Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นครพนมโฟกัส
•
ติดตาม
28 พ.ย. เวลา 11:12 • การเกษตร
ธุรกิจ ‘ฟางอัดก้อน’ อนาคตความนิยมหลังฤดูเก็บเกี่ยว
หลังช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวนาข้าว หลายพื้นที่จะทิ้งฟางข้าวจากเครื่องเก็บเกี่ยวข้าว หรือรถเกี่ยวนวดข้าว เป็นจำนวนมาก บางเจ้าเลือกที่จะเก็บฟางข้าวทิ้งไว้กลางไร่นาและจัดการด้วยการเผาเพื่อง่ายต่อการปรับสภาพหน้าดินทำเกษตรครั้งต่อไป แม้แนวทางนี้จะมีการรณรงค์จากหน่วยงานภาครัฐให้ชาวบ้าน เกษตรกร หยุดการเผาไร่นา เนื่องจากสร้างมลพิษทางอากาศ หรือที่เรียกกันว่าฝุ่น PM 2.5
ทำให้ปัจจุบัน “เครื่องอัดฟางก้อน” มีบทบาทมากขึ้นในวงการเกษตร เนื่องจากเป็นการสร้างรายได้ให้กับเจ้าของไร่นาโดยตรงจากการขายฟางอัดก้อน และผู้รับจ้างในพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ เดือนพฤศจิกายนถือเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของชาวนา มีทั้งการเกี่ยวแบบมือ และการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร ซึ่งการเก็บเกี่ยวเครื่องจักรได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถย่นระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวได้เป็นอย่างดี
แต่เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจะเหลือเศษชิ้นส่วนของฟางข้าวจากรถเกี่ยว จึงเป็นโอกาสทำเงินของธุรกิจ “ฟางอัดก้อน” ที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากภาคปศุสัตว์ และผู้ประกอบการต่าง ๆ
คุณสง่า กาพิมพ์ อายุ 60 ปี ชาวบ้านท่าค้อ ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม ผู้ที่ยึดอาชีพเสริมรับจ้างอัดฟางก้อนในพื้นที่จังหวัดนครพนม เล่าว่า ตนและเพื่อน ๆ ทำมานานกว่า 5 ปีแล้ว ลงทุนซื้อเจ้าตัว “เครื่องอัดฟางก้อน” ตั้งแต่ราคาอยู่ที่ 4 แสนกว่าบาท (เมื่อ 3 ปี ที่แล้ว) ทำการตระเวนรับอัดฟางก้อนตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับการว่าจ้าง ซึ่ง 1 ก้อน ความยาวประมาณ 1 เมตร คิดค่าบริการเพียงก้อนละ 13 บาท โดยในหนึ่งวันจะได้ 500-600 ก้อน
ถือเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนฟางก้อนที่ทำการอัดเสร็จจะเป็นในส่วนของเจ้าของผืนนาในการนำฟางอัดก้อนไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ใช้ในภาคการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หรือขายส่งต่อให้กับร้านค้า หรือผู้ประกอบการอื่น ๆ
คุณสง่า ยังเล่าต่อว่า การอัดฟางก้อน สามารถทำได้เฉพาะผืนนาที่ใช้เครื่องเก็บเกี่ยวข้าว หรือรถเกี่ยวนวดข้าวแบบเครื่องจักรเท่านั้น เนื่องจากเศษฟางข้าวจะมีลักษณะอ่อนและง่ายต่อกระบวนการอัด อีกทั้ง การอัดฟางก้อน ยังสามารถทำได้ตลอดทุกช่วงโดยไม่มีเรื่องของเวลาเป็นข้อจำกัด ซึ่งจะต่างจากเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวที่จะต้องแข่งกับเวลาเพื่อไม่ให้ข้าวที่แก่จัดร่วงลงพื้นดิน
“เราจะลงอัดเฉพาะผืนนาที่ผ่านการลงเกี่ยวข้าวจากเครื่องเกี่ยวข้าวเท่านั้น การอัดฟางก้อนสามารถทำได้ตลอดเวลาไม่เหมือนรถเกี่ยวข้าวที่มีเรื่องเวลาเป็นข้อจำกัด (เขาจะทำได้ในระยะสั้น) นาผืนใหญ่ทำการอัดได้ง่ายและเร็วกว่านาผืนเล็ก อย่าลืมว่าจังหวะของการเลี้ยวของเครื่องจักรต้องใช้พื้นที่ ดังนั้น พื้นที่กว้าง ๆ จะสะดวกกว่า”
แต่ทว่า ทุกธุรกิจย่อมมีการลงทุนด้วยเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและวัสดุ-อุปกรณ์ เพราะเครื่องอัด 1 เครื่อง จะต้องใช้เชือกอัดฟางจากโรงงานหรือบริษัทเท่านั้นเนื่องจากจะมีความเหนียวและทน ซึ่งจะใช้จำนวน 2 ม้วน (ม้วนละ 400 บาท) เพราะเวลาทำงานเชือกอัดฟางทั้ง 2 ม้วน จะทำหน้าที่พร้อมกัน แม้ 1 ม้วน เมื่อทำการอัดแล้วจะได้ฟางประมาณ 300 ก้อน แต่ด้วยราคาเชื้อเพลิง (น้ำมัน) ค่อนข้างสูง ทำให้การรับจ้างอัดฟางก้อนมีกำไรเพียงเล็กน้อย และหากราคาเชื้อเพลิงยังมีราคาสูงอาจต้องปรับราคาตามไปด้วย
อพิวัฒน์ พรหมศรีธรรม (หน่อง) เจ้าของธุรกิจฟางอัดก้อนวังฝั่งแดงฟาร์ม ในพื้นที่ ต.ดงขวง อ.เมือง จ.นครพนม ทั้งเป็นผู้รับจ้างอัดและขายฟางอัดก้อน เล่าว่า ราคาฟางอัดก้อนยังเท่าเดิม คือ ขายหน้าโกดัง ก้อนละ 25 บาท แต่ต้องสั่งขั้นต่ำ 50-100 ก้อน หากสั่งจากพื้นที่ห่างไกลจะคิดค่าบริการเพิ่มตามระยะทางที่ส่ง และจะได้ราคาที่สูงขึ้นในช่วงหน้าฝน ตกก้อนละ 30-35 บาท
แต่ทั้งนี้มีข้อสังเกต ว่า ปีนี้ธุรกิจฟางอัดก้อนดูเงียบกว่าทุกปีที่ผ่านมา เมื่อสอบถามถึงเหตุผลพบว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (โค กระบือ) ในพื้นที่ลดลง เนื่องจากราคาสัตว์เลี้ยงค่อนข้างต่ำ สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เจ้าของหรือคนเลี้ยงต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น ทำให้หลายเจ้าเลิกเลี้ยงโค กระบือ จึงทำให้ฟางอัดก้อนขายได้น้อยลง
“จากปกติในทุก ๆ ปี จะขายได้ประมาณ 7,000 ก้อน แต่ปีนี้เพิ่งจะขายได้เพียง 2,000 ก้อน ส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์ ของฟางอัดก้อนจะถูกนำไปใช้ในภาคการเกษตร ปลูกต้นไม้ ปลูกพืชผัก แต่อีก 40 เปอร์เซ็นต์เนี่ย นำไปใช้ในภาคปศุสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงโค กระบือ เมื่อราคาสัตว์เลี้ยงต่ำไม่ได้ราคา แต่ค่าใช้จ่ายยังคงที่หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมันไม่คุ้มค่าอยู่แล้วสุดท้ายก็เลิกทำ”
จากเสียงสะท้อนที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรับจ้างอัดฟางก้อน และ กลุ่มจำหน่ายฟางอัดก้อน กลุ่มแรกเมื่อมองถึงอนาคต หากมีต้นทุนที่สูงขึ้นอาจจะคิดราคาบริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุลในเรื่องค่าใช้จ่ายและความอยู่รอดของธุรกิจ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของผืนนาว่าจะอัดฟางก้อนไปใช้ประโยชน์อะไร และจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับหรือไม่ ส่วนกลุ่มสุดท้ายหากภาคปศุสัตว์และธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ลดลงเนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหวอาจมีความเสี่ยงด้านผลกระทบที่มีต่อรายได้ของผู้จำหน่ายฟางอัดก้อนโดยตรง
สุดท้ายแล้ว “ธุรกิจฟางอัดก้อน” จะยังคงได้รับความนิยมอยู่หรือไม่ หรืออาจจะมีการแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แทน ใช้ประโยชน์ในรูปแบบหมุนเวียนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็อาจทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลในการหาวิธีแก้ไขปัญหา และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาคธุรกิจในการคิดค้นนวัตกรรมสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นแก่เกษตรกร
ภาพ/บทความ : นครพนมโฟกัส
อาชีพ
วิถีชีวิต
ข่าว
1 บันทึก
2
1
1
1
2
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย