2 ธ.ค. 2024 เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ไก่เนื้อหอม! คาดปี 68 ส่งออกเนื้อไก่โลกโต 2% กระตุ้นส่งออกไทย

พาณิชย์ คาดส่งออกเนื้อไก่โลกปี 68 โตเพิ่ม 2% สูงสุดในประวัติการณ์ หลังราคาอาหารสัตว์ปรับลดลง แนะผู้ประกอบการไทยรักษาส่วนแบ่งตลาด-ดูแลต้นทุน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าเนื้อไก่ คาดว่าในปี 68 ปริมาณส่งออกเนื้อไก่โลกจะเพิ่มสูงที่สุดในประวัติการณ์โดยเติบโตที่ 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน สำหรับไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลกก็จะมีการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามต้องเฝ้าระวังการขยายการส่งออกของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 1 ของโลก ที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยได้
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค.
จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ตลาดสินค้าสัตว์ปีก ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดว่าปี 68 การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2% หรือประมาณ 104.9 ล้านตัน (ปี 67 มีการผลิตประมาณ 103 ล้านตัน) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาอาหารสัตว์ปรับตัวลงเล็กน้อย และความต้องการผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งจีนที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้จีนกลับมาเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับ 1 ของโลกอีกครั้ง (จีนเคยเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับ 1 ของโลก และถูกบราซิลแซงในปี 65)
ไก่เนื้อหอม! คาดปี 68 ส่งออกเนื้อไก่โลกโต 2% กระตุ้นส่งออกไทย
การส่งออกเนื้อไก่โลกปี 68
จะเติบโตที่ 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน (ปี 67 ส่งออกประมาณ 13.6 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น โดยไก่เป็นโปรตีนราคาถูกที่ดึงดูดผู้บริโภครายได้ปานกลาง รวมทั้งการสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการขยายการส่งออกของบราซิล ทำให้ส่วนแบ่งการส่งออกของบราซิลขยายตัวต่อเนื่อง กระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ของยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดนำเข้า
ได้แก่ เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งบราซิลแข่งขันกับซัพพลายเออร์อื่นในด้านราคา และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้คาดว่าในอนาคตบราซิลอาจแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ส่งออกเนื้อไก่รายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น
แนะผู้ประกอบการไทยรักษาส่วนแบ่งตลาด-ดูแลต้นทุน
ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกเนื้อไก่ของโลก
การควบคุมโรคระบาด
บราซิลคงสถานะปลอดโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) การระบาดจำกัดอยู่เฉพาะนกป่าและไม่มีการระบาดเชิงพาณิชย์ จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตและการค้า เช่นเดียวกับไทยที่ไม่พบการระบาดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 52 รวมทั้งการควบคุมการระบาดของโรค HPAI ของสหภาพยุโรป จะช่วยสนับสนุนการส่งออกเนื้อไก่ของโลกไปยังตลาดต่าง ๆ
การมุ่งผลิตเพื่อส่งออก
บราซิลและไทยมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าเพื่อตลาดภายในประเทศ แตกต่างจากยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้บราซิลและไทยเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า เช่น ไก่ทั้งตัว เนื้อถอดกระดูก เนื้ออก ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง เป็นต้น
ต้นทุนการผลิต
บราซิลเป็นผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองรายใหญ่ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า
การส่งออกสินค้าไก่ของไทย
ในช่วง 10 เดือนปี 67 (ม.ค.-ต.ค.) มูลค่ารวม 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (126,976 ล้านบาท) ขยายตัว 4.9% ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไก่ปรุงสุกไปตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร
ในปี 68 การส่งออกเนื้อไก่ของโลกและไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อื่น ๆ ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับ 1 ของโลกมายาวนาน เคยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก ดังนั้นไทยต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ.....นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/237791
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา