29 พ.ย. เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🎯 S&P500 vs. S&P500 Equal Weight | ยักษ์ใหญ่" ปะทะ "ความเท่าเทียม แบบไหนดี⁉️

การลงทุนในดัชนี S&P 500 เป็นกลยุทธ์ยอดนิยมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก ดัชนีนี้ประกอบด้วยหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่ง ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม และถือเป็นตัวแทนที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนหลายคนอาจมองข้ามคือ S&P500 มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ S&P 500 แบบ Market-Cap Weighted และ S&P 500 Equal Weight ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาว
1️⃣ S&P500 (Market-Cap Weighted): ยักษ์ใหญ่ครองเมือง
📊 Concept: ดัชนีแบบ Market-Cap Weighted หรือที่เรียกกันว่า "ดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด" เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี หลักการสำคัญคือ บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง จะมีน้ำหนักในดัชนีมากกว่าบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดต่ำ ยกตัวอย่างเช่น Apple, Microsoft และ NVIDIA ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดใน S&P500 จะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก เช่น Etsy หรือ Domino's Pizza
✅ ข้อดี
สะท้อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างแท้จริง: เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีสัดส่วนมูลค่าตลาดรวมสูง การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวมมากกว่า ทำให้ดัชนีแบบ Market-Cap Weighted สามารถสะท้อนภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้อย่างแม่นยำ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบ Passive และติดตามผลตอบแทนของตลาดโดยรวม
ค่าธรรมเนียมต่ำ: กองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนีแบบ Market-Cap Weighted มักมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการที่ต่ำกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุนบ่อยครั้ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเพิ่มผลตอบแทนสุทธิให้กับนักลงทุน
ลงทุนในผู้ชนะ: โดยทั่วไปแล้ว บริษัทที่มีผลประกอบการแข็งแกร่ง มีอัตราการเติบโตสูง และมีศักยภาพในการทำกำไรที่ดี มักจะมีราคาหุ้นและมูลค่าตามราคาตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักในดัชนีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลไกนี้ช่วยให้ดัชนีเติบโตไปพร้อมกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในระยะยาว
คัดเลือกหุ้นคุณภาพ: ในทางกลับกัน หากบริษัทใดมีผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ ราคาหุ้นตกต่ำ มูลค่าตามราคาตลาดก็จะลดลง ทำให้มีน้ำหนักในดัชนีน้อยลง และอาจถูกคัดออกจากดัชนีในที่สุด กลไกนี้ช่วยให้ดัชนี S&P500 ประกอบด้วยบริษัทที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการเติบโต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักลงทุน
❌ ข้อเสีย
กระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่: การให้น้ำหนักตามมูลค่าตามราคาตลาด ทำให้ดัชนีมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในหุ้นเพียงไม่กี่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet, NVIDIA ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อดัชนี หากหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลดลง ดัชนีก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้ว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจะยังคงมีผลประกอบการที่ดีอยู่ก็ตาม
พลาดโอกาสจากหุ้นเล็ก: เนื่องจากหุ้นขนาดเล็กมีน้ำหนักในดัชนีน้อย ดัชนีแบบ Market-Cap Weighted อาจพลาดโอกาสในการเติบโตจากหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งอาจมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะกระทิง และนักลงทุนมีความเชื่อมั่นสูง
2️⃣ S&P500 Equal Weight: ทุกตัวเท่ากันหมด
📊 Concept: ดัชนีแบบ Equal Weight เป็นแนวคิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยจะให้น้ำหนักกับหุ้นทุกตัวในดัชนีเท่าๆกัน (0.2%) โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าตามราคาตลาด นั่นหมายความว่า บริษัทเล็กๆ อย่าง Etsy จะมีน้ำหนักในดัชนีเท่ากับบริษัทมหาชนอย่าง Apple ซึ่งเป็นการกระจายการลงทุนอย่างแท้จริง และลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่
✅ ข้อดี
ลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัว: การกระจายน้ำหนักอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการที่หุ้นขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัว มีอิทธิพลต่อดัชนีมากเกินไป ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความสมดุลมากขึ้น และลดความผันผวนในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอนสูง
โอกาสเติบโตจากหุ้นเล็ก: ดัชนีแบบ Equal Weight เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการเติบโตของหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งอาจมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว และบริษัทขนาดเล็กมีโอกาสเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
กระจายการลงทุน: ดัชนีแบบ Equal Weight ช่วยกระจายการลงทุนในหลากหลาย Sector ลดความเสี่ยงจากการที่ Sector ใด Sector หนึ่ง เกิดปัญหา เช่น หาก Sector เทคโนโลยี ประสบปัญหา ดัชนีแบบ Market-Cap Weighted จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ในขณะที่ดัชนีแบบ Equal Weight จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
ทยอย Take Profit: ทุกครั้งที่มีการปรับสมดุล (Rebalance) ซึ่งมักจะทำเป็นประจำทุกไตรมาส จะมีการขายหุ้นที่ราคาขึ้นมาก และซื้อหุ้นที่ราคาปรับตัวลง ซึ่งมองได้ว่าเป็นการทยอย Take Profit จากหุ้นที่เติบโตได้ดี และเข้าซื้อหุ้นที่ราคาถูก โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรในระยะยาว
❌ ข้อเสีย
ผลตอบแทนผันผวน: เนื่องจากให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดเล็กมากกว่า ทำให้ดัชนีแบบ Equal Weight มีความผันผวนมากกว่าดัชนีแบบ Market-Cap Weighted โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนบางราย รู้สึกไม่สบายใจ
ค่าธรรมเนียมสูง: กองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนีแบบ Equal Weight มักมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการที่สูงกว่า เนื่องจากต้องมีการปรับพอร์ตบ่อยครั้ง เพื่อรักษาน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวให้เท่ากัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่นักลงทุนต้องจ่าย
จำกัดโอกาสการเติบโต: ในทางกลับกัน การ Rebalance อาจเป็นดาบสองคม ที่ทำให้พลาดโอกาสในการถือครองหุ้นที่เติบโตได้ดี หรือผู้ชนะ (Winners) ในระยะยาว เพราะต้องขายหุ้นเหล่านี้ออกมาเพื่อรักษาน้ำหนักให้เท่ากัน และในขณะเดียวกันก็ต้องนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่ราคาตก หรือ ผู้แพ้ (Losers) ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง
🤔 แล้วควรลงทุนในแบบไหนดี?
1️⃣ รูปแรก | เราจะเห็นว่าการเติบโตของ Vanguard S&P500 ETF (VOO) ซึ่งเป็นแบบ Market-Cap Weight มีผลตอบแทนที่ดีกว่า Invesco S&P500 Equal Weight (RSP) ในระยะยาว
สาเหตุเดาไม่ยาก เพราะในช่วงที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่ม Mag7 มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นมากๆ นำโดยด้าน AI และเทคโนโลยีในช่วงหลัง Covid-19
ขณะที่ตัวอื่นๆที่เหลือ ยังประสบความยากลำบากกับช่วงหลังโควิด และเผชิญกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผลประกอบการยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่มากนัก
2️⃣ รูปสอง | เป็นผลตอบแทนรายปี
จากรูปจะเห็นว่า S&P500 แบบ Market-Cap Weight มีจำนวนปีที่ชนะแบบ Equal Weight อยู่ 8 ปี จากทั้งหมด 15 ปี
ซึ่งถ้าเรานับแค่จำนวนปีถือว่าไม่ต่างกันเยอะ (8 vs 7) แต่ข้อสังเกตุคือ ปีไหนที่ Market-Cap Weight ชนะ มักจะชนะด้วยส่วนต่างที่ค่อนข้างเยอะ
3️⃣ รูปสาม | เป็นผลตอบแทนย้อนหลัง กับความผันผวน
จากรูป เราจะเห็นว่าทุกช่วงเวลาที่เอามา Market-Cap Weight มีผลตอบแทนดีกว่าแบบ Equal Weight หมดเลย
ขณะที่ในแง่ของความผันผวน (Standard Deviation) S&P500 แบบ Market-Cap Weight ก็ยังมีความผันผวนต่ำกว่าแบบ Equal Weight ในช่วง 3 และ 5 ปีเช่นกัน
หรือพูดอีกแบบคือ ณ ตอนนี้ S&P500 แบบ Market-Cap Weight มีผลตอบแทนดีกว่า และมีความผันผวนต่ำกว่า
4️⃣ รูปสี่ | เป็น drawdown หรือการปรับตัวลงจากจุดสูงสุด
รูปนี้เราจะเห็นว่า ระหว่าง S&P500 ทั้ง 2 แบบ มีความเสี่ยงในส่วนนี้ไม่ต่างกันมากนัก ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ
5️⃣ รูปห้า | เป็นการเปรียบเทียบสไตล์หุ้น
จากรูปเราจะเห็นว่า S&P500 แบบ Market-Cap Weight แน่นอนว่าจะมีน้ำหนักเยอะในกลุ่ม Large-Cap Growth และ Large-Cap Value
ส่วนแบบ Equal Weight จะมีความกระจายตัวมากกว่า
6️⃣ รูปหก | เป็นการเปรียบเทียบอุตสาหกรรม
ส่วนที่ต่างกันชัดเจนคือ S&P500 แบบ Market-Cap Weight จะลงทุนหนักในหุ้นเทคโนโลยี โดยนำหนักการลงทุนที่เพิ่มมานั้น เอามาจากกลุ่มที่เติบโตต่ำๆ เช่น Industrial, Real Estate และ Utilities
ส่วนกลุ่มอื่นๆ ถือว่ามีน้ำหนักการลงทุนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
7️⃣ รูปเจ็ด | เป็น Annualized Rolling Return 3 ปี
สำหรับใครที่ไม่รู้จัก Rolling Return นิคกี้อธิบายแบบนี้ึค่ะ
Rolling Return คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนถือครองเป็นระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าจะซื้อเมื่อไหร่
จากรูป จะเป็นผลตอบแทนต่อปีหากเราลงทุนเป็นเวลา 3 ปี ไม่ว่าจะซื้อในช่วงเวลาใดก็ตาม
วิธีคำนวณไม่ยากค่ะ เช่น คำนวณโดยสมมุติว่า เราลงทุนวันที่ 1 มกราคม 2014 เป็นเวลา 3 ปีไปครบกำหนด 31 ธันวาคม 2016, ลงทุนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2014 ไปจนถึง 31 มกราคม 2017, 1 มีนาคม ไปจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2017 ...... เราจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆค่ะ จนวันสุดท้ายคือ วันที่ปัจจุบัน
ดังนั้นกราฟนี้จะบอกเราว่า ถ้าเราลงทุนครบ 3 ปี โดยไม่สนใจว่าจะลงทุนตอนไหน ผลตอบแทนจะมีโอกาสเป็นแบบไหนบ้างนั่นเองค่ะ
จากรูป เราจะเห็นว่า โดยส่วนใหญ่ ถ้าเราลงทุนครบ 3 ปี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนของ S&P500 แบบ Market-Cap Weight ไม่เคยขาดทุน แถมผลตอบแทนต่ำสุดที่ทำได้ก็ค่อนข้างดีเลยทีเดียว (อย่าลืมนะคะว่า ในรูปคือ ผลตอบแทนต่อปีอีกต่างหาก)
ขณะที่ S&P500 แบบ Equal Weight จะมีบางช่วง (น้อยครั้งมาก) ที่ยังขาดทุนได้ค่ะ
พอเราดูเทียบกับทั้ง 2 เส้น สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ S&P500 แบบ Market-Cap Weight มักจะมีผลตอบแทนเหนือว่าแบบ Equal Weight เกือบตลาดเวลา
โดยจะมีแพ้แค่ช่วงสั้นๆเท่านั้น ตามที่ highlight ไว้ในแทบสีเขียว และก็แพ้ไม่เยอะ (แต่ตอนชนะ จะมีช่วงที่ชนะเยอะๆอยู่พอสมควรเลย)
8️⃣ รูปแปด | เป็น Annualized Rolling Return 5 ปี
อันนี้ยิ่งชัดเลยว่า S&P500 แบบ Market-Cap Weight จะชนะแบบ Equal Weight แทบจะตลอดเวลาเลยค่ะ
โดย Equal Weight มีช่วงเวลาที่ดีกว่าเพียงนิดเดียวเท่านั้น ตามแทบสีเขียวค่ะ
9️⃣ รูปเก้า | รูปนี้จะเป็นสถิติ Rolling Return เช่นกัน แต่จะมีตั้งแต่ลงทุน 1 ปี ไปจนถึง 10 ปี
ให้ดูกรอบสีม่วงก่อน เราจะเห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของ S&P500 แบบ Market-Cap Weight ดีกว่าทุกช่วงเวลาค่ะ
กรอบสีเขียว เป็นผลตอบแทนสูงสุดของแต่ละช่วง เราจะเห็นว่า S&P500 แบบ Market-Cap Weight แพ้แบบ Equal Weight แค่ช่วง 1 ปีเท่านั้นค่ะ
กรอบสีแดง เป็นผลตอบแทนต่ำสุดของแต่ละช่วง เราจะเห็นอีกเช่นกันว่า S&P500 แบบ Market-Cap Weight แพ้แบบ Equal Weight แค่ช่วง 1 ปีเท่านั้น
ดังนั้นจากรูป 7-9 เราจะพอสรุปได้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว S&P500 แบบ Market-Cap Weight จะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบ Equal Weight แทบตลอดเวลาค่ะ
🎯 แล้วทำไมมีคนขาย S&P500 แบบ Equal Weight
คำตอบคือ ปัจจุบันตลาดมีความกระจุกตัวสูงที่สุดตลอดกาล นำโดยหุ้น 7 นางฟ้า และมีการคาดการณ์การเติบโตของกำไรในกลุ่ม 7 นางฟ้าจะเริ่มน้อยลง ขณะที่กำไรของอีก 493 ตัวที่เหลือจะเริ่มไล่ตามได้ทัน
ดังนั้นจึงคาดกันว่า S&P500 แบบ Equal Weight อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่นิคกี้เอามาให้ดู เราจะเห็นว่าจากข้อมูลในอดีต โดยส่วนใหญ่แล้ว โอกาสที่แบบ Equal Weight จะชนะแบบ Market-Cap Weight มีน้อยมากๆ และมีโอกาสดีสุดถ้าเราลงทุนแค่ 1 ปีเท่านั้น
แต่ถ้าเราเป็นสาย Buy and Hold (ซึ่งนิคกี้แนะนำว่า นักลงทุนทั่วไปควรทำแบบนั้นนะคะ) และลงทุนนานกว่า 1 ปี เราจะเห็นว่า S&P500 แบบ Market-Cap Weight ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดีกว่า
⚠️ แล้วไม่กลัวเรื่องการกระจุกตัวหรอ
ความเห็นของนิคกี้คือ การกระจุกตัวเกิดจากความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเหล่านั้นค่ะ บริษัทดี ก็มีขนาดใหญ่เป็นเรื่องปกติ ส่วนบริษัทที่แย่กว่า ก็จะมีขนาดเล็กกว่า หรือเราเรียกว่า เป็นการคัดกรองโดยธรรมชาติของตลาดอยู่แล้ว
นอกจากนี้เองนิคกี้ยังมองว่าข้อเสียหลักของ S&P500 แบบ Equal Weight คือ เค้าขายหุ้นที่เป็นผู้ชนะออกตลอดเวลา และเอาเงินไปลงทุนในกลุ่มผู้แพ้ตลอดเวลา ซึ่งก็คงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไม ถึงแพ้แบบ Market-Cap Weight แทบจะตลอดเวลา
อีกเหตุผลคือ การกระจุกตัว ไม่มีใครบอกได้อย่างแม่นยำว่า ตอนนี้มันสิ้นสุดแล้วหรือยัง หรืออาจจะเปลี่ยนจาก 7 นางฟ้า ไปเป็น 20 ตัวก็ได้ ซึ่งก็จะทำให้ S&P500 แบบ Market-Cap Weight ชนะต่อไปอยู่ดี
สาเหตุที่น่าจะเป็นแบบนี้เพราะว่า หุ้นใหญ่ๆทั้งหลายเป็นหุ้นในกลุ่ม Tech หรือกึ่งเทคฯที่มีนวัตกรรม และเค้าสามารถสร้าง S-Curve ใหม่ๆได้เสมอ ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ยังคงเป็น Winner มาได้อย่างยาวนานนั่นเองค่ะ
ไม่เถียงว่า ตัวกลางกับตัวเล็กอาจจะมีลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง แต่สุดท้ายด้วยความใหญ่ของกลุ่ม Winner รวมถึงการมีเงินสดเยอะมากๆ บทสรุปก็มักจะลงเอยด้วยการที่กลุ่ม Winner ทำสินค้าหรือบริการออกมาแข่ง หรือไม่ก็ take over กิจการไปเลย
ซึ่งทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำไม S&P500 แบบ Market-Cap Weight ถึงเป็นผู้ชนะแทบจะตลอดเวลา
🎯 ดังนั้น ลงทุน S&P500 แบบ Market-Cap กันต่อไป ไม่ต้องไปสนใจแบบ Equal Weight หรอกค่ะ นอกจากคุณคิดว่าคุณดวงดีจริงๆ
โฆษณา