3 ธ.ค. เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมยางพาราไทย: เร่งพัฒนา คว้าโอกาส บนความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

ยางพารา เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจภาคใต้และไทยมาช้านานเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีความต้องการใช้ในการผลิตสินค้าหลากหลายทั่วโลก เป็นหนึ่งใน Commodity product ที่มีตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยไทยมีคู่แข่งผู้ผลิตยางพาราต่างประเทศที่นับวันจะมีผลผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมาก บทความนี้จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านร่วมเปิดมุมมองต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมถึงสิ่งที่ไทยควรพัฒนาเพื่อให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยยังมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกต่อไป
ไทยมีผลผลิตยางพารา และส่งออกยางแปรรูปขั้นกลางเป็นอันดับ 1 ของโลก
4 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตยางพาราหลักของโลก ได้แก่ 1) ไทย 2) อินโดนีเซีย 3) สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Cote d’Ivoire) และ 4) เวียดนาม มีปริมาณผลผลิตยางพารารวมกันถึง 71% โดยไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 มานาน ขณะที่ Cote d’Ivoire กลายเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลกในปี 66 เป็นปีแรก แทนเวียดนาม (รูปที่ 1)
ยางแปรรูปขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 8% ของสินค้ายางทั้งหมดของโลก ส่วนใหญ่ คือ ยางแท่ง 51% และยางผสม 29% ซึ่งเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตยางล้อเป็นหลัก ขณะที่น้ำยางข้นมีสัดส่วน 9% เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลัก
ทั้งนี้ ผู้ส่งออก 76% คือ ผู้ผลิตยางพาราหลักทั้ง 4 ประเทศ นำโดยไทยที่พึ่งพาการส่งออกหลักมากกว่า 1 ประเภท ขณะที่คู่แข่งพึ่งพาสินค้าประเภทเดียวมากกว่า 50% โดยอินโดนีเซีย และ Cote d’Ivoire ส่งออกยางแท่ง เวียดนามส่งออกยางผสมเป็นหลัก ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกหลักของทั้งไทย Cote d’Ivoire และ เวียดนาม (รูปที่ 2)
ยางแปรรูปขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 92% ของสินค้ายางทั้งหมดของโลก ส่วนใหญ่เป็นยางล้อ 50% มีผู้ส่งออกหลัก คือ ยุโรป และจีน มีผู้ซื้อหลัก คือ ยุโรป และสหรัฐฯ นอกจากนี้ ถุงมือยางเป็นสินค้าส่งออกสำคัญหนึ่งของสินค้ายางแปรรูปที่มีมาเลเซียเป็นเจ้าตลาดถุงมือยางของโลก มีการส่งออกถึง 62% ของมูลค่าส่งออกยางแปรรูปขั้นปลายของมาเลเซีย (รูปที่ 3)
ไทยพึ่งพาการส่งออกยางแปรรูปขั้นกลางที่มี Value added ต่ำ
ไทยมีผลผลิตยางพาราจำนวนมาก จึงส่งออกสินค้าส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางธรรมชาติ โดยมีปริมาณส่งออกยางแปรรูปขั้นกลางถึง 65% ขณะที่ยางแปรรูปขั้นปลาย 35% ได้แก่ ยางล้อ และถุงมือยางธรรมชาติ (รูปที่ 4)
แม้ไทยมีมูลค่าส่งออกยางแปรรูปขั้นกลางถึง 2 แสนล้านบาทในปี 66 และเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญอันดับ 1 ใน 3 ของไทย แต่มูลค่าดังกล่าวยังต่ำกว่ามูลค่าส่งออกยางแปรรูปขั้นปลายถึง 26%
ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันยางแปรรูปขั้นกลางให้คู่แข่ง
แม้ไทยจะเป็นเจ้าตลาดในการผลิตยางผสม น้ำยางข้น และยางแผ่นรมควัน แต่ 10 ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญความท้าทายหลายด้าน จนความสามารถในการแข่งขันของยางพาราแปรรูปลดลงในเกือบทุกสินค้า สะท้อนจากส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลกที่ลดลง โดยไทยเสียส่วนแบ่งการส่งออกน้ำยางข้น และยางผสมให้เวียดนาม และส่วนแบ่งการส่งออกยางแท่งให้ Cote d’Ivoire (รูปที่ 5)
ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะ...ความท้าทายเชิงโครงสร้าง 2 ด้าน
1. ต้นทุนในการผลิตสูง
  • ค่าจ้างแรงงานไทยสูงกว่าคู่แข่งราว 2 เท่า (รูปที่ 6) ซึ่งแรงงานกรีดยางเป็นต้นทุนหลัก 60% จึงทำให้ราคาวัตถุดิบยางในไทยสูงกว่าคู่แข่งราว 10-30%
  • ตำแหน่งที่ตั้งของไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ด้านค่าขนส่งไปยังผู้ซื้อหลักหลายประเทศ อาทิ จีน ยุโรป และ สหรัฐฯ (รูปที่ 7)
2. ผลผลิตยางพาราไทยเพิ่มขึ้นไม่มาก
ผลผลิตต่อไร่ และแนวโน้มผลผลิตเติบโตต่ำกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะ Cote d’Ivoire (รูปที่ 8-9) เพราะเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า อาทิ ปาล์มน้ำมัน และ ทุเรียน
คู่แข่งของเราน่ากังวลแค่ไหน?
1. Cote d’Ivoire "น่ากังวลมาก"
สินค้าคู่แข่ง: ยางแท่ง
  • ส่งไปจีนและยุโรปเป็นหลักเหมือนไทย
  • ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทย 19%
  • ราคาขายต่ำกว่าไทยราว 15-20%
  • ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติทั้งการปลูกและแปรรูป
  • การสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ งดเก็บภาษี สิ่งอำนวยความสะดวกในการตั้งโรงงาน และสิทธิพิเศษด้านพื้นที่ปลูกยาง
2. Vietnam "น่ากังวล"
สินค้าคู่แข่ง: ยางผสม และ น้ำยางข้น
  • ส่งไปจีนเป็นหลักเหมือนไทย
  • ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทย 36%
  • ราคาขายต่ำกว่าไทยราว 5-10%
  • ดึงดูดนักลงทุนจีนเป็นหลักทั้งการปลูกและแปรรูป
  • รัฐบาลส่งเสริมการสร้างแบรนด์เวียดนามสู่ตลาดโลก ลดภาษีนำเข้า-ส่งออก และสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจ
3. Indonesia "ไม่น่ากังวล"
สินค้าคู่แข่ง: ยางแท่ง
  • สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปมากแล้ว จากผลผลิตที่ลดลงต่อเนื่อง หลังเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนมาก รวมถึงขาดแคลนแรงงานกรีดยางจากผลตอบแทนที่ลดลง และปัญหาโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่
  • ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าไทย 40%
  • โรงงานยางแท่งหลายแห่งปิดตัวลง
ไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปขั้นปลาย
การใช้ยางธรรมชาติของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากสินค้ายางล้อ และไม่ใช่ยางล้อ โดยในปี 67-70 เติบโตสูง โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่ยางล้อ ส่วนยางล้อขยายตัวเฉลี่ย 2% ต่อปี (รูปที่ 10) จึงยังเป็นโอกาสที่ไทยจะผลิตสินค้ายางขั้นปลายเพื่อตอบสนองความต้องการที่ยังมีต่อเนื่องในตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตยางพาราและลดความเสี่ยงจากการแข่งขันการผลิตสินค้ายางขั้นกลางได้ โดยใช้โอกาสจาก 2 ด้าน ดังนี้
1. ไทยมีโรงงานผลิตยางล้อและถุงมือยาง มานานและส่งออกมากกว่าคู่แข่ง โดยส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีของต่างชาติ
ไทยส่งออกยางล้อเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ส่วนแบ่ง 7% (รูปที่ 11) โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของการส่งออกยางล้อไทย ส่วนหนึ่งจากจีนย้ายโรงงานผลิตยางล้อมาตั้งในไทยเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้ายางล้อของสหรัฐฯ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 52 (รูปที่ 12) โดยปัจจุบัน กว่า 90% ของมูลค่าส่งออกยางล้อในไทยเป็นโรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นโรงงานของจีนกว่า 40%
ไทยส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ส่วนแบ่ง 17% (รูปที่ 11) โดยมากกว่าครึ่งเป็นของโรงงานต่างชาติในไทย ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพร้อมเงินทุน โดยเมื่อพิจารณาการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ พบว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลก 38% รองจากมาเลเซีย (รูปที่ 13) เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบน้ำยางข้น และผู้ผลิตไทยสามารถพัฒนาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกได้ต่อเนื่อง
2. กระแส Green จาก Trend การบริโภคและผลิตสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
พฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคยุคใหม่นิยมใช้สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ยางพาราถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทดแทนวัสดุสังเคราะห์ และสารเคมีต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ ของใช้และของเล่นเด็ก พื้นกันลื่นสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องสำอาง และวัสดุในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ
มาตรฐานสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า อาทิ EU Forestation-free Regulation (EUDR) และ Forest Stewardship Council (FSC) โดยสินค้ายางเป็นหนึ่งสินค้าที่โดนตรวจสอบว่าต้องไม่ได้มาจากสวนที่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งไทยมีความพร้อมในการทำตามมาตรฐานได้ก่อนคู่แข่ง โดยเฉพาะข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานฯ และตรวจสอบได้
แม้มาตรฐานสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า จะทำให้ไทยได้เปรียบก่อนคู่แข่ง แต่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยางไทยได้หรือไม่?
  • หากคู่แข่งทำตามมาตรฐานได้ ไทยอาจไม่มีข้อได้เปรียบด้านการผลิตและส่งออก จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยเผชิญ
  • ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนในการผลิต อาจไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปประเทศคู่แข่งที่มีข้อได้เปรียบด้านการลงทุนที่มากกว่า
ไทยต้องใช้โอกาสที่มีในการผลิตด้านอื่นให้เร็วก่อนคู่แข่งจะตามทัน โดยไม่เน้นปริมาณ (mass) แบบเดิม และเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้มากกว่ายางแปรรูปขั้นกลาง
  • เรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับจากต่างชาติในอุตสาหกรรมยางที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะล้อยาง ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้มากและสร้างมูลค่าได้สูง
  • ประชาสัมพันธ์นวัตกรรมที่ปิดจุดอ่อนของวัสดุยางพารา เช่น ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพ้โปรตีนจากยางพารา
  • พัฒนาสินค้าใหม่ที่ตอบสนองต่อกระแสการบริโภคในอนาคต
“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”
ผู้เขียน
ภาวนิศร์ ชัววัลลี และ กฤตยา ตรีวรรณไชย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
โฆษณา