1 ธ.ค. เวลา 03:16 • ความคิดเห็น
เชื่อตามคำของพระผู้มีพระภาคครับ
แต่คำเดียวกันนี้มี 2 ความเชื่อนะครับ
คือแบบพุทธ, และแบบพราหมณ์
*อย่าได้นำความเชื่อ 2 ฝ่ายนี้ไปโต้เถียงกันนะครับ
-แบบพราหมณ์ คือปรมาตมัน
ปรมาตมัน,
อาตมันสูงสุด (บรมอาตมัน),
อัตตาสูงสุด (บรมอัตตา),
เป็นสภาวะแท้จริง และเป็นจุดหมายสูงสุดตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู (เดิมคือศาสนาพราหมณ์)
ซึ่งถือว่า ในบุคคลแต่ละคนนี้มีอาตมัน คือ อัตตาหรือตัวตน สิงสู่อยู่ครอง เป็นสภาวะเที่ยงแท้ถาวรเป็นผู้คิดผู้นึก ผู้เสวยเวทนา เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนย่อยที่แบ่งภาคออกมาจากปรมาตมันนั้นเอง
เมื่อคนตาย อาตมันนี้ออกจากร่างไป สิงอยู่ในร่างอื่นต่อไป เหมือนถอดเสื้อผ้าเก่าสวมเสื้อผ้าใหม่ หรือออกจากเรือนเก่าไปอยู่ในเรือนใหม่ ได้เสวยสุขหรือทุกข์ เป็นต้น
สุดแต่กรรมที่ได้ทำไว้ เวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป จนกว่าจะตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปรมาตมัน และเข้าถึงความบริสุทธิ์จากบาปโดยสิ้นเชิง จึงจะได้กลับเข้ารวมกับปรมาตมันดังเดิม ไม่เวียนตายเวียนเกิดอีกต่อไป
ปรมาตมันนี้ก็คือ พรหม, พรหมัน นั่นเอง
-แบบพุทธ อธิบายโดยปริยายจากสูตรนี้
"ภิกษุชื่อสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร มีทิฏฐิอันลามก กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค"
*เรื่องใหญ่โตถึงขนาดที่ว่า
พระผู้มีภาคตรัสถามมติจากคณะสงฆ์เลยทีเดียว
แต่ก็ไม่วายมีพราหมณ์เข้ามาขโมยเอาคำว่าพุทธ ไปแปะไว้กับความเชื่อของตนเอง ชนิดที่ไม่เกรงกลัวอะไรเลย
เนื้อเรื่องโดยสรุปของมหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วย "สาติภิกษุมีทิฏฐิลามก"
สาติภิกษุได้กล่าวว่า
"เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น"
เหล่าภิกษุกล่าวตักเตือนสาติภิกษุว่าคำกล่าวนี้ไม่ถูกต้อง แต่สาติภิกษุไม่ยอมเชื่อฟัง
เมื่อเรื่องนี้ทราบไปถึงพระผู้มีพระภาค ทรงเรียกตัวสาติภิกษุให้มาเฝ้า เมื่อทำการสอบสวนดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า
"ดูกรโมฆบุรุษ
เธอรู้ธรรมอย่างนี้ ที่เราแสดงแก่ใครเล่า?"
"ดูกรโมฆบุรุษ
วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
เรากล่าวแล้วโดยปริยาย เป็นอเนกมิใช่หรือ
ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี"
"ดูกรโมฆบุรุษ
*เธอกล่าวตู่เราด้วย, ขุดตนเสียด้วย
จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือ ชั่วแล้ว"
"ดูกรโมฆบุรุษ
ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษ ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน"
(ละถึง)
[๔๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?"
"สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรนี้ จะเป็นผู้ทำความเจริญในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือไม่?"
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า
"ข้อนี้จะมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า"
เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว
สาติภิกษุ ผู้เกวัฏฏบุตร นั่งนิ่ง กระดาก คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
(ละถึง)
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติโดยย่อของเรานี้
อนึ่ง พวกเธอจงทรงจำสาติภิกษุ ผู้เกวัฏฏบุตรว่า เป็นผู้สวมอยู่ในข่ายตัณหา และกองตัณหาใหญ่ ดังนี้"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล
อ้างอิง
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๘. มหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก
ค้นคำ "กล่าวตู่ 84000"
(การใส่ตัวเลข 84000 จะนำพาเราเข้าสู่พระไตรปิฎก)
ตู่, กล่าวตู่
คือการกล่าวอ้าง, หรือทึกทักเอาของผู้อื่นว่าเป็นของตัว, กล่าวอ้างผิดตัว ผิดสิ่ง ผิดเรื่อง
ในคำว่า “กล่าวตู่พระพุทธเจ้า” หรือ “ตู่พุทธพจน์” หมายความว่า
-อ้างผิดๆ ถูกๆ,
-กล่าวสิ่งที่ตรัสว่ามิได้ตรัส,
กล่าวสิ่งที่มิได้ตรัสว่าได้ตรัสไว้,
-พูดให้เคลื่อนคลาดหรือไขว้เขวไปจากพุทธดำรัส,
-พูดใส่โทษ,
-กล่าวข่มขี่,
-พูดกด เช่น คัดค้านให้เห็นว่าไม่จริง, หรือไม่สำคัญ
อ้างอิงในส่วน ปรมาตมัน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
อัตตา
โฆษณา