Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
2 ธ.ค. เวลา 06:34 • สุขภาพ
3 อาการฮิตบาดเจ็บจากเล่นกีฬา เตือนยืดเหยียดไม่พอ ระวัง "เส้นเอ็น" พัง
การยืดเหยียดก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากยืดเหยียดไม่เพียงพอ อาจนำมาสู่การบาดเจ็บของเส้นเอ็นและทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้
1
นพ.ณัฐพล ศิริโภคารัตนา ด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) กล่าวว่า การยืดเหยียดก่อนออกกำลังกายมีความสำคัญอย่างมาก ต้องยืดให้ดีก่อน มิเช่นนั้นหากไม่เตรียมร่างกายให้พร้อม เมื่อไปกระโดดหรือไปเล่นอะไรแรงๆ จะมีโอกาสบาดเจ็บรวมถึงมีปัญหากับหัวใจได้
ที่ผ่านมาจากการดูแลรักษาในส่วนของเวชศาสตร์การกีฬา (Sport) จะพบในเรื่องของเส้นเอ็นที่ยืดไม่ดี และตามมาด้วยการฉีดขาด หรือบาดเจ็บในเส้นเอ็น โดย 3 อาการที่มักพบมารักษาบ่อยในส่วนของ Sport มี 3 ส่วน คือ
1.เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด
ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้าคือป้องกันเข่าขาล่างเลื่อนออกไปข้างหน้า เอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากการบิดหมุนอย่างแรง อย่างกรณีวิ่งแล้วบิด กระโดดแล้วบิด หรือวิ่งแล้วต้องเบรกกะทันหันทำให้เกิดการฉีกขาด เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน เป็นต้น รวมไปถึงอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่กระแทกเข่าอย่างรุนแรง โดยอาการช่วงแรกจะมีเข่าบวม งอเหยียดเข่าลำบาก แต่ยังเดินได้ไม่เหมือนกระดูกหักที่ลงน้ำหนักไม่ได้ ส่วนใหญ่มักจะมีเลือดอยู่ในเข่า
การรักษาจะมีการเจาะเข่าเอาเลือดออกจะช่วยลดอาการปวดได้ทันที จากปวดระดับ 8-9 จากเต็ม 10 ก็จะเหลืออาการปวดเพียงระดับ 2-3 จากนั้นจะใส่เฝือกอ่อนแล้วพักที่บ้าน 1 สัปดาห์ อาการปวดจะลดลง จากนั้นจึงมาตรวจร่างกายอีกครั้ง หากพบว่าเข่าหลวม จะส่งตรวจ MRI ว่าเส้นเอ็นขาดจริงหรือไม่
1
หากขาดจริงจะรอประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนก่อน เพราะไม่ได้เป็นการผ่าตัดที่เร่งด่วนมาก ผู้ป่วยยังสามารถเดินและงอขาได้ เพียงแต่ช่วงลงบันไดจะรู้สึกว่าหลวม เสียวในเข่า รู้สึกเข่าจะพับตลอดเวลา และยังวิ่งหรือเล่นกีฬาไม่ได้ นอกจากนี้ คือเพื่อให้งอหรือเหยียดขาได้สุดก่อน เพราะหากรีบผ่าตัดเร็วเกินไปจะเกิดปัญหาที่พบได้บ่อยคือเข่าติด
นพ.ณัฐพล ศิริโภคารัตนา
การผ่าตัดรักษาปัจจุบันนิยมใช้วิธีส่องกล้อง โดยจะเปิดแผลเพียง 2 จุด แล้วจะใช้เส้นเอ็นส่วนอื่นของร่างกายมาทำเอ็นเส้นใหม่ให้คนไข้ เช่น เส้นเอ็นด้านข้างขา เส้นเอ็นกล้ามเนื้อด้านหลังขา Hamstrings หรือเส้นเอ็นตรงลูกสะบ้า ซึ่งแต่ละจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไป หากเป็นนักกีฬาอาจจะใช้เส้นเอ็นตรงที่หน้าเข่าที่จะได้กระดูกมาด้วยมาใช้
1
หลังผ่าตัดจะมีโปรแกรมกายภาพ 9 เดือน - 1 ปี เนื่องจากมีการเจาะกระดูกทำให้เกิดการอักเสบในข้อ หลังผ่าตัดจึงงอเหยียดเข่าได้ไม่สุด มีภาวะกล้ามเนื้อลีบ จึงต้องฝึกเดิน ฝึกงอขา กว่าจะงอสุดได้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ - 1 เดือน จากนั้นฝึกการลงน้ำหนัก ฝึกเพิ่มกล้ามเนื้อทีละมัด เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อครบ 6 เดือนจึงวิ่งทางตรง ครบ 9 เดือนให้เริ่มออกกำลังกายแบบมีการหักเลี้ยวได้ บางคนหากเร่งรีบก็อาจลองเริ่มกลับไปเล่นกีฬา แต่บางคนเพื่อความปลอดภัยก็จะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี
สำหรับโอกาสเส้นเอ็นไขว้หน้าขาดซ้ำ มักเกิดกับกลุ่มที่กลับไปเล่นกีฬาหรือเอ็กซ์ตรีมต่างๆ โดยบางคนผ่านไป 2-3 ปีก็ขาดซ้ำแล้วมาทำเส้นใหม่ ซึ่งการรักษาครั้งที่สองจะมีความลำบาก เพราะต้องดูเส้นเดิมว่าอุโมงค์ที่เราเจาะไว้กระดูกหายไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยมีใครทำถึง 3 ครั้ง อัตราการฉีดขาดรอบ 2 ไม่ได้เยอะมาก เพราะต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดอีก ซึ่งหากผ่าตัดได้ดีโอกาสขาดซ้ำจะน้อย โดยมีการทำเส้นเอ็นที่มีคุณภาพ คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวได้ตามมาตรฐาน จุดเกาะของเส้นเอ็นก็จะเลียนแบบเดิมให้ได้มากที่สุดและเป็นไปตามแนวเดียวกัน และส่วนมากก็จะมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
ส่วนกรณี "เส้นเอ็นไขว้หลังขาด" สาเหตุจะเกิดจากอุบัติเหตุมากกว่า เกิดจากการเล่นกีฬาที่กระแทกจากด้านหน้ามีน้อย โดยเอ็นไขว้หลังขาดจะเกิดการกระแทกแบบ Hyperextension ซึ่งขาคนเราเหยียดได้ตรง แต่หากมีอะไรมากดให้มันเหยียดเกินผิดปกติก็จะเกิดเอ็นไขว้หลังขาด อย่างเช่นอุบัติเหตุรถยนต์กระแทกกับคอนโซลรถ เป็นต้น การรักษาก็แตกต่างกัน แนวทางแรกสุดคือใส่เฝือกพิเศษที่จะดันเข่าขึ้นมาให้อยู่ตำแหน่งปกติ ใส่ประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อรอให้เส้นเอ็นเชื่อมติดกันเอง
1
"เส้นเอ็นไขว้หลังจะเชื่อมติดกันเองได้ดีกว่าเส้นเอ็นไขว้หน้า มีงานวิจัยว่าใส่เฝือก 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง หากตรวจแล้วเข้าคนไข้ยังมีความรู้สึกหลวมอยู่ แต่คนไข้อาจไม่มีอาการอะไร สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่เจ็บไม่ปวด ซึ่งความหลวมไม่สัมพันธ์กับอาการคนไข้ แต่หากรู้สึกยังหลวมแล้วมีปัญหากับการใช้ชีวิตก็จะผ่าตัดรักษา ด้วยการส่องกล้อง ซึ่งจะมีแผลมากกว่าผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าประมาณ 1-2 จุด โดยใช้วิธีการทำเส้นเอ็นใหม่เช่นกัน" นพ.ณัฐพลกล่าว
2.หมอนรองกระดูกขาดในข้อเข่า
เข่าคนเรามีกระดูกบนและกระดูกล่าง ช่องว่างกระดูก 2 ชิ้น จะมีหมอนรองกระดูก ซึ่งจะมีด้านซ้ายและขวา ด้านในและด้านนอก ซึ่งด้านไหนขาดคนไข้จะเจ็บด้านนั้น สาเหตุเกิดจากการบิดหรือบี้จนหมอนรองกระดูกเข่าฉีดขาด อาการที่มาคือ เวลาลงบันไดหรือกระโดดหรือวิ่งจะเจ็บ เพราะเมื่อฉีดขาดจะเกิดการบี้กันตอนลงน้ำหนักทำให้เจ็บปวด ซึ่งสามารถพบได้ทั้งหมอนรองกระดูกเข่าฉีดขาดอย่างเดียวหรือพบร่วมกับเส้นเอ็นไข้วหน้าขาด
1
การตรวจวินิจฉัยจะตรวจบิดขาแล้วลองงอเหยียดว่าเกิดอาการที่จุดใด แล้วจะ MRI ต่อให้เห็นว่าขาดหรือไม่ ซึ่งหมอนรองกระดูกเข่าจะมีความยากตรงที่มีการขาดได้หลายแบบ ทั้งขาดแนวตรง แนวนอน แนวเฉียง หรือขาดตามแนวแล้วปลิ้น เทคนิคในการซ่อมรักษาก็จะต่างกันถือเป็นความยาก
แต่โดยหลักการแล้วคือจะเย็บจุดที่ขาดให้ติดกันแล้วรอให้ซ่อมตัวเองจนหาย ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้ลงน้ำหนักเพื่อป้องกันการฉีกซ้ำ งดงอเหยียดเข่า หรือได้ประมาณ 0-30 องศา หากผ่าน 6 สัปดาห์ไปแล้วจะลงน้ำหนักเบาๆ ได้ หลัง 3 เดือนเริ่มกลับไปวิ่งได้ และหลัง 6 เดือนสามารถกลับไปเล่นกีฬาตามปกติได้
3.ไหล่หลุด
อีกเรื่องที่พบได้บ่อยในกีฬาคือ อาการไหล่หลุด ส่วนใหญ่จะหลุดมาข้างหน้า การรักษาคือการดึงกลับ แล้วพักให้เนื้อเยื่อที่ฉีดขาดซ่อมแซมตัวเอง แต่บางรายพบว่า กลับไปเล่นกีฬาแล้วหลุดอีก ปัญหาคือบางคนเส้นเอ็นเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างหน้าย้วยหรือหลวมก็จะทำให้ไหล่หลุดง่าย
โดยพบว่าคนไข้อายุน้อยกว่า 20 ปี จะมีโอกาสไหล่หลุดซ้ำได้สูง 30-40% เนื่องจากเป็นวัยที่มีกิจกรรมทางร่างกายหรือมีการปะทะสูง เช่น ไปเล่นฟุตบอล ชกมวย เล่นบาสเก็ตบอล จึงเพิ่มโอกาสหลุดซ้ำ แต่หากอายุมากเช่น 50 ปีอาจไม่ค่อยเล่นกีฬาแบบรุนแรงนัก ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่า
อีกปัจจัยที่ทำให้หลุดซ้ำได้คือ มีการไหล่หลุดแล้วเบ้ารับกระดูกมีการสึกหายไป ก็จะหลุดซ้ำได้ง่าย การรักษากรณีหลุดซ้ำหรือเส้นเอ็นย้วยก็จะส่องกล้องเข้าไปเย็บเส้นเอ็นให้แน่นขึ้น หรือตรงไหนที่ขาดก็เย็บซ่อมให้ดีขึ้น แน่นขึ้นเพื่อป้องกันการหลุด หากหลุดมากๆ จนเบ้าไม่มี ก็จะตัดกระดูกจากจุดอื่นไปแปะ เพื่อให้จานรับใหญ่ขึ้นกว้างขึ้น ไม่ให้หลุดง่าย
นพ.ณัฐพล ศิริโภคารัตนา
ส่วนกรณีข้อไหล่เสื่อมอัตราการเกิดน้อย เพราะไหล่ไม่รับน้ำหนัก ต่างจากข้อเข่าที่เสื่อมได้ง่ายจากการใช้เข่ารับแรงกระแทก อย่างไรก็ตาม ไหลเสื่อมมักมาจากการใช้งานและเส้นเอ็นขาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับอายุหรือเส้นเอ็นหัวไหล่ขาดแล้วไม่ได้ซ่อม โดยเส้นเอ็นหัวไหล่มี 4 เส้นที่จะดึงให้ไหล่เข้าเบ้า แต่พอขาดทำให้แรงไม่สมดุลจึงเกิดการยกลอย ทำให้เสื่อมและสึกได้
"การยืดเหยียดที่เพียงพอจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเส้นเอ็นได้ นอกจากนี้ การออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงจะช่วยป้องกันทุกอย่างในเข่า เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยรับภาะแทนเส้นเอ็น เช่น วิ่งแล้วบิด กล้ามเนื้อก็จะช่วยพยุงไว้ แรงที่เกิดจากเส้นเอ็นและหมอนรองกระดูกก็จะลดลง โอกาสเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกหรือหมอนรองกระดูกเข่าฉีกก็จะลดลง" นพ.ณัฐพลกล่าว
สำหรับคนที่น้ำหนักตัวมากหรืออ้วน ที่มีความเสี่ยงต่อกระดูกและข้ออยู่แล้วจากน้ำหนักตัว การจะออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำหนัก ก็ทำให้มีความเสี่ยงบาดเจ็บมากขึ้น
นพ.ณัฐพล แนะนำว่า การออกกำลังกายลดน้ำหนักให้ปลอดภัยให้เริ่มจากออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกมาก เช่น ว่ายน้ำ วิ่งจ๊อกกิ้ง หรือเดินบนลู่วิ่ง เพื่อให้อัตราการเต้นหัวใจสูงขึ้น 100-150 ครั้งต่อนาที หรือใช้การเวทเทรนนิ่งที่ไม่มีการกระแทกจากภายนอก และสามารถปรับน้ำหนักในการยกได้ เพื่อเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น เมื่อน้ำหนักเริ่มลดลง ก็จะกลับไปเล่นกีฬาที่เป็นเอ็กซ์ตรีมได้ เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน บาสเกตบอล เป็นต้น
1
ทั้งนี้การให้บริการของ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) นพ.ณัฐพล เปิดเผยว่า ที่นี่มี การให้บริการดูแลรักษาด้านเวชศาสตร์การกีฬาค่อนข้างครบครัน มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อ พร้อมให้บริการทั้งคำปรึกษา วินิจฉัย และตรวจร่างกาย ด้วยเครื่อง MRI ที่สแตนบายพร้อม 24 ชั่วโมง ไม่ต้องรอคิวนาน ด้วยแนวทางการรักษาแบบองค์รวม
PRINCE OF BONES มีทั้งการผ่าตัดแบบส่องกล้อง การรักษาด้วยยา ฯลฯ มีทีมนักกายภาพที่เข้มแข็งพร้อมเครื่องกายภาพที่ครบครัน ทั้งการเลเซอร์ อัลตราซาวนด์ ช็อกเวฟ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือตัวกระตุ้นไฟฟ้า ในการดูแลแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยก็เข้ามารับการปรึกษาให้การดูแลได้เช่นกัน
1
นพ.ณัฐพล ศิริโภคารัตนา
นพ.ณัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่มารักษาส่วนใหญ่เป็นนักกีฬาสมัครเล่น เช่น นักมวย เล่นฟุตบอลทั่วไป ซึ่งในอนาคต พร้อมที่จะพัฒนาการให้บริการในการรองรับและดูแลพัฒนาศักยภาพนักกีฬา ช่วยในด้านการป้องกันอาการบาดเจ็บ ดูแลโภชนาการ และการรักษานักกีฬาที่บาดเจ็บให้กลับไป Full Function ได้เร็วที่สุด ซึ่งก็จะต้องมีการพัฒนาและเพิ่มบุคลากในด้านนี้เพิ่มขึ้น
1
"วงการแพทย์กับกีฬาจะเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการดูแล จากเมื่อก่อนที่ใช้การตรวจออกซิเจนในเลือดหรืออัตราการเต้นของหัวใจ ปัจจุบันก็เริ่มมีเรื่องของโภชนาการ การตรวจเลือดเพื่อดูกรดแลคติกในเลือดว่าเข้มข้นพอหรือไม่ เพื่อประเมินว่าโปรแกรมเทรนนิ่งดีพอและหนักพอหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยเอง ก็พยายามพัฒนาอัปเกรดอนุสาขาทุกสาขาจากเรียน 1 ปี ให้เป็น 2 ปี เพื่อให้ได้ใบรับรองจกทางแพทยสภาด้วย" นพ.ณัฐพลกล่าว
สำหรับผู้มีปัญหาภาวะกระดูกพรุนหรือโรคด้านกระดูกและข้อ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) ร่วมมือกับ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ โดยเฉพาะในด้านเวชศาสตร์การกีฬาและข้อ ช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ ในราคาที่เหมาะสมโดยไม่ต้องรอคิวนาน โดยออกแบบการรักษาและฟื้นฟูแบบองค์รวมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์การรักษาที่ดีและได้มาตรฐาน
1
สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ หรือผู้ที่ออกกำลังกาย นักกีฬาที่ต้องการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บและพัฒนาศักยภาพ ร่างกายให้มีความพร้อมสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาใกล้บ้าน หรือติดต่อ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) เปิดทุกวัน ระหว่างเวลา 8:00 - 20:00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม:
www.princsuvarnabhumi.com/princeofbones
หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-0805999
ไลฟ์สไตล์
สุขภาพ
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย