29 พ.ย. 2024 เวลา 05:58 • ข่าว

สิงคโปร์เตือนภัย Brushing Mail มิจฉาชีพในคราบเจ้าของร้าน

แอบส่งสินค้าเป็นร้อยโดยที่เราไม่ได้สั่ง
ในปัจจุบันนี้ หลายคนต้องเคยมีประสบการณ์สั่งสินค้าออนไลน์ แจกแพลทฟอร์มชื่อดังๆ ไม่ว่าจะเป็นแอพส้ม แอพฟ้า หรือสารพัดช่องทางโซเชียล แถมบางบ้านอาจจะหัวกระไดไม่เคยแห้ง เพราะมีพนักงานส่งของมาเยี่ยมเยียน ส่งสินค้าให้แทบทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ
แต่ไม่ใช่กับ นาย เทอร์เรนซ์ ฉง หนุ่มใหญ่วัย 46 ปี ชาวสิงคโปร์ ที่การมาส่งของที่หน้าบ้านทำให้เขากับภรรยาต้องปวดหัว เพราะ มีพัสดุสินค้ามากกว่า 100 ชิ้นส่งมาให้เขาถึงบ้านติดต่อกันนานถึง 2 เดือน ล้วนเป็นของที่พวกเขาไม่ได้สั่ง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ คู่สามี ภรรยา ฉง ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในแฟลตใหม่ ที่เพิ่งรีโนเวทโดยเจ้าของเดิมเมื่อ 3 เดือนก่อน แต่หลังจากย้ายเข้ามาได้ไม่กี่สัปดาห์ก็เริ่มมีพัสดุส่งมาถึงบ้านทุกวัน วันละ 3-4 ห่อ ยิ่งเป็นช่วงสิ้นเดือน หรือเทศกาลลดราคา ของยิ่งส่งมามาก บางวันได้รับเกือบ 10 ห่อ ส่วนใหญ่ส่งมาจากแอพขายของชื่อดัง Shopee และ Lazada
1
แม้จะส่งมาให้โดยไม่เก็บเงิน แต่พัสดุเหล่านั้นมีลักษณะแปลกๆ คือระบุสินค้าที่จัดส่งมาว่าเป็นพัดลมเพดานบ้าง กระเป๋าแบรนด์เนมบ้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าบ้าง แต่สิ่งส่งมาเป็นแค่ซอง หรือกล่องเล็กๆ ที่ไม่น่าจะใส่สินค้าที่ระบุไว้ที่หน้าซองได้ ส่วนของที่บรรจุมา ก็ไม่ตรงปก ไม่มีราคา หรือมาเป็นกล่องเปล่าก็มี
เมื่อนายฉง สอบถามไปยังเจ้าของแฟลตคนเก่าที่ย้ายออกไป ก็ได้รับคำตอบว่าพวกเขาไม่รู้เรื่อง และไม่เคยมีใครส่งพัสดุแปลกๆมาที่บ้านมาก่อน เช่นเดียวกับ บริษัทรีโนเวท ก็ไม่เคยได้รับพัสดุในระหว่างที่ทำการปรับปรุงบ้าน และหากนับรวมๆ พัสดุที่ส่งถึงนายฉงในช่วงระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆ ที่เขาย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ ก็มีมากกว่า 100 ชิ้นทีเดียว
2
นายฉง จึงตัดสินใจร้องเรียนไปยังแอพชื่อดัง และได้รับคำตอบว่า น่าจะเป็นพัสดุหลอกลวง ที่เรียกว่า "Brushing Mail" หรือการสร้างออเดอร์สั่งซื้อสินค้าปลอม เพื่อสร้างตัวเลขยอดจำหน่าย และยังใช้บัญชีผู้ซื้อ มาเขียนรีวิวอวยสินค้า สร้างยอด Engagement ให้ร้านติดอยู่อันดับบนๆของร้านค้าแนะนำ
แต่เมื่อมีการ Report มายังแพลทฟอร์มร้านค้า ผู้ดูแลแอพก็จะตรวจสอบ และ แบนร้านค้าๆ ออกจากแพลทฟอร์มไปในทันที แต่ถึงยังไง ร้านค้าเหล่านี้ก็กลับมาเปิดบัญชีชื่อร้านใหม่ หลอกขายของได้อยู่ดี
กรณี Brushing Mail ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับ แอพส้ม แอพฟ้า ในสิงคโปร์เท่านั้น แต่มีมาระยะหนึ่งแล้ว และเคยเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศทางฝั่งยุโรป ที่เริ่มเห็นเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2019 จากลูกค้าเว็บ Amazon และ eBay ที่ได้ของที่ตัวเองไม่ได้สั่ง แต่ไม่มีรายงานเรื่องการแฮ็ค บัญชีผู้ใช้ หรือแอบใช้ข้อมูลบัตรเครดิตมาซื้อสินค้า จึงยังไม่เป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไร นอกจากเรื่องขำๆ
แต่การระบาดของ Brushing Mail เริ่มกลายเป็นเรื่องขำไม่ออก เมื่อราวเดือนกรกฎาคม 2020 มีบริษัทจีนแห่งหนึ่งได้ส่งพัสดุเป็นเมล็ดพืชลึกลับ แต่จ่าหน้าซองว่าเป็นต่างหู จำนวนหลายพันห่อกระจายไปที่ต่างๆ ทั่วโลก สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้รับสินค้าว่าจะเป็นการก่อการร้ายทางชีวภาพหรือไม่ จึงทำให้ "Brushing Mail" กลายเป็นประเด็นร้อน จนทางรัฐบาลจีนต้องระบุในกฎหมาย e-Commerce ว่าการส่งพัสดุปลอมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
1
แต่ถึงการส่งพัสดุไม่พึงประสงค์จะไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ แก่ผู้รับนอกจากความรำคาญ ไบรอัน ตัน ประธานหน่วยงานมาตรฐานการโฆษณาแห่งสิงคโปร์ แนะนำว่า ควรร้องเรียนไปยังแพลทฟอร์มต้นสังกัดของร้านค้า ให้จัดการปิดเพจร้านค้าออนไลน์ที่เข้าข่ายหลอกส่งพัสดุเพื่อปลอมยอดขาย และ รีวิว
1
ส่วนผู้ซื้อก็ควรใช้วิจารณญาณเพิ่มมากขึ้นในการเลือกสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าใดๆ ที่ตอนนี้จะดูแค่ยอดขาย หรือ รีวิวจากลูกค้าคนก่อนๆอย่างเดียวไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะรีวิวที่มีการอวยหนักจนผิดสังเกต แต่ใช้สำนวนภาษาลักษณะเดียวกัน ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน
แต่ทั้งนี้ นี่เป็นกรณีที่เรียกว่า "Brusing Mail" มีเจตนาปั๊มยอดขาย ยอดรีวิวเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นกรณีที่บ้านเราเจอบ่อยกว่าคือ สั่งทอง ได้ถั่ว สั่ง iPhone ได้อะไรมาก็ไม่รู้ แถมมาเนียนเก็บเงินปลายทางอีก อย่างนี้เรียกตั้งใจโกงแบบซึ่งๆหน้า แจ้งผู้ดูแลแอพอาจไม่ทันใจ ให้แจ้งตำรวจดีกว่า
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา