30 พ.ย. เวลา 12:24 • สุขภาพ

ความจนที่คนรวยอยากได้

คิดว่าหลายคนยังไม่แน่ใจว่า เอาอะไรมาวัดว่าคนไหนจนคนไหนรวย ว่ากันตามความเข้าในของคนทั่วไป คนจนคือคนที่มีรายได้น้อย ถามว่าน้อยแค่ไหน ก็บอกไม่ได้อีก
คนรวยก็ต้องมีรายได้มากใช่ไหม แล้วมากแค่ไหน จึงถือว่ารวย
ตามความหมายทางการเงิน จะใช้คำว่า “ความอยู่รอด”วัดความจน และ “ความมั่งคั่ง” วัดความรวย
แค่คำอธิบายอาจจะไม่ชัดพอที่จะเข้าใจ ต้องใช้คณิตศาสตร์เบื้องต้น บวกลบคูณหารนิดหน่อย จะได้เห็นข้อเปรียบเทียบชัดเจนยิ่งขึ้น
สูตรแรก เราเรียกว่า อัตราความอยู่รอด ให้เอารายได้ทั้งหมด หารด้วยรายจ่าย ได้คำตอบเท่าไร เรียกว่าอัตราความอยู่รอด
รายได้ทั้งหมดมาจากการทำงาน ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากสินทรัพย์ที่เกิดดอกออกผล เช่นค่าเช่า ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผลจากหุ้น หรือการลงทุนอื่นๆ
ผลลัพธ์ที่ได้จะมี 3 แบบ
ต่ำกว่า 1 เท่ากับ 1 และมากกว่า 1
อัตราความอยู่รอดต่ำกว่า 1 แปลความหมายว่า อยู่ไม่รอด คนที่มีรายได้แค่นี้แหละคือ “คนจน”
ได้คำตอบ เท่ากับ 1 แค่พออยู่ได้
ส่วนคำตอบที่มากกว่า 1 ถือว่าอยู่รอดได้แน่นอน กรณีนี้ถือว่าเข้าขั้นเป็นคนรวย หรือมั่งคั่ง
มาดูกันต่อว่า ความมั่งคั่งหรือความรวย รวยมากรวยน้อยวัดกันอย่างไร
สูตรที่ 2 สูตรความมั่งคั่ง ให้เอารายได้เฉพาะจากสินทรัพย์ ตัดรายได้จากการทำงานออก แล้วหารด้วยรายจ่าย
ถ้าผลลัพธ์อัตราส่วนความมั่งคั่งที่ออกมามากกว่า 1 ก็แสดงว่า แม้ไม่ทำงาน เราก็มีรายได้จากสินทรัพย์มากพอที่จะใช้จ่าย และใช้ชีวิตได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร
แบบนี้ถือได้ว่า เรามี “อิสรภาพทางการเงิน” แล้วนั่นเอง
แต่ตามความหมายของรัฐบาล จะใช้เฉพาะรายได้มาเป็นเส้นแบ่งคนจนคนรวย (Poverty Line)
ปัจจุบันใช้รายได้เฉลี่ยทั้งประเทศต่อเดือนที่ 2,802 บาท มาเป็นเส้นแบ่งคนจนคนรวย ใครมีรายได้ต่ำกว่านี้ถือว่าจน
ถ้ามองในรายละเอียดลงไปอีก ตามค่าครองชีพแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากัน จะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครมีค่าครองชีพสูงที่สุด จะใช้รายได้ 3,308 บาท ต่อคนต่อเดือนเป็นเส้นแบ่ง ส่วนจังหวัดที่ค่าครองชีพต่ำที่สุดคือ เพชรบูรณ์ จะใช้ตัวเลขรายได้ 2,376 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นเส้นแบ่งคนจนคนรวย
ตามข้อมูลสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 สรุปว่า ประเทศไทยมีคนจน 4,404,616 คน คิดเป็น 6.32 % ของประชากรทั้งประเทศ
แต่ความเป็นจริงในปัจจุบัน ปรากฎว่าหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี หนี้เสียจากอสังหาริมทรัพย์ และการเช่าซื้อรถยนต์ นับวันแต่จะเพิ่มขึ้น แบงค์ไม่อนุมัติสินเชื่อ ราคาสินค้าโดยเฉพาะพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อหนักขึ้น แม้ธนาคารจะลดดอกเบี้ย ก็แทบไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาเลย
ถ้าจะวัดความจนกันจริงๆแล้ว ต้องใช้เกณฑ์อัตราความอยู่รอดมาเป็นเส้นแบ่งคนจนคนรวย แล้วจะต้องตกใจ เพราะจำนวนคนจนน่าจะค่อนประเทศ
คนที่จนเงินจนทอง นอกจากหน้าตาหม่นหมอง ท้องแห้งไส้กิ่วแล้ว ยังเป็นที่รังเกียจของผู้คน ไม่มีใครอยากคบค้า
ส่วนคนร่ำรวยเงินทอง มักใช้ชีวิตหรูหรากินอยู่เหมือนเทวดา ใช้ของแบรนด์เนมเป็นที่อิจฉาของผู้ที่ได้พบเห็น
ทุกคนเลยอยากเป็นคนรวย รวยเงินรวยทอง
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การใช้ชีวิตบนความร่ำรวยที่ขาดระเบียบวินัย ก็กลายเป็นผลเสียได้เหมือนกัน
หากไม่ระมัดระวังเรื่องการกิน กินดีอยู่ดีเกินไป แล้วไม่ยอมออกแรงเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไป กลายเป็นไขมันสะสมไว้เต็มหน้าท้อง เพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นเรื่อยๆถึงจุดหนึ่งจะกลายเป็นคนอ้วน
ตรวจสอบตัวเองเบื้องต้นว่าน้ำหนักตัวได้มาตรฐานหรือเปล่า ด้วยการหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI : Body Mass Index) เอาน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงหน่วยเป็นเซ็นติเมตรยกกำลังสอง ได้คำตอบเท่าไร คือตัวชี้วัดความอ้วนผอม
ต่ำกว่า 18.5 ผอม ระหว่าง 18.5 - 22.9 ปกติ 23 - 24.9 ท้วม 25 - 29.9 อ้วน และสูงกว่า 30 อ้วนขั้นวิกฤติ
คนที่เก็บสะสมเงินทองไว้มากๆ เราเรียกว่าคนรวย รวยเงินทอง
ส่วนคนที่เก็บสะสมไขมันไว้มากๆ ก็ถือว่าเป็นคนรวยเหมือนกัน รวยไขมัน
รวยเงินทอง ทุกคนอยากรวย แต่รวยไขมัน กลับเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่เป็นที่ต้องการ ร้ายไปกว่านั้นสะสมไขมันไว้นานๆจะกลายเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่อีกหลายโรค
โรคอ้วน (Obesity disease) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุนำไปสู่โรคอื่นๆ อีกมากมาย
สหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญกับความอ้วน ด้วยการกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้คนได้รู้ถึงภัยอันตราย และเข้าใจวิธีการรักษาที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้
รายงานจากสหพันธ์โรคอ้วน ในปี 2563 พบว่าผู้คน 1,900 ล้านคนทั่วโลกมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักเกินและอ้วน ในจำนวนนั้นเป็นโรคอ้วนถึง 1,000 ล้านคน หรือทุกๆ 7 คน จะมีคนเป็นโรคอ้วน 1 คน
กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าปี พ.ศ. 2566 คนไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วนเกือบ 32 ล้านคน และในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน หรือทุกๆ 3 คนจะมีคนเป็นโรคอ้วน 1 คน ซึ่งสูงกว่าสถิติโลกถึง 2 เท่า
ปัจจุบันคนไทยมีภาวะโรคอ้วนเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย
โรคอ้วน เป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ชักนำไปสู่โรคอื่นๆ มากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคข้ออักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคนอนไม่หลับ โรคสมองเสื่อม และมะเร็ง
ปัจจุบันสถิติคนไทยเสียชีวิตจาก โรคหัวใจ เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และจากโรคมะเร็ง ชั่วโมงละ 16 คน
ความน่ากลัวที่สุดของโรคอ้วน คือผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรค จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ ต่างจากโรคอื่นๆ ที่อาการจะแสดงออกมาให้เห็น ส่งสัญญาณให้ต้องไปพบแพทย์ แต่โรคนี้จะค่อยๆก่อตัวจึงกลายเป็นมัจจุราชเงียบ ที่คร่าชีวิตผู้คนโดยไม่รู้ตัว
คนรวยไขมันจึงยอมควักเงินไปซื้อบริการลดความอ้วน ลดไขมันลง จะได้จนไขมัน ฟิตเนสขายคอร์สความจนจึงขายสินค้าประเภทนี้ได้มาก เพราะคนอ้วนเต็มเมือง
การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดีแล้ว ไม่ต้องเปลืองเงินเปลืองทองไปซื้อความจน
ความจนที่ทั้งคนรวยและคนจนอยากได้ หากคนๆนั้นอ้วน
โดย.. พี่ชื่อวิช
โฆษณา