2 ธ.ค. เวลา 06:40 • ความคิดเห็น

ไม่รู้ว่าไม่รู้…

ผมได้มีโอกาสฟังมืออาชีพชาวฮ่องกงท่านหนึ่งเล่าถึงสมัยที่ถูกสัมภาษณ์งานตอนจะเข้าทำงานใหม่ๆ ในบริษัทระดับโลก
ผู้สัมภาษณ์ในตอนนั้นถามเขาถึงความรู้สี่แบบ แบบที่รู้ว่าตัวเองรู้ (known known) รู้ว่าตัวเองไม่รู้ (known unknown) ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ (unknown unknown) และไม่รู้ว่าตัวเองรู้ (unknown known) ว่ามีความเห็นอย่างไรในแต่ละองค์ความรู้
โดยเฉพาะเรื่องที่สามคือ ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ หรือ unknown unknown ว่าเราจะมีทางแก้ไข รับมือหรือทำให้รู้มากขึ้นในเรื่องนี้ได้อย่างไร
ตอนที่มืออาชีพท่านนี้ถูกสัมภาษณ์เมื่อหลายสิบปีก่อน โลกสมัยนั้นก็ยังไม่ได้วุ่นวายเท่านี้ ยิ่งเมื่อเจอเรื่องโควิด ต่อด้วยวิกฤตรัสเซียก็ยิ่งทำให้เราเห็นชัดเจนว่า เรื่องที่เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้นั้นมีจริงและอันตรายเป็นอย่างยิ่ง
ลองนึกถึงช่วงเวลาก่อนโควิด เราไม่มีความรู้และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ในเรื่องโควิดและผลกระทบที่ตามมาในด้านต่างๆอย่างมากมาย จนเมื่อเกิดเรื่องแล้วจึงเริ่มเข้าใจ เหตุการณ์ลักษณะที่เรียกว่า black swan นั้นน่าจะเกิดมาขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้เป็นต้นไป เรื่องรัสเซียยูเครนก็เช่นกัน
แต่ที่เป็นคำถามสำคัญในการเลือกคนทำงานของบริษัทระดับโลกซึ่งมองหาคนเก่งมาทำงานด้วย เขาต้องการทักษะอะไรกันแน่ถึงถามคำถามนั้น
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราไม่รู้เป็นหลักในการเลือกคน…
Unknown Unknown สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ เป็นคำพูดตอนหนึ่งของ Ronald Rumsfeld รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐที่ใช้อธิบายเรื่องสงครามอิรัก ซึ่งจริงๆแล้วมาจากหนังสือที่ชื่อว่า Known and unknown เป็นการท้าทายสิ่งที่เราคิดว่ารู้แต่เอาเข้าจริงๆปรากฏว่าเราดันไม่รู้แต่เข้าใจผิดว่าเรารู้ ซึ่งเป็นอันตรายกับความคิด การตัดสินใจและการดำเนินชีวิตในยุคสมัยนี้อย่างมาก
สิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ (known known) นั้นเข้าใจไม่ยาก เป็นสิ่งง่ายๆที่เราทำในชีวิตประจำวัน งานง่ายๆที่ร้อยวันพันปีก็เหมือนเดิม
สิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ (known unknown) นั้นคือเราตระหนักดีว่าศาสตร์หรือศิลป์นั้นมีอยู่จริง แต่เราไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญ เช่นผมรู้ตัวเองว่าวาดรูปไม่เป็นและไม่รู้วิธีการวาดรูปที่ดีเลย
สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเรารู้ (Unknown known) นั้นก็คือการที่เราไม่รู้ตัวแต่เข้าใจถึงจังหวะจะโคน การปฏิบัติได้เมื่อมีเหตุ เช่นกริยามารยาทต่อผู้ใหญ่ การไม่ถามคำถามอะไรที่ดูจะดูถูกดูหมิ่นคนชาติอื่นเป็นต้น
แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ก็คือสิ่งที่เราไม่รู้ว่าไม่รู้ (unknown unknown) แถมคิดว่าตัวเองดันรู้เข้าไปอีก สิ่งนี้เรียกว่า blindspot หรือจุดบอดที่เรามองไม่เห็น และเป็นอันตรายเหมือนกับเวลาขับรถก็จะมี blindspot ที่บางทีเราก็เผลอเลี้ยวโดยมองไม่เห็นมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งมา
ในมุมของผู้นำองค์กร Known known ก็คือการที่ผู้นำรู้จักจุดแข็งของตัวเอง Known unknown ก็คือการรู้จักจุดอ่อนของตัวเอง unknown known ก็คือการที่ยังไม่ได้ปล่อยความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ ถ้าสามารถค้นพบก็จะเพิ่มขีดความสามารถได้
แต่ที่อันตรายที่สุดก็คือ unknown unknown หรือจุดบอด ที่จะทำให้ตัดสินใจผิด หรือไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่
ผมได้ฟังรายการ mission to the moon ตอนเช้าของคุณแท้ป รวิศ ซึ่งพูดถึงทักษะสามประการที่คนทำงานยุคนี้จะต้องมี โดยอ้างอิงมาจาก mckinsey report โดยทักษะประการแรกก็คือทักษะด้าน hard skill ที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว เป็นองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกรรม ฯลฯ ส่วนทักษะประการที่สองเป็นเรื่องของ soft skill เป็นด้านความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ การทำงานร่วมกัน การสื่อสาร ฯลฯ
แต่ที่น่าสนใจคือทักษะที่สามที่ mckinsey บอกว่าสำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้ ก็คือทักษะที่เรียกว่า meta skill เป็นความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง สนใจใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ มี growth mindset ที่พร้อมที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว
1
ทักษะสองประการแรกทั้ง hard และ soft skill นั้นสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับความรู้สามแบบได้ ก็คือ known known การคิดวิเคราะห์และตัดสินใจนั้นอยู่บนข้อมูลที่มีอยู่แล้ว known unknown คือรู้ว่าตัวเองไม่รู้ก็ใช้วิธีตั้งสมมติฐาน ทดสอบและวิจัยหาข้อมูลได้ และในส่วนของ unknown known การไม่รู้ว่าตัวเองรู้นั้น การสุมหัวระดมสมอง brainstorm ก็เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ดีในความรู้ส่วนนั้น
แต่ในยุคที่ unknown unknown เริ่มมีบทบาทและน่ากลัวขึ้นทุกวันในโลกที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนา meta skill ที่เป็นทักษะที่สามจึงจำเป็นและมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา growth mindset ที่สร้างความกระหายใคร่รู้ ไม่เก่งก็ฝึกได้ ไม่รู้ก็เรียนได้ ล้มเหลวก็ลุกได้ ตระหนักดีว่าอาจจะมีความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อยู่ในโลกนี้เสมอ จึงจะรับมือกับความรู้แบบ unknown unknown ได้ดีกว่าคนอื่น
1
Think again : the power of knowing what you don’t know หนังสือของ adam grant นักคิดผู้เฉียบคม (สำนักพิมพ์ welearn แปลเป็นภาษาไทย) ได้พูดถึงกระบวนการสร้างปัญญาในยุคที่ผันผวนแบบนี้ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา คิดใหม่ว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือคิดอยู่นั้นจริงหรือยังคงถูกอยู่หรือไม่ ไม่เชื่ออย่างหัวปักหัวปำถึงแม้กาละและเทศจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
1
การเสาะแสวงหาการท้าทายทางความคิดในพื้นที่หรือแนวคิดจากคนที่ไม่เหมือนเราโดยการพยายามเสาะหาความรู้สึกที่จะ “ดีใจเมื่อคิดผิด” เพราะจะได้ปรับวิธีคิดตัวเอง นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะในปัจจุบันมีสิ่งที่เราไม่รู้มากมายเหลือเกิน
การที่จะ “ดีใจที่คิดผิด” นั้นไม่ง่ายเลยเพราะคนเราโดยเฉพาะเมื่อเรามีอายุมากขึ้นหรืออยู่ในตำแหน่งสูงๆ การคิดเข้าข้างตัวเองและมีความสุขกับความรู้สึกว่าตัวเองถูกนั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์
หนังสือของ adam grant ยกตัวอย่างว่าให้หลีกเลี่ยงการคิดแบบนักเทศน์ (ความรู้ที่นิ่งแล้วและพร่ำสอนคนอื่น) อัยการ (หาทางจับผิดคนอื่น) หรือนักการเมือง (เจรจาหว่านล้อมให้เชื่อ) แต่ให้คิดแบบนักวิทยาศาสตร์ คือการตั้งสมมติฐานแล้วทดสอบจนกว่าจะได้ความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก
1
และอย่างที่คุณบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอมือต้นๆของประเทศ ตอบคำถามผมบนเวทีว่าคนเก่งสมัยนี้วัดกันตรงไหน ในยุคสมัยแห่ง VUCA (volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) ที่มีเรื่องที่ unknown unknown เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ทยอยกันมาเรื่อยๆนั้น…
คุณบุญคลีบอกว่า คนเก่งสมัยนี้วัดกันที่ ability to learn ไม่ว่าในอดีตเก่งแค่ไหน มีประสบการณ์อะไรมาก่อน แต่วัดความสามารถกันเดี๋ยวนี้ ในยุคสมัยที่ประสบการณ์เดิมใช้แทบไม่ค่อยได้นั้น ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆคือตัววัดความเก่งของผู้บริหารในยุค post covid และ pre worldwar 3 นี้..ซึ่งก็น่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมบริษัทระดับโลกถึงถามคำถามเกี่ยวกับความรู้แบบ unknown unknown เพื่อตัดสินใจรับคน
คนแบบที่ Ray Dalio เคยกล่าวไว้ว่า “ if you don’t look back at yourself and think, Wow, how stupid I was a year ago, then you must not have learned much in the last year”
มาพยายาม “ดีใจที่คิดผิด” กันนะครับ
โฆษณา