1 ธ.ค. 2024 เวลา 15:24 • การเมือง

“อังเกลา แมร์เคิล” ออกหนังสือประวัติส่วนตัว เล่าถึงชีวิตเริ่มต้นของเธอใน “เยอรมนีตะวันออก”

การพบกันครั้งแรกกับปูติน เคยนั่งกินเนื้อหมีด้วยกัน
4
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนังสือชื่อ “FREIHEIT” (ในภาษาเยอรมัน) หรือ “Freedom” (ชื่อในภาษาอังกฤษ) ได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายในเยอรมนี ซึ่งเล่าถึงประวัติส่วนตัวและตลอดชีวิตทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของเยอรมนี “อังเกลา แมร์เคิล” ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2005 ถึงธันวาคม 2021 ก่อนวางมือทางการเมือง
1
อย่างไรก็ตามก็มีคนวิจารณ์ว่า การที่หนังสือเล่มนี้ออกมาช่วงนี้ก็เพื่อที่ว่าเธอต้องการรักษาชื่อเสียงของเธอซึ่งสั่นคลอนจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ในตอนต้นของอัตชีวประวัติของเธอ แมร์เคิลยอมรับว่าในวัยเยาว์ เธอไร้เดียงสามากและเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัวให้คนอื่นฟังมากมาย (เธอเกิดในเยอรมนีตะวันออก) แต่เมื่อเวลาผ่านไปชีวิตสอนให้เธอรู้ว่าควรเก็บชีวิตส่วนตัวไว้กับตัวเองไม่ออกมาพูดมาก
1
แมร์เคิลเองก็ไม่ได้อธิบายถึงความต้องการที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับตัวเองว่าเป็นเพราะต้องการหาเหตุผลสนับสนุนตัวเอง แนวคิดในการเขียนบันทึกความทรงจำเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตผู้อพยพในยุโรปในปี 2015-2017 ช่วงเวลานั้นเธอก็รู้สึกว่า “สูญเสียการควบคุมในการพูดในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก” ซึ่งตามความเห็นของเธอเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการเมืองของเธอในเวลาต่อมาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของเธอด้วย
ภาพการสัมภาษณ์ อังเกลา แมร์เคิล ในโอกาสออกหนังสือประวัติส่วนตัวของเธอที่เบอร์ลิน เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2024 เครดิตภาพ: Michael Kappeler / Reuters / Scanpix
นอกเหนือจากประวัติส่วนตัวของเธอแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังคล้ายกับบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในเยอรมนี ยุโรป และทั่วโลกอีกด้วย เมื่อแมร์เคิลวางมือจากการเมืองใหญ่ในปี 2021 ก็มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับเธอว่า อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้รับการยกย่องในเรื่องความภักดีต่อค่านิยม การเมืองสายกลาง ความสามารถในการหาทางประนีประนอม และหลายคนก็เริ่มคิดถึง “ยุคทองของแมร์เคิล”
1
ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อรัสเซียเริ่มบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยไม่คาดคิดว่าแมร์เคิลจะตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสัมภาษณ์กับ Der Spiegel เมื่อไม่นานนี้ เธออ้างว่าเธอถูกตำหนิอย่างไม่เป็นธรรมสำหรับความผิดพลาดทั้งหมดที่ชาติตะวันตกทำไว้เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ยูเครน และประเทศอื่นๆ ในยุคหลังสหภาพโซเวียต [1]
1
เครดิตภาพ: Photo illustration by Joan Wong. Source photographs: Hans-Christian Plambeck/laif/Redux; iStock/Getty Images I WSJ
  • แมร์เคิลยอมรับเป็นครั้งแรกว่า “เธอยังรู้สึกว่าเป็นคนเยอรมันตะวันออก”
เป็นเวลาหลายปีที่แมร์เคิลตอบคำถามเกี่ยวกับอดีตของเธอในเยอรมนีตะวันออกด้วยวลีซ้ำๆ ว่าเป็นชีวิตใน “รัฐที่ไม่เป็นอิสระและไม่เป็นประชาธิปไตย” และ “ยากลำบากมาก” ในการสัมภาษณ์ไม่กี่ครั้งที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ของเธอ
เธอได้ยอมรับว่าตอนนี้เธอเพิ่งตัดสินใจที่จะไตร่ตรองถึงชีวิต 35 ปีแรกของเธอในเยอรมนีตะวันออก บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเนื้อหาในช่วงแรกของหนังสือเล่มนี้ซึ่งเธอพูดถึงวัยเด็กและวัยสาวของเธอในเยอรมนีตะวันออกจึงเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจที่สุดที่จะอ่าน [2]
1
อังเกลา คาสเนอร์ (ชื่อของแมร์เคิลสมัยอยู่เยอรมนีตะวันออก) ถ่ายรูปหมู่ระหว่างการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกที่เมืองเทเทอโรว์ ประเทศเยอรมนี ในปี 1971 เครดิตภาพ: AFP / Getty Images
ในตอนที่เธอเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เธอเริ่มตระหนักได้ว่าต้นกำเนิดของเธอในเยอรมนีตะวันออกจะเป็น “หินถ่วง” ของเธอตลอดไป จนกระทั่งช่วงปลายอาชีพการเมืองของเธอ ในงานเฉลิมฉลองวันครบรอบการรวมประเทศเยอรมนีในปี 2021 แมร์เคิลได้ประกาศอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า “เธอคือคนเยอรมันตะวันออก” และประสบการณ์ชีวิตในเยอรมนีตะวันออกของเธอคือสิ่งที่กำหนดตัวตนของเธอในฐานะนักการเมืองและปัจเจกบุคคล [3]
1
ในหนังสือ Freedom แมร์เคิลกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอไม่เคยเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลเยอรมันตะวันออก และชีวิตของเธอภายใต้การปกครองแบบเผด็จการล้วนค้นหา “ความสมดุลระหว่างค่านิยมภายในและการฉวยโอกาส” พ่อของเธอเป็นพวกคลั่งศาสนาฝ่ายซ้ายและเป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรท้องถิ่น ดังนั้นชาวเยอรมันตะวันออกที่ภักดีต่อรัฐจึงสงสัยครอบครัวของเธอว่าเป็นฝ่ายต่อต้านทางการอยู่เสมอ ในวัยเด็กเธอยังเคยบอกคนรอบข้างเธอด้วยซ้ำว่าพ่อของเธอเป็นคนขับรถ
แมร์เคิลแสดงผ่านข้อเขียนของเธอด้วยความอบอุ่นใจเกี่ยวกับการเดินทางของเธอผ่านประเทศกลุ่มตะวันออก เช่น การเดินทางไปมอสโกซึ่งเธอได้รับชัยชนะจากการแข่งขันโอลิมปิกของโรงเรียนในภาษารัสเซีย ความประทับใจของเธอที่มีต่อโปแลนด์ระหว่างการหยุดงานของ Solidarity ในปี 1981 และการเดินเท้ารอบๆ กรุงปราก รวมถึงการท่องเที่ยวแบบแบกเป้ผ่านภูเขาของจอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน
อังเกลา แมร์เคิล สมัยเป็นวัยรุ่นในเยอรมนีตะวันออก เครดิตภาพ: The New Yorker, The Making of Merkel / BBC
  • ชีวิตทางการเมืองในฐานะนายกเยอรมนีหลายสมัย
เนื้อหาในหนังสือส่วนนี้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในอาชีพนักการเมืองของเธอ การปฏิรูป วิกฤตทางการทูต และความพยายามในการรักษาสถานภาพของเยอรมนีในสหภาพยุโรปไว้ อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์หนึ่งที่เธอบรรยายอย่างซาบซึ้งใจมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในอาชีพการงานของเธอคือปี 2015 เธอตัดสินใจรับผู้ลี้ภัยหลายแสนคนจากภูมิภาคต่างๆ ที่ถูกสงครามและภัยพิบัติทางมนุษยธรรมกลืนกิน
เธอพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงการตัดสินใจของเธอที่หลายคนไม่เห็นด้วยและวิจารณ์เธออย่างหนักคือ หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีวาระสุดท้าย แมร์เคิลถูกกล่าวหาว่าต้องการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติและปล่อยให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาในยุโรปเพื่อให้ได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่าเธอได้รับบาดแผลทางใจจากชีวิตในเยอรมนีตะวันออกมากจนกลายเป็นนักอุดมคติที่อ่อนไหวต่อปัญหาพรมแดนที่ถูกปิดกั้น (เหมือนยุคกำแพงเบอร์ลิน)
ต่อมาแมร์เคิลได้อธิบายว่า เธอไม่สามารถทำตัวแตกต่างออกไปได้ เพราะวาทกรรมทั้งหมดเกี่ยวกับค่านิยมของยุโรปและสิทธิมนุษยชนจะถูกทำให้ด้อยค่าลง สิ่งนี้จะนำไปสู่วิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นในสหภาพยุโรป เธอไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการล้อมชายแดนด้วยลวดหนามและไล่ผู้คนที่หลบหนีจากสงคราม ความหิวโหย ความทุกข์ทรมาน จะรู้สึกดีได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นการกระทำเช่นนี้จะไม่ช่วยขจัดสาเหตุของปัญหาที่บังคับให้ผู้คนหลายพันคนต้องอพยพเข้ามายังยุโรป
เครดิตภาพ: Lionel Cironneau / AP
  • การพบกันครั้งแรกกับ “ปูติน”
แมร์เคิลได้พบกับปูตินครั้งแรกในฐานะส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนรัฐสภาจากเยอรมนีเมื่อปี 2000 เมื่อเขาเพิ่งได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยแรกต่อจากเยลต์ซิน
1
หลังจากนั้นเธอก็พบปูตินอยู่ตามวาระต่างๆ ซึ่งทำให้เธอหงุดหงิดบ่อย ตามคำกล่าวของเธอ ปูตินมาสายเสมอ พูดคุยกับเธออย่างเป็นกันเองมากกว่าจะทำตามมารยาททางการทูต เขาบ่นอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับ “ความอับอายที่รัสเซียต้องทนทุกข์จากประเทศตะวันตกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต” ปูตินยังทำให้เธอชัดเจนเป็นครั้งคราวว่าเขาจริงจังกับประเทศตะวันตกเพียงประเทศเดียวเท่านั้น นั่นคือสหรัฐอเมริกา
แมร์เคิลเป็นผู้นำตะวันตกไม่กี่คนที่ยังคงติดต่อกับเครมลินอย่างต่อเนื่องมาเกินสิบปีขึ้นไป และจุดสุดท้ายในความสัมพันธ์ของพวกเขา ตามที่เธอกล่าวคือการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อ 1 มีนาคม 2014 ปูตินโกหกเธอว่า
“กลุ่มชายถืออาวุธในไครเมียไม่ใช่ทหารรัสเซียเลย ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา ไครเมียก็ถูกรัสเซียผนวกไปแล้ว” เธออ้างว่าเห็น “ลักษณะของความเป็นเผด็จการ” ในตัวประธานาธิบดีรัสเซีย (ปูติน) เสมอมา ในขณะเดียวกันเธอยังเชื่อว่าปูตินไม่ได้ตัดสินใจบุกเข้ายูเครนทันที แต่มีความคิดมานานแล้ว โดยตะวันตกไม่ได้สังเกตเห็นหรือเพิกเฉย [1]
ในปี 2006 ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แมร์เคิลได้เดินทางมาที่เมืองทอมสค์พร้อมกับคณะผู้แทนจำนวนมาก ตอนนั้นเองที่เธอสามารถคุยกับปูตินได้อย่างใกล้ชิด ทั้งสองคนพูดภาษาเยอรมัน ส่วนปูตินพูดเสียงเบามาก หลังจากการประชุมอย่างเป็นทางการและรับประทานอาหารค่ำ (ซึ่งเป็นงานเดียวกับที่เธอได้ลองกินเนื้อหมีเป็นครั้งแรกในชีวิต)
ภาพถ่ายเมื่อปี 2006 เครดิตภาพ: Dmitry Astakhov / RIA Novosti / Sputnik / Profimedia
หลังจากนั้นปูตินก็ได้ขับรถพาเธอไปที่สนามบินเพราะเธอต้องการเพลิดเพลินกับธรรมชาติของไซบีเรียมาก แต่การเดินทางต้องผ่านหมู่บ้านและแหล่งเสื่อมโทรม ปูตินก็บอกกับเธอว่าในรัสเซียมีสถานที่หลายแห่งที่คนจนอาศัยอยู่ ซึ่งสามารถถูกล่อลวงด้วยเงินได้ง่ายๆ กล่าวกันว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนตอนนั้น ซึ่งผู้ประท้วงได้ก่อ “การปฏิวัติสีส้ม” ด้วยเงินทุนของสหรัฐฯ และปูตินจะไม่อนุญาตให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในรัสเซีย
1
แมร์เคิลได้เคยพูดกับปูตินเกี่ยวกับเรื่องในยูเครนตอนนั้นโดยยกตัวอย่างกรณีของเยอรมนีตะวันออกที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติอย่างสันติเพราะต้องการชีวิตที่ดีกว่า ไม่ใช่เงินทอง จากนั้นปูตินก็เปลี่ยนหัวข้อสนทนาและถามว่าเธอรู้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญของอเมริกากับรัสเซียแตกต่างกันอย่างไร โดยเขาเริ่มอธิบายว่ารัฐธรรมนูญรัสเซียอนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้งหากเขาหยุดพักหลังจากดำรงตำแหน่งไปแล้วสองสมัย (ของอเมริกาประธานาธิบดีอยู่ได้แค่สองสมัย)
  • แมร์เคิลโน้มน้าวไม่ให้ยูเครนได้เข้าร่วมนาโตเมื่อปี 2008
หลังจากเหตุการณ์ที่เมืองบูชาที่สื่อตะวันตกประโคมข่าวว่าเป็นการสังหารหมู่โดยกองทัพรัสเซียเมื่อมีนาคม 2022 ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนกล่าวว่านาโตปฏิเสธคำร้องของยูเครนและจอร์เจียที่จะเข้าร่วมนาโตในปี 2008 เนื่องจากอังเกลา แมร์เคิลและประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น นิโกลา ซาร์โกซี “กลัวรัสเซียโดยใช่เหตุ” เซเลนสกียังเชิญนักการเมืองที่เอ่ยชื่อทั้งสองคนมาที่บูชาเพื่อดูด้วยตนเองว่า “นโยบายโอนอ่อนผ่อนตามให้รัสเซียในระยะยาว” ส่งผลอย่างไร [4]
1
ในหนังสือเล่มนี้เล่าว่าแมร์เคิลพูดถึงข่าวเกี่ยวกับบูชาทำให้เธอประหลาดใจเมื่อเธอกำลังเดินทางกับเพื่อนร่วมงานของเธออยู่ในอิตาลี สื่อใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้และเผยแพร่ภาพถ่ายของเธอจากโรมและฟลอเรนซ์พร้อมกับคำพูดของประธานาธิบดียูเครน (สื่อว่าแมร์เคิลนิ่งเฉยยังเที่ยวได้ ทั้งที่เป็นต้นเหตุทางอ้อมทำให้เกิดเหตุที่บูชา คือไม่ยอมให้ยูเครนได้เข้านาโตเมื่อปี 2008 เพราะเอาใจรัสเซีย)
อังเกลา แมร์เคิล พร้อม Annette Schavan อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเยอรมนีของพรรค CDU ระหว่างทัวร์กรุงโรมในเดือนเมษายน 2022 (เกิดเหตุที่บูชาในยูเครน) เครดิตภาพ: BACKGRID UK / Vida Press
แมร์เคิลปกป้องตำแหน่งของตนในการประชุมสุดยอดนาโตที่กรุงบูคาเรสต์ในปี 2008 ในเวลานั้นประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐอเมริกาเสนอ “แผนระยะกลาง” ให้ยูเครนและจอร์เจียมีสถานะได้เข้าร่วมนาโต แมร์เคิลของเยอรมนีและซาร์โกซีของฝรั่งเศสในตอนนั้นออกมาคัดค้านแผนดังกล่าว โดยเชื่อว่าการที่จะให้ยูเครนและจอร์เจียเข้าร่วมนาโตก็อาจทำให้เหมือนเป็นการเปิดศึกความขัดแย้งใหญ่กับรัสเซีย
1
เธอได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงแย้งไปว่าจากการสำรวจความคิดเห็นในสมัยนั้น พบว่าชาวยูเครนส่วนน้อยสนับสนุนการเข้าร่วมนาโต [5] อุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ทำให้ยูเครนไม่ได้เข้าร่วมนาโตคือ ข้อตกลงในการส่งกองเรือรัสเซียไปประจำการที่ไครเมีย ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2017 และในกรณีจอร์เจียยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งเรื่องดินแดนในอับคาเซียและเซาท์ออสซีเชียได้ภายในปี 2008 จากเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ควรรับทั้งสองประเทศเข้านาโตในตอนนั้น
แมร์เคิลอ้างว่าสถานะการรับยูเครนเข้านาโตจะไม่ได้หมายถึงการรับประกันความมั่นคงโดยอัตโนมัติในกรณีที่รัสเซียบุก ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะผู้นำเยอรมนีเธอได้ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประเทศของเธอและพยายามที่จะไม่ทำให้ความแตกแยกในหมู่ประเทศสมาชิกนาโตเกิดทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านั้นในช่วงที่อเมริกาบุกอิรักในปี 2003 [6]
2
ในเวลานั้นประเทศสมาชิกนาโตในยุโรปส่วนใหญ่ประณามการกระทำของสหรัฐฯ และปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางทหารแก่พวกเขา ในขณะเดียวกันเธอยอมรับว่าในปี 2008 ก่อนสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย เป็นที่ชัดเจนว่านาโตยังไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับความสัมพันธ์ระยะยาวกับรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันแมร์เคิลยังคงสนับสนุนให้ทั้งยูเครนและจอร์เจียได้เข้าร่วมสหภาพยุโรปมากกว่าที่จะเป็นนาโต
1
แมร์เคิล (ซ้าย) แย้งเรื่องการรับยูเครนและจอร์เจียเข้านาโตกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ขวา) ในที่ประชุมสุดยอดนาโตที่บูคาเรสต์เมื่อปี 2008 เครดิตภาพ: YVES LOGGHE/AP2008
  • ความมุ่งมั่นของแมร์เคิลในการซื้อก๊าซจากรัสเซีย เป็นประโยชน์ต่อเยอรมนีและยุโรป
คำวิพากษ์วิจารณ์หลักต่อแมร์เคิลอีกเรื่องก็คือการที่เธอทำให้เยอรมนีต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียมากขึ้น รวมถึงการสร้างท่อส่งก๊าซ 2 ท่อ คือ Nord Stream 1 และ Nord Stream 2 นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เข้าใจแรงจูงใจของเธอ รัสเซียขายก๊าซให้กับยุโรปในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเยอรมนี
บทวิจารณ์ต่อเนื้อหาส่วนนี้ในหนังสือของแมร์เคิลเรียกการก่อสร้าง Nord Stream 2 ซึ่งเกิดหลังจากการผนวกไครเมียและการเริ่มปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในภูมิภาคโดเนตสค์และลูฮันสค์ในยูเครนว่าเป็น “การขาดวิสัยทัศน์ทางการเมืองอย่างน่าประหลาดใจ” และพวกเขาโกรธแค้นต่อความพยายามของแมร์เคิลที่จะดึงดันตามอุดมการณ์ที่จะซื้อก๊าซจากรัสเซียให้ได้ [7]
1
ในหนังสือเล่มนี้แมร์เคิลเขียนว่า เธอไม่ใช่นักการเมืองยุโรปคนเดียวที่สนใจก๊าซราคาถูกจากรัสเซียและการสร้างท่อส่งก๊าซ คณะกรรมาธิการยุโรปเรียกโครงการ Nord Stream ทั้งสองโครงการว่าเป็น “โครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาค ข้อตกลงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซแห่งแรกได้รับการลงนามโดยเกอร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนก่อนหน้าเธอ
พิธีเปิดโครงการท่อก๊าซ Nord Stream 1 เมื่อปี 2011 เครดิตภาพ: Sean Gallup/Getty Images
หลังจากเกิดสงครามยูเครนเมื่อปี 2022 ประเทศต่างๆ ในยุโรปบางประเทศเริ่มชี้นิ้วมาที่แมร์เคิลแล้วบอกว่า “เห็นไหม อย่าพึ่งพาก๊าซรัสเซียมากจนเกินไป” เธอหงุดหงิดและเขียนระบายลงในหนังสือเล่มนี้ว่า จนถึงปี 2022 โปแลนด์และยูเครนไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับลำเลียงก๊าซของรัสเซียเข้ามายังยุโรปผ่านท่อในดินแดนของพวกเขา พวกเขาเพียงต้องการหารายได้จากค่าหัวคิวในการลำเลียงก๊าซผ่านดินแดน
ในบทสัมภาษณ์กับ Der Spiegel แมร์เคิลกล่าวเสริมว่าสังคมเยอรมันไม่ได้เรียกร้องให้ตัดสัมพันธ์ด้านก๊าซกับรัสเซีย ตามคำกล่าวของเธอเยอรมนีสนับสนุนการคว่ำบาตรต่อรัสเซียมาโดยตลอดจนถึงปี 2022 และเธอก็พยายามเกลี้ยกล่อมผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ให้เข้าร่วมด้วยความยากลำบาก [1]
2
แมร์เคิลยังปกป้องข้อตกลงมินสค์อย่างแน่วแน่ตามที่เขียนไว้ในหนังสือของเธอ นักวิจารณ์เธอเน้นย้ำมาหลายปีแล้วว่า แม้ว่าข้อตกลงนี้จะทำให้ประวิงเวลาในการเกิดสงครามในช่วงนั้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาวได้ นักวิจารณ์กล่าวว่าข้อตกลงมินสค์ทำให้รัสเซียพยายามบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยของยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้โครงสร้างแบบสหพันธรัฐและรับรองอำนาจบริหารของดินแดนที่มีใจฝักไฝ่มาทางรัสเซียมากกว่าฝั่งตะวันตก
ในมุมของแมร์เคิลเชื่อว่า ข้อตกลงมินสค์เป็นสิ่งที่ทำให้ยูเครน “มีเวลาที่จะจัดการงบประมาณของประเทศ ดำเนินการปฏิรูปการกระจายอำนาจ และเริ่มต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศ” เธอมั่นใจว่าในปี 2014-2015 ข้อตกลงมินสค์เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งการรุกคืบต่อไปของรัสเซียได้ตามความเห็นของเธอ ผลจากข้อตกลงมินสค์ ยูเครนจะค่อยๆ กลับเข้ามาควบคุมพื้นที่ลูฮันสค์และโดเนตสค์ได้อีกครั้ง (แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดขึ้น)
เครดิตภาพ: The International Affairs
เรียบเรียงโดย Right Style
1st Dec 2024
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Alamy | Russian Achieves / ZUMA>
โฆษณา