1 ธ.ค. เวลา 11:32 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

เปิดกฎหมายและข้อต่อสู้ หลังการประกาศแยกทางของ New Jeans

2 ปี 4 เดือนหลังการเดบิวต์ เมื่อเดือนกรกฏาคม ปี 2022…
“แม้ว่าจะเลยกำหนดเส้นตายแล้ว แต่ทั้ง HYBE และ ADOR กลับไม่ได้แสดงความตั้งใจใดๆที่จะแก้ไขสถานการณ์หรือยอมรับต่อข้อเรียกร้องของเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ADOR นั้น ขาดทั้งความตั้งใจและความสามารถในการปกป้อง New Jeans
พวกเราทั้ง 5 คนจึงไม่สามารถอยู่ภายใต้สังกัด ADOR ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามแนวทางพื้นฐานสำหรับการปกป้องศิลปินได้อีกต่อไป เพราะการปฏิบัติตามสัญญาต่อไป มีแต่จะทำให้พวกเรารู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ทรมานทางจิตใจอย่างรุนแรง
ตัวตนความเป็น New Jeans จะยังคงอยู่กับพวกเราตลอดไป และเราจะไม่ยอมแพ้กับชื่อนี้ของพวกเราไปง่ายๆ เพราะมันเป็นตัวแทนของทุกสิ่งตั้งแต่การเริ่มต้นการเดินทางของพวกเรา จนมาถึงจุดที่เราเป็นอยู่ ณ เวลานี้!
นอกจากนี้ พวกเราอยากฝากถึงบรรดาพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงเหล่าแฟนคลับทุกคนด้วยว่า พวกเรามั่นใจว่าการยกเลิกสัญญาของพวกเรากับ Ador ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆกับผู้ที่เกี่ยวข้อง”
แถลงการณ์อย่างเป็นทางการร่วมกัน ของ มินจี , ฮันนี , แดเนียล , แฮริน , ฮเยอิน 5 สมาชิก New Jeans หลังอนาคตของพวกเธอ ตกอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถามมาเนิ่นนาน จากประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่ยังคงไร้ทางออก ระหว่าง HYBE และ “มิน ฮี จิน” (Min Hee Jin) บุคคลที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของ Girl Group วงนี้
ว่าแต่...ก่อนถึงการประกาศสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่าง New Jeans และ ADOR (ต้นสังกัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ HYBE) มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่? วันนี้ “เรา” ลองไปทบทวนกันก่อนสักนิด ก่อนที่เราจะไปกันต่อ กับ “เรื่องน่าปวดหัวทางกฏหมาย” ในบรรทัดด้านล่างๆนี้ ซึ่ง “คุณ” คงกำลังเตรียมเหวี่ยงสายตาลงไปกันดีกว่า …
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2780972
เอาล่ะ “เรา” ไปไล่เรียง TIMELINE ความขัดแย้งอันแสนว้าวุ้นนี้กันสักเล็กๆน้อยๆก่อน
30ต.ค.24 :
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ADOR มีมติไม่รับ “มิน ฮี จิน” กลับคืนสู่ตำแหน่ง CEO
13พ.ย.24 :
New Jeans ได้ส่งหนังสือยื่นคำขาดจำนวน 22 หน้า ไปยังต้นสังกัด ADOR โดยมีข้อเรียกร้องหลายข้อ เพื่อให้บริษัทพิจารณาและดำเนินการ (ปฏิบัติตาม) รวมถึงต้องส่งคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ อีเมล์ ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังได้รับหนังสือดังกล่าว... โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญๆ เช่น...
- Belift Lab ต้องกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการต่อ “ฮันนี” กรณีที่ผู้จัดการศิลปินคนหนึ่ง สั่งให้ไอดอล “เพิกเฉย” กับ หนึ่งในสมาชิก New Jeans เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
- ADOR ต้องคืนตำแหน่ง CEO ให้กับ “มิน ฮี จิน” ซึ่งถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้ New Jeans กลายเป็น Girl Group ระดับโลก
- ADOR ต้องลบคอนเทนท์ที่เป็นทั้งรูปถ่ายและวิดีโอ ซึ่งถูกนำไปใช้โดยไม่ได้ความยินยอมจาก Member
- เสนอวิธีการสำหรับการแก้ไขความเสียหาย อันเกิดจากแผนการผลักดันการออกผลงานใหม่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ (ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง HYBE และ มิน ฮี จิน)
พร้อมกันนี้ หนังสือดังกล่าวยังมีการระบุอีกด้วยว่า หาก ADOR  ไม่ยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะถือเป็นการ “ละเมิดสัญญา” และจะนำไปสู่การ “ยุติสัญญา” ลงในที่สุด
14พ.ย.24 :
ADOR เปิดเผยว่าได้รับหนังสือดังกล่าวของ New Jeans
20พ.ย.24 :
“มิน ฮี จิน” ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการภายในของบริษัท ADOR รวมถึงเดินหน้าฟ้องร้องต่อ HYBE ฐานละเมิดการใช้สิทธิ Put Option ภายใต้ข้อตกลงผู้ถือหุ้น ที่มีมูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านวอน (637ล้านบาท) ในขณะที่ฝ่าย HYBE อ้างว่า ระยะเวลาสำหรับการใช้สิทธิดังกล่าวได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
28พ.ย.24 :
ADOR ส่งหนังสือตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรถึง New Jeans ในช่วงบ่ายวันนั้น ส่วนอีเมล์ถูกส่งถึงในเวลา 19.00 น.
18.00 น. สมาชิกทุกคนของ New Jeans ร่วมกันอ่านหนังสือตอบรับจาก ADOR พร้อมกับเชิญนักข่าวมาร่วมฟังการแถลงข่าวที่ Space Share Samsung Station Center กรุงโซล ในเวลา 20.30 น.
เวลา 20.30 น. สมาชิก New Jeans ขึ้นเวทีแถลงข่าว ประกาศยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวกับ Ador พร้อมกับระบุว่า การประกาศยกเลิกสัญญาระหว่างบริษัทและพวกเธอในครั้งนี้ จะสิ้นสุดลง ณ เวลา 00.00 น. ของวันที่ 29พ.ย.24
ขณะเดียวกัน New Jeans ยังได้ให้ “เหตุผล” ถึงการประกาศแถลงข่าว “ตัดสัมพันธ์แบบชนิดเร่งด่วน” นี้เอาไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า…
“เรากำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่นในวันพรุ่งนี้ (30พ.ย.24) และจะไม่กลับเกาหลีใต้จนถึงสัปดาห์หน้า เราจึงกังวลว่า ทั้ง HYBE และ ADOR จะใช้กลยุทธสื่อแบบไหน ด้วยเหตุนี้เราจึงตัดสินใจออกแถลงการณ์นี้ขึ้น!”
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่เชื่อว่า “การชิงลงมือแถลงข่าวก่อนถึงเส้นตาย” ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะความหวาดระแวงที่ว่า HYBE อาจใช้อิทธิพลในฐานะบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่เข้าแทรกแซงความพยายามใช้สื่อหลักในการสื่อสารของทางวง
จะเกิดอะไรขึ้นกับ New Jeans หลังยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว :
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งมองว่า ในกรณีที่ใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ เมื่อศิลปินขอยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวกับต้นสังกัด โดยที่ฝ่ายต้นสังกัดไม่ยินยอม นั้น ศิลปินมักจะสามารถดำเนินกิจกรรมแบบอิสระได้ต่อไป จนกว่าจะได้รับผลการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีตัวอย่างที่ผ่านมานั้น ประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้หลัก และมีผล อย่างสูงต่อการพิจารณาคดี คือ....
หากฝ่ายศิลปินสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า ความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่าง ศิลปินและต้นสังกัดถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ
หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ หากฝ่ายศิลปินสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า ทางค่ายเพลงมีการบริหารจัดการที่ไม่ชอบธรรม เช่น ไม่ได้ออกอัลบั๊ม หรือ ไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นระยะเวลายาวนาน 1-2 ปี ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น มักโน้มเอียงไปในทางที่ศาลอาจเห็นชอบเรื่องการให้สัญญากลายเป็น “โมฆะ”
อย่างไรก็ดี แม้ว่า สัญญาอาจกลายเป็น “โมฆะ” จากประเด็นดังกล่าวได้ก็จริง หากแต่ฝ่ายศิลปินเองก็อาจถูกต้นสังกัดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ด้วยจำนวนเงินที่สูงลิบลิ่วตามมาได้เช่นกัน (ซึ่งสำหรับในกรณีของ New Jeans มีรายงานว่าอาจมีตัวเลขสูงถึง 400,000 - 600,000 ล้านวอน หรือประมาณ 9,815 ล้านบาท 14,723 ล้านบาท!)
หากสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความเสียหายเกิดจากการกระทำผิดสัญญาอย่างร้ายแรงของตัวศิลปินเอง
อย่างไรก็ดี สำหรับมูลค่าความเสียหายที่ฝ่ายต้นสังกัดเรียกร้องนั้น โดยปกติมักมีระบุอยู่ในสัญญา แต่อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงแล้ว อาจมีการปรับลดลงได้ตามดุลยพินิจของผู้พิพากษา หากพิจารณาแล้วเห็นว่าถือเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป
** หมายเหตุ คณะกรรมการการค้ายุติธรรมเกาหลี (Korea Fair Trade Commission) หรือ KFTC ออกข้อกำหนดเอาไว้ว่า สัญญาที่ศิลปินเกาหลีทำกับต้นสังกัดห้ามมีอายุยาวนานเกินกว่า 7 ปี (หรือที่เรารู้จักมักคุ้นว่า สัญญา 7 ปีนั่นเอง) โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
ด้วยเหตุนี้ ศิลปินในเกาหลีใต้จึงได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ตามมาตรา 8 แห่งสัญญามาตรฐานสำหรับศิลปินวัฒนธรรมป๊อปที่มีนักร้องเป็นศูนย์กลาง (Standard Exclusive Contract for Pop Culture Artists (singers-centered) ของ KFTC ซึ่งมีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า...
ต้นสังกัดมีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า ซึ่งครอบคลุมทั้ง ชื่อ, ภาพถ่าย, ภาพบุคคล, ลายมือ และอื่นๆ หรือแม้กระทั่งชื่อจริง, ชื่อที่ใช้ในวงการบันเทิง, ชื่อเล่น ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง จดทะเบียน หรือใช้สิทธิ์ข้างต้นในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง สิทธิ์ข้างต้นจะต้องโอนคืนกลับไปเป็นของศิลปิน **
การยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว ของ New Jeans ทำได้จริงหรือไม่?
“ไม่จำเป็นต้องมีการยื่นฟ้องร้อง หรือ ควรต้องมีการดำเนินการทางกฏหมายอื่นใด รวมถึงการต้องจ่ายค่าปรับ เพราะทั้ง ADOR และ HYBE เป็นฝ่ายที่ละเมิดสัญญา ฉะนั้นเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง พวกเราทั้ง 5 คน จึงไม่ใช่ศิลปินในสังกัดของ ADOR อีกต่อไป และพวกเราจะเดินหน้าทำกิจกรรมตามตารางงานต่างๆที่มีการทำสัญญาเอาไว้ โดยที่พวกเราเป็นผู้กำหนด”  แดเนียล New Jeans
สำหรับความเห็นของนักกฏหมายในเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งในประเด็นนี้ คือ ไม่ว่าการยกเลิกสัญญาครั้งนี้จะถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ แต่เหล่าสมาชิก New Jeans ก็ได้ตัดสินใจทำไปแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ HYBE ซึ่งถือหุ้นใน ADOR ถึง 80% จะตอบโต้อย่างไร?
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจับตาไปที่ ADOR ว่า จะยื่นฟ้องต่อการบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวจาก New Jeans ในครั้งนี้อย่างไรและเมื่อไหร่?
ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้ คือ New Jeans อ้างเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว จากประเด็นปัญหาเรื่อง “สูญเสียความไว้วางใจ” ซึ่งค่อนข้างคลุมเครือ และแตกต่างจากกรณีอื่นๆก่อนหน้านี้ ที่มักเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่อง “ผลประโยชน์ทางด้านการเงิน”
และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ HYBE และ ADOR ซึ่งยืนยันมาโดยตลอดว่าพร้อมให้การสนับสนุน New Jeans อย่างเต็มที่ จึงยังคงมีท่าทีที่ “ระมัดระวัง” ต่อการดำเนินการตอบโต้ใดๆ
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของบรรดานักกฏหมายในเกาหลีใต้เชื่อว่า HYBE จะเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ก็ต่อเมื่อ “เกิดปัญหาในเรื่องการเซ็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ” กับ New Jeans หรือ Member คนหนึ่งคนใด
เพราะ ณ เวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆเลยว่า นับจากนี้เป็นต้นไป กิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ควรจะมีการมอบผลประโยชน์ หรือเซ็นสัญญากับ ADOR ซึ่งเป็นต้นสังกัด หรือ New Jeans หรือ Member คนหนึ่งคนใด กันแน่?
ฟังความอีกมุมจาก ADOR :
“ADOR พยายามอย่างต่อเนื่อง ในการรวบรวมความเห็นของสมาชิก New Jeans และได้ทำงานอย่าง
หนักเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุมีผลในทุกครั้งที่เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านั้นอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางของศิลปินแบบเฉพาะเจาะจง หรืออาจไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังส่วนตัวได้
ฉะนั้น บริษัทจึงไม่ได้เป็นฝ่ายที่ละเมิดสัญญา และการอ้างเพียงเหตุสูญเสียความไว้วางใจ ซึ่งเป็นการหยิบยกเรื่อง คำพูดและการกระทำ ที่สร้างปัญหาจากบุคคลที่ 3 ซึ่งบริษัทไม่เกี่ยวข้อง จึงไม่สามารถใช้เป็นเหตุในการยุติสัญญาได้ ด้วยเหตุนี้ สัญญาที่ศิลปินทำกับบริษัทจึงยังคงอยู่ ดังนั้นบริษัทจึงอยากร้องขอให้ กิจกรรมต่างๆในอนาคตของศิลปิน อยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัทต่อไป
ที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามติดต่อขอพบ เพื่อหารือกับศิลปินแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศิลปินจะเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกันอย่างจริงใจ เพราะบริษัทมีการวางแผนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในปี 2025 เพื่อผลักดันให้ New Jeans กลายเป็นศิลปินระดับโลก” หนังสือตอบ New Jeans จาก ADOR
Project สนับสนุน New Jeans ของ ADOR ในปี 2025 :
ADOR แจกแจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ Project การทำกิจกรรมสนับสนุน New Jeans เอาไว้ดังต่อไปนี้...
มีนาคม ปี 2025 : จัดกิจกรรม Fan Meeting ในประเทศเกาหลีใต้
มิถุนายน - กรกฏาคม ปี 2025 : ออกอัลบั๊มเต็ม
สิงหาคม ปี 2025 : World Tour
นอกจากนี้ ADOR ยังยืนยันด้วยว่า กำลังอยู่ในระหว่างการสรรหาโปรดิวเซอร์คนใหม่ (หรือก็คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแล New Jeans แทน มิน ฮี จิน นั่นเอง)
สัญญา 7 ปี ของ New Jeans สิ้นสุดลงเมื่อไหร่กันแน่? :
ฝ่าย New Jeans : ยืนยันว่าสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว ณ เวลา 00.00 น. ของวันที่ 29พ.ย.2024
ฝ่าย ADOR : ยืนยันว่าสัญญาของ New Jeans จะสิ้นสุดลง ในวันที่ 31 กรกฏาคม ปี 2029
สิ่งที่ควรรู้ : New Jeans เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฏาคม ปี 2022 และจากการยืนยันข้อมูลของ ADOR ทางวงได้มีการลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 21 เมษายนปี 2022
ช่องทางการต่อสู้ของ ADOR :
ประเด็นสำคัญที่นักกฎหมายมองว่า น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง การต่อสู้หลักของ ADOR คือ ต้องพยายามหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า “มิน ฮี จิน” คู่กรณีคนสำคัญ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ “ยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว” ของ New Jeans ในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องร้อง “ฐานแทรกแซงศิลปินที่ยังคงอยู่ในสัญญากับต้นสังกัด จากบุคคลที่ 3” ได้
อีกทั้ง ADOR อาจใช้สิทธิร้องศาลให้มีการระงับยับยั้งการใช้สิทธิใดๆที่เกี่ยวข้องกับ เครื่องหมายการค้า ซึ่งครอบคลุมทั้ง ชื่อ, ภาพถ่าย, ภาพบุคคล, ลายมือ และอื่นๆ หรือแม้กระทั่งชื่อจริง, ชื่อที่ใช้ในวงการบันเทิง, ชื่อเล่น ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง จดทะเบียน หรือ ใช้สิทธิ์ข้างต้นในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นการเพิ่มความกดดันกับฝ่าย New Jeans ด้วย
บทสรุป :
อย่างไรก็ดี ทัศนะของบรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า HYBE ควรเร่งหาข้อยุติในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ค่อยๆลุกลาม จนสั่นคลอนภาพลักษณ์ของบริษัทไปมากพอสมควรแล้ว ฉะนั้นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ควรมุ่งไปที่การเจรจา มากกว่าที่จะจบปัญหานี้ด้วยการใช้กฎหมายซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “เต็มไปด้วยความยืดเยื้อและอื้อฉาว”
อย่างไรก็ดี ในทางตรงกันข้ามนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า...เกมนี้ฝ่าย HYBE จะไม่มีวันยอมถอยเรื่องการใช้กฎหมายเข้าจัดการปัญหานี้แน่นอน เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งค่ายเพลงหรือศิลปินที่อยู่ในสังกัดใช้วิธีในลักษณะเดียวกันนี้ “สร้างความยุ่งยากให้กับบริษัทแม่ได้อีกในอนาคต”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
วิบากกรรมที่ไม่สิ้นสุดของ HYBE เอกสารภายในหลุดและความขัดแย้ง https://www.facebook.com/photo.php?fbid=122119860002547327&set=pb.61566419822298.-2207520000&type=3
#NewJeans #เลิกสัญญา #ข้อกฎหมาย #HYBE #เอกสารภายในหลุด #KPOP #มินฮีจิน #MinHeeJin #ADOR #บังชีฮยอก #ฮันนี #Hanni #Trustnews
โฆษณา