1 ธ.ค. 2024 เวลา 13:30 • สิ่งแวดล้อม

ถอดบทเรียน ฟื้นฟูนกกระเรียนพันธุ์ไทย หายจากธรรมชาติไป 50 ปี กลับคืนถิ่น บินร่อนสู่บุรีรัมย์

ถอดความสำเร็จ นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว 50 ปี กลับมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของบุรีรัมย์ พื้นที่ชุ่มน้ำ ปลอดภัยไร้สารเคมี เกษตรอินทรีย์ ตัวอย่างคนอยู่ร่วมกับสัตว์และธรรมชาติ
นกกระเรียนไทยเคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้วกว่า 50 ปี ปัจจุบันกลับคืนถิ่นประเทศไทยอีกครั้ง ภาพของนกกระเรียนคอยาว ลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวไม่มีขนแต่มีลักษณะเป็นตุ่มหนังสีส้มหรือสีแดงสด ขายาวสีแดงอมชมพู กำลังบินร่อนอยู่บนท้องฟ้า ในเขตศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณริมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
นับเป็นความสำเร็จของโครงการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) นำนกกระเรียนสายพันธุ์ Sarus Crane สายพันธุ์ย่อยที่พบในอินโดจีน และที่เคยพบในประเทศไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางพระ ชลบุรีจำนวน 6 ตัว เมื่อปี พ.ศ. 2525
จนกระทั่งต่อมาในปี 2533 สวนสัตว์นครราชสีมา เริ่มขยายพันธุ์แบบธรรมชาติ และการผสมพันธุ์เทียม จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ตั้งต้นจำนวน 33 ตัว ได้ลูกนกที่รวมพ่อแม่พันธุ์ในกรงเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 100 ตัว ภายในปี 2552
ข้อมูลจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รายงานว่า แม้การเพาะขยายพันธุ์จะสำเร็จ แต่เป้าหมายหลักไม่ใช่การเพิ่มจำนวนของลูกนกในกรง แต่เป็นการพานกกระเรียนพันธุ์ไทยให้กลับมาโบยบินในธรรมชาติอีกครั้ง ปี 2554 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และสวนสัตว์โคราช ได้ปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรกตามอนุสัญญาแรมซาร์ จำนวน 10 ตัว
เป็นลูกนกกระเรียนอายุประมาณ 1 ปี โดยพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 2 พื้นที่ ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของนกหลายชนิด เป็นแหล่งอาศัยและอาหารที่มั่นคงตลอดปี และมีภาพถ่ายยืนยันว่า จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในอดีต
จากการปล่อยลูกนกในปีนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะลูกนกอยู่รอดได้ประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น เนื่องจากเป็นการปล่อยลูกนกครั้งแรก องค์ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ของนักวิจัยจึงมีไม่เยอะมาก ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนั้น ทำให้การติดตามทำได้ยากขึ้นจึงไม่สามารถเข้าไปดูแลลูกนกได้
โครงการได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในทุก ๆ ปีจะปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยประมาณ 10-15 ตัวทยอยปล่อย เรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีราวร้อยกว่าตัว โอกาสรอดของลูกนกเริ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 70%
ย้อนรอยนกกระเรียนหายไปตอนไหน?
ข้อมูลจากศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า ในอดีตมีบันทึกเกี่ยวกับการพบนกกระเรียนเป็นจำนวนมากตามทุ่งนาและหนองน้ำของประเทศไทย เช่น บันทึกเรื่อง “ลานนกกระเรียน” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่กล่าวถึงการพบเห็นการวางไข่ของนกกระเรียนนับหมื่นตัว บริเวณทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา
แต่หลังจากนั้นนกกระเรียนที่สามารถพบเห็นได้โดยง่ายกลายเป็นนกหายาก ในปี พ.ศ.2488 มีบันทึกการพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยบินเป็นฝูงผ่านบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นพบเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย ทะเลสาบสงขลา จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสระบุรี และวัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี
ติดตามอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์
โฆษณา