือ ในระบบกฎหมายไทย กฎหมายจะมีผลใช้บังคับได้ ต้องลงเผยแพร่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ก่อนหลักการนี้ได้รับการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งระบุในมาตรา 38 ว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในหนังสือนี้แล้ว จึงมีผลใช้บังคับได้
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2401 มีบันทึกว่า "ประกาศออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา" ลงวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย จ.ศ. 1219 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ตามปฏิทินเก่า หรือ 2401 ตามปฏิทินใหม่)
วารสารหรือหนังสือนี้เป็นสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของไทยที่ทำขึ้นโดยคนไทย เป็นวารสารฉบับแรกของรัฐบาลไทย และเป็นสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ยังมีการเผยแพร่มาจนถึงปัจจุบัน
“มานิจ สุขสมจิตร” ให้ความเห็นว่าสาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จัดทำราชกิจจานุเบกษาขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่เรื่องราวต่างๆในสมัยนั้นไม่ให้เกิดการเล่าลือไปจนเสียพระเกียรติ หลังจากแดน บีช แบรดลีย์ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “หมอบรัดเล” หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน เขียนบทความอื้อฉาวเกี่ยวกับพระองค์ลงในวารสาร “บางกอกรีคอร์เดอร์” โดยมีบันทึกหมายเหตุตรงนี้ว่า
"ถ้าเหตุแลการในราชการแผ่นดินประการใด ๆ เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่าความนั้นใส่มาในราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะได้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าลือผิด ๆ ไปต่าง ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ เป็นเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้"
เนื้อหาข่าวสารในราชกิจจานุเบกษาช่วงแรกๆ จึงมีข่าวต่าง ๆ จากราชสำนัก และข่าวทั่วไปของบ้านเมือง เช่น ข่าวแต่งตั้งขุนนาง ข่าวประสูติ ข่าวเพลิงไหม้ รายงานน้ำฝน และข่าวเบ็ดเตล็ด เป็นวารสารที่ทำแจกทุก 15 วัน ที่ตีพิมพ์ได้ประมาณ 1 ปีเศษก็ยุติกิจการไป
ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงให้รื้อฟื้นหนังสือนี้กลับขึ้นมาอีกครั้ง ในวันที่ 17 พฤษภาคม2417 เผยแพร่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (ทุกวันขึ้น 1 ค่ำ ,วันขึ้น 9 ค่ำ ,วันแรม 1 ค่ำ และวันแรม 9 ค่ำ) รวมเป็นเดือนละ 4 ครั้งหรือเรียกได้ว่าเป็นนิตยสารรายสัปดาห์เล่มแรก ให้คิดราคาเป็นรายปี (ระบบรับสมาชิก) ปีละ 8 บาท เพราะทรงเห็นว่า การแจกให้เปล่าเหมือนครั้งก่อนทำให้ผู้รับไม่เห็นค่า ส่วนเงินที่เก็บได้ก็นำส่งพระคลัง
การต้องจ่ายเบี้ยเพื่อซื้อ หรือทำวารสารออกมาจำหน่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น #กรมอักษรพิมพการ ยอมรับว่ามีผู้ยอมเสียเงินซื้อน้อยมากจากที่มียอดพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 500 ฉบับ แต่มีผู้เป็นสมาชิกรายปีรับไปเพียง 50–60 ฉบับเท่านั้น ทำให้คณะผู้จัดทำเขียนบทความลงในราชกิจจานุเบกษาอธิบายความรู้สึกว่า
"เสียแรงทำเสียแรงแต่งด้วย ทำแล้วเปนประโยชน์แก่คนตั้งร้อยขึ้นไป เปนที่ยินดี ทำให้ชวนแต่งชวนเรียงขึ้นอีก ถ้าจะเปนประโยชน์แต่แก่คนสักห้าหกสิบคนเท่านั้น ก็เปนที่น่าเสียดายแรงนักอยู่”
ในที่สุดการผลิตสิ่งพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาคราวนี้ใช้เวลา 5 ปีก่อนจะเลิกทำ โดยฉบับสุดท้ายคือวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2422
อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้เอาราชกิจจานุเบกษาขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2424 โดยเผยแพร่ทุกวันอาทิตย์ และทรงให้ยกกรมอักษรพิมพการขึ้นสังกัดกรมพระอาลักษณ์ด้วย แต่ช่วงรัชสมัย ร.5 ตอนนั้น ข้าราชการมีงานล้นมือ พิมพ์ได้พักหนึ่งก็หยุดไปอีก
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2427 การผลิตสิ่งพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ก็ถูกรื้อขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 และมีพระราชปรารภว่า “ครั้งนี้ตั้งใจจะไม่ให้หยุดให้ขาดเหมือนดังแต่ก่อนได้เลย"
ซึ่งมีการประกาศเชิญชวนให้บรรดาข้าราชการในกระทรวงต่างรับทราบกันหลายครั้ง จนใน พ.ศ. 2435 มีประกาศจากกรมอักษรพิมพการว่า
"ได้รับความอุดหนุนจากท่านผู้รับราชกิจจานุเบกษามีทวีมากขึ้น แลที่ได้รับอยู่แล้วก็มิได้ลดถอนลงไปกี่นามนัก ทั้งการเก็บเงินในระหว่างเจ้าพนักงานผู้เก็บกับผู้ให้ก็เปนการได้โดยสดวกขึ้นกว่าปีที่ล่วงแล้วมา เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้รับผลทั้ง 3 ประการเปนอาหารบำรุงชีวิตดำรงตลอดมาดังนี้ จึ่งทำให้เปนเรื่องยินดี"
ในปีนั้น รัชกาลที่ 5 ยังทรงตั้งกระทรวงมุรธาธรขึ้น และให้กรมพระอาลักษณ์ย้ายมาสังกัดเพื่อทำราชกิจจานุเบกษาเป็นการเฉพาะ
หลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง ปี 2475 งานด้านอาลักษณ์ของกระทรวงมุรธาธร ถูกส่งไปอยู่ในความรับผิดชอบของ #กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี หรือปัจจุบันเรียกว่า #สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
กำหนดให้กลุ่มงานราชกิจจานุเบกษารับผิดชอบการตีพิมพ์โดยเฉพาะและมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้พิมพ์ฉบับรูปเล่ม
จากวารสารรายสัปดาห์อายุ 167 ปี ผ่านยุคสมัยมา 7 รัชกาล
โดยประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมีเว็บไซต์
ratchakitcha.soc.go.th
เป็นช่องทางเผยแพร่ประกาศ แบ่งหมวดหมู่ข่าวออกเป็น 4 หมวด มีการนำพระราชกรณียกิจ ประกาศบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ รวมถึงคำพิพากษาของศาลมาเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย
ปี 2566 ที่ผ่านมา มีประกาศออกมาว่าหนังสือราชกิจจาฯ จะเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ในโอกาสวันสำคัญนานๆครั้งจึงจะพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มแบบ Limited เพื่อเก็บรักษาเป็นหลักฐานไว้ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 1 ชุด และหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร อีก 3 ชุด รวม 4 ชุด
ปัจจุบัน เว็บไซต์ราชกิจจาไม่สามารถเข้าถึงโดยตรงได้แล้วต้องผ่านทางเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในการเผยแพร่เท่านั้น บ้างคาดว่าอาจปิดปรับปรุงเว็บไซต์ บ้างว่าอาจป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าชม หรืออาจมีการลบเว็บไซต์ไปแล้ว ทั้งๆที่ยังคงมีราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎหมายที่ผ่านการประชุมรัฐสภาออกมาอยู่เรื่อยๆ
1
#หมายเหตุ รวบรวมข้อมูลจากวิกิพีเดีย
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย