3 ธ.ค. เวลา 06:34 • ความคิดเห็น

ทำไมถึงไม่มีประโยชน์ที่จะเถียงภรรยา (และคนอื่นๆ)

ลองนึกเหตุการณ์ที่แทบทุกคนจะเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกันในหน้าที่การงาน การถกเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดง ไม่เห็นด้วยแล้วต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก หรือการที่ได้เห็น (หรือโดนเอง) ผัวเมียทะเลาะกัน หลายครั้งกลายเป็นมุกตลกในวงผู้ชายที่ภรรยาบ่นสามีเรื่องเดิม ประโยคเดิมซ้ำๆอยู่เป็นประจำ ครั้งละนานๆ ด้วยซ้ำ
ในหนังสื่อ The diary of a CEO ที่แม้กระทั่งคุณสตีฟเฟน บาร์ตเลท นักสัมภาษณ์ผู้โด่งดังระดับโลกก็เคยเล่าถึงประสบการณ์ที่หลายคนคุ้นเคย
ในสมัยเด็ก เขาเห็นแม่ตะโกนด่าพ่อที่นั่งบนโซฟา ด้วยประโยคเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นชั่วโมง พ่อนานๆ ที่จะเถียง แล้วก็เงียบ ทำหน้าไม่พอใจ ซักพักก็หนีเข้าห้องนอน แม่ตะโกนด่าต่อ จนพ่อทนไม่ไหวก็จะขับรถหนีไปสงบสติอารมณ์และแม่ก็จะตะโกนด่าไล่หลังอีกยาวๆ เขาเองก็เล่าว่าพอตัวเองโตมามีแฟน ก็เคยเถียงกับแฟน ทะเลาะกันเป็นชั่วโมง แล้วก็จบแบบไม่แฮปปี้ ความสัมพันธ์ก็เลวร้าย ต่างคนต่างเอาชนะ และในที่สุดก็แพ้ทั้งคู่
จนเขาได้มีโอกาสคุยกับโปรเฟสเซอร์ชารอต (Tali Sharot) แห่ง MIT ผู้ที่ทำให้เขาเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักๆ หรือการเจรจาธุรกิจไปตลอดกาล
โปรเฟสเซอร์ชารอตทำการทดลองในเรื่องนี้ด้วยการดูปฏิกิริยาของสมองว่ามีการตอบสนองอย่างไรเวลามีความรู้สึกไม่เห็นด้วย โดยมีอาสาสมัคร 42 คน จับคู่กันเป็น 21 คู่ มีกระจกกั้นแล้วให้ลองทายราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นในภาพกันดู
ระหว่างที่จะทาย ทั้งคู่จะพยายามตกลงกันถึงราคาก่อนทาย ผลปรากฏว่าถ้าทั้งคู่มีความเห็นที่ใกล้เคียงกันในเรื่องราคา สมองจะอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายและเปิดกว้างพร้อมรับความคิดเห็น แต่ถ้าทั้งคู่เห็นต่าง สมองก็ดูจะเกร็ง (freeze) และไม่รับรู้อะไรใหม่ๆ (shutdown) หรือที่เราเรียกว่าหูอื้ออะไรประมาณนั้น
จากผลการทดลอง โปรเฟสเซอร์ชารอตวิเคราะห์และแนะนำไว้ว่า ถ้าเราต้องการให้สภาวะสมองของอีกฝั่งยังเปิดกว้างและยังพร้อมรับไอเดียใหม่ๆ เราต้องไม่เริ่มด้วย “การไม่เห็นด้วย” (disagreement) เพราะมันจะทำให้สมองอีกฝ่ายปิดโดยที่เรายังไม่ทันจะอ้าปากเล่าถึงเหตุผลต่อ ไม่ว่าเหตุผลเรานั้นจะถูกหรือมีหลักการแค่ไหนก็ตาม (ใครมีแฟนจะเริ่มคุ้นๆหรือยังครับ) ..
ถ้าเราพยายามลองหามุมเล็กๆที่พอเห็นคล้ายกันและเปิดด้วยเรื่องที่น่าจะเห็นพ้องต้องกันได้ก่อน เราก็จะมีโอกาสได้เล่าถึงตรรกะ ข้อมูลที่เตรียมมา หรือความเห็นที่ต่างออกไปได้ แต่ถ้าเราเริ่มด้วย เธอผิดฉันถูก หรือ เราไม่เห็นด้วย โอกาสที่ว่าก็จะถูกปิดในทันที
2
คุณสตีเฟ่น ยังเล่าถึงบทสัมภาษณ์ที่เขาได้คุยกับ “love doctor” คุณเทรลเชอร์ที่เป็นโค้ชที่ให้คำปรึกษาเรื่องการหาคู่ มีคนดูคุณเทรลเชอร์ใน ted talk เป็นร้อยล้านวิว คุณเทรลเชอร์บอกว่า การที่เราจะเป็นนักสื่อสารชั้นเยี่ยม เป็นคู่ชีวิตที่ดี หรือเป็นคู่หูรู้ใจนั้น มีหัวใจอยู่สองประการ
ประการแรกก็คือต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราได้ยินเขาก่อน (make other feel heard) และประการที่สอง เวลาจะตอบจะพูดอะไรต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราเข้าใจเขาอีกด้วย (make them feel understood)
2
ต่อไปเวลาเรากำลังจะเข้าสู่การทะเลาะ ถกเถียง หรือไม่เห็นด้วย ถ้าไม่ได้อารมณ์ขึ้นจนหน้ามืด อยากเอาชนะจนตัวสั่น แต่อยากจะให้จบแบบคลี่คลาย จบแบบมีทางออก หรือมีโอกาสเปลี่ยนใจอีกฝ่ายได้ ก่อนจะสวนหมัดกลับ ก่อนจะเถียง ลองค่อยๆ ฟังอีกฝ่ายก่อน ให้เขารู้สึกว่าเราฟัง แล้วหาอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน คุยเปิดไปก่อน เพื่อให้สมองเขายังไม่ปิดกั้น แล้วค่อยๆ ใส่มุมที่ต่างของเราไป
1
การเงียบหลายครั้งก็เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยนะครับ… ถ้าใครยังคิดว่าเงียบแล้วทำไมถึงยังบานปลาย
2
เพราะว่าความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นเสมอ แต่ความขัดแย้งที่ดีนั้นควรจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีถ้าความขัดแย้งนั้นเป็นการร่วมมือกันสู้กับปัญหา แต่ความขัดแย้งที่เลวที่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายขึ้นก็คือความขัดแย้งที่สู้กันเองและจะเอาแต่ชนะคะคานกันมากกว่า
คุณสตีเฟ่นสรุปเป็นกฏทองของตัวเองไว้ในหนังสือแบบนั้นครับ…
โฆษณา