28 พ.ย. เวลา 07:57 • ธุรกิจ

เส้นทางสู่การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เพื่อการยกระดับมาตรฐาน เสริมขีดความสามารถการแข่งขันบนเวทีโลก

หากการกลับเข้าสู่จอเรดาร์โลกเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของไทยแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายนั้น ไทยจะต้องเสริมสร้างขีดความสามารถและเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายรอบด้านในบริบทของโลกปัจจุบัน ตั้งแต่การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จนไปถึงเสริมสร้างบทบาทเชิงรุกของไทยในเวทีพหุภาคีต่างๆ
นอกเหนือจากการเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือสำคัญๆ ของโลก อย่างเช่น APEC ACD และ IPEF และการสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS แล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มาถึง “ก้าวสำคัญ” ของการเข้าเป็นสมาชิกของอีกหนึ่งกรอบความร่วมมืออย่าง “OECD” หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) โดยมีนายมาทีอัส คอร์มันน์ (H.E. Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเริ่มกระบวนการหารือการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทย
“การเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย” ถือเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางการเข้าเป็นสมาชิก โดยเลขาธิการ OECD ได้ส่งมอบ “แผนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก” (Accession Roadmap) แก่ไทย พร้อมเป็นโอกาสให้ไทยได้ย้ำความประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งไทยมุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและมาตรฐานต่างๆ และแสดงความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ
ในบทความนี้ เราขอนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับกรอบความร่วมมือนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่ความเป็นมาและกระบวนการ ขั้นตอนถัดไป รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยทุกคนกันครับ
กิจกรรมเปิดตัวกระบวนการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
OECD และการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทย
OECD ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีรายได้สูง โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้วิสัยทัศน์ “Better Policies for Better Lives” หรือการสร้างนโยบายที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิต ความเสมอภาค และความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน
ในปัจจุบัน OECD ถือเป็นหนึ่งในเวทีสำคัญในการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบระหว่างประเทศในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการภาครัฐ การลงทุน สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม การจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ และความยั่งยืน ซึ่งล้วนเป็นสาขาความร่วมมือที่ประเทศไทยให้ความสำคัญทั้งสิ้น
แผนที่ประเทศสมาชิก OECD ในปัจจุบัน (ที่มา: iStockphoto: iSidhe)
เพื่อเข้าเป็นสมาชิก ไทยจะต้องผ่านขั้นตอนสามระยะ ได้แก่ (1) การเห็นชอบให้เริ่มการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก โดยตัดสินใจบนพื้นฐานของค่านิยมร่วมกันระหว่างไทยกับ OECD (2) การจัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งรวมถึงแผนการปรับนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ของไทยให้บรรลุเป้าหมายตาม Accession Roadmap โดยระบุความพร้อมของหน่วยงานไทยในการเข้าเป็นภาคีตราสารต่างๆ ของ OECD และ (3) การดำเนินการตามแผนผ่านการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบของไทย
เมื่อเห็นว่าไทยได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้ว OECD ก็จะพิจารณาเชิญไทยเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น ในแต่ละระยะจำเป็นต้องได้รับมติเอกฉันท์จากคณะมนตรี OECD หรือประเทศสมาชิกทั้งหมดด้วย โดยทั่วไปจะใช้เวลารวมประมาณ 5-7 ปี
ประเทศไทยได้เริ่มกระบวนการสมัครเป็นสมาชิกด้วยการยื่นหนังสือแสดงความจำนงจากนายกรัฐมนตรี ผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในเวลาไม่ถึงสี่เดือนหลังจากนั้น ประเทศไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ซึ่งถือว่าเป็นระยะแรกของกระบวนการ โดยการได้รับเชิญดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีค่านิยมร่วมกันกับ OECD ไม่ว่าจะเป็นด้านประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง และการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่ระยะที่สองของการเข้าเป็นสมาชิก เพราะ OECD มีมติรับรองแผนการดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ของประเทศไทย และในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD ก็ได้เดินทางมาประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกิจกรรมเปิดตัวกระบวนการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย
เลขาธิการ OECD กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
เลขาธิการ OECD กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของ OECD จะส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อการแนวทางการปฏิรูปประเทศ การวิเคราะห์ทบทวนนโยบายสาธารณะต่างๆ อย่างเคร่งครัด และการประเมินเชิงลึกจากคณะกรรมาการต่างๆ ของ OECD จะช่วยผลักดันระเบียบวาระการปฏิรูปที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างสูงของประเทศไทยเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี พ.ศ. 2580
โดยประชาชนชาวไทยจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาทักษะไปจนถึงการเพิ่มความสามารถในการดึงดูดการลงทุน ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยสามารถส่งเสริมการสนทนาและการถกเถียงเชิงนโยบายของ OECD จากมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์บนพื้นฐานของความรู้ความชำนาญจากประสบการณ์ ความท้าทายที่ต้องเผชิญและความสำเร็จของประเทศไทย
นอกจากนั้น เลขาธิการ OECD ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรวงการคลัง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD ด้วย
เลขาธิการ OECD เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
หลังจากนี้ ไทยและ OECD จะต้องหารือกัน เพื่อร่วมกันจัดทำ “Initial Memorandum” ที่เป็นแผนการดำเนินการที่สำคัญ เพื่อปรับนโยบายและกฎระเบียบตามเป้าหมายใน Accession Roadmap จากนั้น เมื่อคณะมนตรีเห็นว่าไทยสามารถปฏิรูปกฎหมาย นโยบาย และกฎระเบียบเรียบร้อยแล้ว ก็จะเชิญเข้าเป็นสมาชิก OECD รายใหม่อย่างเป็นทางการนั่นเอง
เมื่อพิจารณาแล้ว ที่ผ่านมาไทยได้มีความร่วมมือกับ OECD มาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของไทยด้วย ตั้งแต่การเข้าร่วมภาคีตราสารทางกฎหมาย 11 ฉบับ และเข้าร่วมอีก 48 กลไกของ OECD นับตั้งแต่ปี 2524 รวมไปถึงบทบาทระดับทวิภาคีกับโครงการ Thailand-OECD Country Programme (CP) และโครงการระดับพหุภาคีอย่าง OECD Southeast Asia Regional Programme (SEARP) ที่ไทยร่วมริเริ่มเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับประเทศในอาเซียน
แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก OECD ?
การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการกลับเข้าสู่จอเรดาร์โลก เพราะจะช่วยสนับสนุนไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานของไทยด้านต่างๆ รวมไปถึงการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ไทยมีส่วนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจร่วมกับประเทศสมาชิกด้วย
นอกจากนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างเห็นผล โดย GDP อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 1.6 คิดเป็นมูลค่าราว 2.7 แสนล้านบาท รวมถึงเพิ่มช่องทางและโอกาสการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศสมาชิก และการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงกับประเทศสมาชิก ด้วยเหตุนี้ การเข้าร่วม OECD จะเป็นประตูที่เปิดกว้างสู่การมี FTA ฉบับใหม่ได้ในอนาคต
ภาพรวมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
“OECD เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ประเทศไทยต้องการที่จะเป็นสมาชิกเพราะการที่เป็น OECD จะแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าศักยภาพของประเทศไทยที่แท้จริง เราสามารถที่จะมีการพัฒนาศักยภาพของเราให้เป็น professional มากขึ้น มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และตรงนั้นก็คือจะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตรวมทั้งจะแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะมีความร่วมมือในทุกๆ มิติกับประชาคมของโลก”
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงาน Meet the Press #1
ทั้งหมดนี้จึงเป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับหากเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD แม้ในตอนนี้เส้นทางสู่การเข้าเป็นสมาชิกจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการสำคัญ โดยในก้าวต่อไป กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน จะยังดำเนินการอย่างขันแข็งเพื่อผลักดันให้ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ได้ในที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน
โฆษณา