Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai VI
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
30 พ.ย. เวลา 05:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
โกงกันมาก-แก้ยังไง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร : สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
ช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าจะมีกรณีการ “โกง” ครั้งใหญ่ ๆ ระดับ “พันหรือหมื่นล้านบาท”เกิดขึ้นมากในสังคม และคนที่โกงก็ดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงและมีเงินมาก บางคนในระดับ “ซุปตาร์” หรือ “มหาเศรษฐี” นอกจากนั้น ก็เป็นทั้งคน “รุ่นใหม่” และ “รุ่นเก่า” เกิดอะไรขึ้น? และจะแก้ไขกันอย่างไร?
4
ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น มาทบทวนกันว่าทำไมคนจึงโกงเสียก่อน คำตอบของผมก็คือ คนนั้นมี “ยีนโกง” กันทุกคน เพราะคนที่ไม่โกงเลยตั้งแต่สมัยหมื่นปีแสนปีนั้น ตายหรือสูญพันธุ์กันไปหมดแล้ว มนุษย์ที่เหลือรอดอยู่นั้นจะต้องมี “ยีนโกง” กันทุกคนถึงจะเอาตัวรอดได้ และนี่ก็เหมือนกับยีนอื่น ๆ ที่ติดอยู่กับตัวมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เช่น “ยีนโลภ” “ยีนโกรธ” “ยีนหลง” และที่สำคัญที่สุดก็คือ “ยีนเห็นแก่ตัว” ที่เป็น “ยีนแม่ของทุกยีน” ที่กล่าวถึง
1
แน่นอนว่าคนก็ยังมียีนที่ “ไม่เห็นแก่ตัว” อยู่ด้วย แม้ว่ามันจะน้อยกว่า เช่นเดียวกับยีนที่ “ไม่โกง” และอื่น ๆ ที่จะกระตุ้นให้คนเราทำและแสดงออกให้เพื่อนมนุษย์เห็น เพราะว่าเราเป็น “สัตว์สังคม” ที่ต้องอยู่กับคนอื่น ๆ ถึงจะเอาตัวรอดได้ เราจะต้องแสดงตนว่าเป็น “คนดี” ซึ่งต้อง “ไม่โกง” หรือถ้าโกงก็ต้องพยายามไม่ให้ถูกจับได้
1
ในเมื่อคนมียีนโกงอยู่ในตัวทุกคน คนจะโกงเมื่อไร? และโกงแค่ไหน? หรือคนที่จะโกงนั้นจะต้องเป็นคนที่มี “สันดานโกง” หรือมี “ยีนโกง” มากกว่าหรือแรงกว่าคนอื่นหรือเปล่า? มีไหมประเภทว่าเป็น “คนดี” จริง ๆ ที่ไม่โกงเลย หรือคนที่เก่งหรือรวยมากอยู่แล้วที่จะไม่โกงเลย คำตอบของผมจะเป็นเรื่องของ “หลักการ” ที่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามเหล่านั้นได้
ข้อแรกก็คือ คนจะโกงก็ต่อเมื่อเขาประเมินแล้วว่า “ผลตอบแทน” ที่จะได้รับหากโกงสำเร็จจะสูงมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งของตนเอง ในขณะที่ “ความเสี่ยง” จากการ “ถูกจับได้” และ “โทษทัณฑ์” ที่จะได้รับมากน้อยแค่ไหน นี่ก็คือ “Risk- Reward Ratio” หรือ “สัดส่วนผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง” ที่นักการเงินใช้ในการประเมินว่าจะลงทุนกับตราสารการเงินต่าง ๆ เช่นหุ้นและพันธบัตรหรือไม่
2
พูดง่าย ๆ เงินที่จะได้รับนั้นคุ้มค่าที่จะโกงหรือไม่ ถ้าเขาวิเคราะห์แล้วว่าโกงแล้วจะได้เงินน้อยเช่น ได้แค่ 1-2 ล้านบาท แต่ความเสี่ยงจะต้องติดคุกสูงและหนัก เขาก็จะไม่โกง
ตรงกันข้าม ถ้าโกงแล้วได้เงินมาก เช่นในกรณีของการปั่นหุ้นหรือ ซื้อ-ขายหุ้น หรือหลอกลวงคนเข้ามาเล่น “แชร์ลูกโซ่” ที่อาจจะทำให้ได้กำไรเป็นร้อยหรือพันล้านบาท แต่โอกาสถูกจับน้อย หรือถึงจะถูกจับได้ก็อาจจะถูกลงโทษไม่แรง แบบนี้คนก็จะทำ อย่างไรก็ตาม นี่ก็นำมาสู่เงื่อนไขข้อที่สองนั่นก็คือ
2
คนจะโกงจะต้องมีความสามารถหรือมีกำลังหรือพลังที่จะทำได้ และต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ซึ่งในปัจจุบันผมคิดว่ามีอยู่ 2 ประเด็นก็คือ 1) เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวกับการโอนเงินและสื่อสังคมที่ก้าวหน้ามาก ที่สามารถโกงเงินจากคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และ 2) คือเรื่องของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และตามไม่ทันความก้าวหน้าของการโกง
1
ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นทำให้ผลตอบแทนของการโกงสูงขึ้นมากในขณะที่ความเสี่ยงของการถูกจับและโทษที่ได้รับอยู่ในระดับเท่าเดิมหรือลดลง ผลก็คือ ธุรกิจของการโกง “โตระเบิด” อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ลองมาดูตัวอย่างของการโกงซัก 2-3 เรื่องที่เป็นการโกง “ยอดฮิต” ที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เรื่องแรกก็คือ การปั่นหุ้นด้วยการ “Corner หุ้น” ที่คนทำ “กวาด” ซื้อหุ้นที่มี “Free Float” หรือมี “หุ้นหมุนเวียน” ในตลาดน้อย เช่น มีแค่ 25-30% ของหุ้นทั้งบริษัท จนเกือบหมดตลาด ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงมากขนาดหลายเท่าตัวในเวลาแค่ไม่กี่เดือนหรือแค่ปีหรือสองปีและเป็นราคาที่แพงผิดปกติมาก
ผลตอบแทนที่ได้รับจากการคอร์เนอร์หุ้นมักจะสูงมาก การทำกำไรระดับพันล้านบาทในระยะหลัง ๆ เป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระดับมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทเพิ่มขึ้นมาก บางตัวที่ใหญ่จริง ๆ อาจจะขึ้นไปถึง “ล้านล้านบาท” ตัวที่รอง ๆ ลงมาบางทีก็มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นสูงขึ้นไประดับหมื่นหรือแสนล้านบาท
1
แต่ความเสี่ยงที่จะถูกจับได้และถูกลงโทษตามกฎหมายกลับไม่มีเพราะไม่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่บอกว่าการ Corner เป็นสิ่งที่ผิดหรือห้ามทำ ความเสี่ยงเดียวที่มีดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของการที่ “Corner แตก” คือราคาหุ้นถล่มทลายก่อนที่คนทำจะขายหุ้นหมด อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เขาจะขาดทุนก็มักจะน้อยมาก เพราะเขามักจะขายทำกำไรได้ก่อนที่จะเกิด “หายนะ” ของหุ้น
2
ดังนั้น การโกงด้วยการปั่นหุ้นด้วยการทำคอร์เนอร์จึงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เมื่อมีโอกาสหรือมีตัวหุ้นที่เข้าข่ายสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ คนที่จะทำได้ต้องเป็นคนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่ และบางทีก็ต้องมีฝีมือและบารมีพอที่จะทำ ต้องมีคนที่เกี่ยวข้องเช่นนักวิเคราะห์และสื่อช่วยสนับสนุน เป็นต้น
ตัวอย่างการโกงเรื่องที่สองก็คือการหลอกลวงให้ลงทุนซื้อ-ขาย หุ้น เหรียญดิจิทัล และตราสารการลงทุนต่าง ๆ ผ่านการโฆษณาทางสื่อสังคมเช่น ไลน์หรือเฟซบุคสำหรับคนที่ต้องการลงทุนแต่ยังไม่มีความรู้เพียงพอ วิธีการก็คือการชักชวนโดยการแอบอ้างบุคคลหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงหรือแม้แต่หน่วยงานเช่นตลาดหลักทรัพย์ว่าเป็นคนที่จะให้ความรู้และแนะนำการลงทุนที่สามารถทำกำไรได้อย่างสูงและแน่นอน พอ “เหยื่อ” หลงกลเข้าไปติดต่อก็จะถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อเข้าไปลงทุนในแพลทฟอร์มของคนโกงซึ่งจะถูกโกงเงินไปจนหมด
4
ความเสี่ยงของคนโกงด้วยวิธีนี้ค่อนข้างจะต่ำ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมี “ฐาน” ที่เป็นเว็บไซ้ต์อยู่ในต่างประเทศ เจ้าของบัญชีที่ใช้รับเงินจากเหยื่อเองนั้นก็มักจะเป็น “บัญชีม้า” ที่คนโกงจ้างคนที่อาจจะไม่รู้เรื่องราวอะไรไปเปิดไว้เพื่อให้คนโกงรับและโอนเงินออกไปอย่างรวดเร็วและทางการจับไม่ได้
1
และเนื่องจากการโกงด้วยวิธีนี้ทำได้ง่ายและไม่ต้องอาศัย “ทุน” ในการทำมากนัก จึงมีคนทำกันมากมายนับเป็นร้อย ๆ ราย อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหลอกลวงผู้คนว่าคนทำเก่งแค่ไหน และเงินที่ได้รับส่วนใหญ่ก็อาจจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น
1
ตัวอย่างที่สามที่เป็นการโกงที่ “High Profile” หรือดังมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ เพราะเกี่ยวข้องกับดาราและเหล่าเซเล็บทั้งหลายก็คือการโกงที่เป็นแนว “แชร์ลูกโซ่” หรือการชักชวนให้ลงทุนในสิ่งของที่ “ไม่มีตัวตน” หรือ “ไม่มีค่า” แต่ได้ผลตอบแทนที่ดีมาก แต่ผลตอบแทนนั้นมาจากการดึงเงินลงทุนจาก “นักลงทุนคนใหม่” มาจ่ายให้นักลงทุนคนเก่าเป็นทอด ๆ คล้าย ๆ กับ “ลูกโซ่” ที่คล้องต่อกันมาเป็นพรวน
การโกงด้วยวิธีแชร์ลูกโซ่นั้น มักจะได้ผลตอบแทนที่สูงและเร็วมากเนื่องจาก “เหยื่อ” จะดึงดูด “เหยื่อ” รายใหม่ให้เข้ามาลงทุนเพราะตนเองจะได้ผลตอบแทนจากเหยื่อรายนั้นด้วย และด้วยประสิทธิภาพของสื่อสังคมในปัจจุบัน การดึงดูดหรือชักจูงคนโดยเฉพาะจากดาราและคนที่มีชื่อเสียงก็ทำได้ง่าย
ความเสี่ยงของการถูกจับและโดนลงโทษในกรณีของแชร์ลูกโซ่นั้น ดูเหมือนว่าจะสูง อย่างไรก็ตาม วิธีการของแชร์ลูกโซ่ “ยุคใหม่” กับวิธีการค้าขายแบบ “การตลาดหลายชั้น” ที่ไม่ผิดกฎหมายนั้น ใกล้เคียงกันมาก สิ่งที่ต่างกันก็อาจจะเป็นแค่ว่าสินค้าที่ขายนั้น “มีค่า” หรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่มีค่ามีความต้องการจริงจากผู้ใช้ ก็ถือว่าไม่ใช่แชร์ลูกโซ่และไม่ผิดกฎหมาย
3
ประเด็นก็คือ คนที่ทำก็อาจจะตีความว่าสินค้าของตนนั้น “มีค่า” สามารถรักษาหรือให้ประโยชน์แก่ผู้ใช้จริง อย่างน้อยก็ทางด้านจิตใจ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้แตกต่างกับสินค้าของบริษัทอื่นที่ก็ทำมาช้านานโดยที่ไม่มีความผิด และดังนั้น จึงไม่เสี่ยงที่จะถูกจับ
3
วิธีที่จะแก้ไขไม่ให้มีการโกงกันมากในสังคมนั้น ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือการปรับ กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้การโกงทำได้ยากขึ้น ตัวอย่างก็เช่น การปั่นหุ้นด้วยวิธีการทำคอร์เนอร์นั้น ก็ต้องไม่ให้ทำได้ง่าย เกณฑ์เรื่องแชร์ลูกโซ่ก็ควรที่จะชัดเจน เป็นต้น ส่วนเรื่องการโกงผ่านสื่อดิจิทัลนั้น รัฐก็ควรจะต้องมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบตั้งแต่แรกว่าเว็บหรือสื่อไหนโกง ก็ต้องรีบจัดการทันที เป็นต้น
1
ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ จะต้องปรับ “Risk-Reward Ratio” ของการโกงทุกเรื่อง นั่นก็คือ ทำให้ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการโกงต่ำลง และเพิ่มความเสี่ยงจากการถูกจับและการลงโทษจากการโกงสูงขึ้น ซึ่งนั่นก็จะทำให้การโกงและการคอร์รับชั่นของไทยลดลงอย่างถาวรด้วย
1
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงการโกงครั้งมโหฬาร “หลายแสนล้านบาท” ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียตนามที่กำลังถูกตัดสินให้ประหารชีวิตว่า อนาคตคงไม่มีใครกล้าทำอีก เพราะความเสี่ยงของการโกงในตลาดหุ้นเวียตนามนั้น สูงลิ่วถึงชีวิต ได้เงินเท่าไรก็ไม่คุ้ม
ประชาสัมพันธ์ - ตอนนี้เว็บบอร์ด Thai VI เปิดให้สมัครสมาชิกและทดลองใช้ได้ฟรี 30 วันแล้ว! เข้าไปสมัครกันได้เลยครับที่
www.ThaiVI.org
64 บันทึก
73
1
95
64
73
1
95
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย