30 พ.ย. เวลา 15:03 • ธุรกิจ

เจาะลึก! การ Transition 6 อุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ปรับตัวอย่างไร? ให้เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

"วิกฤตโลกร้อนจนกลายเป็นโลกเดือด" อุตสาหกรรมไทยยืนอยู่ ณ จุดเปลี่ยนสำคัญแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transition) เมื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกพุ่งสูงถึง 37,400 ล้านตันคาร์บอนฯ (GT CO2eq) เพิ่มขึ้น 0.8% จากในปี 2023 ถือว่าสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ และส่งสัญญาณอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศโลก อุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและฉับพลัน
6 อุตสาหกรรมหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ได้แก่ พลังงาน การขนส่ง ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม และอุตสาหกรรมเกษตร ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมไทยในเวทีการค้าโลก ใครปรับตัวไม่ทัน ไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียว จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่คือยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่ธุรกิจต้องเลือกระหว่างการปรับตัวหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง!
ภาพรวมอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
วันนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย เช่น อุตสาหกรรม เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม การขนส่ง รวมถึงการทำเกษตรกรรม
โดยปี 2024 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 37,400 ล้านตันคาร์บอนฯ (GT CO2eq) เพิ่มขึ้น 0.8% จากในปี 2023 ถือว่าสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ปล่อยออกมาประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากฟอสซิล คิดเป็น 73.7% ของการปล่อยทั้งหมด
จากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ว่า การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังมีการปล่อยสูงขึ้น นั่นหมายถึง เป้าหมายที่ทั่วโลกตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2030 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติ จนเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 อาจไปถึงเป้าหมายได้ยากขึ้น
โดย 6 อุตสาหกรรมหลักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด แบ่งได้ดังนี้
อุตสาหกรรมพลังงาน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อยู่ที่15-17 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า คิดเป็น 35-40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
โดยแหล่งหลักของการปล่อยก๊าซในภาคพลังงาน:
- โรงไฟฟ้าถ่านหิน
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
- การผลิตน้ำมันและก๊าซ
- อุตสาหกรรมการถลุงโลหะ
ส่วนอุตสาหกรรมการผลิต ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมเหล็ก ประมาณ 3.5-4.5 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า คิดเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
2. อุตสาหกรรมคอนกรีตและซีเมนต์ ประมาณ 2.5-3.5 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า คิดเป็น 6% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
3. อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ประมาณ 1-1.5 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า คิดเป็น 2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ขณะที่ อุตสาหกรรมเกษตร มีการปล่อยประมาณ 6-8 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า คิดเป็น 10-12% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยมาจาก การทำปศุสัตว์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การใช้ปุ๋ยและเครื่องจักรกล
สุดท้าย อุตสาหกรรมขนส่ง มีการปล่อยประมาณ 8-10 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า หรือประมาณ 20-25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ความต้องการใช้อลูมิเนียมจะเพิ่มขึ้น 80% ปูนซีเมนต์และคอนกรีตเพิ่มขึ้น 40% และเหล็กเพิ่มขึ้น 30% นอกจากนี้ ความต้องการในการขนส่งทางเรือจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และการขนส่งทางรถบรรทุกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังนั้น ความท้าทายหลักในการลดคาร์บอนในภาคส่วนเหล่านี้ เพื่อไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2050 นั้น จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Geeks for Geeks ระบุว่า มี 10 ประเทศ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ดังนี้
1. จีน จำนวน 10,667 ล้านตัน
2. อเมริกา จำนวน 4,712 ล้านตัน
3. อินเดีย จำนวน 2,441 ล้านตัน
4. รัสเซีย จำนวน 1,577 ล้านตัน
5. ญี่ปุ่น จำนวน 1,030 ล้านตัน
6. อิหร่าน จำนวน 745 ล้านตัน
7. เยอรมนี จำนวน 644 ล้านตัน
8. ซาอุดีอาระเบีย จำนวน 625 ล้านตัน
9. เกาหลีใต้ จำนวน 597 ล้านตัน
10. อินโดนีเซีย จำนวน 589 ล้านตัน
อุตสาหกรรมไหนของไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลก (Climate Watch Data, 2020) ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ภาคพลังงาน
นอกจากนี้ข้อมูลจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยล่าสุด มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 372.71 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยแบ่งเป็นภาคส่วนดังนี้
1. ภาคพลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 69.06 % หรือคิดเป็นปริมาณ 257,340.89 GgCO2eq
- มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมพลังงาน 40.05%
- การขนส่ง 29.16%
- อุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง 20.24%
- อื่นๆ 6.56%
2. ภาคเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15.69% หรือคิดเป็นปริมาณ 58,486.02 GgCO2eq
- มาจากการเพาะปลูกพืชเกษตร 77.57%
- การทำปศุสัตว์ 22.43%
- การเผาไหม้ชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร 2.92%
- การใส่ปุ๋ยยูเรีย 2.86 %
3. ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10.77% หรือคิดเป็นปริมาณ 40,118.14 GgCO2eq
- มาจากอุตสาหกรรมอโลหะ 51.28%
- อุตสาหกรรมเคมี 33.17%
- อุตสาหกรรมที่ใช้สารทำลายชั้นโอโซนที่ 13.33%
4. ภาคการจัดการขยะและของเสีย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.48% หรือคิดเป็นปริมาณ 16,703.68 GgCO2eq
- มาจากกำจัดขยะมูลฝอย 52.53%
- การบำบัดน้ำเสีย 45.71%
- การกำจัดขยะด้วยการเผาในเตาเผา 1.08%
- การบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางชีวภาพเพียง 0.68%
อุตสาหกรรมไหน ได้รับผลกระทบจาก CBAM แล้วบ้าง
ปัจจุบัน CBAM เริ่มนำร่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนจากสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงแล้ว โดยสินค้า 6 ประเภทแรกที่มีผลบังคับใช้ คือ
1) ซีเมนต์ 2) พลังงานไฟฟ้า 3) ปุ๋ย 4) ไฮโดรเจน 5) เหล็กและเหล็กกล้า 6) อะลูมิเนียม โดยมาตรการ CBAM มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ EU ได้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้
- ปี พ.ศ. 2566-2568 (ค.ศ. 2023-2035) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ ‘transitional period’ ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนด โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน
- ปี พ.ศ. 2569-2577 (ค.ศ. 2026-2034) เป็นช่วงบังคับใช้ หรือ ‘definitive period’ ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า และต้องซื้อ CBAM certificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มประเภทสินค้านั้น ๆ ซึ่งในระยะนี้ EU จะทยอยลดสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (Free Allowances) ลง
- ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) เป็นต้นไป เป็นช่วงที่ EU บังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบหรือ ‘full implementation’ โดย EU จะยกเลิกสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ของทุกภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2566-2568) แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศจึงควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เมื่อถึงปี 2569 ผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพร้อมแสดงต่อ EU ทำให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่มีอุปสรรคมาทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย
ตัวอย่างการนำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนของแต่ละอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ เช่น ‘ภาครัฐ’ ใช้วางนโยบายและกฎเกณฑ์สีเขียวสำหรับสินค้าส่งออกและนำเข้า ‘ภาคเอกชน’ ใช้วางแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ‘ภาคการวิจัยและภาคการศึกษา’ ใช้พัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ
แล้วผู้ประกอบการ SME ไทย ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
ผลกระทบระยะสั้น (1-2 ปี)
• ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 15-20% จากการปรับปรุงกระบวนการผลิต
• ค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
• การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหากไม่ปรับตัว
• ผลกระทบต่อการส่งออกโดยเฉพาะตลาด EU จากมาตรการ CBAM
ผลกระทบระยะกลาง-ยาว (3-5 ปี)
• โอกาสทางธุรกิจใหม่จากผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ
• การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว
• การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
• โอกาสในการขยายตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แนวทาง Transition สู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำของ SME ไทย
ภาคพลังงานและการขนส่ง (Priority สูงสุด)
- การปรับเปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
- พัฒนาระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้า
- ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร
อุตสาหกรรมการผลิตหนัก
1. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
- ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuel)
- พัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ
- ติดตั้งระบบดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
2. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
- ปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบไฟฟ้า
- พัฒนาการผลิตโดยใช้ไฮโดรเจนสะอาด
- เพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลเศษเหล็ก
3. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
- พัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based)
- ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
- ลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด
ภาคการเกษตรและอาหาร
- ส่งเสริมเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)
- ลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร
- พัฒนาระบบจัดการปศุสัตว์แบบยั่งยืน
- ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี
กลไกสนับสนุนการ Transition
มาตรการภาครัฐ
- พ.ร.บ. Climate Change
- มาตรการจูงใจทางภาษี
- การสนับสนุนเงินทุนสีเขียว (Green Finance)
- การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต
การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
- การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสีเขียว
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. เร่งพัฒนากรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด
2. สร้างแรงจูงใจทางการเงินและภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนลดการปล่อย GHG
3. พัฒนาระบบการวัด การรายงาน และการทวนสอบ (MRV) ที่มีประสิทธิภาพ
4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิจัย
5. สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ผู้ประกอบการ SME จะไปสู่ Net Zero ควรเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง
หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านมาตรการ CBAM ได้อย่างยั่งยืน คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายเช่นกันว่า ‘ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) โดยแนวทางการไปสู่ Net Zero ผู้ประกอบการ SME ควรเตรียมพร้อมดังนี้
1. จัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ
2. พัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานหรือบริษัท
3. ปรับโครงสร้างพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
4. บริหารกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอน และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Circular Design)
5. เพิ่มสัดส่วนการหมุนเวียนวัสดุ
6. ใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS) และใช้การกักเก็บคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ (Nature Based Solution)
มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์
โดยมีขั้นตอนการประเมิน ดังนี้
1. การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก
Scope 1: การปล่อยโดยตรงจากกระบวนการผลิต
Scope 2: การใช้พลังงานไฟฟ้า
Scope 3: การปล่อยทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
2. การตรวจวัดและรายงาน
- ติดตั้งระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- จัดทำระบบฐานข้อมูลและการรายงาน
- การทวนสอบโดยหน่วยงานภายนอก
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การก้าวผ่านมาตรการ CBAM รวมถึงเป็นการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ แต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันพัฒนากลไกสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ
โฆษณา