17 ธ.ค. เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Macroeconomics กับการลงทุน

ในการลงทุนแต่ล่ะครั้ง สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจเป็นอันดับแรกคือ สินทรัพย์ที่เราเข้าไปลงทุนนั้นมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ดีในอนาคตหรือไม่ เช่น หากซื้อหุ้น เราก็อยากได้บริษัทที่ค้าขายได้ดี มีกิจการรุ่งเรือง แต่เราจะนำข้อมูลใดมาใช้ตัดสินล่ะว่าธุรกิจที่เราลงทุนนั้นดีหรือไม่ดี การอาศัยข้อมูลจากการสุ่มสำรวจเพียงบางสาขาของร้านอาจให้ภาพที่ไม่ชัดเจนนัก ส่วนการติดตามอ่านงบการเงิน ก็จะได้ข้อมูลที่ช้าเกินไป ดังนั้น เราจึงควรเข้าใจมุมมองทางมหภาค เพื่อสามารถคาดการณ์แนวโน้มทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
การเข้าใจการไหลเวียนของกระแสเงิน การเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่ทำให้เกิดการเก็งกำไรในทรัพย์สินต่างๆ จะทำให้เราทราบจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนสินทรัพย์นั้นๆ เพราะแม้เราจะเลือกลงทุนในกิจการที่ดีแล้ว แต่หากจังหวะเวลาไม่เหมาะ เป็นช่วงเงินทุนไหลออก ราคาสินทรัพย์ก็อาจลดลงไปอีกได้ กลับกันหากเราเลือกได้จังหวะที่กระแสเงินทุนกำลังไหลเข้า จะช่วยให้ราคาสินทรัพย์ของเราพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของกระแสเงินทุน คือ ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และ การค้าระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนใน world equityถึง 70% และเงิน US Dollar ก็ยังเป็นแกนหลักในการหมุนเวียนของกระแสเงินทุนในโลกใบนี้ ดังนั้นความเข้าใจในผลกระทบจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) และ นโยบายระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐกับประเทศต่างๆจึงเป็นสิ่งสำคัญ
วัฏจักรเศรษฐกิจ
  • ​ธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) มีหน้าที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามวัฏจักร ผ่านทางเครื่องมือคือการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ(QE) ซึ่งการจะดำเนินนโยบายไปในทิศทางใดนั้นขึ้นกับ อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน และ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นหลัก
  • ​นโยบายการค้าระหว่างประเทศ เป็นไปตามความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งประเทศที่มีข้อขัดแย้งกับสหรัฐ เช่น กลุ่ม BRICS อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านทางสงครามการค้า และการตั้งกำแพงภาษี
นอกจากปัจจัยจากภายนอกแล้ว ปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศที่เราลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกิจการที่เราลงทุนนั้นก็มักจะเติบโตสัมพันธ์ไปทางเดียวกันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ของประเทศนั้นๆ ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์ลงไปในส่วนย่อยของ GDP เราก็จะเข้าใจโอกาสการเติบโตของธุรกิจที่เราสนใจได้ดียิ่งขึ้น
GDP = C + I + G +(X-M)
  • ​C คือ การบริโภคภายในประเทศ
  • ​I คือ การลงทุนของภาคเอกชน
  • ​G คือ การลงทุนของภาครัฐ
  • ​X คือ มูลค่าการส่งออก
  • ​M คือ มูลค่าการนำเข้า
เช่นเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงภาคการส่งออกเป็นหลัก หากเราลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากการส่งออก เราก็จำเป็นต้องคอยติดตามแนวโน้มค่า X ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร
ดังนั้น การเลือกลงทุนอย่างเหมาะสม จึงไม่ใช่เพียงแค่การเลือกสินทรัพย์ที่ดีเพียงเท่านั้น แต่ต้องทราบถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าลงทุน และต้องคอยติดตามสถานการณ์ต่างๆเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้เหมาะสมต่อไปด้วย
อ้างอิง :
โฆษณา