28 พ.ย. เวลา 08:00 • ท่องเที่ยว

เมื่อผีตาโขนไทยได้ไปโลดแล่น ณ กรุงเม็กซิโก

หากพูดถึงเทศกาลที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ท่านผู้อ่านจะนึกถึงเทศกาลอะไรกันคะ? อาจเป็นเทศกาลวันลอยกระทง หรือแม้แต่ควันหลงหลังวันฮาโลวีนเมื่อปลายเดือนตุลาคม วันนี้เราจะขอพาท่านผู้อ่านเดินทางข้ามซีกโลกไปยังประเทศเม็กซิโก
ประเทศสำคัญแห่งหนึ่งในแถบละตินอเมริกา ต้นกำเนิดของอาหารดังอย่างทาโก (Taco) ซึ่งจะมีการจัดเทศกาลใหญ่ขึ้นเป็นประจำในวันที่ 1-2 พฤศจิกายนของทุกปี เทศกาลดังกล่าวถือว่ายิ่งใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงโด่งดังจนเคยได้ปรากฏในภาพยนตร์สายลับชื่อดังจากอังกฤษอย่าง James Bond 007 ในภาค Spectre เลยทีเดียว จั่วหัวมาขนาดนี้ ผู้อ่านอาจสงสัยแล้วว่า ผีตาโขนจากไทยไปทำอะไรไกลถึงเม็กซิโก ในบทความนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ
สมาชิกในขบวนผีตาโขนของไทย ในขบวนพาเหรด Day of the Dead (รูปจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก)
สำหรับชาวเม็กซิโกแล้ว วันที่ 2 พฤศจิกายน ถือเป็นวันที่เรียกว่า “วันแห่งความตาย” หรือ “Day of the Dead” ในภาษาสเปน คือ Día de los Muertos อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่วันแห่งความตายสำหรับชาวเม็กซิโกนั้นถือเป็นวันรวมญาติ เช่นเดียวกับงานเช็งเม้งของชาวไทยเชื้อสายจีน บุญข้าวสากของภาคอีสาน บุญชิงเปรตของภาคใต้ หรือบุญสลากภัตรของภาคเหนือ ซึ่งแม้จะมีชื่อที่ต่างกันแต่ล้วนมีจุดหมายเดียวกัน คือเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษนั่นเองค่ะ
ชาวเม็กซิโกเชื่อกันว่าในวันแห่งความตาย วิญญาณของสมาชิกครอบครัวผู้ล่วงลับจะกลับมายังโลกมนุษย์ และเป็นโอกาสให้พวกเขาได้กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้ง ความเชื่อนี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวเม็กซิโกที่เน้นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและใกล้ชิดในครอบครัว และความทรงจำที่ทุกคนมีร่วมกัน เพราะเมื่อทุกสรรพสิ่งล้วนต้องลาหายจากโลกใบนี้ไป ความทรงจำคือสิ่งเดียวที่ยังคงอยู่
โดยในวันแห่งความตาย ชาวเม็กซิโกจะตกแต่งแท่นบูชาและสุสานด้วยดอกดาวเรืองหลากสี เทียนไข และหัวกะโหลกจำลอง เป็นการต้อนรับการกลับมาของบรรพบุรุษอย่างอบอุ่น และเต็มไปด้วยบรรยากาศที่งดงาม
บนท้องถนนทุกๆ ปีจะมีการจัดขบวนพาเหรดฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมขบวนมากกว่า 5,000 คน ทุกคนจะแต่งตัวตามวัฒนธรรมผีท้องถิ่นของแต่ละเมืองด้วยชุดหลากสีที่ประดับด้วยดอกไม้สีสด และแต่งหน้าเป็นลวดลายหัวกะโหลก เทศกาลดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และเป็นเทศกาลสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาร่วมชมไม่น้อยกว่าล้านคนต่อปี
ผีตาโขนไทยในขบวนพาเหรด Day of the Dead (รูปจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก)
ในงานวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา สถานทูตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก ได้พา ‘ผีตาโขน’ ของไทย จากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เข้าร่วมขบวนในพาเหรด Day of the Dead ภายใต้ธีม “Dream and Surrealism” หรือ “ห้วงความฝันและเหนือความเป็นจริง” ขบวนเริ่มต้นตั้งแต่ถนน Reforma ไปจนถึงจัตุรัสกลางเมือง Zocalo โดยในงานนี้มีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปีก่อนๆ
ผีตาโขนไทยในขบวนพาเหรด Day of the Dead (รูปจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก)
โดยผีตาโขนของไทยเป็นกลุ่มเดียวจากต่างประเทศที่ได้เข้าร่วมขบวนเฉลิมฉลองนี้ ด้วยความร่วมมือระหว่างสถานทูตเอกอัครราชทูตฯ และกลุ่มเยาวชนชาวเม็กซิโกที่ชื่นชอบในวัฒนธรรมไทยรวม 40 คน ที่ได้สวมหน้ากากผีตาโขนและแต่งชุดหลากสีร่วมเดินขบวน นอกจากนั้น ในขบวนยังมีหุ่นผีตาโขนนั่งอยู่บนแท่นบูชา (Ofrenda) ที่ประดับด้วยดอกดาวเรืองและเทียนไขให้เข้ากับเทศกาล พร้อมประดับป้ายชื่อประเทศไทยเป็นภาษาสเปนว่า Tailandia อีกทั้งยังมีการแสดงตีกลองยาวและรำไทยตลอดเส้นทางเพื่อเพิ่มสีสันและเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วย
ขณะที่ทีมผีตาโขนไทยเดินทำการแสดงในขบวนพาเหรด ก็มีผู้ชมที่สนใจเข้ามาถ่ายรูปกับกลุ่มผีตาโขนไทย ซึ่งสวมหน้ากากและชุดผีตาโขนที่สีสันโดดเด่นสะดุดตาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับมีเสียงตะโกนเชียร์ว่า “Tailandia Tailandia” ตลอดเส้นทาง แสดงให้เห็นถึงความนิยมไทยในหมู่ชาวต่างชาติ ตลอดจนมิตรภาพระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับความตายเป็นจุดเชื่อมประสานความสัมพันธ์
ส่วนหนึ่งของกลุ่มเยาวชนชาวเม็กซิโกผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงผีตาโขนไทย (รูปจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก)
การนำผีตาโขนไทยเข้าร่วมขบวนพาเหรด Day of the Dead ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย - เม็กซิโก ที่ดำเนินมาแล้ว 49 ปี เป็นโอกาสดีให้ชาวเม็กซิโกได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับผีของไทย อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมกระแสนิยมประเทศไทยในเม็กซิโกอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากภาพยนตร์และซีรีส์ไทยที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่วัยรุ่นชาวเม็กซิโกอยู่ในปัจจุบัน
แม้จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลกเป็นระยะทางกว่า 14,000 กิโลเมตร แต่วัฒนธรรมของไทยก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับชาวเม็กซิโกและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ร่วมชมเทศกาล Day of the Dead ได้เป็นอย่างดี
เป็นที่น่าติดตามว่าในอนาคต จะมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงามอื่นๆ ของไทยได้ไปโลดแล่นในเทศกาลชื่อดังที่ต่างประเทศอีกหรือไม่ เพราะความร่วมมือเช่นนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดศิลปะดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของไทย เพื่อสร้างความนิยมไทยในกลุ่มชาวต่างชาติ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ
โฆษณา