3 ธ.ค. เวลา 12:00 • สิ่งแวดล้อม

CleanTech Economy is the Key ในวันที่พลังงานสะอาด คือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก!

🔥 ไม่ใช่แค่โลกที่เดือด แต่เศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็กำลังเผชิญกับความดุเดือดบนสนามแข่งขันไม่แพ้กัน
✈️ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนสำคัญ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า เรากำลังอยู่บนหน้าผาแห่งความท้าทาย เนื่องจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ที่เป็น Product Champion ของไทย มีแนวโน้มแข่งขันได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การติดกับดักอยู่กับสินค้าโลกเก่าที่ความต้องการในตลาดน้อยลง จึงเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่ต้องเร่งหาโซลูชันในการแก้ปัญหา ที่ไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพสินค้าเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนและผลักดันให้เกิดเป็น “CleanTech Economy”
🎯 แม้วิกฤตโลกเดือดจะเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต่างหันมาลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนกันมากขึ้น เพราะหลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งนำวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนมาใช้ควบคู่กับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในประเทศระยะยาว
🔑 เมื่อ Clean Energy เป็นกุญแจสำคัญ ประเทศไทยจึงต้องผลักดันให้เกิด CleanTech Economy ซึ่ง NIA ที่ต้องการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จึงขานรับกับความต้องการในอนาคต ด้วยการเชื่อมโยงความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม โดยได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐฟินแลนด์ ถึงการจัดโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสภาพภูมิอากาศ (CleanTech Economy)
🏢 เนื่องจากสาธารณรัฐฟินแลนด์มีสถาบันวิจัย VTT Technical Research Centre of Finland ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยชั้นนำของยุโรป ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ความรู้หลายวิชา โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจและสังคม โดยเฉพาะโซลูชันเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่สตาร์ทอัพไทยและเครือข่ายระดับโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว
และยังมี Business Finland เป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้ Ministry of Economic Affairs and Employment ของฟินแลนด์ ทำหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตในระดับสากลให้กับบริษัทในฟินแลนด์ ทั้ง เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และบริษัทขนาดใหญ่ พัฒนาแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเพื่อตอบโจทย์อนาคต รวมไปถึงเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและกลุ่มนักวิจัย มีเป้าหมายคือ ดึงดูดการลงทุน ดึงดูดแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาเศรษฐกิจฟินแลนด์ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
✍🏼 โดย NIA ได้เข้าร่วมหารือกับหน่วยงานพันธมิตรดังกล่าวของฟินแลนด์อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 และได้ลงนามความร่วมมือ (MoU) เรื่องการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมกับ Business Finland ซึ่งการลงนามในครั้งนี้เป็นการต่ออายุ MoU ฉบับเดิมออกไปอีก 5 ปี โดยมีกรอบความร่วมมือ ดังนี้
1. แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องระบบนิเวศนวัตกรรมและระบบนิเวศสตาร์ทอัพระหว่างไทย-ฟินแลนด์ ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาและจัดการกลไกการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ
2. สนับสนุนการพัฒนาระยะยาวในรายสาขาที่สนใจร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ พลังงานยั่งยืน เป็นต้น โดยดำเนินการผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา การถ่ายทอดความรู้ การลงทุนพัฒนาโครงการร่วมกัน (Joint Funding) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ได้หวือหวา แต่หากสามารถสร้างจุดขายในเรื่องของพลังงานสะอาด ที่สามารถต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกหลายทาง เป็นไปได้ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่สร้างความสนใจต่อสายตานักลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นความหวังให้กับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า และปีต่อๆ ไปได้
โฆษณา