28 พ.ย. 2024 เวลา 06:33 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเพชรเวช

โรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงเมื่อร่างกายขาดแคลเซียม

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ปัญหาของคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้หญิง และผู้สูงอายุซึ่งเกิดจากแคลเซียมในร่างกายที่ไม่เพียงพอ ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง จนเกิดการแตกหักได้ง่าย อีกทั้งโรคนี้ยังเป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน แต่สามารถพบเจอโรคนี้ได้ผ่านการตรวจความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งจะทำให้เราเตรียมตัวรับมือได้ทันก่อนเกิดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?
คือการสูญเสียแคลเซียมในกระดูก ส่งผลให้เซลล์สร้างกระดูกทำลายกระดูก มากกว่าการสร้างกระดูกขึ้นมาทดแทน ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดน้อยลง และไม่สามารถรับน้ำหนักได้อย่างที่เคย ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง แตกหักได้ง่าย และอาจส่งผลต่อส่วนสูงทำให้ส่วนสูงลดลง ปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว แต่อาการจะแสดงออกหลังจากร่างกายได้รับความเสียหายจนกระดูกหัก ซึ่งการหักของกระดูกจะง่ายกว่าคนทั่วไป โรคนี้ยังเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ และรุนแรงถึงขั้นพิการได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
- อายุและเพศ โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยหลังจากอายุ 30 ปี มวลกระดูกจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพความหนาแน่นลงตามลำดับ นอกจากนี้เพศหญิงยังมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศชาย หลังจากหมดประจำเดือน หรือทำการผ่าตัดมดลูก ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกิดจากฮอร์โมนของเพศหญิงนั่นเอง
- การทานอาหาร จากการทานเค็ม ดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ เนื่องจากอาหารเหล่านี้ และคาเฟอีนส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และมีการขับแคลเซียมมากกว่าปกติอีกด้วย อาหารและผลไม้ที่มีวิตามินหลายคนอาจไม่ชอบทาน ทำให้ร่างกายไม่มีวิตามินที่สำคัญซึ่งส่งผลดีต่อมวลของกระดูก
- พันธุกรรมและยา หากมีเครือญาติที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้มวลของกระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง เช่น ยาป้องกันการชัก กลุ่มยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
- เกิดจากโรค จากโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ รวมไปถึงการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูกได้ทั้งสิ้น
นอกจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้นแล้วโรคกระดูกพรุนยังเกิดได้จากสาเหตุอื่นด้วย เช่น การสูบบุหรี่ หรือน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคร้ายนี้อีกด้วย
อาการของโรคกระดูกพรุน
โรคนี้ไม่มีอาการที่แสดงออกให้เห็นชัด จัดว่าเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่ง กว่าจะรู้ตัวกระดูกของเราคงเสียหายไปมากแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องสังเกตจากสัญญาณแทน เช่น อาการปวดหลัง ต่อมาจะหลังค่อม และทำให้ส่วนสูงลดลง อันตรายที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อหลังเท่านั้น ยังส่งผลต่อสะโพก หรือข้อมือได้เช่นกัน ซึ่งอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
- ระยะเริ่มแรก ไม่แสดงอาการอะไรออกมาให้เห็น ซึ่งวิธีที่จะทำให้รู้ได้ว่าเป็นโรคนี้สามารถทำได้ด้วยการวินิจฉัย หรือตรวจความหนาแน่นของกระดูกว่าสมบูรณ์หรือไม่เท่านั้น
- ระยะรุนแรง เกิดอาการปวดหลัง หลังค่อม ส่วนสูงลดลง ท้องอืด ทานข้าวได้น้อยกว่าปกติ ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจปวดหน้าอก และอาจเกิดกระดูกหักที่ข้อมือ
โรคกระดูกพรุนรักษาอย่างไร ?
การรักษาโรคกระดูกพรุนจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของการสร้างเซลล์กระดูก โดยลดการทำงานของเซลล์คลายกระดูก ดังนี้
- รับประทานยา ให้ยาที่มีฤทธิ์ระงับการทำงานของเซลล์สลายกระดูก เพื่อลดอัตราการสลายของกระดูก ลดความเสี่ยงไม่ให้กระดูกแตกหักง่ายเพื่อให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้มากขึ้น โดยจะมีทั้งยาแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ
- เพิ่มฮอร์โมน อาจมีการเพิ่มฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างแคลเซียม เช่น การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนสำหรับผู้ป่วยเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรืออยู่ในวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเองได้
- การดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เพื่อช่วยในด้านการดูดซึมแคลเซียม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ ด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรออกแรงหักโหมจนเกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อกระดูก โดยเฉพาะผู้ที่เล่นกีฬาเกี่ยวกับการยกน้ำหนักควรหมั่นตรวจสุขภาพ และดูแลความพร้อมของร่างกายอย่างเหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี เช่น เต้าหู้ กุ้งฝอย ปลาตัวเล็ก และผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผักกระเฉด กะเพรา ตำลึง เป็นต้น และอาหารประเภทโปรตีนที่มีวิตามินดีสูง เช่น ตับ และไข่แดง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา หรือกาแฟ เพราะมีความเป็นกรดสูง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
แคลเซียม คู่หูของกระดูก
แคลเซียมมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุน สามารถนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุเพราะสามารถเพิ่มความหนาแน่นให้มวลกระดูกได้ ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง โดยปริมาณแคลเซียมที่คนปกติทั่วไปต้องการต่อวัน คือ 800 – 1,000 มิลลิกรัม
แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุจะต้องการปริมาณแคลเซียมที่มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน แม้แคลเซียมจะจำเป็นต่อร่างกายแต่หากรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในไต ท้องผูก หรือเกิดภาวะแคลเซียมเกาะตามผนังหลอดเลือด ดังนั้นก่อนรับประทานอาหารเสริมจึงต้องวางแผนเพื่อควบคุมปริมาณแคลเซียมให้เหมาะสมต่อความจำเป็นของร่างกายด้วย
กินนมป้องกันโรคกระดูกพรุน
นม เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพราะมีปริมาณแคลเซียมสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันสูง โดยเฉพาะนมโคสด และนมรสจืด อีกทั้งยังมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง ซึ่งจะมีการซ่อมแซมมวลกระดูกในส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยการรับประทานนมให้ประสิทธิผลนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กก่อนวัยเรียน 1 ปีขึ้นไป และวัยเรียน ควรดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง แต่ไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย หรือไร้ไขมัน เพราะไขมันเป็นแหล่งสะสมพลังงาน ซึ่งมีวิตามินเอ ดี อี และเคที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
- วัยรุ่น แนะนำให้ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน
- วัยผู้ใหญ่ ควรดื่มนมทุกวัน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน ผู้ที่ปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย หรือนมไร้ไขมัน
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว และควรบริโภคอาหารประเภทอื่นด้วย เช่น ปลาเล็ก ผักใบเขียวเข้ม หรือเต้าหู้ เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งแม่และทารกในครรภ์
- ผู้ที่มีปัญหาถ่ายบ่อยเมื่อดื่มนม ซึ่งเกิดจากน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่เพียงพอ จึงควรเริ่มดื่มนมครั้งละประมาณครึ่งแก้ว และเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละหนึ่งแก้วในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา หรือดื่มนมหลังอาหาร
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกแตกหัก การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักเพื่อลดปัญหาของการเคลื่อนไหวที่ยากต่อการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต
โฆษณา