2 ธ.ค. เวลา 03:30 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา Olympus หนึ่งในคดีฉ้อโกงสุด ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ช่วงทศวรรษ 1980 ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังทำสงครามการค้ากับญี่ปุ่น ที่กำลังรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าความรุ่งเรืองนี้ กลับเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ
บริษัทชื่อดังของญี่ปุ่นหลายบริษัท ถูกฟ้องร้องในข้อหาการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา
รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าญี่ปุ่นนั้นบิดเบือนค่าเงิน และแทรกแซงหลายอุตสาหกรรม จนทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ นั้นอ่อนแอ..
1
สหรัฐฯ ได้เรียกคู่ค้า ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ
เข้ามาทำสนธิสัญญา Plaza Accord เพื่อแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้อ่อนตัวลง เพื่อที่จะส่งออกสินค้าของตัวเองไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ก็ยังตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น จนญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และพ่ายแพ้ในสงครามการค้าครั้งนั้น
ผลของมันคือ การแช่แข็งญี่ปุ่น และเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่นำญี่ปุ่นเข้าสู่ทศวรรษที่สาบสูญ..
ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้ธุรกิจแนวหน้าในญี่ปุ่น ต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
เพื่อที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป หลายธุรกิจเลือกเข้าไปลงทุนและเก็งกำไรในทรัพย์สินทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อนุพันธ์ หรือพันธบัตร
หนึ่งในบริษัทที่หันมาโฟกัสกับการเทรด จนเรียกได้ว่าอาจจะมากกว่าการทำธุรกิจหลัก ก็คือ “Olympus” บริษัทผลิตกล้องถ่ายรูปที่เรารู้จักกัน
แต่ทว่า Olympus กลับขาดทุนจากการเทรด และพยายามซ่อนผลการขาดทุนนั้น จนบานปลายกลายเป็นมหกรรมการฉ้อฉลระดับชาติ
และกลายเป็นว่า CEO ที่พยายามเตือนและหาวิธีแก้ไขนั้นก็ถูกไล่ออกภายใน 2 สัปดาห์..
แล้วเบื้องหลังหนึ่งในคดีฉ้อโกง ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกว่าถึงแม้ Olympus นั้น จะเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ผลิตกล้องและอุปกรณ์ในการถ่ายรูปมาก
แต่พอมาเป็นเรื่องของการลงทุนหรือการเก็งกำไรแล้ว Olympus ก็ทำได้ไม่ค่อยดีนัก
2
เริ่มจากการขาดทุนน้อย ๆ ตั้งแต่การเป็น Venture Capital ที่พลาดท่าไปลงทุนในบริษัทแชร์ลูกโซ่ จนไปถึงการขาดทุนจากการเก็งกำไรในอนุพันธ์ดอกเบี้ย ค่าเงิน และตราสารต่าง ๆ
พอเริ่มขาดทุนมากขึ้น Olympus ก็เริ่มพยายามเอาคืนด้วยการเพิ่มขนาดการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อมาชดเชยผลการขาดทุนก่อนหน้า
แต่ผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่า Olympus นั้น ยิ่งขาดทุนหนักกว่าเดิมไปอีก..
ในปี 1998 Olympus มีผลการขาดทุนสะสม จากการลงทุนและการเก็งกำไรในสินทรัพย์ทางการเงิน ประมาณ 100,000 ล้านเยน
ทว่าข้อมูลเหล่านี้ยังถูกซุกปิดเอาไว้ ไม่ให้คนภายนอก หรือแม้แต่ผู้ถือหุ้นก็ตามรับรู้
เพราะมาตรฐานการบันทึกบัญชีในตอนนั้น Olympus ใช้วิธีการบันทึกมูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ ตามต้นทุนที่ตัวเองซื้อ ไม่ใช่ราคาตลาดจริง ๆ
1
จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ออกกฎให้เปลี่ยนมาตรฐานการบันทึกบัญชี Olympus จึงต้องหาวิธีโอนถ่ายสินทรัพย์เหล่านี้ออกจากบริษัท เพื่อปกปิดความเสียหาย
โดยใช้วิธีการฉ้อฉลต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมน ร่วมทำธุรกรรมกับธนาคารในลิกเตนสไตน์ เพื่อโอนถ่ายทรัพย์สิน
2
การเข้าซื้อกิจการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทของตัวเอง โดยบวกราคาเข้าไปเยอะ ๆ รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียมให้ที่ปรึกษาทางการเงินสูงมาก จนผิดปกติ
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นปราศจากการตั้งคำถามจากภายใน และดำเนินไปได้ด้วยดี โดยทางคณะกรรมการบริษัท ก็คอยหาผู้บริหารที่สามารถเข้ามาสานต่อธุรกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ให้ลุล่วง
จนกระทั่งในปี 2011 คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งนายไมเคิล วูดฟอร์ด ชาวอังกฤษที่เป็นพนักงานลูกหม้อของ Olympus Europe ที่ทำงานมาอย่างยาวนาน ขึ้นมาเป็น CEO ของเครือ
ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะอย่างที่รู้กันว่าการแต่งตั้งชาวต่างชาติ ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในบริษัทญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีให้เห็น
โดยทางคณะกรรมการบริษัทนั้น ก็ได้หมายมั่นว่า นายวูดฟอร์ด จะสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามที่ตัวเองต้องการ
หลังจากฉลองการเข้ารับตำแหน่ง CEO ได้ไม่นาน นายวูดฟอร์ด ก็เร่งทำงานเพื่อให้สมกับที่ได้รับตำแหน่งสำคัญนี้
นายวูดฟอร์ด ได้เข้าไปตรวจสอบตัวเลขทางการเงินของบริษัท และไม่นาน ก็ได้พบกับเรื่องราวไม่ชอบมาพากลเป็นจำนวนมาก
2 สัปดาห์ต่อมา เขาได้ทำจดหมายเพื่อส่งคำเตือนเหล่านั้น ไปยังคณะกรรมการบริหารบริษัท
ผลคือ เขาถูกไล่ออกทันที..
นายวูดฟอร์ด จึงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องข้อสงสัยทางการเงินของเขาในบริษัท Olympus กับทางสื่อ ทำให้หุ้นของบริษัทถูกเทขายอย่างหนัก
1
ภายในช่วงระยะเวลาเกือบ 1 เดือน
ราคาหุ้นของ Olympus ร่วงลงไปเกือบ 80%
และต่อมา จึงได้มีการตั้งคณะสืบสวนขึ้นมาตรวจสอบเส้นทางการเงินของ Olympus ซึ่งทางบริษัท ได้ยอมรับผิดในเรื่องการตกแต่งบัญชี
ประธานบริษัทและคณะกรรมการบางคนต้องออกจากบริษัท และถูกฟ้องปรับเงินหลายหมื่นล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ต้องเข้าคุก
ในขณะที่นายหน้าขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลายคน โดนจำคุก ส่วนตัวบริษัทนั้น มีการปรับลดพนักงานและโครงสร้างบริษัทใหม่
ซึ่งไม่กี่ปีให้หลัง Olympus ก็ฟื้นตัวและกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม จากธุรกิจอีกขาของบริษัทอย่าง เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ราคาหุ้นของ Olympus ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ มูลค่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
เรื่องราวในครั้งนี้ กลายเป็นเรื่องราวการฉ้อฉลครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
เพราะพฤติกรรมการอำพราง ฟอกเงิน และตกแต่งบัญชีของคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารนั้น กินระยะเวลายาวนานหลายสิบปี
ทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนาน
แต่สุดท้าย เมื่อตัดเนื้อร้ายออกไป บริษัทก็กลับมาเติบโตและเฉิดฉายได้อย่างที่มันควรจะเป็น..
โฆษณา