30 พ.ย. 2024 เวลา 21:54 • ท่องเที่ยว

วัดบวกครกหลวง เชียงใหม่ (1) .. ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

วัดบวกครกหลวงเป็นวัดขนาดเล็กในตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีวิหารแบบล้านนาที่ได้รับบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (พ.ศ. 2454–2482)
จิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง
จุดเด่นของวัดบวกครกหลวงที่คนทั่วไปรู้จักอยู่ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดบวกครกหลวง ซึ่งเขียนเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาตหรือ เรื่องทศชาติชาดก จำนวน 14 ห้อง
จิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนบนผนังรอบ ๆ วิหารระหว่างช่องเสาเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ภาพแต่ละส่วนจะอยู่ในกรอบซึ่งเขียนเป็นลายล้อมกรอบด้วยลายสีน้ำเงิน แดง และขาว
ผนังที่ 1 .. อบายภูมิ ซีกด้านซ้ายพระประธาน
.. ภาพนรก ภาพการลงโทษผู้ที่ทำความชั่วด้วยวิธีต่างๆ เป็นภาพที่แสดงความสยดสยองแห่งอบายภูมิ และความน่าเกรงขาม เป็นภาพที่ให้อารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด
ผนังที่ 2 .. เตมียชาดก อันเป็นพระชาติแรกของทศชาติชาดก พระโพธิสัตว์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ ความอดกลั้นเพื่อให้หลุดพ้นจากการทำชั่ว
… โดยพระเตมีย์แกล้งทำพระองค์เป็นง่อย ใบ้ และหูหนวก แม้จะถูกทดสอบหรือยั่วยวนต่างๆ พระกุมารก็นิ่งเฉยเสีย ซึ่งภาพตอนนี้ชำรุดไปบางส่วน แต่ยังพอเห็นได้
ผนังที่ 3 .. สุวรรณสามชาดก ผนังลบเลือนชำรุดไปมาก แต่ยังพออ่านเรื่องได้ พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี
การดูคุณค่าทางศิลปะ ที่สำคัญคือ การแสดงออกทางอารมณ์ .. ดังภาพหนุ่มสาวกอดกระหวัดกันเป็นคู่ในผนังสุวรรณสามชาดก แสดงอารมณ์โรแมนติกที่น่าชมเชยมาก (ตำบรรยายภาพ โดย น. ณ ปากน้ำ)
ภาพล่าง .. เป็นตอนที่ท้าวกบิลยักษ์กำลังน้าวศรยิงสุวรรณสาม ซึ่งมาตักน้ำไปปรนนิบัติบิดามารดา
ด้านบน .. ดาบสดาบสินี และท้าวกบิลยักษ์ กำลังรำพันข้างศพสุวรรณสาม
ผนังที่ 4 .. เนมิราชชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระเนมี บำเพ็ญอธิษฐานบารมี เหล่าเทพยดาส่งมาตีเทพบุตรนำราชรถทองมารับพระเนมีไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์และนรก
ภาพพระเนมีย์ชมนรก
พระเนมีย์นั่งราชรถทองขึ้นไปชมสวรรค์ .. ภาพเขียนของที่นี่มีเอกลักษณ์สูง มีความเป็นตัวของตัวเอง การเขียนรูปภูเขา ต้นไม้ ธรรมชาติ แม้แต่ท่าทางของบุคคลล้วนเป็นลักษณะแบบธรรมชาติ มิใช่ลักษณะนาฏลักษณ์ที่เป็น “ท่าครู” อย่างที่เราเคยเห็นกัน
ภาพเตมียชาดก .. ตอนพระเตมีย์นั่งอยู่บนตักพระบิดา เมื่ออกว่าราชการ .. ทรงทอดพระเนตรพระบิดาสั่งตัดสินลงโทษ
.. ภาพมุมขวาล่าง แม้พระเตมีย์จะถูกยั่วยวน พระกุมารก็ยังคงนิ่งเฉย
.. ภาพมุมขวาบน นายสุนันท์เพชฌฆาต นำพระเตมีย์ไปประหารชีวิตในป่า
.. ภาพบน พระเตมีย์แสดงอาการปกติ และแสดงความประสงค์ที่จะออกบวช
.. ภาพบนส่วนล่าง เป็นตอนที่พระเตมีย์แสดงธรรมแก่ข้าราชบริพารและราษฎร จนบังเกิดความเลื่อมใส พากันออกบวชจนหมดสิ้น
.. ภาพชาวบ้านที่ออกไปฟังธรรมจากพระเตมีย์ .. ในภาพสะท้อนให้เห็นการแต่งกายของหญิงสาวชาวล้านนา
ผนังที่ 5 .. มโหสถชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี ภาพด้านบนชำรุดพอสมควร
ภาพการก่อสร้างศาลาในมโหสถชาดก .. ภาพนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก เผยให้เห็นคุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมทางล้านนา และมีการเขียนวิธีการก่อสร้างอาคารไม้ ทำให้เรามีโอกาสเห็นโครงสร้างอย่างชัดเจน การเขียนภาพใช้สีแดงสดใส ดูตื่นตาดี
ภาพการตระเตรียมอาหาร .. ทำให้เห็นสภาพของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยาก .. มุมล่างขวาเป็นคนจีนที่คุมการก่อสร้างศาลา
ผนังที่ 6 .. เวสสันดรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระเวสสันดร พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญทานบารมี ซึ่งเป็นบารมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก่อนที่จะมาจุติเป็นพระบรมศาสดา พระสัมมสัมพุทธเจ้า
.. พระเวสสันดร ทรงพระราชทานช้างปัจจัยนาเครทร์ ให้เป็นทานแก่พราหมณ์แคว้นกวลิงครัฐ
.. พระเวทสันดรและพระนางมัทรี พงสองกุมารมาถวายพระเจ้าสัญชัย ออกจากเมือง พื้นเบื้องหลังปราสาท ท้องฟ้าระบายด้วยสีดำสนิท ซึ่งการใช้สีดำเบื้องหลังปราสาทนี้ เป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนา
.. พระเวสสันทรและพระนางมัทรี ทรงอุ้ม 2 กุมาร กัณหา และชาลี ไปสู่ป่าพฤกษ์ไพร .. จิตรกรได้เขียนอารมณ์สีให้เห็นสีแดง คือเนินดินเบื้องหน้าคดโค้ง เสมือนความทุรกรรมลำบาก เป็นเอกลักษณ์สำแดงให้เห็นเหตุเบื้องหน้า นับเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งของจิตรกร ซึ่งนำเอาอำนาจของสีมาตีแผ่ให้เห็นอารมณ์ของภาพ
.. ภาพชูชกมาขอพระราชทาน 2 กุมาร
.. ตอนบน พระอินทร์แปลงกายมาเป็น เสือดาว เสือโคร่ง และสิงห์ เพื่อขัดขวางพระนางมัทรีไม่ให้กลับไปยังศาลา
ผนังที่ 7 .. ผนังห้องนี้ชำรุดไปเกือบหมด
ผนังที่ 8 .. ผนังเต็มซีกด้านขวาพระประธาน เข้าใจว่าเป็นภาพเกี่ยวกับวัดบวกครกหลวงแห่งนี้
ผนังที่ 9 .. ภาพพุทธประวัติ ส่วนล่างของภาพที่ผนังด้านซ้ายเป็นภาพองคุลีมาร กำลังวิ่งไล่เพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า ด้านขวาเป็นตอนที่องคุลีมารกลับใจออกบวช
.. ภาพชาวไทใหญ่กำลังถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นตอนหนึ่งของภาพองคุลีมานกลับใจออกบวช
.. พระภิกษุในดอกพุดตาน เป็นภาพตอนหนึ่งในผนังพุทธประวัติ ตอนองคุลีมานกลับใจออกบวช
.. องคุลีมานไล่ตามพระพุทธเจ้า แต่งกายนุ่งผ้าหยักรั้ง มีลายสักอยุ่ที่ต้นขาทั้ง 2 ข้าง
ผนังที่ 10 .. ผนังเต็มห้องวิธุรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี ด้านบนมีภาพพุทธประวัติตอนประสูติแทรกอยู่
.. ภาพพุทธประวัติตอนประสูติ เป็นถาพแทรกในผนังด้านนี้
.. วิธูรบัณฑิต ตัดสินความให้แก่ท้าวสักกะเทวราช พระเจ้าธนัญชัย พญาครุฑ และพญาวรุณนาคราช
.. นางอินรันทตึ พระธิดาพญานาคกำลังฟ้อนรำหาตัวผู้ที่จะนำตัววิธูรบัณฑิตมาถวายพระมารดา
.. ภาพตอนพนันสกา ระหว่างพระเจ้าธนัญชัย กับท้าปุณณกะยักษ์ โดยมีวิธูรบัณฑิตเป็นเดิมพัน .. สังเกตที่เครื่องยอดปราสาท ซึ่งเขียนโดยใช้ระบบเครื่องบนของพม่า เหมือนกับจิตรกรรมฝาผนังของพุกามรุ่นหลังๆ แสดงถึงอิทธิพลของจิตรกรรมพม่าที่ได้เข้ามาครอบงำจิตรกรรมล้านนาอย่างรุนแรง
.. เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงประลองกำลัง .. เป็นภาพที่ดูมีชีวิตชีวา และเป็นตัวของตัวเองอีกภาพหนึ่ง
ผนังที่ 11 .. เป็นภาพตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้ง 4 ตอนการสละอันยิ่งใหญ่ และตอนมหาวิเนษกรมณ์
.. เจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้ง 4 เทพยาแปลงกายมาเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นกลอุบายให้เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินใจออกบวช
.. ภาพตอนการสละอันยิ่งใหญ่ .. เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงทราบข่าวว่า พระนางยโสธราทรงประสูติพระราชโอรส คิอพระราหุล พระองค์จึงตัดสินพระทัยออกบวช เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นในคืนนั้น .. เส้นสินเทาของที่นี่ มิได้ใช้เส้นสินเทาเป็นหยักแหลมรูปฟันปลาอย่างภาคกลาง แปต่เขียนเป็นลายตามแบบแผนของเขา
.. นายฉันนะนำม้ากัณฐกะมาเข้าเฝ้าเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อพาพระองค์ออกจากเมือง .. ผนังนี้อสดงความเป็นไปของผู้คน และสภาพความเป็นอยู่ของชาวล้านนาฝนสมัยนั้น
. ภาพตอนออกมหาวิเนษกรมณ์ .. ภาพแต่ละแง่แต่ละมุม ชวนฝห้พิจารณาอย่างละเอียด ดูได้นานๆ .. เป็นจิตรกรรมที่มีคุณค่า มีชื่อเสียงของล้านนา ภาพออกมหาวิเนษกรมณ์ของที่นี่ เป็นสิ่งที่แปลกตากว่าที่ใดๆ
ผนังที่ 12 .. ภาพพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี และตอนพระอินทร์ดีดพิณ 3 สายถวาย
.. ภาพพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี โครงสีโดยรวมค่อนข้างสว่าง ด้วยการเขียนบนสีขาวที่เตรียมไว้ ส่วนใดที่เป็นสีอ่อน ก็จะระบายสีอ่อนๆ คล้ายเทคนิคสีน้ำ ส่วนสีแก่ใช้ล้วงพื้นเอา จึงมีส่วนที่เว้นสีขาวมาก
.. ภาพพุทธประวัติตอนพระสุบินนิมิต พระอินทร์ดีดพิณ 3 สายถวายพระพุทธเจ้า เพื่อให้ทรงตระหนักถึงทางสายกลาง
.. ภาพขบวนม้า และขบวนช้าง ฝีมือช่างชาวเหนือที่เขียนแบบ Realism ที่แปลกตาไปจากภาพแบบคลาสสิค .. ขบวนช้างของเหล่านางสนมกำนัลใน เราได้เห็นขบวนช้างที่กำลังใช้งาน ผู้คนกำลังมุ่งไปประกอบธุรกิจของตน เบื้องหลังคือสายชล เนินไศลกับพุ่มพฤกษ์ ดูเด่นถนัดขัดแจ้ง ไม่ได้แต่งแต้มความงามใดๆลงไปเป็นสภาพของ Realism อย่างแท้จริง
ผนังที่ 13 .. ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และตอนลอยถาด
.. ผนังตอนมารผจญ พญาสวัตดรมารมาขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
.. ภาพเหล่ากองทัพมาร มีภาพคนแต่งตัวแบบชาวไทใหญ่ปะปนอยู่ด้วย
ผนังที่ 14 .. ภาพขบวนพิธีไปทำบุญ
.. ภาพขบวนพิธีไปทำบุญของชาวไทใหญ่ ได้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองไทใหญ่ในอดีตอย่างชัดเจน นับเป็นภาพที่มีคุณค่ามาก
จิตรกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือช่างชาวไทใหญ่ที่ละเอียดประณีต และเป็นที่น่าสังเกตว่าจิตรกรรมฝาผนังในล้านนาจะไม่พบการเขียนภาพเรื่องทศชาติชาดกครบทั้ง 10 ชาติ หากเลือกมาเฉพาะเรื่องที่นิยมกันเท่านั้น ซึ่งที่วัดบวกครกหลวงก็เช่นกัน มีทั้งหมด 6 เรื่อง คือ เตมียชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และเวสสันดรชาดก
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงมีลักษณะของภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิยมของท้องถิ่น ที่มีจุดเด่นที่เป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดจัดจ้าน ท่าทีการเขียนภาพของช่างนิยมใช้พู่กันป้ายแต้มอย่างมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย
รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และปาดสีอย่างมันใจเด็ดเดี่ยว โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นฉากธรรมชาติ เช่น เนินเขา โขดหิน และลำน้ำ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีรูปร่างเป็นอิสระ เลื่อนไหล คดเคี้ยว เมื่อผนวกเข้ากับความต้องการของผู้วาดที่ใช้พู่กันและสีแท้ ๆ สดในอย่างอิสระแล้ว นับเป็นฉากธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา ไม่ดูจืดชื้ดยิ่งนัก
นอกจากนั้นแล้ว วิธีการเน้นความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงคือ นิยมใช้กรอบรูปคล้ายภูเขา ระบายสีพื้นในด้วยสีดำ ขอบนอกเป็นแถบสีเทาและตัดเส้นด้วยสีดำ ส่วนเส้นนอกกรอบเลื่อนไหลล้อกับรูปนอกของตัวปราสาทด้วย
สำหรับสีที่ใช้ในจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงนี้พอจะจำแนกได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มสีคราม สีแดงชาด สีทอง สีเหลือง – น้ำตาล สีดำ และสีขาว
ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงจึงถือเป็นงานฝีมือของช่างไทใหญ่ที่ได้ถ่ายทอดถึงชีวิตพื้นบ้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและการแต่งกายแบบพม่าและไทใหญ่ไว้ด้วย เช่น ถ้าเป็นการแต่งกายของชาวบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบคนพื้นเมือง แต่ถ้าเป็นเจ้าก็จะเป็นการแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่
รวมถึงข้าวของเครื่องใช้แบบชาวเมืองก็ยังมีให้เห็นอยู่ในภาพด้วย เช่น จุนโอ๊ก, ขันชี่ (ขันเงิน, ขันทอง) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของชาวล้านนา ผ้าซิ่นแบบคนเมือง หรือผ้าห่มคลุมตัวเวลาหนาวที่เรียกว่า ตุ้ม ด้วย ซึ่งลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงนั้นจึงเป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนา โดยอาจมีข้อแตกต่างหรือคล้ายกันกับจิตรกรรมที่ภาคกลางด้วย
ลักษณะพิเศษ
จิตรกรรมภาคกลางนั้นเขียนภายในพระอุโบสถและพระวิหารที่มีหน้าต่างเป็นชุด จึงมีผนังระหว่างช่องหน้าต่างให้เขียนเป็นเรื่องราวพุทธประวัติบ้าง ทศชาติชาดกบ้าง ส่วนผนังเหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ หรือมิฉะนั้นก็จะเขียนภาพเทพชุมนุมเป็นแถว ๆ ด้วยพระอุโบสถและพระวิหารทางภาคกลางมีขนาดใหญ่มาก ทั้งความสูงจากเหนือขอบหน้าต่างถึงสุดผนังข้างบนก็มีมาก
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จึงมักเขียนภาพเทพชุมนุมเป็นแถว ๆ ขนาดของเทวดาที่นั่งพนมมือเป็นแถวนั้นมีขนาดใหญ่เท่าคนจริงหรืออาจใหญ่กว่าคนจริงเล็กน้อย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ลงมามิได้เขียนเป็นภาพเทพชุมนุมแต่เขียนเป็นเรื่องราวของชาดกขนาดใหญ่ ภาพปฤศนาธรรม หรือภาพวิวขนาดมหึมา เช่น ภาพสวยสาธารณะ ภาพเรือใบเดินทะเลขนาดใหญ่ มีคลื่นลูกโตสาดซัด ภาพตึกรามบ้านช่อง บางทีก็เป็นภาพศาสนสถานขนาดใหญ่ เป็นต้น
ส่วนสถาปัตยกรรมเชียงใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น นิยมใช้เสาไม้รับน้ำหนักเครื่องบนหลังคาดังนี้เมื่อต้องการให้ภายในเป็นอาคารมีฝามิใช้อาคารโถง จึงต้องก่ออิฐเป็นผนัง (ที่จริงอาคารพุทธศาสนารุ่นเก่าของล้านนาเป็นอาคารโถง ซึ่งยังเหลือของเก่าให้เห็นเป็นจำนวนมาก)
เหนือผนังด้านข้างตีไม้เป็นระแนงเป็นช่องลมทางยาวขนาดใหญ่ สามารถใช้ระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ประตูด้านข้างเขาทำประตูส่วนบนเป็นยอดแหลมทั้งบานทาด้วยสีดินแดง ที่เสานูนจากผนังทำเป็นลายฉลุปิดทอง ภาพเขียนในวัดบวกครกหลวงนั้น จึงเขียนคาบเกี่ยวกันตั้งแต่สุดผนังด้านข้างทั้ง 2 ข้างและผนังด้านบนจากช่องลมถึงกึ่งกลางหน้าต่างซึ่งไม่สูงเท่าไร เพราะส่วนสัดของพระวิหารวัดบวกครกหลวงผนังด้านข้างไม่สูงนัก
ภาพเขียนวัดบวกครกหลวงเขียนเส้นเป็นลายขอบรูปหนา และขอบนั้นล้อมรอบรูปเขียนเป็นสี่เหลี่ยม จึงทำให้เนื้อที่ผนังที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบลงไปอีก
การเขียนของบวกครกหลวงใช้ระบบสีฝุ่นบดผสมกาวยางไม้เช่นเดียวกับภาคกลาง แต่เรื่องราวแบบแผนกับวิธีการเขียนไม่เหมือนกัน ดังเช่น รูปเครื่องบนยอดปราสาทในภาพเขียน เขาเขียนโดยใช้ระบบเครื่องบนปราสาทพม่า ซึ่งเหมือนกับภาพเขียนผนังซ้ายมือพระประธานซึ่งเขียนในสไตล์พื้นเมือง
นอกจากจะเขียนยอดปราสาทพม่าแล้วเครื่องปรุงปราสาทต่าง ๆ ก็เป็นแบบพม่า เป็นเครื่องสังวรว่าอิทธิพลจิตกรรมพม่าได้เข้าครอบงำจิตรกรรมล้านนา อาจจะเป็นเพราะว่าพม่าเคยมีอำนาจปกครองดินแดนล้านนามาเนิ่นนาน อันเป็นผลอันเป็นผลให้ศิลปะขนบประเพณีของพม่าเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวเชียงใหม่ให้หันไปนิยมพม่าเสียหมด นับตั้งแต่ภาคกลางได้ขยายทางรถไฟให้ยาวขึ้นไปถึงเชียงใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 อิทธิพลวัฒนธรรมไทยภาคกลางได้แพร่เข้าไปถึงอย่างใกล้ชิด แต่ก็หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิรูปถอนรากถอนโคนในดินแดนล้านนาไม่
การเขียนเส้นสินเทาคั่นระหว่างภาพก็เหมือนกัน ทว่าที่วัดบวกครกหลวงก็แตกต่างกับภาคกลางอีก คือ เขามิได้ใช้เส้นสินเทาเป็นหยักแหลมรูปฟันปลาอย่างภาคกลาง แต่เขียนเป็นลายตามแบบแผนของเขา ยอดปราสาทก็เขียนแบบเดียวกับยอดปราสาทวัดพม่าที่เห็นทางเหนือทั่วไป
โครงสร้างของสีส่วนใหญ่ ถ้าหากนำมาเทียบกับจิตรกรรมฝาผนังภาคกลางคงเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนว่า สีโดยส่วนรวมค่อนข้างสว่างเพราะมีการเขียนในระบบเดียวกับเขียนสมดุลข่อย คือเขียนบนพื้นสีขาวที่เตรียมไว้ ส่วนใดเป็นสีอ่อนก็จะระบายสีอ่อน ๆ คล้ายเทคนิคสีน้ำ ส่วนสีแก่ใช้ล้วงพื้นเอา
ซึ่งแตกต่างกับภาพเขียนภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์ที่มักจะลงพื้นเข้มเสียก่อน เช่นเขียนภาพพื้นดินภูเขา ต้นไม้ลงพื้นระบายด้วยสีหนัก ๆ แล้วจึงเขียนภาพคนทับลงไปบนภาพที่ลงพื้นไว้เบื้องหลังแล้วด้วยเหตุนี้ ภาพจิตรกรรมที่นี่จึงมีส่วนที่เว้นสีพื้นขาวมาก เช่น ช่องว่างรอยต่อของเรื่องกับส่วนละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ทำให้ภาพดูสว่างตา
ภาพการเขียนด้วยคอมโปสิชั่นที่แปลก จิตรกรล้านนาท่านยักเยื้องแง่มุมของรูปให้เห็นมิติแปลก ๆ ลักษณะลวดลายผสมผสานกับท่าทีของการใช้ฝีแปรงอันกล้าหาญ เต็มไปด้วยพลัง
เมื่อได้เห็นภาพนี้ผู้สนใจทางศิลปะคงรู้แก่ใจตนเองว่า ที่เขายกย่องกันถึงพื้นพลังสร้างสรรค์ของจิตรกรรมวัดบวกครกหลวงเป็นฉันใด เนื้อหาของภาพได้แสดงตนเองออกมาให้ประจักษ์แล้ว
แม้ว่าภาพเขียนวัดบวกครกหลวงจะเป็นจิตรกรรมที่มิใช่งานคลาสสิก แต่คุณค่าของจิตรกรรมในพระวิหารที่นี่อยู่ตรงความเป็นตัวของตัวเอง มิได้ลอกแบบหรือเอาอย่างมาจากใคร แม้เป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่เราก็จะเห็นว่าครูที่เคยเห็นอย่างจำเจในภาคกลางไม่ปรากฏ ณ ที่นี่ แสดงว่าเป็นงานจิตรกรรมบริสุทธิ์ ที่สร้างสรรค์ มาจากจินตนาการอันแท้จริงของชาวล้านนา
จิตรกรรมล้านนาไม่ว่าจะเป็นวัดบวกครกหลวง วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ หรือวัดภูมินทร์ น่าน มีลักษณะการเขียนใบหน้าดูชื่อ ๆ ถ้าเป็นคนหมู่มากก็จะยืนเรียงเข้าแถวแนว หรือเรียงหน้ากันเป็นตับลักษณะเหล่านี้ นักวิชาการศิลปะสามารถวินิจฉัยได้ว่า นั่นคือลักษณะการคลี่คลายตัวของศิลปะในแบบพริมิทีฟ ( primitive ) ซึ่งยังไม่สูงสู่ระดับอาร์เคอิก (Archaic) หรือคลาสสิก (Classic) อย่างไรก็ดี ในการดูคุณค่าทางศิลปะ ท่านมิได้เพ่งเล็งในแง่ระดับต้น ระดับกลาง หรือระดับสูงแต่อย่างไร คุณค่าสำคัญก็คือการแสดงออกของอารมณ์
โฆษณา