28 พ.ย. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

นายกฯ สั่งลุย ปรับปรุงหลักเกณฑ์ซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังานสะอาด

ไทยเดินหน้า "พลังงานสะอาด" ทุกครัวเรือนต้องมีต้นทุนต่ำ เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์คัดเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2567 และกล่าวย้ำถึงราคาพลังงานโดยขอให้คณะกรรมการ ให้ความสำคัญเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและครัวเรือน ขอให้โฟกัสเรื่องนี้ให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนต่างๆ ในการที่จะดึงดูดนักลงทุนและเอื้อต่อการลงทุน
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการ “กพช. ” ระบุถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องใส่ใจเรื่องพลังงานสะอาดที่ทำให้คนไทยทุกครัวเรือนต้องมีต้นทุนต่ำ พร้อมสั่งการทุกส่วนราชการเร่งดำเนินการสนับสนุนการลงทุนพลังงานสีเขียว
ซึ่งการขยายและขับเคลื่อนพลังงานสะอาด หากกระทรวงหรือหน่วยงานใด มีแผนการดำเนินการในอยู่แล้ว ก็ขอให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ อย่าให้เกิดความล่าช้า รวมทั้งขอให้เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์คัดเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินงานตามมาตรการในการให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA)
สำหรับเรื่องราคา ขอให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมไปถึงการพิจารณา Direct PPA กรณีที่กำหนดเป้าหมายอนุญาตให้เฉพาะบริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ขอให้พิจารณาไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
นอกจากนี้ ที่ประชุม ได้เห็นชอบข้อเสนอที่ให้กระทรวงพลังงาน นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ในประเด็นเรื่อง การปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก
รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 และกระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป เป็น ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก
รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก
และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไปด้วย รองโฆษกกล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/sustainability/237487
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา