Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
28 พ.ย. เวลา 10:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ทองการ์เด้น” อาณาจักรถั่วชื่อไทยจ๋า แต่ความจริงเป็นของคนจีนในสิงคโปร์
ย้อนดูต้นกำเนิด “ถั่ว” ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 35 ปีอย่าง “ทองการ์เด้น” ซึ่งแม้จะมีชื่อเหมือนภาษาไทย แต่จริง ๆ แล้วมาจากคนจีนในสิงคโปร์ต่างหาก
“ถั่ว” เป็นหนึ่งในของกินเล่นยอดนิยมของคนไทยที่หลายคนมีติดไว้เวลาเดินทาง นั่งดูซีรีส์ที่บ้าน หรือกระทั่งเวลาทำงาน ซึ่งหนึ่งในธุรกิจขายถั่วที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทยคือ “ทองการ์เด้น” (Tong Garden)
ถ้าดูกันแค่ชื่อ เชื่อว่าคนไทย 9 ใน 10 คนจะต้องคิดว่าทองการ์เด้นเป็นแบรนด์ไทยแท้ ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากชาวจีนรายหนึ่งที่มาตั้งรกรากอยู่ที่สิงคโปร์ต่างหาก
เรื่องราวของทองการ์เด้นเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าประทับใจ เพราะก้าวแรกของพวกเขามาจากการปั่นจักรยานคู่ใจตระเวนขายถั่ว และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเบอร์ต้น ๆ ของอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างทุกวันนี้
จักรยานคู่ใจสู่โรงงานเล็ก ๆ
จุดเริ่มต้นของทองการ์เด้นย้อนไปได้ถึงปี 1933 หรือเกือบ 100 ปีก่อนที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมาจากก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า “อ่อง ตง กวน” (Ong Tong Guan) ชาวจีนจากมณฑลฝูเจี้ยน จักรยานของเขา และถั่วลิสงธรรมดา ๆ
ประเทศจีนในช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยไฟสงครามจากทั้งภายในและภายนอก คือสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งกับญี่ปุ่น ทำให้ชาวจีนจำนวนมากตัดสินใจอพยพจากบบ้านเกิดเมืองนอนไปตั้งรกรากที่ต่างประเทศแทน เป้าหมายของพวกเขามีทั้งไทย มาเลเซีย รวมถึงสิงคโปร์
หนึ่งในคนที่เลือกมาตายเอาดาบหน้าที่สิงคโปร์คือ อ่อง ตง กวน เขามีความหวังและความฝันว่าจะมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ แม้ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่คงดีกว่ารอความตายอยู่ที่จีน
อ่อง ตง กวน เริ่มต้นด้วยการรับถั่วลิสงมาขาย โดยปั่นจักรยานตระเวนขายไปตามที่ต่าง ๆ
เขาทำอยู่อย่างนั้นนานถึง 30 ปี จนกระทั่งปี 1963 อ่อง ตง กวน นำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาตั้งโรงงานผลิตถั่วแปรรูป แต่ไม่ใช่โรงงานที่ใหญ่โตอะไร เป็นโรงงานขนาดบุหลังคาสังกะสีเท่านั้น และจ้างพนักงานเพียงไม่กี่คน
โรงงานของ อ่อง ตง กวน เริ่มดำเนินการด้วยการแปรรูปถั่วลิสงปักกิ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่ามีขนาดใหญ่กว่าปกติ กินอร่อย กินมัน โดยนำมาคั่วเพื่อให้ได้รสชาติที่เข้มข้นถูกปากขึ้น
ถั่วทองการ์เด้นเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2532
ขยายอาณาจักร
ธุรกิจถั่วแปรรูปของ อ่อง ตง กวน ไปได้ค่อนข้างสวยงาม ในปี 1966 เขาจึงตัดสินใจขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายกว่าเดิม ไม่ดี้เพียงแค่ถั่วปักกิ่งคั่วอย่างเดียว โดยเริ่มขายถั่วลิสงซานตง และอีก 4 ปีถัดมาได้เปิดตัวเม็ดมะม่วงหิมพานต์
แต่การจะขยายธุรกิจหมายเท่ากับว่าต้องใช้พื้นที่มากขึ้น ซึ่งโรงงานหลังคาสังกะสีเล็ก ๆ แห่งนี้ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ดังนั้น อ่อง ตง กวน จึงย้ายไปสร้างโรงงานที่ใหญ่กว่าที่ย่านเกลังบาห์รู (Geylang Bahru) แทนในปี 1973
หลังจากนั้น โรงงานได้เพิ่มการผลิตถั่วปากอ้า ฝักยาว บิสกิตแครกเกอร์ ถั่วลูกไก่และถั่วเขียว ทำให้สินค้าของ อ่อง ตง กวน ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
กระทั่งในปี 1980 อ่อง ตง กวน ได้จดทะเบียนบริษัท Tong Garden Food Products Pte Ltd อย่างเป็นทางการในสิงคโปร์ โดยชื่อ “Tong” มาจาก “ตง” ในชื่อของ อ่อง ตง กวน นั่นเอง
ชื่อเสียงของทองการ์เด้นเป็นที่เลื่องลือมากขึ้นในปี 1984 หลังมีการนำถั่วพิสตาชิโอเข้าสู่ตลาดด้วยบรรจุภัณฑ์แบบใหม่และราคาขายปลีกที่ถูกกว่า
โดยในขณะที่บริษัทอื่น ๆ มักบรรจุพิสตาชิโอในพลาสติก ทองการ์เด้นใช้กระดาษฟอยล์อลูมิเนียม ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการในเวลานั้น เนื่องจากช่วยรักษาความสดของพิสตาชิโอไว้ได้ ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ทองการ์เด้นกลายเป็นผู้นำตลาดพิสตาชิโอได้อย่างรวดเร็ว
4 ปีต่อมา บริษัทได้ก่อตั้งสำนักงานในมาเลเซีย ตามมาด้วยฮ่องกงในปี 1986 และประเทศไทยในปี 1989 โดยเข้ามาด้วยชื่อ บริษัท ทองการ์เด้น จำกัด
เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ โรงงานของทองการ์เด้นจึงย้ายอีกครั้งในปี 1987 โดยย้ายไปอยู่ที่ Chin Bee Crescent และสร้างสำนักงานที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 20 เท่า
เพื่อประเดิมโลเคชันใหม่ ทองการ์เด้นได้เปิดตัวแบรนด์ที่สอง คือ “NOI” ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวใต้แบรนด์ทองการ์เด้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เสริมทัพด้วยอัลมอนด์ แมคคาเดเมีย เมล็ดทานตะวัน และอื่น ๆ และในปี 1995 บิรํษทยังเริ่มจัดหาของขบเคี้ยวบนเครื่องบินให้กับสายการบินหลัก ๆ อีกด้วย
ทองการ์เด้นผลิตถั่วและขนมขบเคี้ยวคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคในกว่า 35 ประเทศทั่วโลก
ถั่วอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ถั่วและของขบเคี้ยว ทองการ์เด้นครองอันดับ 1 ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนอกจากผลิตภัณฑ์เดิมแล้วบริษัทยังเดินหน้าทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายอย่างกลายเป็นของโปรดของใครหชายคน เช่น ถั่วเคลือบน้ำผึ้ง ถั่วแมคคาเดเมียผสมสาหร่ายและวาซาบิ และอัลมอนด์กับแครนเบอร์รี่แห้งและกล้วยทอด
ปัจจุบัน ทองการ์เด้นมีโรงงานผลิตหลัก 2 แห่งในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองแห่งมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 800 ไร่ พร้อมด้วยพนักงานเกือบ 1,000 ชีวิต ผลิตถั่วและขนมขบเคี้ยวคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคในกว่า 35 ประเทศทั่วโลก
ขณะนี้บริษัทกำลังตั้งสำนักงานในจาการ์ตา มุมไบ อาห์เมดาบาด และเซี่ยงไฮ้ เพื่อขยายการจัดจำหน่าย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์ต่อไปในเอเชียและทั่วโลก หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานที่มั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
ทองการ์เด้นได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรถั่วพันล้าน เพราะเฉพาะในประเทศไทย พวกเขาสามารถฟันรายได้มากกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี โดยข้อมูลจากรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า
ในปี 2019 รายได้ 1.56 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 64.2 ล้านบาท
ในปี 2020 รายได้ 1.31 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 57.6 ล้านบาท
ในปี 2021 รายได้ 1.28 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 47.3 ล้านบาท
ในปี 2022 รายได้ 1.5 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 74 ล้านบาท
และในปี 2020 รายได้พุ่งขึ้นไปถึง 1.74 กำไรสุทธิอยู่ที่ 106.9 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทองการ์เด้นทำกำไรในไทยได้เกิน 100 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าอาณาจักรถั่วแห่งนี้ยังคงเติบโตได้ดีในยุคปัจจุบัน
อ่อง เต็ก ชวน ผู้บริหารคนปัจจุบันของทองการ์เด้น
ข้อพิพาทในครอบครัว
ตลอดเวลามากกว่า 55 ปีจนถึงปัจจุบัน ทองการ์เด้นถูกบริหารโดยคนในตระกุลอ่องมาโดยตลอด ไม่เคยมีคนนอกเข้ามายุ่มย่ามเลย แต่การบริหารโดยครอบครัวก็ทำให้เกิดปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือเรื่องของการแย่งชิงมรดกและสิทธิการบริหารบริษัท
อ่อง ตง กวน มีลูก 4 คน และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไป ลูกทั้งสี่คนนี้จึงเป็นผู้ถือหุ้นเพียงกลุ่มเดียวในบริษัท โดยมี “อ่อง เต็ก ชวน” เป็นผู้บริหารสืบทอดตำแหน่งจากบิดา
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2019 บริษัทประสบปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล เมื่อลูกคนหนึ่งพยายามฟ้องร้องพี่น้องอีกสามคนของเขา
โดย “อ่อง เฮง ชวน” อ้างว่า สิทธิของเขาในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยถูกละเมิดโดย อ่อง เต็กชวน และพี่น้องอีกคนคือ อ่อง บุน ชวน ในเวลาเดียวกัน เขายังฟ้อง อ่อง เซียว แอนน์ น้องสาวของเขาด้วย แต่ไม่ได้กล่าวหาเธอแต่อย่างใด
เฮง ชวน อ้างว่า พี่ชายของเขาได้ถ่ายโอนธุรกิจ รวมทั้งทรัพย์สิน พนักงาน ระบบโลจิสติกส์ ลูกค้า และเครื่องหมายการค้าของกลุ่มไปยังบริษัทที่เป็นเจ้าของโดย เต็ก ชวน
แต่ เต็ก ชวน และบุน ชวน ยืนยันว่า การถ่ายโอนดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย และจำเป็นต้องดำเนินการเช่นนั้นเพื่อรักษาธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาเอาไว้
โดยในปี 2000 กลุ่มบริษัททองการ์เด้นประสบปัญหาทางการเงินและจำต้องขายเครื่องหมายการค้า “Tong Garden” ให้กับ Villawood Holdings ในราคา 260,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อหาเงินมาค้ำจุนธุรกิจ
จากนั้น Villawood จึงออกใบอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองการ์เด้น จนเมื่อใบอนุญาตหมดอายุในปี 2010 บริษัททั้งสองแห่งที่ เต็ก ชวน เป็นเจ้าของจึงได้รับใบอนุญาตจาก Villawood
ปัจจุบัน บริษัทของ เต็ก ชวน เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ของทองการ์เด้น แต่นอกเหนือจากบริษัทในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การบริหารของ เต็ก ชวน แล้ว บริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มกลับขาดทุนและต้องหาทางดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
เต็ก ชวน ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ผ่านนิติบุคคลที่มีอยู่ เนื่องจากกลุ่มบริษัทประสบปัญหาเรื่องเงินและการดำเนินการทางกฎหมาย นั่นคือเหตุผลที่เขาก่อตั้งบริษัท 2 แห่งขึ้นในสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งซื้อสินทรัพย์ทางธุรกิจของกลุ่มในราคาตลาดที่ยุติธรรมระหว่างปี 2008-2012
เต็ก ชวน กล่าวว่า เขาปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้และดำเนินการต่อผ่านนิติบุคคลใหม่ เนื่องจากเขาไม่ต้องการเห็นมรดกของพ่อล่มสลายหายไป
ประวัติธุรกิจทองการ์เด้น
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/237187
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
ถั่ว
ธุรกิจ
เศรษฐกิจไทย
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย