1 ธ.ค. เวลา 18:10
เทเวศน์ 2

วัยผลัดขน - โรงเรียนวัลยา เทเวศร์ซอย 2 พ.ศ.2516-2517

หลังจากผมจบประถม 5 ที่โรงเรียนเพิ่มพิทยา สระบุรี ปีการศึกษา 2515 ผมก็ถูกส่งให้มาอยู่บ้านตาที่ดาวคะนอง
บ้านตาเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้มีเนื้อที่ราว 60 ตารางวา คาดว่าน่าจะเช่าที่ของคหบดีแถวนั้นมาตั้งแต่ปี 2502 โดยตำแหน่งสุดท้ายของตาคือผู้กำกับโรงพักบุคคโลที่ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร บ้านปลูกโดยน้าชายที่ทำงานเขียนแบบที่บริษัทเกอสันแอนด์ซัน
บ้านหลังนั้นบรรจุคนเต็มพื้นที่แบบค่อนข้างแน่น มี ตา-ยาย, น้าชาย-น้าสะใภ้เจ้าของบ้าน-ลูกชายสี่คน, น้าสาวคนรองจากแม่ผม, พี่สาวของผมสองคน, น้าชายอีกคนหนึ่ง-น้าสะใภ้, น้าชายคนเล็กที่ยังโสด รวมผมด้วยก็เป็น 15 คน
น้าสาว-พี่สาวคนที่สอง-แม่่-พีสาวคนโต ถ่ายที่บ้านดาวคะนอง ราวปี 2514
ตอนนั้นลูกน้าชาย 3 ใน 4 คนเรียนอยู่โรงเรียนวัลยา และอีก 1 คนอยู่โรงเรียนสตรีวรนาถ ซอยเทเวศร์ 1 ใกล้กัน ผมจะไปโรงเรียนพร้อมกับลูกน้า จำไม่ได้ว่าอัดกันไปยังไงที่รวมน้าชายผู้ขับด้วยรวมเป็นเด็ก 5 ผู้ใหญ่ 1 คน แถมมีการกินข้าวกันในรถด้วย
ตอนปี 2516 ผมยังไม่เห็นรถใครติดแอร์เลย รถทุกคันจะเปิดกระจกรับลมรับไอเสียกันเป็นเรื่องปกติ
เส้นทางตอนเช้าของเราคือ ดาวคะนอง-เทเวศร์ โดยออกจากซอยตากสิน 8 ผ่านถนนเจริญนครจนถึงคลองสาน แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านโรงพยาบาลตากสินเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยาไปจนสุดแล้วเจอ “วงเวียนเล็ก” ซึ่งเป็นหอนาฬิกาที่ถูกรื้อออกไปตอนปี 2525
แล้วข้ามสะพานพุทธฯ ผ่านสวนกุหลาบฯ เสาชิงช้า สตรีวิทยา วัดตรีทศเทพ แล้วเลี้ยวซ้ายขนานคลองผดุงกรุงเกษม เข้าซอยเทเวศร์ 2 ซึ่งจะผ่านหอพักสันติสตรี และห้องแถวของภาพรรณ เชื้อหาญ (ห้องแถวของ โอ-องอาจ จะอยูใกล้อู่แบร์ปากซอย ติดถนนกรุงเกษม)
วงเวียนเล็ก มุ่งหน้าจะข้ามสะพานพุทธฯ
การจราจรตอนนั้นสำหรับผมเรียกได้ว่าสาหัสมาก จากเด็กบ้านนอกที่เคยชินกับถนนโล่งๆ อากาศปลอดโปร่งมาเจอกับรถที่ติดนานมากกกก รวมถึงไอเสียจากรถยนต์รอบข้างที่ผู้ร่วมถนนต่างคนต่างเปิดกระจกช่วยกันสูดดมกันทุกผู้คน
ภาพแรก Ford Cortina  รุ่นนี้แต่สีฟ้าเป็นรถที่น้าขับรับส่งเด็ก 5 คนทุกเช้าเย็น    ภาพสอง Ford Anglia น่าจะเป็นสีขาวที่คุณพ่อของจีราพรขับ - ภาพสาม Mini Austin ที่ครอบครัว กบ-อิทธิพงษ์ ขับ ** Credit: tradeclassics.com,  tradclassics.com,classics.honestjohn.co.uk,  Steve Baker
ผมเข้าเรียนชั้นประถม 6 ปีการศึกษา 2516 ตอนนั้นน่าจะเปิดเรียนกลางเดือนพฤษภาคม ครูประจำชั้นคือ ครูพลอยทิพย์ ตันตระเธียร ครูใหญ่คือ ครูเลอลักษณ์ วัลยะเสวี ห้องเรียนอยู่ตรงไหนจำไม่ได้แล้ว นักเรียนในห้องมี 45 คน มีเพื่อนราว 20 คนที่ได้กลับมาติดต่อกันใหม่ผ่านกลุ่มไลน์จนถึงตอนนี้
สมุดพกตอนประถม 6   ส่วนของประถม 7 ไม่รู้อยู่ไหน ภาพสุดท้ายเป็นลายมือของพ่อที่เขียนถึงค่าเล่าเรียนในปีนั้น
เรื่องราวที่จะเล่านี้ผมจะเหมารวมเป็นเหตุการณ์ของ 2 ปีการศึกษา คือ 2516 และ 2517 เพราะความจำที่หลงเหลืออยู่ตอนนี้มันลางเลือนและกระโดดไปกระโดดมา หลายเหตุการณ์ก็เรียงลำดับไม่ถูก หรือแม้กระทั่งอาจมีความเข้าใจผิดในข้อมูลบางเรื่องไปเลย
จากเพื่อน 45 คนนั้นผมจำได้ไม่ถึงครึ่ง หลายคนก็อยากจะเอ่ยถึงเพราะไม่ได้เจอกันตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งมันก็ 50 ปีเข้าไปแล้ว พวกที่ติดต่อได้ก็ไม่จำเป็นต้องบอกชื่อ แต่พวกที่ติดต่อไม่ได้ก็อยากบันทึกชื่อเพื่อนไว้เผื่อใครเข้ามาอ่านแล้วรู้จักก็อาจจะมีโอกาสติดต่อกันได้
ประกาศเพื่อนหาย.....
คิดถึงนะ ติดต่อมาหน่อย - ปริญญา พิชัยสัตย์, บัลลังก์ มงคลคำนวณเขตต์, จีราพร ชิตอรุณ, สุทธินี แสงสุวรรณ, อัญชนา, เจษฎา, อองเลาฮวง, มณฑร งามทิพย์, เกษมสันต์ ศรีจันทราพันธุ์, เพชรล้วน องค์ศรีตระกูล และอีกหลายคนที่จำชื่อไม่ได้
ภาพถ่ายช่วง 2516 ถึง 2517
ส่วนคุณครูนั้นคนแรกที่จำได้แน่ๆ คือ ครูบุปผา วัลยะเสวี และก็มี ครูกุ้ง-ครูปลา น้องของครูบุปผา, ครูเล็ก, ครูกอบกาญจน์, ครูสุชาดา กลิ่นมาลี, ครูเบ็ญ, ครูขัตติยะวรรณ, ครูสุจิต
ภาพแรกครูผา คุยกับพี่ชายต๊อก-กัมปนาท ภาพสอง ครูสุจิต  ภาพสาม ครูขัตติยะวรรณ  ภาพสี่ ครูอุสาห์ตอนราวปี 2522  ภาพห้า ครูอุสาห์ปีใกล้เคียงปัจจุบัน
และที่จำแม่นแน่นอนคือครูสุรินทร์ ท่านสอนการฟ้อนรำ ซึ่งชื่อวิชาน่าจะเป็น “ศิลปศึกษา ขับร้อง ดนตรี” ครูสุรินทร์ท่านทำงานประจำที่โรงแรมไหนสักแห่ง อาจจะเป็นโรงแรมดุสิต ท่านแต่งตัวเนี้ยบมีสีสัน ใส่แว่นตาเลนส์ไล่สีนำสมัย
ที่สอนรำอยู่ใต้อาคารไม้ที่น่าจะเป็นที่ทำอาหารด้วย ครูสุรินทร์ท่านดุกว่าครูคนอื่น ถ้าเรารำผิดก็จะถูกตีด้วยไม้ขัดหม้อข้าวที่แขวนอยู่ตรงนั้นแหละ เป็นวิชาที่ผมกลัวที่สุด แต่ก็แปลกที่ตอนนั้นกลายเป็นคนรำเป็น และจำเพลงกฤดาภินิหารย์มาจนบัดนี้
“ปราโมทย์แสน องค์อัปสรอมรแมนแดนสวรรค์......”
ภาพนี้ด้านขวาสุดจะเห็นพื้นที่มืดๆ เสี้ยวนึง นั่นคือพื้นที่เราเรียนรำกัน
เรื่องการเรียนที่ผมจำได้อีกเรื่องคือวิชาภาษาอังกฤษ จากการที่เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยเน้นภาษาอังกฤษแล้วมาเจอความเข้มข้นของการเรียนที่วัลยาทำให้ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมาก กลับไปบ้านก็ไม่มีใครสอนการบ้านเหมือนที่แม่เคยสอนตอนอยู่สระบุรี แต่ก็พอจะเรียนได้พอๆ กับวิชาอื่นๆ ที่พอเอาตัวรอดได้
หนังสือเรียนตอนนั้นที่อยู่ในระดับที่ยากสำหรับผมก็คือหนังสือ “CLASS-WORK” มีการท่องศัพท์และต้องถูกทำโทษถ้าทดสอบไม่ผ่าน มีคำศัพท์ที่ติดหัวย้ำคิดย้ำจำมาสองตัวคือ TAX - ภาษี WAR - สงคราม เห็นภาพคำศัพท์ในหนังสือทุกที
หนังสือของ Saint Gabriel's ที่ท้าทายสติปัญญาเด็กบ้านนอกมาก Credit: Facebook :ซื้อ-ขาย-ประมูลหนังสือเก่า หนังสือมือสองฯ
สิ่งแปลกใหม่ที่เกิดมาเพิ่งเคยเจอก็คือต้องเขียนหนังสือด้วย “ปากกาคอแร้ง” ที่ต้องมาพร้อมกับกระดาษซับ และขวดน้ำหมึก หมึกในตอนนั้นที่จำได้ก็มีอยู่ 4 ยี่ห้อ คือ Geha, Pilot, Quink, Sailor และอาจจะมีหมึกจีนแดงอีกหรือเปล่าไม่แน่ใจ
Credit: pichakmayakarn.wixsite.com,  vtstationery.com,   shopee.co.th
ตอนใช้ใหม่ๆ ก็เกร็งกับมันพักนึง ตอนหลังก็ได้เห็นเทคนิคที่ทุกคนทำตามกันมา คือหัวปากกาที่ซื้อมาใหม่จะต้องเอาไปลนไฟเสียก่อนไม่อย่างนั้นจะเก็บหมึกไม่ได้มากเขียนแป๊บเดียวก็ต้องจุ่มใหม่ แต่เพิ่งไปค้นข้อมูลเมื่อกี้เจอว่าการที่เอาไปลนไฟก็เพื่อไล่น้ำมันกันสนิมที่เคลือบหัวปากกาออกให้น้ำหมึกมันเกาะได้ดีขึ่นนั่นเอง
ปากกาคอแร้งทำให้เราเขียนสวยจริงๆ แต่เด็กหลายๆ คนน่าจะไม่ชอบ เพราะการที่เขียนได้ช้า และเสี่ยงต่อการทำหมึกหกใส่ตัวเองบ้างใส่เพื่อนบ้าง ไม่ใครก็ใครก็ต้องมีเสื้อกางเกงกระโปรงเลอะหมึกกันแทบทุกวัน
ผมจำไม่ได้ว่าเราถูกอนุญาตให้ใช้ปากกาหมึกซึมแทนปากกาคอแร้งเมื่อไหร่ แต่ก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ การใช้ปากกาหมึกซึมก็ทำให้ลายมือสวยเหมือนกัน หรือมันอาจจะเป็นเพราะเราได้ใช้เวลาฝึกลายมือกับปากกาคอแร้งมาก่อนแล้วก็ได้
ตอนกลางวันเราจะกินอาหารเที่ยงที่โรงอาหารใต้ตึก โดยการเข้าแถวซื้ออาหารในถาดหลุม มีครูกุ้งเป็นผู้เก็บเงิน ราคาเท่าไหร่จำไม่ได้
โรงอาหารนั้นใช้เป็นที่ประชุมสวดมนต์ตอนเย็นวันศุกร์ สวดอะไรไม่รู้อย่างยาวเลย พวกเราจะมีหนังสือสวดมนต์เล่มเล็กๆ คนละเล่มหรืออาจจะแบ่งกันดูด้วยมั้งไม่งั้นสวดไม่ได้หรอก
พอถึงคำว่า “พาหุง สะหัส ....” ก็ถอนหายใจเฮือกเลย ใกล้จบแล้ว
โรงอาหารและห้องสารพัดกิจกรรม
ตอนเช้าเรามักเข้าแถวหน้าเสาธงที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน แต่ถ้ามีฝนตกก็จะเข้าแถวหน้าห้องเรียน
ตอนกลางวันหลังกินข้าวเที่ยงหรือตอนเย็นก่อนผู้ปกครองมารับ กลุ่มผู้ชายมักจะเล่นกันสองอย่างคือ “โมราเรียกชื่อ” หรือเอาให้เข้าใจง่ายๆ ว่าจุดสะใจของเกมส์นี้ก็คือการอัดปิงปองเข้ากับน่องคนที่ถูกลงโทษ อัดกันแบบซาดิสม์จนดาวขึ้นน่อง
อย่างที่สองก็คือการเตะบอลหญ้า ที่ใช้หญ้าม้วนกับกระดาษหุ้มด้วยถุงพลาสติกแล้วเอายางรัด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว
ส่วนผู้หญิงผมไม่รู้ว่าเขาเล่นอะไรกัน แต่ผู้หญิงกับผู้ชายไม่ได้เล่นอะไรร่วมกันเลย
ภาพแรก สนามหญ้าที่เข้าแถวและจัดกิจกรรม  ภาพสอง  สนามที่เราเล่นทั้งบอลและโมราเรียกชื่อ Credit: Facebook Valaya School, วันวานและข่าวสาร
ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นตอนปีไหนที่เกิดการแบ่งพวกและมึนตึงกันระหว่างกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายอย่างเด่นชัด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณครูคนใหม่คนหนึ่ง เรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่ผมคิดว่ากลุ่มผู้หญิงเป็นฝ่ายทำให้ครูท่านนั้นสอนต่อไม่ได้ (ซึ่งความจริงอาจไม่ใช่)
จนผมใช้ความเป็นกวีเขียนกาพย์ในทำนองประนามกลุ่มผู้หญิงใส่กระดาษติดหลังห้องว่า “.....ท่านออก ออกเพราะใคร ใช่ออก โดยลา .....” จำต้นจำปลายไม่ได้
แล้วความก็ไปถึงคุณครูบุปผาจากการรายงานของกลุ่มเพื่อนหญิง
ผมถูกเรียกเข้าไปนั่งคุกเข่าต่อหน้าท่าน
“ครูผา” ชื่อนี้ใครๆ ก็กลัว ผมจำเหตุการณ์ได้แต่ว่าท่านแค่สอบถามเรื่องราวโดยไม่ได้ตำหนิหรือลงโทษอะไร เพียงแค่นั้นก็ระทึกใจสุดๆ แล้ว
หลังจากนั้นหลายวัน น้าสะใภ้ของผมที่ทำหน้าเป็นผู้ปกครองด้วยมาเล่าให้ผมฟังว่า คุณครูบุปผาเล่าให้ฟังทำนองว่า “เขาจ้องตาฉันไม่ยอมหลบเลย”
ตอนนั้นผมคงจะกินดีหมีหัวใจเสือเข้าไปหาท่านน่ะแหละ ความขี้ดื้อมันฉายแววตั้งแต่ตอนนั้น
เรื่องการเรียนของผมก็พอใช้ได้ สอบครั้งแรกที่เข้ามาประถม 6 ผมได้ที่ 10 ซึ่งก็ไม่เลวสำหรับเด็กบ้านนอกที่เข้ากรุงมาเจอทั้งสภาพความเป็นอยู่และระดับการเรียนที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ห่างพ่อแม่เป็นครั้งแรกก็มีผลต่อสภาพจิตใจด้วย
การเรียนตอน ป.6 และ ป.7 ผมมักจะได้เลขตัวเดียว โดยคนได้ที่ 1 และที่ 2 จะสลับกันระหว่าง น้องเล็ก-พัชราภรณ์ สันติเสวี กับ จี-จีราพร ชิตอรุณ ส่วนที่ 3, 4 ก็น่าจะเป็นเพื่อนผู้หญิงคนอื่น
ครูพลอยทิพย์เขียนในสมุดพกว่าผมสติปัญญา "ปานกลาง" ตั้งแต่เทอมแรกจนเทอมสุดท้าย --- แต่น้าสาวผมยืนยันว่า หลานฉัน "ค่อนข้างฉลาด" ในเทอมแรก พอเทอมที่สองก็พัฒนาเป็น "ฉลาด" จากได้ที่ 10 เป็นได้ที่ 2 จะไม่ฉลาดได้ไง
อันดับที่ดีที่สุดของผมได้จากการสอบปลายปีประถม 6 ผมได้ที่ 2 ซึ่งตอนนั้นจะเรียกว่าผมเล่นของก็คงได้
ก่อนการสอบ ผมได้ติดตามปู่ผมไปหาหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อท่านได้เรียกผมไปเป่ากระหม่อม ท่านใช้นิ้ววนบนกระหม่อมผมพร้อมกับท่องมนต์ไปด้วยซึ่งกินเวลาราว 1 นาทีแล้วก็เป่าพ้วง….......
ถ้าถามว่าผมรู้สึกถึงพลังงานอะไรบางอย่างไหม ก็ขอบอกว่ามันก้ำๆ กึ่งๆ คือระหว่างที่ท่านวนนิ้วบนกระหม่อมผมนั้นผมรู้สึกเหมือนมีเหล็กแหลมๆ อยู่ที่ปลายนิ้วท่าน มันไม่เจ็บแต่รู้สึกได้ถึงความแหลม
ณ ตอนนั้นผมคิดแต่อย่างเดียวว่าท่านคงเพิ่งตัดเล็บมาแหละ
ที่ห้องมีพี่น้องอยู่ 3 คู่ คู่แรกคือ ประภาพรรณ-วีรวัฒน์ คู่นี้น่าจะเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ผมดูไม่ออกว่าเป็นพี่น้องกัน
1
คู่ที่สอง จุฑาทิพย์-อิทธิพงษ์ คู่นี้น้องสาวชอบดุพี่ชาย
คู่ที่สาม สุทธินี- สุนทรียา แสงสุวรรณ คู่นี้เขาเรียบร้อยทั้งสองคน
และก็มีพวกที่มีน้องอยู่นอกห้องสองคน คือ กัมปนาท คล้ายแก้ว น้องชายจำชื่อไม่ได้แล้ว และ ธนา-ลัคณา ธนะแพสย์ พี่น้องคู่นี้เขารักกันดี น้องเขาอยู่ชั้นไหนจำไม่ได้
บริเวณผนังกำแพงแถวนี้เป็นจุดรวมพลในตอนเย็นของสองพี่น้องธนะแพสย์
พอใกล้จบประถม 7 เพื่อนส่วนมากรวมทั้งผมก็จะออกไปสอบเข้า ม.ศ. 1 ที่โรงเรียนที่เราอยากจะเข้า ม.ศ.1 แต่บางคนก็ตั้งใจที่จะเรียนต่อชั้น ม.ศ.1 ที่วัลยา
 
ผลการสอบเข้าโรงเรียนต่างๆ ออกมาก่อนที่พวกเราจะจบชั้นประถม 7 เล็กน้อย ดังนั้น ณ วันที่เราเซ็นสมุดเฟรนด์ชิปกันเราก็จะรู้แล้วว่าใครจะไปอยู่โรงเรียนอะไร
ในสมุดเฟรนด์ชิปที่เขียนหน้าแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2518 บันทึกไว้ว่า ....
โรงเรียนวัดบวรนิเวศ - บ.น. : วีรวัฒน์ ศรีนรดิษฐ์เลิศ, ประกอบเกียรติ หิรัญวิวัฒน์กุล, บุญเกียรติ มากบุญประสิทธิ์, อิทธิพงษ์ พิศาลสินธุ์
โรงเรียนวัดสังเวช – ว.ว. : สมชาย องค์ศรีตระกูล, เกษมสันต์ ศรีจันทราพันธุ์, เพชรล้วน องค์ศรีตระกูล, อุไร ปิยะวาทศิลป์
โรงเรียนสวนกุหลาบฯ : อาทิตย์, บัลลังก์ มงคลคำนวณเขต, ประภาส บุปผาชื่น, และที่ไปสมทบที่ ส.ก.ทีหลังก็มี ธนา ธนะแพสย์, กัมปนาท คล้ายแก้ว, พัทธนันท์ จันทรีย์
โรงเรียนสตรีวิทยา - ส.ว. : พัชราภรณ์ สันติเสวี, จีราพร ชิตอรุณ, และไม่แน่ใจว่ามี สุนทรียา แสงสุวรรณด้วยหรือเปล่า
หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้ไปเจอเพื่อนอีก 5 คนที่สวนกุหลาบ และได้มีโอกาสกลับมาไหว้ครูผาพร้อมรุ่นพี่ที่สวนฯ ครั้งหนึ่ง ทำให้ได้เจอเพื่อนที่ยังคงเรียนอยู่ที่วัลยาหลายคน
ตอนปี 2517 พวกเรายังเด็กเกินกว่าจะคิดไกลล่วงหน้าไปถึง 50 ปีมาถึงปีปัจจุบัน 2567 ที่ผมมานึกเสียดายว่าวันนั้น.... วันสุดท้ายของชีวิตนักเรียนประถม 7 พวกเราน่าจะจากกันด้วยการเก็บความทรงจำดีๆ ให้มากที่สุด
ผมน่าจะใช้เวลาทั้งหมดที่เหลือไปกับการพูดคุยกับเพื่อนพร้อมขอให้เพื่อนทุกคนช่วยเขียนอะไรไว้เป็นความทรงจำลงในสมุดเฟรนด์ชิป และผมน่าที่จะมีโอกาสมองหน้าเพื่อนอย่างเต็มตาให้นานพอจนไม่ต้องเสียเวลาไปกับการขุดความทรงจำที่เก่าแก่ขึ้นมาปัดฝุ่นอีก
และที่สำคัญ..... ผมและเพื่อนชายควรจะขอโทษเพื่อนหญิงคนหนึ่งที่พวกเรา “ใจร้าย” กับเธอตลอดช่วงเวลาสองปีนั้น
พวกเราล้อเลียน กลั่นแกล้ง และใช้เธอเป็นสัญลักษณ์ของความด้อยค่า ด้วยความเป็นเด็กวัยผลัดขนของพวกเราที่เมื่อจับกลุ่มกันแล้วก็ใช้การแกล้ง การล้อเลียน เป็นเรื่องสนุก การกระทำเหล่านี้ผมไม่รู้ว่าใครจะจำกันได้ไหม เพราะมันก็ผ่านมาร่วมห้าสิบปีแล้ว
หวังว่าเพื่อนคนนั้นคงมีโอกาสได้อ่านบทความนี้ “เราเสียใจและขอโทษนะ....”
วันที่ 10 ตุลาคม 2556 เมื่อ 11 ปีที่แล้ว
เรารวมตัวกันได้ประมาณ 20 คนกันที่ครัวมงกุฎที่อยู่ไม่ไกลนักจากวัลยา เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่พวกเราพบกันเยอะขนาดนี้
ภาพสุดท้ายของแต่ละคนเมื่อหลายสิบปีก่อนได้รับการอัพเดทใหม่ จากเด็กอายุ 12 กลายเป็นผู้อาวุโสอายุ 52 แต่ความรู้สึกผูกพันเก่าๆ มันก็ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
10 ต.ค. 2556 ที่ครัวมงกุฏ
วันนี้....
วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ลมหนาวโชยมาพร้อมกับอุณหภูมิ 26 องศาในขณะที่กำลังพิมพ์บทความนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะค้นหาเพลง The Winter Long ที่ดึงให้ผมย้อนกลับไปพบกับความรู้สึกบางส่วนของเด็กวัย 13 เทเวศร์ซอย 2 อีกครั้ง
มีหลายบทเพลงที่ผูกโยงดึงให้ผมกลับไปยังปี 2516-17
บทเพลงเหล่านี้ได้ถูกสอดแทรกไปกับเรื่องราวชีวิตบางมุมของผมกับเพื่อนคนหนึ่งที่แนะนำให้ผมรู้จักกับมัน :
How Can I Tell Her - When Will I See You Again – The Winter Long …..
และเพลงเหล่านี้มันก็มีเพลงที่ทำให้เสียน้ำตาอยู่ด้วย
วันนี้....... ไม่มีอะไรต้องเสียใจแล้ว
การเดินทางค่อนชีวิตที่ผ่านมาทำให้เราได้แต่อมยิ้มกับเหตุการณ์ที่ดูหนักหนาในอดีต
บทเพลงที่เหมาะกับผมตอนนี้ก็คือ Yesterday Once More ที่มันทำให้ผมดิ่งลงไปพร้อมกับเสียงของ Karen Carpenter จนสุดใจทุกครั้งที่ได้ยิน
มีอีกเพลงนึงที่ผมก็ชอบคือ “SEASONS IN THE SUN”
 
แต่ไม่ต้องรอฟังผมร้องนะ
 
..................ผมไม่รีบ.........................
โฆษณา